Life

ฟังเพลงให้งานเดิน ต้องเข้าใจว่าดนตรีตอนไหนมีผลอย่างไรกับสมอง

By: Chaipohn April 26, 2019

ร้อยทั้งร้อยคนทำงาน ต้องผ่านการฟังเพลงขณะทำงานกันมาแล้ว แต่บางคนอาจจะสงสัยว่าเหตุใดบางครั้งฟังเพลงไป ทำงานไป แล้วได้งานดีเหลือเกิน แต่ในบางทีฟังเพลงไป ทำงานไปเหมือนเดิม แต่งานไม่เกิด ไอเดียไม่มีวี่แววว่าจะมาสักที ทำให้หลายคนโต้เถียงกันว่าสรุปแล้วฟังเพลงทำงานเป็นผลดีหรือแย่ลงกว่าเดิม แน่นอนว่าทุกการโต้เถียงย่อมมีวิทยาศาสตร์เป็นกรรมการคอยตัดสิน เรื่องดนตรีกับการทำงานก็เช่นกัน วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่า ฟังเพลงในสถานการณ์ไหน มีผลกับสมองตอนทำงานอย่างไร และเราควรจะฟังเพลงยังไงให้งานวิ่งฉิว

นึกภาพว่าเรากำลังนั่งอยู่ในออฟฟิศตามปกติ นึกภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจจะมีทั้งวันที่มีเสียงรบกวนจากเพื่อนร่วมงาน นึกภาพโจทย์งานที่ได้รับในแต่ละวัน แล้วดูไปด้วยกันทีละสถานการณ์ว่าก่อนจะกด Play ฟังเพลงให้ได้ประโยชน์สูงสุดในแต่ละสถานการณ์นั้นต้องทำอย่างไร

ต้องใช้สมองคิดไอเดีย วิเคราะห์ แยกแยะ -> ปิดเพลง

ในการทำงานที่ต้องใช้สมองหนัก ๆ สำหรับคิดงาน ต้องจดจำรายละเอียดต่าง ๆ หรือต้องเรียนรู้ Instruction สำคัญ ๆ ซึ่งสมองต้องตั้งใจและใช้พลังงานในการทำงานมากอยู่แล้ว การฟังเพลงไปด้วยจะยิ่งทำให้สมองต้องแบ่งพลังงานมาใช้ในการประมวลผลดนตรีอีก ซึ่งการทำงานที่ Multitasking มากเกินไปของสมองจะทำให้มันจดจำได้ไม่ดีอย่างที่ควร หรือคิดงานได้ไม่เฉียบขาดเพราะมีรายละเอียดบางอย่างหลุดหายไป แบบที่เราต้องอ่านโจทย์วนไปวนมานั่นแหละ เมื่อมี Instruction เข้ามาที่สมองมากไป ทำให้มันจดจำรายละเอียดที่ไม่สำคัญมาแทนบ้าง หรือจำสลับกันบ้าง

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดเมื่อเราต้องทำงานที่ใช้สมองหนัก ๆ คือใส่หูฟังได้ แต่อย่าเพิ่งกด Play เลยจะดีกว่า ปล่อยให้ความเงียบเข้ามาแทนที่ เพื่อสมองจะได้มี Priority ในการทำงานได้ดีขึ้น

เสียงรอบข้างจุกจิกกวนใจ -> ฟังเพลง

สมองเราเป็นชิ้นส่วนที่ไวต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อรอบตัวรอบโต๊ะทำงานเรามีเสียงจ๊อกแจ๊กมากเกินระดับที่จะรับได้ (ซึ่งแต่ละคนย่อมมีระดับต่างกันออกไป) ไม่ว่าจะเสียงเล็ก เสียงน้อย สมองก็จะเก็บรายละเอียดทั้งหมดเข้ามาประมวลผลอย่างช่วยไม่ได้ ซึ่งการประมวลผลนั้น require พลังงานมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป แต่เมื่อมันทำงานหนัก ๆ ขึ้นก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมน โดยสมองจะผลิต stress-hormone ที่ชื่อ Cortisol ออกมามากขึ้น ทำให้สมองส่วนหน้าที่ชื่อ Prefrontal Cortex (PFC) ทำหน้าที่คิดคำนวณทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้เราทำงานได้ประสิทธิภาพลดลงไปด้วย

ในสถานการณ์แบบนี้การฟังเพลงสามารถช่วยให้สมองทำงานได้อยางมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเพลงจะช่วยกรองเสียงแวดล้อมที่ไม่จำเป็นออกไปนั่นเอง

ทำงาน Routine ที่ไม่ต้องคิดเยอะ แต่มีจำนวนมาก -> ฟังเพลงโปรดที่คุ้นเคย

บางวันเราอาจจะเจอการเคลียร์งานบางอย่างที่ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องจดจำอะไรมากมาย เป็นงาน Routine เช่นงานเอกสารหรือการทำอะไรซ้ำ ๆ กรณีแบบนี้การฟังเพลงจะช่วยให้เราทำงานได้อย่าง Feel Good มากขึ้น นอกจากจังหวะทำนองดนตรีของเพลงโปรดหรือ Playlist ที่เราคุ้นเคยดีอยู่แล้วจะทำให้สมองรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย ไม่ต้องทำงานหนักในการประมวลผลมากนัก ช่วยสร้าง Rhythm ในการทำงาน Routine ให้เพลิดเพลินเป็นจังหวะได้ดี แถมยังจะช่วยสร้างฮอร์โมนความสุขทั้งหลายออกมามากขึ้นด้วย

ในกรณีนี้เราอาจจะเห็นตัวอย่างจากหมอ Operation ที่อาจจะผ่าตัดพร้อมกับฟังเพลงไปด้วย ซึ่งในเคสที่การผ่าตัดเป็น Operation ที่ routine ไม่ใช่งานใหญ่ที่ยากมากเกินไป ก็ถือเป็น Repetitive Job ที่ใช้วิธีนี้ได้ผลเช่นเดียวกัน

อยากฟังเพลงใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้สมองคิดงานได้น้อยลง

เป็นเหตุผลที่ไปในทางเดียวกับข้อก่อนหน้านี้ เมื่อเราอยู่ในอารมณ์ที่อยากฟังเพลงใหม่ ๆ ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน สมองจะต้องทำงานหนักมากขึ้นจากการประมวลผลดนตรีและเนื้อร้องที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งสมองมักจะพยายามจดจำ Pattern ของเพลงหรือคาดเดาเนื้อร้องท่อนถัดไปโดยอัตโนมัติ แน่นอนว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องแบบนี้ทำให้สมองต้องใช้ Capacity พอสมควร มันจึงไม่เหมาะกับวันที่ต้องใช้สมาธิในการทำงาน หรือการพยายามท่องจำอะไรบางอย่าง เพราะจะยิ่งสร้างความเครียดให้สมองทำงานหนักโดยไม่รู้ตัว

 

อ่านจบแล้วคงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมบางคนฟังเพลงเดิม ๆ ซ้ำเป็นร้อย ๆ ครั้งในหนึ่งวัน อาจจะเป็นเพราะว่าเพลงนั้นเป็นเพลงที่ทำให้เรารู้สึกพร้อมทำงาน รู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงเดียวกัน ลองหาเพลงหรือ Playlist ที่เหมาะจะใช้ฟังตอนทำงานสำหรับตัวเราเองดูซิครับ นอกจากได้ฟังเพลงดี ๆ ชีวิตมีความสุข ดวงการทำงานอาจจะพุ่งอย่างที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนเลยทีเดียว

 

Appendix : 1 /

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line