FASHION

SUBCULTURE: BKK PUNK วิถีคิด จิตวิญญาณ การแสดงออก ภาพลักษณ์ภายนอกที่ไม่อาจตัดสิน

By: Synthkid October 25, 2019

หากจะกล่าวคำว่า “พังก์” (Punk) หลาย ๆ คนคงมีภาพจำในใจที่แตกต่างกันออกไป บางคนคิดไปถึงเหล่าวัยรุ่นอังกฤษ ทรงผมชี้แหลม สวมปลอกคอหนาม และรองเท้าหนัง Underground บ้างเป็นวัยรุ่นอเมริกัน ผมยาว สวมแจ็คเก็ตหนัง หรืออาจข้ามสัญชาติกลับมานึกถึงวงดนตรีแนว J-Rock จากญี่ปุ่น

วัฒนธรรมพังก์ ถือกำเนิดตั้งแต่ยุค 70’s พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีทัศนคติ วิถีคิด แฟชั่น และรสนิยมทางดนตรีอันเป็นเอกลักษณ์ มันชัดเจนมากเสียจนทำให้คนธรรมดาสามัญรับรู้ได้ว่า อะไรที่เห็นแล้วรู้สึกว่า ‘พังก์’ โดยไม่ต้องทำความเข้าใจเชิงลึกเสียด้วยซ้ำ สำหรับกลุ่มคนที่ยังดำรงและขับเคลื่อนในวัฒนธรรมนี้ มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน

BKK PUNK

BannBar ร้านเล็ก ๆ กลางซอยรางน้ำคือหนึ่งในสถานที่ที่ชาวพังก์ไทยมักมารวมตัวกัน เริ่มต้นจาก ‘ฉัตร’ และ ‘ปุ้ย’ สองพี่น้องผู้รักในดนตรี วิถีคิด ศิลปะ และแฟชั่นพังก์ ครอบครัวของพวกเขาทำร้าน BaanBar มายาวนานกว่า 12 ปี ต่อมาที่นี่จึงกลายเป็นแหล่งรวมตัวคนที่ชอบอะไรเหมือนกันไปโดยปริยาย 

เมื่อเราถามถึงจุดเริ่มต้นของพวกเขา คำตอบส่วนมากมักเกิดจากความสนใจดนตรี การบอกปากต่อปาก รุ่นพี่รู้จักรุ่นน้อง ต่อมาฉัตรและ ‘Coga’ นักดนตรีพังก์ร็อกชาวญี่ปุ่นจากวง The Greed  ก็ได้พบกันในงาน Punk Exhibition

พวกเขาพูดคุยกันว่า จะมีทางไหนบ้างที่จะสามารถขับเคลื่อน Punk Scene ในเมืองไทยให้เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม  “Underground Rising” อีเวนต์ของกลุ่มคนที่นำเอาดนตรี แฟชั่น และศิลปะของพังก์มารวมกันจึงถือกำเนิดขึ้น และตอนนี้มีจำนวนสมาชิกหลักอยู่ถึง 6 คน ประกอบไปด้วย ฉัตร รักษาพันธ์, ปุ้ย กิติชา, ทาย มุทิตา, ยีน ณัฐพล, โต๊ด จิโรจน์ และ Yusuke Koga (Coga)

‘ฉัตร’ หนึ่งในเจ้าของร้าน BaanBar

Beginning

จุดเริ่มต้นความสนใจวัฒนธรรมพังก์ของแต่ละคนอาจมีหลากหลายที่มา แต่ถ้าหากย้อนไปยังยุคที่สื่อต่าง ๆ เข้าถึงยาก อินเทอร์เน็ตยังไม่เป็นที่แพร่หลาย หลาย ๆ คนปลดล็อกความพังก์ด้วยการถูกชักชวนต่อ ๆ กันมา โดยมี “ฉัตร” เปรียบเสมือนพี่ใหญ่ของกลุ่ม

นอกจากจะเป็นตัวตั้งตัวตีของกลุ่ม Underground Rising แล้ว เขายังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ “ปุ้ย” น้องสาวแท้ ๆ เข้ามาสู่วัฒนธรรมนี้อีกด้วย

ความชอบที่คล้ายกัน นำพาให้คนประเภทเดียวกันมาเจอกัน แต่ละคนก็มีความสามารถเฉพาะตัว เพียงแต่ศิลปะที่พวกเขาสนใจ อยู่ในรากฐานของ “พังก์” การรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนจึงเกิดขึ้น

– ฉัตร

‘ปุ้ย’ หนึ่งในเจ้าของร้าน BaanBar

ฉัตร: เราชอบพังก์ในยุคบุกเบิก ราว ๆ ปี 70 สิ่งที่พวกเขาถ่ายทอดค่อนข้างตรงกับจริตกับเรา Sex Pistols มีอิทธิพลกับเรามาก 

ปุ้ย: คนที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของเราคือพี่ฉัตร ตอนเด็ก ๆ ปุ้ยไม่ได้อยู่ในสังคมนี้ เราอยู่ในอีกสิ่งแวดล้อมเลย แต่ด้วยความที่เขาเป็นพี่ชาย เราก็เฝ้าดูเขา ฟังเพลงแบบที่เขาฟังมาตลอด จนวันหนึ่งเมื่อเรามีโอกาสได้เข้ามาอยู่ในสังคมเขา บวกกับความชอบต่อเพลงที่เราเคยฟังในวันวาน เราก็เลยเริ่มลุกขึ้นมาแต่งตัวแบบนี้ มาทำกิจกรรมกับพี่บ้าง ซึ่งจริง ๆ ก็เพิ่งไม่นานมานี้เอง

จากภาพซ้ายไปขวา โต๊ด, Coga, ฉัตร, ทาย, ปุ้ย และยีน

อะไรคือ Punk Attitude?

ฉัตร: สำหรับพวกเรา พังก์คือ ‘ความจริงใจ’ การสื่อสารต่อผู้คนอย่างจริงใจและชัดเจน แล้วแต่ว่าคุณอยากสื่อสารอะไร บทเพลงของแต่ละวงถ่ายทอดเรื่องราวที่แตกต่างกัน บ้างพูดถึงลัทธิความเชื่อ เรื่องการเมือง หรือวิถีคิด แต่พวกเขาล้วนแสดงมันออกมาด้วยความจริงใจ

Coga: มันคือจิตวิญญาณครับ ถึงผมจะแต่งตัวแบบนี้ แต่ก็บอกเลยว่าคนที่สนใจในพังก์ ไม่ต้องอินแฟชั่นแบบนี้ก็ได้ คุณไม่ต้องไปตีกับรัฐบาล ไม่ต้องไปตีกับตำรวจ ความโกรธของผมถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเสียงเพลง ผมอยากให้ผู้คนได้ฟังเพลงของเรา ทัศนคติของผมมีแค่นี้เลยครับ

ภาพลักษณ์พังก์ไทยในปัจจุบัน

ฉัตร: สำหรับคนทั่วไป อาจจะยังไม่เข้าใจคำว่าพังก์ทั้งหมด อาจจะมองแค่ภายนอก หรือการแต่งตัว จริง ๆ เรามีอะไรมากกว่านั้น และนั่นคือเหตุผลที่เรารวมตัวกันขับเคลื่อน Punk Scence ในไทย ในแง่ของดนตรีก็ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ เพราะมันเข้าถึงง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

ชาวพังก์เขาทำอาชีพอะไรกัน

ฉัตร: หลายคนก็ประกอบอาชีพทั่ว ๆ ไปนี่แหละครับ แล้วก็ยังทำในสิ่งที่ตัวเองรักได้ด้วย แต่บางคนก็สามารถนำวัฒนธรรมพังก์ของตัวเองมาประกอบอาชีพได้เลยเช่นกัน (ช่างสัก, ศิลปิน หรือ แฟชั่นดีไซเนอร์)

เคยคิดไหมว่าคนเราแค่กลัวความแตกต่าง

ฉัตร: บางคนเขาอาจจะมีความแตกต่างเป็นของตัวเองก็ได้นะครับ แต่ขาดความกล้า หากวันไหนคนพวกนั้นลุกขึ้นมาทำสิ่งที่แตกต่าง อันนั้นก็คือพังก์แล้วนะ เพราะมันเป็นวิธีคิด 

ความเข้าใจผิดคือสิ่งที่คู่กันกับชาวพังก์

ฉัตร: จริง ๆ พวกเราเจอเป็นปกติเลยครับ คนไทยหลายคนมองพวกเราเป็นกุ๊ย เป็นขี้ยา มองพวกเราด้วยความดูถูกดูแคลน เราจึงพยายามนำเสนอแง่มุมอื่น ๆ ให้พวกเขาได้เห็นบ้าง แก่นแท้ของมันคือทัศนคติ วิธีคิด เป็น Way OF Life ของพวกเรา

มันไม่ใช่แค่เครื่องแบบ หรือการทำตัวเถื่อน ๆ ถึงจะถูกเรียกว่าพังก์

เมื่อเราถามพวกเขาว่า เคยพบประสบการณ์แย่ ๆ จากการถูกตัดสินใจเพียงภายนอกบ้างหรือไม่? โต๊ดได้กล่าวว่า พวกเขาพบเจอเป็นประจำ หลายคนออกอาการ ‘เหยียด’ ทางสีหน้า ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่วิธีการรับมือคือการไม่ตอบโต้ ใครรู้สึกอย่างไรก็ทำได้เพียงปล่อยไป เพราะพวกเขาไม่สามารถเดินไปบอกใครต่อใครได้ว่า “เฮ้ย ผมเป็นคนดีนะ”

 

และเมื่อเราถามพวกเขาว่า อยากฝากอะไรถึงคนที่ชอบตัดสินคุณหรือไม่? คำตอบของพวกเขาก็มีทั้ง “อยากให้ทุกคนพูดคุยกันให้มากขึ้น ลองเปิดใจกับสิ่งที่ตัวเองไม่เคยเจอดูบ้าง” หรือ “อยากให้พูดคุยกันก่อนที่จะตัดสิน หรือมองพวกเราด้วยสายตาแปลก ๆ”

“เขาก็คงต้องใช้เวลามั้งครับ โลกใบนี้มีอะไรอีกมาก จนกว่าเขาจะได้เรียนรู้ เปิดรับ หากวันไหนเขาได้เปิดใจ เรียนรู้สิ่งที่แตกต่างจากความเชื่อของเขา ผมเชื่อว่ามันจะดีขึ้น”

เป็นพังก์ไม่แต่งตัวแบบพังก์ได้ไหม?

ฉัตร: การแต่งตัวเป็นแค่เครื่องแบบ เป็นแค่เปลือก สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้ว่าแก่นแท้ของเราคืออะไร เราต้องมีหลักการ วิธีคิด ทัศนคติ ว่า “เพราะอะไรคุณถึงชอบสิ่งนี้” ถ้าคุณรู้ว่าคุณชอบมันจริง ๆ คุณถึงจะเป็นมันได้จริง ๆ เรื่องเสื้อผ้าใคร ๆ ก็แต่งได้ครับ 

การเมือง?

ฉัตร: การเมืองเราไม่ค่อยศรัทธาอยู่แล้วครับ ถ้าให้พูดจะยาวเลยครับ (หัวเราะ)

 

PUNK MUSIC

‘Coga’ นักร้องนำวง THE GREED

ความแตกต่างระหว่าง Punk Scene ในแง่ของดนตรีที่ไทยกับที่ญี่ปุ่น

Coga: ค่อนข้างแตกต่างเลยครับ ในแง่ดนตรีมีความคล้ายกัน แตกต่างกันตรง ‘ตลาด’ ประเทศญี่ปุ่นจะมี Live House เป็นจำนวนมาก ในแต่ละเมือง ทำให้วงดนตรีพังก์มีพื้นที่ในการโชว์เยอะกว่า แต่ที่ไทยกลับมีตรงนี้น้อยมาก และนี่ก็เป็นสาเหตุที่กลุ่มเราสร้างพื้นที่ขึ้นมาด้วยตัวเอง เราสร้างเวที จัดแสง จ้างซาวด์เอนจิเนียร์เองเสร็จสรรพ 

ทำไมคุณถึงเลือกประเทศไทย?

Coga: เพราะผมมาอาศัยอยู่ที่นี่ครับ (หัวเราะ)

พูดถึงวง THE GREED หน่อย

Coga: วงของเรามีสมาชิก 4 คน ประกอบไปด้วยกีตาร์ เบส กลอง และผมร้องนำ คอนเซ็ปต์ของพวกเราคือการสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ และให้ความสำคัญกับทำนอง ผมใช้เมโลดีแบบญี่ปุ่นที่มีความติดหู จริง ๆไม่จำเป็นต้องเข้าใจเนื้อเพลงทั้งหมดก็ได้ เพราะเราพยายามสื่อสารทุกอย่างผ่านท่วงทำนอง ส่วนมากจะเป็นเพลงเร็ว แต่ถึงอย่างนั้นในซีดีวงเรามีคำแปลเป็นภาษาไทยให้ด้วยนะครับ 

พลังของดนตรีพังก์คือความโกรธ?

Coga: ผมว่าพังก์คล้ายกับป๊อป แถมยังมีพื้นฐานคล้ายฮิปฮอป เรามีเรื่องราวมากมายที่ต้องการสื่อสาร พังก์เองก็มีสไตล์ที่หลากหลาย ไม่ได้มีแค่แบบรุนแรง ส่วนมากเราจะเห็นกลุ่มคนที่ชอบ “มอช” (Mosh) หรือที่เรียกกันว่า “มอช พิทท์” (Mosh Pitt) จริง ๆ แล้วพังก์ไม่ได้มีแค่การมอช ไม่ได้มีแต่การทำลาย หรือการทำอะไรอันตราย ผมเองก็อยากจะแสดงดนตรี แบบที่ผู้คนทั่ว ๆ ไปจะให้ความสนใจและทำความเข้าใจกับมันได้ด้วยเช่น 

คิดว่า Punk Scence เป็นอย่างไรในระดับโลก

Coga: จริง ๆ ผมเองก็ไม่ได้ยินเพลงของซูเปอร์สตาร์พังก์หน้าใหม่เสียเท่าไหร่ เพียงแต่ประเทศต่าง ๆ ล้วนมีพังก์ซีนเป็นของตัวเอง ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป อังกฤษ อเมริกา หรือในระดับเอเชีย ซึ่งพวกเรายังต้องผลักดันมันอยู่ อีกทั้งยังต้องการแรงสนับสนุนจากซีนอื่น ๆ จากคนที่เข้าใจเรา คนที่สนใจในเพลง วัฒนธรรม แฟชั่น และทัศนคติของเราครับ

ทำไมคุณถึงหลงรักพังก์มากขนาดนี้

Coga: จริง ๆ ผมรักทุกอย่างเลยที่เป็นพังก์ ดนตรี ความมุ่งมั่น ทัศนคติ และวัฒนธรรม ตอนอายุ 13 ผมได้ดูหนังเกี่ยวกับวง Sex Pistols ซึ่งมันเปลี่ยนโลกของผมไปเลย เอาจริง ๆ ก็พูดยาก เพราะผมรักทุก ๆ อย่างที่เป็นมัน ส่วนคนอื่น ๆ ที่สนใจพังก์ แต่ละคนคงมีเหตุผลเป็นของตัวเอง บางคนชอบดนตรี แต่ไม่ชอบแฟชั่น ซึ่งไม่ผิดนะครับ คุณไม่ต้องแต่งตัวแบบนี้ก็ได้ มันคือเป็นวัฒนธรรม เป็นความอิสระ 

การแสดงออกทางความคิดต่างหากคือกุญแจสำคัญของจิตวิญญาณความเป็นพังก์ 

FUTURE OF PUNK SCENE

อยากเป็นพังก์ต้องทำอย่างไร

ฉัตร: ผมก็ไม่รู้จะแนะนำยังไง เพราะสิ่งนี้ต้องเกิดขึ้นเอง เราไม่สามารถเสแสร้งเป็นมันได้ เมื่อคุณรู้สึกว่ามันใช่ ตรงกับวิถีของคุณ ถูกจริตกับคุณ คุณก็จะสนใจมันเอง อย่างผมก็ทำในสิ่งที่รักที่ชอบ มันเป็นธรรมชาติของผมเลย เพียงแต่มันแตกต่างจากคนทั่วไปเท่านั้นเอง

ทิศทางของพังก์ไทยในอนาคต

เราคาดหวังว่ามันจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะสื่อต่าง ๆ เข้าถึงง่ายขึ้น อยากให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อยากให้ตัดสินกัน และอยากให้ผู้คนเข้าใจเรื่องที่เราสื่อสารออกไปให้มากขึ้นครับ

ฝากบอกถึงคนที่อยากมีส่วนร่วมใน Punk Scene 

ฉัตร: เราทำงานของเราอย่างต่อเนื่อง ผมมีบาร์ มีร้านอาหาร ผมจัดงานอีเวนต์ จัดงานดนตรีบ่อย ๆ มีทั้งศิลปะ ดนตรี และกิจกรรม เรานำพาผู้คนที่มีความชอบเหมือนกันมาพบเจอกัน สามารถแวะมาได้เสมอที่ BaanBar ครับ

แม้ทีมงาน UNLOCKMEN จะไม่มีใครสวมใส่เครื่องแบบชาวพังก์ แต่คืนนั้นที่ได้ร่วมชมการแสดงวง THE GREED ใน BaanBar พวกเรากลับรู้สึกสนุกสนาน ไม่รู้สึกแปลกแยก แถมยังประทับใจกับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากพวกเขาตลอดคืน

หากคุณสนใจอยากสัมผัสสิ่งนี้ด้วยตัวเอง คุณสามารถเข้าไปติดตามกิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่ม Underground Rising ก็สามารถเข้าไปกดติดตามได้ทางอินสตาแกรม @undergroundrisingbkk หรือแฮชแท็ก #undergroundrisingbkk ได้ครับ

 

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibuth

 

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line