EVENT

VISIT : “SPEEDMASTER 60th ANNIVERSARY” เอ็กซิบิชั่นสุดพิเศษ จาก OMEGA พาชม 12 เรือนเวลาหายากในตำนานแบบใกล้ชิด

By: NTman August 29, 2017

เดินทางผ่านประวัติศาสตร์มายาวนานร่วม 60 ปี กับ Speedmaster หนึ่งในคอลเลคชั่นนาฬิกายอดนิยมจาก OMEGA แบรนด์นาฬิกาสุดหรูสัญชาติสวิส ที่นอกจากจะได้ความนิยมในระดับโลก ในประเทศไทยเองก็มีเหล่า Speedmaster Lover อยู่ไม่น้อยเช่นกัน เนื่องในโอกาสพิเศษแบบนี้ ทาง OMEGA จึงเลือกประเทศไทยให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายสำคัญในการจัดงาน “SPEEDMASTER 60th ANNIVERSARY” เฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งการเดินทางให้กับเรือนเวลาโครโนกราฟเลื่องชื่อของโลกอย่าง Speedmaster

แน่นอนว่า UNLOCKMEN ไม่พลาดที่จะไปเก็บบรรยากาศภายในงาน ซึ่งจัดขึ้นมาในรูปแบบเอ็กซิบิชั่นสุดพิเศษ พาผู้ร่วมงานอย่างเราย้อนเวลาสู่ความท้าทายแห่งห้วงอวกาศ เนรมิตพื้นที่ชั้น G ศูนย์การค้า Central Embassy ให้กลายเป็นพื้นผิวดวงจันทร์ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมแบ่งโซนจัดแสดงนิทรรศการเป็น 7 โซน ให้เราได้ซึมซับหลากเรื่องราวของ Speedmaster ที่ขึ้นหิ้งเป็นตำนานบนหน้าประวัติศาสตร์โลก ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในสนามแข่งรถประลองความเร็ว ไปจนถึงความเกี่ยวพันกับห้วงอวกาศ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ชายแทบทุกคนมาตั้งแต่ยังเด็ก

สำหรับสุดยอดไฮไลต์ ที่เรามั่นใจว่าผู้หลงใหลมนตร์เสน่ห์แห่งเรือนเวลา รวมถึงเหล่า Speedmaster Lover ทั้งหลายเป็นต้องมุ่งตรงเข้าหา คือโซนที่ 7 โซนสุดท้ายที่เปิดโอกาสให้ได้ชื่นชมความล้ำค่าระดับมาสเตอร์พีซของ 12 เรือนเวลาแห่งประวัติศาสตร์ OMEGA Speedmaster รุ่นหายาก ส่งตรงจาก OMEGA Museum ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาให้ยลโฉมกันแบบใกล้ชิดถึงเมืองไทย ซึ่งเราขออาสาพาชาว UNLOCKMEN ทุกท่าน ไปทำความรู้จักกับความเป็นมาของนาฬิกาทั้ง 12 เรือน ที่มีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ความสำเร็จ 60 ปีของ OMEGA Speedmaster ว่าแต่ละเรือนนั้นมีความน่าสนใจอย่างไร

1957 : SPEEDMASTER 1st GENERATION

เรือนเวลาที่เป็นจุดกำเนิดตำนานของตระกูล Speedmaster ชื่อ “Broad Arrow” นั้นได้มาจากจากรูปทรงของเข็มนาฬิกาที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ จักรกลเวลาเรือนนี้นอกจากจะเป็นหน้าแรกของเรื่องราวแห่ง Speedmaster แล้วก็ยังเป็นนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟแบบแรกที่นำสเกลทาคีมิเตอร์มาไว้บนขอบตัวเรือนแทนที่จะเป็นบริเวณหน้าปัด – การออกแบบอันโดดเด่นนี้เอื้อการใช้งานให้กับเหล่านักแข่งรถเป็นอย่างมาก คาดว่าเรือนเวลารุ่นนี้น่าจะมีมูลค่าสูงที่สุดในตระกูล Speedmaster จากบทบาทการเป็นผู้เริ่มต้นการเดินทางที่แสนพิเศษของคอลเลคชัน

1959 : SPEEDMASTER 2nd GENERATION (First OMEGA in space)

เรือนเวลารูปแบบที่สองของ Speedmaster ที่สร้างตัวตนที่แตกต่างจากต้นฉบับอย่าง “บรอดแอร์โรว์” (Broad Arrow) ด้วยขอบตัวเรือนอะลูมิเนียมสีดำ เข็มวินาทีทรงโลลิป็อปที่ปรับตามความต้องการของกองทัพอากาศ และเข็มชั่วโมงกับเข็มนาทีทรง “แอลฟ่า” (Alpha) เรือนเวลานี้นับเป็นนาฬิการุ่นแรกของแบรนด์ OMEGA ที่เคยถูกใช้งานบนอวกาศ หลังจากที่ Walter Schirra ได้สวมใส่นาฬิกา Speedmaster ส่วนตัวร่วมในภารกิจบนยาน Sigma 7 ของโครงการ Mercury ในวันที่ 3 ตุลาคมปี 1952 จึงนับว่าเป็นการรูดม่านเปิดฉากการผจญภัยในอวกาศครั้งแรกของ Speedmaster

1963 : SPEEDMASTER 3rd GENERATION (Tested by NASA)

Speedmaster รุ่นนี้คือนาฬิกาแบบแรกที่ผ่านการทดสอบสุดเข้มงวดสำหรับคุณสมบัติด้านการบินจากองค์การ NASA มีหลายแบรนด์ที่ได้ร่วมส่งเรือนเวลาของตนเข้ารับการทดสอบในครั้งนี้ แต่ Speedmaster คือเรือนเวลาหนึ่งเดียวที่สามารถผ่านการทดสอบและได้ร่วมเขียนหน้าประวัติศาสตร์ไปกับภารกิจของยาน Gemini และยาน Apollo มอบทั้งความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือสูงสุดให้แก่เหล่านักบินอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะเป็นเรือนเวลารุ่นแรกที่ได้สวมใส่บนดวงจันทร์แล้วก็ยังได้ร่วมเป็นหนึ่งในเรือนเวลาชุดสุดท้ายที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ในปี 1972 อีกเช่นกัน

1965 : SPEEDMASTER 4th GENERATION (The First Moonwatch)

ปี 1969 เมื่อ Neil Armstrong และ Buzz Aldrin เหยียบลงบนผิวของดวงจันทร์ Speedmaster จึงได้เป็นนาฬิกาแบบแรกที่ถูกสวมใส่บนดวงจันทร์ นับตั้งแต่วันนั้น Speedmaster จึงได้รับใช้ในเกือบทุกภารกิจที่เกี่ยวข้องกับดวงจันทร์มาโดยตลอด ในด้านการดีไซน์ของ Moonwatch นั้นนับเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ถูกออกแบบด้วยตัวเรือนทรงอสมมาตรเพื่อเพิ่มสมบัติการป้องกันมากยิ่งขึ้นให้กับทั้งเม็ดมะยมและปุ่มกด และยังเป็นครั้งแรกที่ข้อความ “Professional” ได้ปรากฏที่บนหน้าปัด

1968 : SPEEDMASTER MOONWATCH (First Cal. 861 model)

เปิดตัวในปี 1968 พร้อมกับกลไกรุ่นใหม่อย่าง คาลิเบอร์ 861 นับเป็นเรือนเวลาที่สร้างจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่กับประวัติศาสตร์ของ Speedmaster เพราะไม่เพียงแต่นวัตกรรมในกลไกรุ่นใหม่ที่ถูกบรรจุเข้ามา ข้อความอันโด่งดังว่า “FLIGHT-QUALIFIED BY NASA FOR ALL MANNED SPACE MISSIONS” และ “THE FIRST WATCH WORN ON THE MOON” ยังได้ถูกสลักลงบนฝาหลังนับตั้งแต่ในปี 1970 เป็นต้นมา

1969 : SPEEDMASTER “APOLLO 11 EDITION of 1969”

นับเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ทำจากทอง 18K และใช้ขอบตัวเรือนสีเบอร์กันดี แต่ละเรือนได้รับการสลักหมายเลขประจำเครื่อง โดย 19 หมายเลขแรกนั้นถูกมอบให้กับเหล่านักบินอวกาศทั้ง 19 นาย ที่งานกาล่าดินเนอร์ในฮูสตัน รัฐเท็กซัส ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน ปี 1969 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองหลังยาน Apollo 11 สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ นอกจากนี้ยังได้มอบอุทิศย้อนหลังให้แก่ Virgil Grissom, Ed White และ Roger Chaffee ผู้กล้าทั้ง 3 นายแห่งยาน Apollo 1 ซึ่งประสบกับโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าระหว่างการทดสอบ

1969 : SPEEDMASTER “Mark II”

มิติตัวเรือนที่เปลี่ยนไปของ Speedmaster Mark II ได้เริ่มส่งสัญญาณครั้งแรกของการเริ่มรีดีไซน์นาฬิกาโครโนกราฟที่ได้รับความนิยมสูงของ OMEGA ได้รับการผลิตในปี 1969 นับเป็นการขยายไลน์ของ Speedmaster ให้กว้างมากยิ่งขึ้นด้วยรูปลักษณ์แบบใหม่ ตัวเรือนมีทั้งทำจากสแตนเลสสตีล, ทอง 18K หรือหุ้มทองให้ได้เลือกสรร พร้อมด้วยหน้าปัดและสเกลเวลาผสมอีกหลากหลายรูปแบบ ทั้งการใช้ตัวเรือนทรงถังเบียร์ของ MARK II และปรับให้สามารถอ่านเวลาสะดวกมากยิ่งขึ้นทำให้ MARK II กลายเป็น Speedmaster รุ่นแรกที่ไม่ได้ติดตั้งด้วยกระจกเฮซาไลท์

1971 : SPEEDMASTER “Mark III”

หลังจากเปิดตัวในปี 1971 เรือนเวลา Speedmaster Mark III พร้อมกับตัวเรือนทรง “ไพล็อต” (Pilot) ได้กลายเป็นนาฬิกาโครโนกราฟแบบแรกของ OMEGA ที่ใช้กลไกอัตโนมัติ คาลิเบอร์ 1040 นับได้ว่าเป็นไมล์สโตนที่สำคัญของแบรนด์ ในโฆษณาช่วงปี 1972 นั้นทาง OMEGA ได้กล่าวอย่างภาคภูมิว่า “หลังจากลงจอดบนดวงจันทร์ถึง 6 ครั้ง มีเพียงสิ่งเดียวที่เราได้สอนให้แก่ Speedmaster นั่นคือการสอนให้เรือนเวลาขึ้นลานเอง” เอกลักษณ์อื่นที่น่าสนใจอย่างเช่น เข็มโครโนกราฟ 60 นาทีทรงครอส (Cross) และฟังก์ชันระบุช่วงเวลากลางวัน-กลางคืน ณ ตำแหน่ง 9 นาฬิกา

1973 : SPEEDMASTER “125”

นาฬิการุ่นนี้เป็นเรือนเวลาโครโนกราฟที่ใช้กลไกอัตโนมัติรุ่นแรกของโลกที่ได้รับการรับรองความเที่ยงตรงระดับโครโนมิเตอร์ ได้รับการผลิตเนื่องในโอกาสฉลองการก่อตั้งครบ 125 ปีของแบรนด์ OMEGA (เริ่มก่อตั้งปี 1848) ด้วยจำนวนการผลิต 2,000 เรือน Speedmaster 125 นี้ยังอาจหาญผจญสู่ห้วงอวกาศร่วมไปกับ Vladimir Dzhanibekov ในปี 1978 โดยนักบินอวกาศชาวรัสเซียรายนี้ใช้เวลาอยู่ในอวกาศทั้งสิ้นกว่า 145 วันและอีก 16 ชั่วโมง

1973 : SPEEDMASTER “SPEEDSONIC” –  “lobster”

ชื่อเล่น “ล็อบสเตอร์” (Lobster) นี้ได้มาจากทรงสายนาฬิกาแปลกตาชวนพาให้คิดถึงเปลือกหางของสัตว์ในไฟลัมครัสเตเชียน Speedsonic ถือกำเนิดขึ้นจากความต้องการเรือนเวลาที่ใช้ระบบไฟฟ้าที่สูงขึ้นทุกขณะในยุคสมัยนั้น ระบบกลไกไฟฟ้าถูกนำมาติดตั้งเพื่อตอบสนองต่อความต้องการทั้งความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือที่สูงมากยิ่งขึ้น จุดที่น่าสนใจอีกอย่างยิ่งคือขนาดของเม็ดมะยมซึ่งถูกปรับให้เล็กลงเพื่อตอกย้ำว่าผู้ใช้งานจะไม่ต้องปรับวันหรือเวลาบ่อยเหมือนอย่างเช่นเคย

1975 : SPEEDMASTER “APOLLO-SOYUZ”

ในปี 1975 นักบินอวกาศชาวรัสเซียและอเมริกันต่างสวมใส่ Speedmaster ระหว่างการพบกันบนอวกาศ ช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของจุดจบของสงครามเย็น เรือนเวลารุ่นนี้ถูกผลิตจำนวนจำกัด 500 เรือนเพื่อตอกย้ำมิตรภาพบนอวกาศระหว่างทั้งสองชาติ จักรกลเวลานี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นของตระกูล “แพตช์” (Patch) เรือนเวลานี้ตกแต่งด้วยมิชชันแพตช์ ณ ตำแหน่ง 12 นาฬิกาแทนที่โลโก้ของ OMEGA นอกเหนือจากนี้ยังมีเรื่องของมาร์คเกอร์และปุ่มกดที่ยาวมากกว่า ปกติที่เป็นเอกลักษณ์

1998 : SPEEDMASTER “X33”

เป็นที่รู้จักในนาม “Mars Watch” เรือนเวลารุ่น X-33 ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับกับความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะลงจอดบนดาวอังคารหรือดาวเคราะห์สีแดง (Red Planet) ใช้เวลา 5 ปีในการร่วมมือกันพัฒนาระหว่างแบรนด์ OMEGA กับองค์กรอวกาศระดับโลกต่างๆ รวมถึงฝูงบินผาดแผลง “Blue Angels” จากกองทัพเรือและ “Thunderbirds” ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ด้วยการดีไซน์ที่ล้ำสมัยทำให้นาฬิการุ่นนี้ ถูกใช้งานทั้งบนกระสวยอวกาศของ NASA และบนสถานีอวกาศเมียร์ของรัสเซีย

อ่านมาถึงตรงนี้ ใครที่รู้สึกประทับใจกับเรื่องราวประวัติศาสตร์ของนาฬิกา OMEGA  ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่คอลเลคชั่น Speedmaster เพียงเท่านั้น แต่ยังมีคอลเลคชั่นอื่น ๆ ที่ผ่านเรื่องราวความภาคภูมิใจมาอย่างยาวนอน ซึ่งรอให้ทุกคนไปสัมผัสนวัตกรรมชั้นเลิศและประสบการณ์เหนือระดับไปกับ OMEGA ได้ที่บูติคสาขา Central Embassy โทร.02-160-5959, สาขา Siam Paragon โทร.02-129-4878 และ สาขา The Emporium โทร.02-664-9550

NTman
WRITER: NTman
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line