Girls

“เป็นแฟนกันแต่ไม่เป็นเฟรนด์กัน”ถ้าโซเชียลฯ ทำร้าย ลองยุติความสัมพันธ์ออนไลน์สักพัก

By: PSYCAT December 25, 2019

โซเชียลเน็ตเวิร์กกลายเป็นโลกอีกใบที่เราบรรจุตัวตน ความทรงจำ ชีวิตและความรู้สึกไว้ในนั้น ใครต่อใครอาจพากันบอกว่ามันเป็นเพียง “โลกเสมือน” หากมันเป็นเพียงความเสมือน ก็ดูจะเสมือนจริงมากขึ้นทุกที ๆ

ไม่แปลกที่สเตตัสเฟซบุ๊กสุดดราม่าทำให้เราเครียดหัวแทบระเบิดมาถึงชีวิตจริงได้ รูปในอินสตาแกรมรูปเดียวที่ละเมิดกฎของบริษัทที่เราสังกัดอยู่อาจทำให้เราโดนไล่ออกได้จริง ๆ ไม่เว้นแม้แต่คอมเมนต์จากสาวสวยสักคนที่ดูสนิทสนมกับเราเป็นพิเศษก็อาจทำให้เราทะเลาะกับแฟนสาวจนบ้านแตกก็เป็นได้

เป็นแฟนกันและเป็นเฟรนด์กัน สัญญานอันตรายสำหรับบางคู่

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่ามนุษย์เรานั้นสื่อสารกันด้วยความหมายของคำจริง ๆ น้อยกว่าภาษากายและน้ำเสียงเสียอีก ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเรายืนอยู่ตรงหน้าใครสักคนแล้วบอกเธอคนนั้นว่า “คุณสวยเหมือนนางฟ้าเลยครับ” โดยความหมายของคำในประโยคนี้คือคำชมทุกตัวอักษร แต่ถ้าเราใช้น้ำเสียงแดกดัน ประกอบกับการเบ้ปาก กลอกตาใส่เธอ ความหมายของคำดี ๆ เหล่านั้นจะพังทลายลงทันที เพราะสิ่งที่สื่อสารมากกว่าคำคือน้ำเสียงและท่าทางของเรา ที่แสดงให้เห็นว่ามันคือการประชดไม่ใช่การชมอย่างจริงใจ

จึงไม่แปลกเลยที่หลายครั้งเราสื่อสารกับแฟนสาวต่อหน้าแล้วเข้าใจกันดี แต่เมื่อความสัมพันธ์ถูกย้ายลงไปบนโลกเสมือนอย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ แล้วเราจะสื่อสารผิดพลาดจนกลายเป็นการทะเลาะกันครั้งใหญ่ได้เสมอ ปัจจัยที่ทำให้สื่อสารผิดพลาดคือตัวอักษรที่ปราศจากน้ำเสียงและไม่เห็นสีหน้าที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึก ทำให้หลายครั้งเราเข้าใจกันผิดได้ง่าย ๆ

ไม่เพียงเท่านั้นในโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้มีแค่เราสองคนเหมือนเวลาเราไปเดต หรือไปเที่ยวกัน แต่มีโยงไยความสัมพันธ์จากเพื่อนของเพื่อน คนรู้จักไกล ๆ เพื่อนมหาวิทยาลัย ฯลฯ โดยในบรรดาคนรู้จักเหล่านี้ของเรา แฟนก็อาจไม่ได้รู้จักทั้งหมด และในบรรดาเฟรนด์ในเฟซบุ๊กของแฟนเราเอง เราก็ไม่ได้รู้จักทั้งหมดเช่นกัน

ดังนั้นอาจจะมีสาวสักคนดันมากดเลิฟให้เรามากกว่าปกติ หรือมีเพื่อนชายสมัยมัธยมของเธอที่คอมเมนต์ด้วยคำพูดที่ดูเหมือนมีแต่เธอกับเขาคนนั้นที่เข้าใจ สิ่งเหล่านี้คือภาษาที่ไม่มีการตีความตายตัว ทำให้เข้าใจผิดกันได้ง่าย ผิดใจกันได้ง่ายและจบลงด้วยการทะเลาะกัน อาจเพราะความไม่ไว้ใจ ความหวง หรืออะไรก็ตาม

แม้กระทั่งจุดสีเขียวบ่งบอกสถานะออนไลน์ที่ดูคล้ายจะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น รู้ว่าใครออนไลน์หรือออฟไลน์จะได้ทักไปถูก แต่ถ้ามันดันขึ้นสว่างจ้าแล้วเราทักเธอไป แต่เธอกลับไม่ตอบ แถมหายไปอีกหลายชั่วโมง แทนที่จุดเขียวบ่งบอกสถานะออนไลน์จะช่วยให้ชีวิตง่ายก็กลับกลายเป็นยากขึ้น กังวลขึ้น เสียอย่างนั้น

ยังไม่นับรวมปัญหายิบย่อยอย่างทำไมเธอบ่นเรื่องการเมืองเยอะจัง, ทำไมคุณชอบกรี๊ดนักร้องเกาหลีบ่อย ๆ, ทำไมกดเลิฟสาวคนนั้นแต่ไม่กดเลิฟแฟน, ทำไมคอมเมนต์เพื่อนได้แต่ไม่คอมเมนต์เราบ้าง สำหรับหลาย ๆ คู่ การเป็นแฟนกัน พร้อม ๆ กับที่เป็นเฟรนด์กันในเฟซบุ๊ก หรือพยายามรักษาความสัมพันธ์ในโลกเสมือนควบคู่ไปกับโลกจริงจึงเป็นคล้ายสัญญาณอันตรายและการสร้างบาดแผลให้แก่กันมากกว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น

ถ้าโซเชียลฯ ทำร้าย ลองยุติความสัมพันธ์ออนไลน์สักพัก

ถ้าโลกออนไลน์เป็นชนวนเหตุของการเข้าใจผิดกันแค่ครั้งสองครั้งก็ยังนับว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าแทบทุกครั้งที่มีผู้ชายมาคอมเมนต์เธอแล้วเราต้องโวยวาย หรือเธอคอยมาถามด้วยความไม่พอใจทุกรอบที่มีผู้หญิงมากดเลิฟ นี่อาจเป็นสัญญาณให้เราลองพิจารณากลวิธี “เป็นแฟนกัน แต่ไม่เป็นเฟรนด์กัน” โดยความสัมพันธ์จะเหมือนเดิมทุกประการ เพียงแค่ในโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจไม่ได้เป็นเฟรนด์ หรือฟอล์โลว์กัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหายิบย่อยจากการเข้าใจกันผิด ๆ

สัญญาณสำคัญอย่างหนึ่งที่เราอยากให้สำรวจตัวเองว่าเราควรใช้กลวิธี “เป็นแฟนกัน แต่ไม่เป็นเฟรนด์กัน” หรือไม่ คือถามตัวเองว่าเมื่อใดที่พบปะพูดคุย ไปเดต ไปเที่ยว หรือใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนั้นสงบ ราบรื่น มีความสุขอยู่เสมอ แต่ทันทีที่มีประเด็นเกี่ยวกับโซเชียลเน็ตเวิร์ก (เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม) มาเกี่ยวข้องแล้วมีเรื่องคอขาดบาดตายนั้นทะเลาะกันทุกทีใช่หรือเปล่า? ถ้าคู่เราเริ่มมีสัญญาณแบบนี้น่าจะเริ่มชัดเจนแล้วว่า เราควรหาทางแก้ปัญหานี้ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลาย

สำหรับคนที่ยังลังเลว่าวิธีนี้จะเวิร์กไหม เราคิดว่าการลองไม่ได้มีกำหนดตายตัว ถ้าลองแล้วดี เราก็ทำต่อไป แต่ถ้าลองแล้วแย่ เราก็แค่ปรับหรือหาวิธีใหม่ และนี่คือข้อดีที่คุณอาจไม่เคยนึกมาก่อนของการ “เป็นแฟนกัน แต่ไม่เป็นเฟรนด์กัน”

บริหารความเชื่อใจระหว่างกัน

เราอาจเคยได้ยินเรื่องการบริหารเสน่ห์ จริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่เสน่ห์เท่านั้นที่เราต้องบริหารและฝึกฝนเพื่อสามารถใช้ได้อย่างชำนาญ “ความเชื่อใจ” เองก็เช่นกัน ในความสัมพันธ์นั้นมนุษย์แต่ละคนเจอสถานการณ์ เจอผู้คน หรือเติบโตมาไม่เหมือนกัน บางคนอาจเป็นคนที่เชื่อใจ ไว้ใจแฟนได้โดยไม่ต้องฝึกหรือทำอะไรมาก ในขณะที่บางคนต้องใช้เวลาหัดที่จะเชื่อใจคนที่เขารัก

การเป็นเฟรนด์กับแฟนที่ไม่เชื่อใจเรา (หรือเราที่ไม่เชื่อใจแฟน ) จึงไม่เหมาะต่อการบริหารความเชื่อใจเลยสักนิด เนื่องจากมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมของเรามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก การลองไม่เป็นเฟรนด์กัน จะช่วยให้เรากับคนที่เรารักค่อย ๆ บริหารความเชื่อใจ ค่อย ๆ เรียนรู้ว่าต่อให้ในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีอะไรเกิดขึ้นก็ไม่มีความหมายอะไรกับความรู้สึก ความจริงใจที่เรามีให้กัน

ดื่มด่ำการกระทำตรงหน้าได้มากขึ้น

การให้จำนวนไลก์ จำนวนหัวใจ ความเร็วในการดูสตอรี่ หรือปริมาณรูปคู่มาเป็นเกณฑ์วัดว่าใครรักหรือห่วงใครมากกว่านั้นไม่ดีในระยะยาวแน่ ๆ ถ้ารู้ตัวว่าเรา (คนใดคนหนึ่ง หรือทั้งคู่) เริ่มใช้พฤติกรรมในโซเชียลเน็ตเวิร์กมาเป็นตัวชี้วัดว่าเราสองคนรักกันหรือเปล่า ให้เลิกเป็นเฟรนด์กัน แล้วหันมาเป็นแฟนกันในโลกความเป็นจริงมากขึ้น เราจะได้เห็นว่ามีการกระทำ คำพูด น้ำเสียง หรือสิ่งดี ๆ อีกเยอะในตัวคนที่เรารักที่เขาตั้งใจทำให้เรา

เวลาที่ต้องพะวงว่าจะลงรูปคู่อย่างไร รูปไหนใครดูดีที่สุด หรือนั่งนับรอว่าเมื่อไรเขาหรือเธอจะมากดไลก์ก็จะสามารถนำไปทำอย่างอื่นที่ดีต่อชีวิตตัวเองและคนที่เรารักได้มากขึ้น มีเวลาดื่มด่ำสิ่งดี ๆ ที่ทำต่อกันมากกว่าจำนวนตัวเลขที่จับต้องไม่ได้และบางครั้งก็ทำให้ทะเลาะกัน

มีอะไรเล่าสู่กันฟังมากขึ้น

“ผมก็ลงรูปแล้วไง คุณไม่ได้เข้าไปกดไลก์หรอ?”, “เราก็เพิ่งลงสตอรี่ไปเอง ทำไมตัวเองไม่มาดูล่ะ” หลายครั้งที่เราใช้โซเชียลฯ ในการบอกว่าเราทำอะไรที่ไหน กับใคร จนเผลอคิดไปว่าทุกอย่างที่เราลงจะต้องมีคนมาสนใจ โดยเฉพาะคนที่เรารักที่ต้องสนใจเราเป็นพิเศษ การที่คนที่เรารักไม่ได้มาดูก็อาจทำให้ทะเลาะกันได้อีก

แต่ถ้าไม่ได้เป็นเฟรนด์กันเสียแล้ว สิ่งที่เราเล่าให้กันและกันฟังก็จะมีมากขึ้น เราอาจส่งรูปอาหารกลางวันให้แฟนของเราโดยเฉพาะ อาจจะเลือกเล่าเรื่องพิเศษที่มีแค่แฟนเราเท่านั้นที่เราจะเล่าให้ฟังแบบนี้

ความสัมพันธ์คือการแชร์เรื่องเล่า ถ้าเรื่องเล่าที่เราเล่าลงโซเชียลเน็ตเวิร์กมันทำให้ต้องเจ็บปวด ก็ลองหันกลับมาเล่าสู่กันฟังโดยเฉพาะ เพื่อเข้าใจกันมากขึ้น เพื่อความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกว่าเดิม

ตัดความฟุ่มเฟือยทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่น

หลายครั้งที่เราทะเลาะกันนั้นไม่ใช่เรื่องของเราสองคนเลย แต่เป็นเรื่องคนอื่นที่เราควบคุมไม่ได้ แม้จะไม่ผิด เพราะใคร ๆ ก็มีอารมณ์หึง หวง กันได้ แต่ถ้าโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นปัจจัยที่ทำให้หึง หวง บ่อย ๆ จนทะเลาะกันถี่ ๆ และความสุขระหว่างกันมันหายไป การไม่เป็นเฟรนด์กัน แล้วตัดอารมณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับความรักของเราสองคนออกไปก็ช่วยให้ทุกอย่างราบรื่นขึ้นได้

แยกให้ดี ว่าโลกออนไลน์หรือหัวใจที่มีปัญหา

เราเชื่อว่าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจแย้งอยู่ในใจว่า “ถ้าไม่เป็นเฟรนด์กันแล้วจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาไม่มีคนอื่น?” UNLOCKMEN อยากให้แยกให้ดีว่าปัญหาอยู่ตรงไหน? ถ้าปัญหาคือทะเลาะกันเพราะความเข้าใจผิดบ่อย ๆ ที่เกิดจากโซเชียลฯ วิธีนี้ก็ย่อมช่วยคุณได้แน่นอน แต่ถ้าปัญหานอกใจ เจ้าชู้ คบซ้อน คุยหลายคน เราก็มั่นใจว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่โซเชียลฯ แต่อย่างใด แต่อยู่ที่พฤติกรรมของคนคนนั้นเอง

หากปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมก็หมายความว่าคนจะนอกใจต่อให้มีหรือไม่มีโซเชียลฯ ก็นอกใจได้ เราอาจต้องถามตัวเองให้ดี ๆ ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เพื่อแก้ไขให้ตรงจุดและไม่ทำให้ตัวเองต้องทนเจ็บปวดอีกต่อไป

UNLOCKMEN เชื่อว่าโลกออนไลน์ช่วยให้อะไร ๆ ง่ายขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ แต่ถ้ามันทำให้เราไม่มีความสุข หรือกังวลกับมันมากเกินไป จนความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนที่เรารักต้องเจ็บปวด ทั้ง ๆ ที่ชีวิตจริงก็ดูมีความสุขกันดี ก็อย่าปล่อยให้ความเจ็บปวดนั้นกัดกินชีวิตคู่จนไม่เหลืออะไร รีบหาทางออกก่อนจะสายเพื่อให้ทุกอย่างกลับมามีความหมายดี ๆ อีกครั้ง

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line