App

แกะรอย SPOTIFY WRAPPED เหตุใดรายงานผลการฟังเพลงประจำปี ถึงครองใจผู้ใช้งานทั่วโลก ?

By: Synthkid December 11, 2019

สำหรับผู้ที่ใช้แอปพลิเคชัน Spotify ฟังเพลง เดือนสุดท้ายของปีแบบนี้ก็เป็นธรรมเนียมที่ทางแอปฯ จะปล่อยฟีเจอร์สนุก ๆ อย่าง Spotify Wrapped ออกมาให้พวกเราเล่น ซึ่งเจ้าสิ่งนี้ก็เปรียบเสมือน ‘รายงานประจำปี’ ที่แกะพฤติกรรมการฟังเพลงของเราบนแอปฯ ทุกกระเบียดนิ้ว เราฟังศิลปินคนไหนมากที่สุด ฟังเพลงไหนมากที่สุดในรอบปี ฟังเพลงจากศิลปินกี่ประเทศ มันจะทำการรายงานพร้อมขึ้น Rank จัดอันดับให้โดยละเอียด (ใครยังไม่ได้เล่นลองสังเกตบนหน้าแอปฯ ดูว่าป๊อปอัปขึ้นมาให้กดหรือยังนะครับ)

ดูเผิน ๆ ก็เหมือนเป็นแค่การเล่นสนุกทั่ว ๆ ไป แต่อันที่จริงสิ่งนี้นับว่าเป็นการตลาดที่แข็งแกร่งอย่างยิ่งของ Spotify เลยนะครับ เพราะเจ้าสิ่งนี้กลายเป็นไวรัลได้ในชั่วข้ามคืนโดยที่ Spotify ไม่ต้องเสียเงินซื้อสื่อโฆษณาสักแดงเดียว เหตุใดผู้คนจึงชื่นชอบมันถึงขนาดนี้ ?

เว็บไซต์ Producthunt.Com เขาได้ลงบทความดี ๆ เขียนโดย Sarah McBride ที่วิเคราะห์สิ่งนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยเธอได้ให้เหตุผลใหญ่ ๆ เอาไว้ 4 ประการ ทั้งหมดที่เรากำลังจะกล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับความซับซ้อนทางเทคโนโลยี แต่มาจาก ‘ความเข้าใจที่มีต่อผู้บริโภค’ ล้วน ๆ ว่าแต่จะมีอะไรบ้างเรามาดูกัน

ช่วยให้ผู้ใช้ได้แสดง Identity ของตัวเอง

เขาว่ากันว่าเงินทุกบาทที่ผู้คนเสียไป มันไม่ใช่เพียงเพื่อชีวิตหรูหราสุขสบาย แต่ของทุกชิ้นที่เราซื้อย่อมเสริมสร้าง Identity หรือ แสดงความเป็นตัวตน อะไรก็ตามที่บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของเราให้โลกใบนี้ได้รับรู้  การตลาดที่ดีต้องสามารถเข้าถึงความต้องการของมนุษย์ เพื่อโน้มน้าวใจให้เกิดการซื้อ มีส่วนร่วม และแบ่งปันกับผู้อื่นได้ เพื่อให้พวกเขาได้แสดงออกว่า ‘พวกเขาคือใคร และสนใจในสิ่งใดบ้าง’

หากเปรียบ Spotify Wrapped เป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง มันก็จัดว่าเป็นสินค้าที่ตอบโจทย์สิ่งนี้ได้อย่างดีเยี่ยม เพราะทำให้ผู้ใช้ได้แสดงรสนิยมทางดนตรีของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้สามารถอนุมาน บุคลิกภาพ ไลฟ์สไตล์ และรสนิยมด้านอื่น ๆ ส่วนบุคคลชัดเจนเลยทีเดียว เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ชื่นชอบเจ้า Spotify Wrapped นี้ก็เพราะอยากให้คนรอบข้างทราบรสนิยมทางดนตรีของตัวเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ทำให้การแชร์เป็นเรื่องง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้

เคยไหมครับ อยากแชร์อะไรสักอย่างลงโซเชียล แต่มันช่างยากเย็นแสนเข็ญ กดเข้ากดออกหลายขั้นตอนเหลือเกิน จนสุดท้ายอมล้มเลิกไปเพราะตัดรำคาญ ?

Spotify เขาเข้าใจตรงนี้ครับ เขาเลยให้ความสำคัญกับช่องทางการแชร์มากที่สุด แชร์ง่ายในไม่กี่ขั้นตอน ยุ่งยากน้อยที่สุด โดย Spotify Wrapped ปีนี้ พวกเขาได้พัฒนา UX ให้ออกมาในรูปแบบของ Instagram story ที่ผู้คนคุ้นเคย (แถมยังขึ้นแท่นเป็นช่องทางใหม่ในการแสดงไลฟ์สไตล์อันดับต้น ๆ ของผู้คนยุคนี้)

เมื่อเราเห็น Story สีสันสวยงาม แถมยังอัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่ทำให้เราได้แสดงรสนิยมทางดนตรี น้อยคนครับที่จะดูสิ่งนี้แล้วปิดไป มันก็ต้องขอแชร์ไปให้ชาวบ้านเขาเห็นกันสักนิด หรือล้ำกว่านั้นคือเราก็สามารถส่งไปให้เพื่อนดูได้ว่า ‘เฮ้ย! ปีนี้แปลกมาก ข้าฟัง Drake เยอะขนาดนี้เลยหรือนี่ ?’ เปิดบทสนทนาต่อไปอีกก็ย่อมได้ เพื่อนฝูงบางคนยังไม่ทันเข้าแอปฯ แต่เห็นสิ่งนี้จากคุณเขาก็สนใจจะเล่นตามบ้าง เห็นไหมครับว่ามันง่ายแค่ไหนในการส่งต่อ แถมด้วยคลิกไม่กี่คลิกอีกต่างหาก

credit: www.producthunt.com

ไม่ใช่แค่แชร์ง่าย แต่ต้องแชร์ได้หลากหลายช่องทาง

ถ้าจะไฮไลต์เด็ดแค่ทาง Instagram Stories บอกเลยว่า Spotify Wrapped อาจไม่ประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ครับ แต่เป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มแชร์ได้ทั้ง Facebook, Instagram Stories แถมของเมืองนอกยังแชร์ลงแอปฯ ในตระกูล Snap ได้สะดวกมาก ๆ ช่องทางที่ยุ่งยากในการแชร์ที่สุดกลายเป็น Twitter แต่! พวกเขาก็ใช้วิธีที่ชาญฉลาดในการสร้างสรรค์ช่องทาง Twitter ให้ออกมาน่าสนใจที่สุด

เพราะการแชร์ Spotify Wrapped ทาง Twitter จะออกมาเป็นรูปแบบ Twitter Card (เหมือนภาพที่เราแนบไว้ด้านบน) ซึ่งสามารถเลือกสีเองได้ก่อนแชร์ แถมยังมีการ Mention หาศิลปินที่คุณฟังเยอะเป็นอันดับ 1 ในปีนี้ พร้อมใส่ Official Hashtag ให้เสร็จสรรพ แน่นอนว่าพอเหล่าศิลปินเห็นแฟนคลับแท็กหาตัวเองมากมาย บ้างก็รีทวีต บ้างก็ออกมาขอบคุณ เท่ากับว่าได้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมตให้ฟรี ๆ แถมไม่ใช่แค่คนเดียว!

อยากให้คนแชร์ ต้องสร้างเนื้อหาให้คนอยากแชร์!

ฟังดูเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่สิ่งนี้สำคัญมากนะครับ ต่อให้เราใช้เทคโนโลยีมากมายในการทำให้แชร์สะดวก แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ดูดี ไม่ได้น่าบอกต่อ คงไม่มีผู้ใช้งานคนไหนอยากนำออกไปอวดใครเช่นกัน

จิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของการทำตลาดที่ดี คือคุณต้องมีเนื้อหาที่ดี ต้องสร้างก๊อบปี้ให้ปัง ดีไซน์สวยงาม จัดวางโลโก้แบรนด์ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม (ใหญ่เกินไปก็ไม่มีใครอยากแชร์เพราะมันไม่คูล!) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมาจากการเดาสุ่มมั่ว ๆ คุณต้องมีทีมงาน มีการวางแผน ระดมสมองกันมาอย่างดีเพื่อให้สิ่งนี้ถูกใจคนหมู่มาก เกิดผลลัพธ์ให้มากที่สุด ยิ่งในกรณีที่คุณออกแบบอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะถูกแชร์ต่อโดยง่าย ไม่ต้องรอให้ใครถามหา Url คุณก็ต้องยิ่งมั่นใจว่าสิ่งที่คุณส่งออกไป ‘ใครเห็นก็อยากแชร์’ 

จากทั้งหมดที่เรากล่าวมานั้น ไม่ได้แปลว่าถ้าหากใครทำตามแล้วจะต้องประสบความสำเร็จในทันทีนะครับ แต่สามารถนำแนวทางเหล่านี้เป็น Case Study เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจหรือการทำงานของคุณเอง หมั่นทำซ้ำ ทดสอบ ตรวจสอบ และประเมินผลลัพธ์ เราเชื่อว่าคุณจะพบวิธีที่เหมาะสมและมั่นคงได้ในอนาคต

Spotify เอง ก็ใช่ว่าเจอแนวทางแล้วจะย่ำอยู่กับที่ พวกเขาปรับเติมเสริมแต่งอะไรใหม่ ๆ ในทุก ๆ ปีอยู่เสมอ อาจจะเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง ของแบบนี้มันก็ต้องลองกันไป คุณเองก็เช่นกัน หากคุณได้พบเส้นทางที่ถูกต้องและรู้จักปรับตัวอยู่เสมอ วันหนึ่ง UNLOCKMEN อาจจะเป็นคนแชร์งานของคุณมาบ้างก็ได้ ใครจะรู้ ?

 

Source

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line