Business

เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ แนวคิดการทำงานให้ได้งานของ ‘ก้อง กณพ เชาว์วิศิษฐ’ ผู้บริหาร TOYOTA TSUSHO

By: LIT January 17, 2018

หากพูดถึง TOYOTA หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์รถยนต์ แต่นอกจากนั้นแล้ว TOYOTA ยังมีธุรกิจอีกหลายแขนง ซึ่งหนึ่งในชื่อที่คุ้นหูกันมากหน่อยก็คือ ‘Toyota Tsusho’ ผู้นำธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เครื่องอุปโภค-บริโภค นำเข้า-ส่งออก ฯลฯ ที่ก่อตั้งร่วมกับบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 60 ปีก่อน เป็นบริษัทที่ยึดคติในการทำงานตามแบบ Learning by doing เรียนรู้โดยลงมือทำ ได้เห็นภาพรวมการทำงานเข้าใจอย่างแท้จริง รวมทั้งการบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความเป็นกันเอง ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

UNLOCKMEN มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ คุณก้อง – กณพ เชาว์วิศิษฐ ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ ทายาทรุ่นที่ 3 แห่ง Toyota Tsusho (Thailand) เกี่ยวกับแนวคิดการบริหาร และการเรียนรู้อยู่เสมอ เพื่อปรับใช้ในการบริหารงานและบาลานซ์ชีวิตครอบครัวให้ประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน

ต้องบอกเลยว่าจากการพูดคุย ทำให้เราได้แนวคิดที่มีประโยชน์มากมาย ซึ่งสามารถนำไอเดีย มุมมองดี ๆ ไปปรับใช้ให้เข้ากับการบาลานซ์ชีวิตของพวกเรา เพื่อจะได้พัฒนาขีดความสามารถในการทำงาน และแบ่งเวลาส่วนตัวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เมื่อได้ยินชื่อ Toyota สิ่งแรกที่นึกถึงคือแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงระดับโลก แล้วบริษัท Toyota Tsusho (Thailand) จำกัด นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และทำธุรกิจอะไรในประเทศไทยบ้าง ?

“Toyota Tsusho เป็นบริษัทในโตโยต้ากรุ๊ป โดยตั้งให้เป็นเทรดดิ้งเฮาส์ของโตโยต้าประจำประเทศไทยตั้งแต่ปี 2500  หลังสงครามโลก Toyota Tsusho ของญี่ปุ่นอยากเข้ามาตั้งสาขาที่ไทย เลยหาพาร์ทเนอร์ที่ทำงานเข้ากันได้ดี และจนถึงตอนนี้ก็ยังเป็นการ Joint Venture ซึ่งการบริหารกว่าครึ่งยังเป็นฝั่งไทยอยู่ เราสนับสนุนเบื้องหลังกิจกรรมการผลิตรถยนต์ของโตโยต้าทั้งหมดร่วมกันแบบ Business to Business”

หน้าที่ ความรับผิดชอบ ที่คุณก้องต้องดูแลอยู่ตอนนี้มีอะไรบ้าง

“จริง ๆ ผมพึ่งย้ายแผนกมา จนถึงเดือน 7 ปีนี้ เราอยู่แผนกเคมี ดูเรื่องเคมีภัณฑ์และเม็ดพลาสติก ตอนนี้เราย้ายมาอยู่ทางด้าน Logistic ในส่วนของ Global Part เนื่องจากชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ได้ผลิตที่ไทยที่เดียว มันอาจจะผลิตจากญี่ปุ่น อินโดนีเซีย จากที่อื่น ๆ มันต้องมีการขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อมาประกอบเป็นรถยนต์ในเมืองไทย ซึ่งแผนกปัจจุบันที่เราทำอยู่จะเป็นทางด้านชิ้นส่วน ที่เข้ามาและส่งออกไปจากไทย”

กับการเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูล มีคุณปู่เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท ส่งผลต่อความยากง่าย หรือสร้างความกดดันในการทำงานบ้างไหม?

“เป็นคนละแบบครับ อย่างของเรา ก็จะมีความกดดันว่าเราเข้ามาในฐานะผู้ถือหุ้นด้วย เป็นพนักงานด้วย และเราต้องแยกบทบาทเหล่านั้นให้ออก นั่นคือสิ่งที่คุณปู่สอนมาตลอด อาจจะมีบ้างที่เรามีฐานะเป็นผู้ถือหุ้น จะทำให้พนักงานเกรงใจเรามากกว่าปกติ บางทีที่เราทำผิดหรืออะไรก็ตาม เค้าจะไม่กล้าบอกเรา เราก็จะไม่รู้ว่าแบบนี้ควรหรือไม่ควรทำ

ตอนเราเข้าไปใหม่ ๆ เราไม่รู้จักใครเลย ทุกคนก็จะเกร็งกับเรา แต่เราก็คุยกับเค้าว่ามีอะไรก็คุยกันได้ มีอะไรให้เตือนกันได้ ให้มองเราเป็นรุ่นน้องคนหนึ่ง คือมันก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจากมีคนเกรงใจมาก ตอนแรกทุกอย่างมันผ่านง่ายมากเลย แต่มันผ่านมาในวิธีที่ถูกหรือเปล่า หรือไม่ใช่วิธีที่ควร ซึ่งอย่างหนึ่งที่ผมอยากเรียนรู้จากการทำงานในฐานะพนักงาน คือพนักงานจริง ๆ เค้าต้องเจออะไร มันติดปัญหาอะไรบ้างเวลาทำงาน”

ในฐานะที่เป็นทั้งผู้ถือหุ้นและพนักงานมีการบาลานซ์การทำงานยังไงบ้าง

“ในการทำงานเราต้องแยกหน้าที่ทั้งสองฝั่ง เรามีจุดประสงค์ในการทำงานอย่างไร เป้าหมายต้องการอะไร ก็ทำไปตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ ส่วนผู้ถือหุ้นเราก็ต้อง maximize profit ให้ทุกคนแฮปปี้ ด้านของการเป็นพนักงาน เราก็ทำส่วนหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ก็คือแยกกันชัดเจน”

ก่อนจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งบริหาร ทราบมาว่าคุณก้องได้ไปเรียนรู้งานที่ญี่ปุ่นด้วยตัวเองเป็นเวลากว่า 3 ปี อยากให้เล่าถึงประสบการณ์ช่วงนั้นสักหน่อย

“ต้องลําดับเหตุการณ์ก่อน ผมเข้ามาที่ Toyota Tsusho ที่ไทย อยู่แผนกเหล็กหนึ่งปี ย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น ก็อยู่แผนกเหล็กเหมือนกัน เป็นเวลาสามปี แล้วกลับมาไทยอยู่แผนกเคมี แล้วก็ย้ายอีกที มาอยู่โกบอลพาร์ทที่อยู่ปัจจุบัน

ตอนนั้นเราไปในฐานะพนักงาน รับผิดชอบด้านส่งออกเหล็กสำหรับยานยนต์ไปปากีสถาน มันก็ทำให้เรียนรู้หลายอย่างเหมือนกัน อย่างตอนที่เราอยู่ไทย เราก็มีติดต่อกับฝั่งญี่ปุ่นอยู่แล้ว บางทีเราก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมแบบนี้ถึงทำไม่ได้ ทำไมขอแค่นี้ใช้เวลานานมาก แต่พอเราได้มาอยู่ ณ จุดนั้น ทำให้เราเข้าใจเหตุผลที่ทำให้มันติดขัด เพราะระบบที่ดีมันต้องมีลำดับการทำงานที่ชัดเจน มันถึงใช้เวลา ไม่ใช่เพราะเค้าทำคนเดียว

หลังจากนั้นเราจึงสามารถอธิบายให้คนไทยฟังและเข้าใจได้ เพราะที่ผ่านมา คนไทยก็ไม่รู้ว่าระบบทางญี่ปุ่นเป็นยังไง ฝั่งญี่ปุ่นก็ไม่รู้ว่าฝั่งไทยสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน บางที Standard ก็ไม่เหมือนกัน 100% ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ นี่คือสิ่งที่ทำให้เราได้เรียนรู้และมีประโยชน์ในการทำงานมาก”

ตอนอยู่ที่ญี่ปุ่น สิ่งที่เราคิดว่ายากมากในการปรับตัวทำงานมีอะไรบ้าง

“เรื่องของวัฒนธรรมนี่แหละครับ คือญี่ปุ่นเป็นชาติที่สุภาพ เขาจะไม่ว่ากันตรง ๆ เค้าจะพูดเป็นภาษาทางอ้อม อย่างเช่นหิว เขาจะไม่มีคำศัพท์ว่าหิว  จะใช้คำศัพท์ว่าท้องว่าง นั่นคือแปลว่าหิว แต่ถ้าเราเรียนญี่ปุ่นไปตอนแรก ๆ แปลในดิกชันนารีตรง ๆ เราจะไม่เข้าใจว่าท้องว่างคืออะไร

หรืออย่างรุ่นพี่ ที่นั่นจะมีระบบอาวุโสที่สูงหน่อย ถ้าอย่างตอนเราทำ OT อยู่ รุ่นพี่เดินมาบอกว่านี่ท้องว่างนะ นั่นคือเขาชวนเราไปกินข้าว แล้วการที่รุ่นน้องปฏิเสธรุ่นพี่มันไม่ค่อยดี แต่ตอนแรกเราก็ไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็งงว่าจะมาบอกเราทำไม (หัวเราะ) ซึ่งมันเป็นการปรับตัวที่ท้าทายอยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นเรื่องงาน เขาจะมีประชุม หลัก ๆ คือการประกาศมากกว่า ให้ทุกคนทราบพร้อมกัน แต่การประชุมแบบตัดสินใจมันจะเป็นพรีมีตติ้ง ครั้งที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า แล้วถึงจะมาประชุมจริง คือเป็นการตัดสินใจมาแล้ว แล้วเอามาประกาศในที่ประชุม”

อะไรคือ KEY SUCCESS ที่ชัดเจนของเรา

“Key Success ของเราคือการปรับเอาสิ่งที่เราเห็นว่ามันใช้ประโยชน์ได้ทั้งในไทยและญี่ปุ่น คัดเอาเฉพาะส่วนที่ดีมาใช้ อย่างญี่ปุ่นเราอาจจะต้องทำตามขั้นตอนเป๊ะ ๆ พอเราไปอยู่ตรงนั้น เราก็ถามว่าทำไมมันต้องเป็นแบบนี้ ทำไมข้ามขั้นตอนบางอย่างไม่ได้ เค้าก็มีเหตุผลมา เราก็ฟังเหตุผลแล้วลองคิดดูว่า สำหรับในไทยต้องเป็นไปตามนั้นไหม หรือสามารถดัดแปลงวิธีให้เหมาะสมกว่าได้

คือที่ไทยเราทำงานกันมา 60 กว่าปีแล้ว มันก็มีกฎระบบของมันอยู่ แต่ตรงไหนที่เรามองว่าถ้าเปลี่ยนแปลงแล้วจะดีขึ้น เราก็ไปคุยกับคนที่เค้าทำงานจริง ๆ ก่อน ว่าถ้าเราปรับวิธีการทำงาน มันจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นไหม ถ้าเกิดเราวันหนึ่งเราไปบอกว่าไม่เอาแล้ว ไม่ทำแบบนี้แล้ว ไปทำแบบใหม่กันเถอะ คนทำงานรู้สึกว่าประสิทธิภาพลดลงก็คงจะไม่ดี เราก็ต้องมีสเต็ปในการทดลองก่อน จะเริ่มเลยไม่ได้”

เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้บริหาร, ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เราอยากทราบถึงคติที่คุณก้องยึดถือในการทำงานบริหาร ที่ต้องรับผิดชอบองค์กรขนาดใหญ่ ทำธุรกิจหลากหลายด้าน มีบุคลากรมากมายหลายพันคน ให้ได้ประสิทธิภาพที่สุด

“เนื่องจากมันมีหลายบทบาทในตัวเอง เราก็ต้องแยกให้ชัดว่าอันนี้เราทำในหน้าที่หมวกใบใน หมวกผู้ถือหุ้นหรือพนักงาน หน้าที่รับผิดชอบคืออะไร จุดประสงค์คืออะไร เป้าหมายคืออะไร ทำยังไงให้เราบรรลุเป้าหมาย การกระจายงานให้ถูกคน ถูกที่ เป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากสินค้าใน Port ของเราค่อนข้างจะหลากหลาย จะมียูนิฟอร์ม เม็ดพลาสติก เคมีเหลว พาร์ทรถยนต์ ซึ่งทั้งฝั่งลูกค้าและ Suppliers ล้วนมีวัฒนธรรมองค์กรต่างกันหมด มันก็จะมีวิธีทำงานที่แตกต่างกันไป ส่วนเราเข้าไปช่วยดูภาพรวมให้ทุกอย่าง smooth ที่สุด

อีกหนึ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือการ Learning by Doing คือการเป็นพนักงานด้วยตัวเอง ทำให้เราเข้าใจ process และตัวงานในส่วนที่พนักงานต้องเจอจริง ๆ เนื่องจากบริษัทเราเป็น trading house ไม่มีโรงงานเป็นตัวเป็นตน บางทีเราไม่เห็น ไม่รู้ จะช่วยคุยช่วยคิดก็ลำบาก มันก็จะมีดีเทลรายละเอียดของมันค่อนข้างมาก ถ้าเราไม่เห็นของจริง เราจะบอกไม่ได้เลยว่าจะตรวจสอบยังไง ทำแบบนี้ไม่ได้เพราะเหตุผลอะไร เมื่อไม่รู้ ก็แก้ไขไม่ตรงจุด”

การทำงานที่ต้องรับผิดชอบหลากหลายด้านแบบนี้ มีวิธีสร้าง Work – Life Balance อย่างไร มีไลฟ์สไตล์หรืองานอดิเรกอะไรในวันพักผ่อนบ้าง

“งานอดิเรกเราจะอยู่กับลูก เราตั้งวันอาทิตย์ไว้อยู่กับครอบครัวอ ยู่กับที่บ้าน วันเสาร์ส่วนใหญ่จะตีกอล์ฟ วันธรรมดาแล้วแต่ว่าตอนเย็นต้องมีไปดินเนอร์ที่ไหนหรือเปล่า ก็จะให้ภรรยาเป็นคนคอยอัพเดทตารางต่าง ๆ มา แล้วเรามาดูอีกทีว่าชนกับกิจกรรมอื่น ๆ หรือไม่ อะไรที่เราหลีกเลี่ยงได้ อะไรจำเป็นมากกว่า ก็ทำให้เราจัดตารางชีวิตได้ง่ายขึ้น”

อยากทราบถึงเป้าหมายในอนาคตของ บริษัท Toyota Tsusho (Thailand) จำกัด ใน 3 – 5 ปีข้างหน้า 

“คงเป็นด้าน Automotive เป็นส่วนใหญ่ ตอนนี้กระแสรถพลังงานไฟฟ้า EV มาแรงมากในเมืองไทย แต่ยังมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนา ต้องรอให้พร้อมอีกซักพักใหญ่ ๆ ก็เป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมในสาย supply chain เพื่อรองรับเทรนด์ใหญ่อันนี้

ส่วน Non-auto ก็เป็นโอกาสที่จะเปิดรับอะไรใหม่ ๆ เพราะมีสินค้าคุณภาพดีมาก ๆ อีกหลายอย่างจากญี่ปุ่นที่มี Potential สูง หรือสินค้าพวก B to C อุปโภค บริโภค ซึ่งเยอะมาก สินค้าเหล่านี้ต้องศึกษาการตลาดให้ดี ซึ่งผมมองว่า Toyota Tsusho มีศักยภาพที่สามารถทำได้ จากการที่เรามีสาขาที่ญี่ปุ่นอยู่แล้ว และในอีกหลายประเทศ เรื่อง sourcing เราไม่เป็นรองใคร

ซึ่งตอนนี้เราก็มีทำอีกขานึงด้วย เป็น Event Marketing โดยคนที่มาออก event ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกค้าของ Supplier หรือเป็น Supplier อีกทีหนึ่ง ซึ่งเค้าทำหลายอย่าง และเรามองว่าเรามี network ตรงนั้นอยู่ในมือแล้ว ก็น่าจะขยายธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด”

ทำธุรกิจมา เคยเจอช่วงที่โหดที่สุดแน่นอนอยู่แล้ว เรารับมือยังไง

“มีครับ ทุกคนต้องเจอปัญหาแน่นอน จะเล็ก จะใหญ่ แต่พอเราก้าวผ่านปัญหานั้นมาได้แล้ว เราก็ได้เรียนรู้วิธีรับมือ ครั้งหน้าถ้าเจอรูปแบบเดียวกันอีก เราก็รู้ทันทีว่าต้องทำยังไง นี่เป็นข้อดีของการมาเรียนรู้จริง ๆ ทำงานจริง ๆ ตอนเกิดปัญหาหลาย ๆ ครั้งเราก็เครียดทุกครั้งแหละ ถ้าคิดเองแล้วมันมืดแปดด้าน เราก็ไปปรึกษาคนที่รู้ คนที่มีประสบการณ์ ก็จะได้ไอเดียดี ๆ มาปรับใช้ ซึ่งบางทีมันเป็นทางออกที่ง่าย แต่เราอาจจะคิดไม่ถึง พอแก้ปัญหาได้ปุ๊บเราก็จะได้ประสบการณ์ที่ดีของตัวเอง”

คุณก้องมีสิ่งที่ยังไม่เคยมีโอกาสได้ทำ แต่อยากลองทำเพื่อ UNLOCK ศักยภาพตัวเอบ้างหรือเปล่า?

“เราได้ไปทำงานในหลาย ๆ แผนก ตอนไป Global Part ก็ช่วย UNLOCK ตัวเองย่างหนึ่ง มองเห็นการทำงาน มองเห็น supply chain มองเห็นโอกาสมากขึ้น ถ้าจะ UNLOCK จริง ๆ คงเป็นพวกงานอดิเรกที่ชอบทำ แต่ยังไม่ค่อยมีเวลาเท่าไหร่ อย่างตอนที่เราเรียน Finance มา อยากเอาตรงนั้นมาทำงานอดิเรก อาจจะเป็นทางด้านเขียน Programming ที่เกี่ยวข้องกับ Finacne ก็น่าสนใจดี”

ก่อนจากกัน ในฐานะผู้บริหารรุ่นใหม่ อยากให้แนะนำแนวคิดสำหรับวัยรุ่นที่อยากทำธุรกิจของตัวเองหน่อยครับ

“อย่ายอมแพ้ครับ (หัวเราะ) ถ้าตั้งเป้าไว้แล้ว เราจะต้องไปให้ได้ มันยากเย็นแน่นอนครับ แต่ยังไงก็ตาม เราจะต้องไปให้ได้ แน่นอนว่าทางที่เราคิดไว้ เทียบกับชีวิตจริงไม่ได้เลย เพราะมันยากกว่าเยอะ แต่เราต้องซิกแซกไปให้ได้  จะต้องเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา จะต้องคลานไปกับพื้นบ้างก็ตาม การที่เราขยับไปข้างหน้าเรื่อย ๆ สุดท้ายเราก็จะไปถึงจุดหมายนั้นได้ ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย นั่งรออยู่เฉย ๆ คุณไม่ได้อยู่กับที่นะครับ มันคือการถอยหลังออกห่างจากสิ่งนั้นไปเรื่อย ๆ และจะไม่มีวันเปลี่ยแปลงอะไรในชีวิตนี้ได้เลย”

 

LIT
WRITER: LIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line