Guide

LIFESTYLE : “ล้ง 1919” (LHONG 1919) แหล่งไลฟ์สไตล์ใหม่ ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

By: Lady P. November 5, 2017

ถ้าให้พูดถึงสถานที่เปิดใหม่ที่น่าจับตามองมากในขณะนี้ คงไม่มีใคร ไม่พูดถึง “ล้ง 1919” (LHONG 1919)  ซึ่งหากใครเคยมีโอกาสล่องเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาชมความสวยงามของ 2 ฝั่งน้ำ ต้องเคยสังเกตเห็นพื้นที่อันเก่าแก่ของตระกูล “หวั่งหลี” ที่ยังหลับใหลอยู่เป็นเวลานาน แต่ใครจะรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ในนาม ท่าเรือ “ฮวย จุ่ง ล้ง” สถานที่อันที่เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์อันรุ่งเรือง ในช่วงยุคทองของการค้าระหว่างไทย-จีน นับแต่นั้นมา เมื่อกาลเวลาผ่านไป การค้าทางเรือถูกเข้ามาแทนที่ด้วยการคมนาคมอื่นๆ ที่ทันสมัยขึ้น ท่าเรือแห่งนี้จึงถูกลดบทบาทลง

กระทั่งวันเวลาเดินทางมาถึงวันนี้ “ตระกูลหวั่งหลี” ในฐานะเจ้าของต้องการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กลายเป็น แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมไทย-จีน ปลุกชีวิตให้มรดกของบรรพบุรุษที่หลับใหลให้ตื่นคืนชีวิตชีวาอีกครั้ง ในนาม “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมี คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้บริหารโครงการ รับหน้าที่ในการสร้างสรรค์พัฒนา

หัวเรือใหญ่ คุณรุจิราภรณ์ หวั่งหลี ผู้ก่อตั้งโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กล่าวว่า “ด้วยความรัก ความภาคภูมิใจ และหัวใจอนุรักษ์ ของลูกหลานตระกูล หวั่งหลี นำมาสู่โครงการ “ล้ง 1919” ที่เป็นมากกว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกของครอบครัว อีกทั้ง คือการดำรงรักษามรดก เชิงศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์อันเป็นมรดกของชาติ และมรดกของโลกสืบไป ครั้งนี้ทุกคนใน บ้านหวั่งหลีต่างเห็นพ้องกันว่า เป็นหน้าที่ในการปลุก “ฮวย จุ่ง ล้ง” ที่หลับใหลมาเป็นเวลายาวนาน ให้ตื่นขึ้นมามีชีวิตอีกครั้ง

ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษารูปร่างหน้าตาแบบดั้งเดิมตั้งแต่ครั้งแรกสร้าง เมื่อได้บูรณะขึ้นมาแล้ว เราจึงอยากเปิดให้เป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนภายนอก นักเรียนนักศึกษา รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ที่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของไทยกับจีน และวัฒนธรรมของชาวจีนโพ้นทะเล ตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งโครงการนี้เป็นการบูรณะเชิงอนุรักษ์ ที่ยึดหลักการรักษาโบราณสถานให้คงสภาพงดงามตามสภาพให้ได้มากที่สุด ด้วยการใช้วิธีการบูรณะและวัสดุแบบโบราณ เช่น จิตรกรรมฝาผนังบริเวณรอบวงกบประตูและหน้าต่าง บูรณะด้วยการใช้สีที่ตรงกับของเดิม ค่อยๆ บรรจงแต้มเติมรอยจางให้ชัดขึ้น โดยไม่ได้เอาสีสมัยใหม่เข้าไประบายทับหรือวาดเพิ่มเติม หรืออย่างเช่น การบูรณะตัวอาคารโบราณที่สร้างแบบถืออิฐฉาบปูน ผนังอิฐส่วนที่แตกร่อนก็คงสภาพไว้ตามนั้น บูรณะโดยการใช้ปูนน้ำอ้อย เป็นปูนจากธรรมชาติตามภูมิปัญญาโบราณ มาเย็บตะเข็บหรือยารอยต่อที่แตก เพื่อไม่ให้ปูนหลุดร่อนไปมากกว่าเดิม ส่วนโครงสร้างอาคารไม้นั้น ส่วนไหนที่ชำรุดก็นำไม้จากส่วนอื่นๆ ของอาคารมาต่อเติม โดยไม่ทิ้งไม้เก่า เราตั้งใจและทุ่มเทเต็มที่ เพื่อให้ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) กลายเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจีน ที่นอกจากจะเป็นความภูมิใจของลูกหลานตระกูลหวั่งหลีเองแล้ว ยังเป็นความภูมิใจของชาวไทยทุกคนด้วย”

ล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ตระกูล “หวั่งหลี” ในฐานะผู้ถือครองจึงริเริ่มโครงการ “ล้ง 1919” (LHONG 1919) ท่าประวัติศาสตร์ศิลป์ไทย-จีน ริมแม่น้ำพระยาโดย บริษัท ชิโน พอร์ท จำกัด ในฐานะผู้บริหารโครงการฯ ได้จัดงานเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมี คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน โดยภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกผู้มีเกียรติ ผู้หลงใหลในศิลปวัฒนธรรมจีนจากหลากหลายวงการร่วมงานคับคั่ง พร้อมทั้งโชว์อลังการสุดประทับใจโดยแบรนด์เสื้อผ้า WEE ใน  “WEE FALL/WINTER  2017  COUTURE COLLECTION” (วี ฟอลล์/วินเทอร์ 2017 กูตูร์ คอลเลกชั่น) โดยการสร้างสรรค์ของดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์คุณ สุภาวดี ศิริรัตนพล

โดยผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม LHONG1919 ได้แล้ววันนี้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ LHONG1919


เจ้าของแบรนด์ “WEE” คุณ สุภาวดี ศิริรัตนพล

ดร.ศรัณฐ์ หวั่งหลี, พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร, สุจินต์ หวั่งหลี, กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, รุจิราภรณ์ หวั่งหลี, สุกิจ หวั่งหลี, สุภีร์ หวั่งหลี, ธรรมนูญ หวั่งหลี

Lady P.
WRITER: Lady P.
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line