Business

เมื่อคำพูดทำให้คนทะเลาะกันได้ วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งเวลาแสดงความคิดเห็น

By: unlockmen February 22, 2021

คำพูดของเราสามารถสร้างความขัดแย้งได้เสมอ เพราะเราอยู่สังคมที่เต็มไปด้วยคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างต่างกัน ถ้าเราไม่รู้วิธีการรับมือกับคำพูดหรือความเห็นต่างอย่างถูกต้อง ความขัดแย้งมันก็ยิ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้นได้ ในบทความนี้ UNLOCKMEN เลยอยากพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่า ทำไมการแสดงความคิดเห็นถึงทำให้คนทะเลาะกันได้ พร้อมกับ แนะนำวิธีการแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่อาจกระทบกับอีกฝ่าย โดยป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น และช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้นานๆ


ทำไมการแสดงความคิดเห็นถึงทำให้คนทะเลาะกันได้

Discovery

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกไม่ดีกับคนที่เห็นต่างจากเรา อาจเพราะเราสามารถได้รับความเจ็บปวดจากคำพูด หรือ คำด่า ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า คำพูดสามารถสร้างความเจ็บปวดได้ไม่ต่างจากการถูกตีด้วยไม้หรือทุบด้วยก้อนหิน และอาจมีผลรุนแรงจนสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนได้

งานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Friedrich Schiller University Jena ได้ทำการทดลองทั้งหมด 2 ครั้ง โดยครั้งแรกทีมนักวิจัยให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง 16 คน อ่านคำพูดที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด เช่น “plaguing” (ภัยพิบัติ) “tormenting” (ทรมาน) “grueling” (ทรหด) พร้อมกับ จินตนาการถึงสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับคำ ๆ นั้นไปด้วย ส่วนในการทดลองที่สอง ผู้เข้าร่วมการทดลองถูกขอให้ทำการทดลองเดิมอีกครั้งหนึ่ง แต่ในครั้งนี้จะมีการใช้ brain-teaser เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้เข้าร่วมการทดลองด้วย โดยในการทดลองทั้งสองครั้ง ผู้เข้าร่วมการทดลองจะถูกสแกนสมองด้วยเครื่อง functional magnetic resonance imaging (fMRI) เพื่อเก็บข้อมูลไว้ใช้สำหรับการหาความสัมพันธ์ระหว่างคำพูดที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดและความเจ็บปวด

ผลการวิจัยพบว่า คำพูดที่ฟังแล้วเจ็บปวดจะกระตุ้นการทำงานของสมองส่วน pain matrix (ซึ่งทำหน้าที่เก็บรักษาประสบการณ์ความเจ็บปวดของมนุษย์) นั่นหมายความว่า เมื่อผู้เข้าร่วมการทดลองเจอกับคำพูดที่ทำให้พวกเขานึกถึงความเจ็บปวด พวกเขาก็อาจรู้สึกเจ็บปวดทางกายจากคำพูดเหล่านี้ได้เหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยอีกหลายชิ้นที่มีผลการทดลองคล้ายกันเหมือนกัน เช่น งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยทีมวิจัยจากโรงพยาบาลจิตเวช McLean Hospital และมหาวิทยาลัย Northeastern University พบว่า คนที่ได้รับความก้าวราวทางวาจา ได้รับผลกระทบเหมือนกับ การที่พวกเขาได้เจอกับความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) หรือ การล่วงละเมิดทางเพศ หรือ งานวิจัยโดยทีมของ Martin Teicher นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard พบว่า การถูกล่วงละเมิดทางวาจาในวัยเด็กสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองของเด็กได้ กล่าวคือ เด็กที่ถูกคุกคามด้วยวาจา พอโตขึ้นพวกเขาอาจเจ็บป่วยด้านสุขภาพจิตได้ง่ายขึ้น

เมื่อคำพูดแย่ ๆ ทำให้เราเจ็บปวดได้ทั้งกายและใจ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คำพูดของคนอื่นมักทำให้เราอารมณ์ขึ้นได้เสมอ

แต่นอกจากเรื่องการได้ยินคำแย่ ๆ แล้ว การรับข้อมูลเพียงด้านเดียวก็ทำให้เราเกลียดคนที่เห็นต่างกับเรามากขึ้นได้เช่นกัน เช่นในกลุ่มคนที่รับแต่ข้อมูลที่สร้างความเกลียดชังกับฝ่ายที่เห็นต่างบนโลกออนไลน์ จะมีความอดทนต่อความคิดเห็นที่แตกต่างน้อยลง คนกลุ่มนี้มักถูกเปรียบเทียบว่าเหมือนกับคนที่อยู่ในห้องเสียงสะท้อน (echo chambers) ที่มีแต่ข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองสะท้อนไปสะท้อนมาเต็มไปหมด จนไม่สามารถฟังความคิดเห็นที่แตกต่างได้

ซึ่งการอยู่ใน echo chambers สามารถส่งผลต่อเราได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.ทำให้เรารู้สึกมั่นใจมากเกินไปจากการที่เราอยู่แต่ในสังคมที่ยอมรับความคิดเห็นของเรา เช่น เว็บไซต์ที่มีแต่คนประเภทเดียวกับเรา เป็นต้น ปรากฎการณ์นี้มีชื่อเรียกกันว่า attitude correctness และ 2.การอยู่ใน echo chambers ทำให้เราได้แสดงความคิดเห็นบ่อยๆ ซึ่งทำให้เรารู้สึกมั่นใจกับความคิดเห็นของตัวเอง ปรากฎการณ์นี้เรียกว่า attitude clarity เมื่อเทียบกันระหว่าง attitude correctness และ attitude clarity สิ่งที่น่าจะทำให้เราโมโหคนที่เห็นต่างกับเรามากที่สุด คือ attitude correctness ซึ่งนักวิจัยพบว่า ยิ่งเรารู้สึกว่าความคิดเห็นของตัวเองถูกต้องมากเท่าไหร่ เรายิ่งรู้สึกโกรธคนที่เห็นต่างกับเรามากเท่านั้น ในขณะที่ attitude clarity ไม่ได้ทำให้เกิดความโกรธคนที่เห็นต่าง

ดังนั้น การอยู่ในที่ที่มีแต่คนยอมรับความคิดเห็นของเราอย่างเดียว จึงเป็นผลเสียที่ทำให้เรายิ่งอ่อนแอต่อความเห็นต่าง นำไปสู่การสร้างความขัดแย้งและการทะเลาะเบาะแว้ง


เราควรทำอะไรบ้างเพื่อป้องกันการทะเลาะ

อ่านบรรยากาศให้ออก

เราควรเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราสามารถพูดถึงมันได้ตลอดเวลา บางเรื่องถ้าพูดขึ้นมาแล้ว ก็อาจทำลายบรรยากาศการสนทนาของคนอื่นได้ (เช่น การพูดเรื่องห้องน้ำในระหว่างกินข้าว) ดังนั้น ถ้าเราอยากป้องกันการทะเลาะ เราเลยจำเป็นต้องพัฒนาทักษะในการอ่านบรรยากาศ สกิลนี้จะช่วยให้เราสามารถวางตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น สามารถแสดงความคิดเห็นในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม นอกจากนี้เราควรมีความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของสถานที่ที่เราอยู่ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในบางบริษัท หัวหน้าอาจไม่พอใจที่ถูกขัดต่อหน้าคนจำนวนมาก เช่น ในที่ประชุม ดังนั้น ถ้าเราอยากแสดงความคิดเห็นที่ขัดกับหัวหน้า แทนที่จะแสดงความคิดเห็นในห้องประชุมเลย อาจลองขอนัดพบนอกรอบ หรือ ส่งอีเมล์แจ้งไปแทน

เตรียมตัวให้พร้อม

เวลาจะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ตาม โดยเฉพาะความเห็นที่แตกต่าง สิ่งที่ควรให้ความสำคัญมาก ๆ เลย คือ การเตรียมตัวให้พร้อมในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การหาข้อมูลมาแย้งจนแน่นปึก หรือ ฝึกซ้อมการนำนำเสนอหลาย ๆ รอบจนโอกาสผิดพลาดมีน้อยที่สุด เหล่านี้จะช่วยให้ความเห็นแย้งของเรามีเหตุมีผล และมีโอกาสได้รับการยอมรับจากคนอื่นมากขึ้น แต่ถ้าไม่มีเวลาจริง ๆ เราควรหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์ และคิดให้ถี่ถ้วนก่อนแสดงความคิดเห็น เพราะอย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกคนที่สามารถรับฟังความเห็นต่างได้

อย่าไปโหมไฟเมื่อได้รับเสียงตอบกลับที่ไม่ดี

เวลาเราแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งที่มักหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย คือ การได้รับเสียงตอบกลับที่แย่ เช่น ถูกด่า หรือว่า ถูกวิจารณ์ และแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้มักทำให้เราไม่พอใจ พร้อมนำไปสู่การทะเลาะกันได้เหมือนกัน เราเลยอยากแนะนำว่า เวลาได้รับการตอบรับที่ไม่ดี เราควรทำ 2 อย่างนี้ ได้แก่ รับฟังและเก็บมันไว้เป็นบทเรียน หรือ ไม่สนใจ เพราะถ้าเราไปเถี่ยงหรือโต้แย้งกับอีกฝ่าย มันก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์มันแย่ลง รู้ตัวอีกที เราอาจตกที่นั่งลำบากหนักกว่าเดิมก็ได้

พูดให้ชัดเจนว่าตัวเองต้องการอะไร

เวลาที่เราจะพูดกับคนที่เราไม่พอใจ สิ่งที่เราควรทำ คือ การพูดความต้องการของเราออกมาให้ชัดเจน หลีกเลี่ยงการให้เหตุผลที่ไม่ชัดเจน เช่น เพราะไม่พอใจ เพราะไม่ชอบ เป็นต้น เพราะมันไม่สามารถนำไปสู่ solution ใด ๆ ได้ และจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ง่ายขึ้นมากกว่า การพูดความต้องการของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน เช่น ถ้าสมมติว่าเราอยากให้อีกฝ่ายพูดน้อยลง แทนที่จะพูดว่า “เงียบ ๆ หน่อ่ย ๆ รำคาญ” เราอาจเปลี่ยนเป็น “พอดีต้องทำงาน อยากให้ช่วยลดเสียงลงหน่อย” แบบนี้จะช่วยให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเราต้องการอะไร และมีโอกาสที่จะร่วมมือกับเรามากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้าเราหรือคนรอบข้างเป็นคนที่หงุดหงิดกับคำพูดของคนอื่นได้ง่าย ปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นจากปัญหาด้านสุขภาพจิตได้เหมือนกัน อาจถึงเวลาที่เราหรือคนรอบข้างควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป  


Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line