Entertainment

“เราเชื่อ เขาเชื่อ คนอื่นเชื่อ” ปรากฏการณ์อุปาทานหมู่จาก “เคว้ง” ซีรีส์ไทยใน NETFLIX สะท้อนชีวิตจริง

By: anonymK November 21, 2019

หลังจากซีรีส์ออริจินัลไทยเรื่องแรกลง Netflix แต่เรายังไม่มีโอกาสพูดถึง วันนี้พอมีโอกาสดูไป 4 Episodes รวด เราก็เจอประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในเรื่องจนอยากนำมาเล่าต่อคือปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า “Psychogenic Illness” หรือ “อุปาทานหมู่”

บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์ที่สอดคล้องกับ Psychogenic Illness แต่ไม่ได้สปอยล์เรื่องราวรายละเอียดภายในเรื่องจนปะติดปะต่อได้ หรือเฉลยปลายทางของเรื่อง ใครที่จะอ่านต่อไปลองเลือกตามวิจารณญาณก่อนว่าจะไปนั่งดูให้จบมาแล้วมาอ่าน หรือถ้าพร้อมก็เลื่อนลงไปอ่านตอนนี้เลย

ปกติเวลาคิดถึงเรื่องอุปาทานหมู่แล้วคุณคิดถึงอะไร คนส่วนใหญ่คงมีภาพผีเข้า ของขึ้น ตัวสั่นแล่นเข้ามาในสมอง แต่ซีรีส์ “เคว้ง” นำเสนออีกมุมในแง่จิตวิทยาจากรูปแบบการตัดสินใจของตัวละคร ที่แหกกฎจนสร้างเป็นกฎใหม่ของสังคมและชวนให้เรามองเห็นความจริงของเรื่องนี้ซ้อนอยู่ในรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันด้วย

พลอตเรื่องที่ออกแบบมาให้เจอกับสภาพกดดัน เรื่องของวัยรุ่นติดเกาะจำนวน 30 คนจากเหตุการณ์สึนามิ ทุกคนต้องสูญเสียสิ่งยึดเหนี่ยว ไม่มีผู้ใหญ่นำทาง ติดต่อใครไม่ได้ ไร้ที่พึ่ง ไร้สาธารณูปโภคกับทรัพยากร คล้ายระเบิดย่อม ๆ ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อมารวมตัวกัน ภาวะการแสดงออกและการตัดสินใจจึงเป็นสิ่งยากจะคาดเดา

“ลองขว้างมันใส่กระจกดูซิ เธอลังเลหรอ ทำไมล่ะ เพราะเธอรู้ว่าการปาก้อนหินใส่กระจกมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ” – ครูหลิน

ประโยคสอนเรื่องอุปาทานหมู่ในเรื่องที่ตัวละครครูยกตัวอย่างเพื่ออธิบายให้นักเรียนในชั้นเข้าใจการทำงานของจิต เมื่อคนแรกลุกมาทำผิดคนแรกต้องรับกับความกดดันเรื่องการทำผิด แต่ถ้าจำนวนคนทำตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากคนปาก้อนหินก้อนแรกมีคนที่สอง สาม สี่ เพิ่มขึ้นมา สิ่งนี้จะสร้างบรรทัดฐานทางสังคมแบบใหม่ขึ้นมาทันที เรื่องผิดจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา หรืออาจย้ายข้างไปเป็นเรื่องถูกแทน คนทำคนแรกจะถูกยกให้เป็นฮีโร่ ส่วนเราถ้าไม่ทำตาม ก็กลายเป็นคนผิดไปโดยปริยาย

เราเคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ในชีวิตบ้างไหม เอาง่าย ๆ เวลาทำอะไรห่าม ๆ อย่างโดดเรียน ลอกข้อสอบ สูบบุหรี่ในที่ห้าม ชกต่อย หรือเมาแฮงก์ในที่ทำงาน พอเราทำแล้วมีคนมาเอี่ยวด้วย มาทำแบบเดียวกัน เราก็รู้สึกอุ่นใจว่ามีเพื่อนถูกไหม

แน่นอนถ้าเราเป็นคนแรกคงต้องเสี่ยงหน่อย แต่ถ้าเราเลือกทำตามคนอื่นที่ทำมาก่อน นั่นคือเหตุผลการทำตามเพื่อความอุ่นใจและการอยู่รอดขึ้นมาทันที เพราะเรากลัวว่าในสภาพนั้น เราเองจะกดดันที่ต้องเลือกเป็นคนแรกที่ทำแตกต่างจากคนอื่น ต่อให้เรื่องนั้นเราทำถูกก็ตาม

นอกจากนี้รูปแบบของการโน้มจิตให้ “ทำตามกัน” ยังเอามาใช้อธิบายพฤติกรรมการสร้างแคมเปญทางการตลาดโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยเพราะ หนึ่งในเคสที่จะยกมาคือโปรเจกต์กระตุ้นการลดพลังงานที่บริษัทซอฟต์แวร์ Opower ทำขึ้น และประสบความสำเร็จ

คุณคิดว่าบอกให้คนปิดไฟวิธีไหนจะกระตุ้นให้คนปิดไฟได้เยอะที่สุด สำหรับพวกเขาไฮไลต์มันอยู่ที่ก๊อบปี้ประโยคนี้ ซึ่งเคยถูกพูดถึงในคลิป TED Talk ของ Alex Laskey ว่า

“เพื่อนบ้านคุณกำลังลดพลังงานในการใช้งาน”

ถ้าเทียบกับแคมเปญอื่นที่บอกว่าลดแล้วเงินเหลือ การบอกว่าคนรอบข้างทำอยู่แล้วให้เราเลือกว่าจะทำหรือไม่ทำ (ซึ่งสุดท้ายเราก็เลือกจะทำ) มันได้ผลและทำให้แคมเปญนี้มีลดอัตราการใช้พลังงานกว่า 4% และเราคิดว่ารูปแบบแคมเปญอื่นก็ใช้เหตุผลนี้เหมือนกัน ถ้าเราอยู่ในสังคมรอบข้างที่ใช้พลาสติกกันหมด ช่วงแรกเราอาจยืนหยัดได้ แต่ถ้าจิตใจไม่มั่นคงพอ สุดท้ายเราอาจจะหันกลับไปใช้มันอยู่ดี

น่าสนใจว่าภายใต้ความกดดันที่เราต้องเผชิญทั้งในชีวิตจริงและดูเรื่องสมมติของซีรีส์ “เคว้ง” จะทำให้เราตัดสินใจแบบไหนกันแน่ และปลายทางของมันจะเป็นอย่างที่เราหวังไว้หรือเปล่า

ดูซีรีส์เพื่อความบันเทิง ดูไปแต่ยังไม่ถึงตอนจบ ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะไม่ได้อะไรกลับมาจากการดูเรื่องราวนั้น นี่เรื่องก็เข้ามาถึงช่วงกึ่งกลางเรื่องแล้วจากทั้งหมดที่ตอนนี้มีเพียง 7 episode เอาเป็นว่าเราคงต้องขอไปนั่งดูต่อว่าสิ่งที่เราคิด เราเลือกมันจะตรงกับความคิดของตัวละครในเรื่องหรือเปล่า

ชาว UNLOCKMEN คนไหนดูจบก็ลองมาแชร์กันดูว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าติดสปอยล์รบกวนใส่ด้านหน้าคอมเมนต์ไว้หน่อย เผื่อคนอื่นที่ผ่านไปผ่านมาจะได้เตรียมใจก่อนกดอ่าน แต่คุณคงจะสปอยล์เราไม่ได้ เพราะเรากำลังจะรีบไปดูต่อให้จบแล้ว

 

Cover images by Netfilx

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line