Work

เก่งคนเดียวคงไม่พอ “5 วิธีเก่งแบบมีประสิทธิภาพ”ไม่ใช่ตัวเองไปไกลแต่ไม่มีใครไปด้วย

By: PSYCAT December 25, 2019

“คนเก่ง” คือประเภทคนที่ทุกองค์กรล้วนต้องการตัว เพราะเชื่อว่าคนเก่งนั้นจะเข้ามาเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แต่เมื่อได้คนเก่งระดับพระกาฬมาร่วมงานกับองค์กรแล้วกลับไม่เป็นอย่างที่หวังเสมอไป เพราะคนเก่งนั้นอาจหาหาได้ แต่เพราะเก่งอยู่คนเดียวอาจยังไม่พอ แล้วเก่งแบบไหนถึงจะเรียกว่าเก่งแบบมีประสิทธิภาพ? เก่งแบบไหนถึงจะไม่เก่งอยู่ลำพัง แต่เก่งแล้วเติบโตไปพร้อมกับทีมและองค์กรได้?

มาสำรวจคุณสมบัติคนเก่งในทีมของเรา หรือสำตัวเอง (หากเราคิดว่าเราเก่ง) ว่าเก่งอย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่? ในวันที่สมรภูมิการทำงานและการแข่งขันทางธุรกิจดุเดือดแบบนี้ แค่เก่งคงไม่พอ และเก่งอยู่คนเดียวก็คงไม่รอด

เก่งแล้วต้องสื่อสารรู้เรื่อง

การสื่อสารถือเป็นสกิลสำคัญที่เชื่อมโยงคนทำงานไว้ด้วยกัน เพียงเสี้ยวเดียวที่สื่อสารผิดพลาดไป อาจทำให้อะไร ๆ ผิดแผนไปไกลโข ดังนั้นการได้คนเก่งมาทำงานกับองค์กรถือเป็นโอกาสอันดีไปครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ถ้าผสมสกิลการสื่อสารเข้าไปจะยิ่งเก่งอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เพราะมันไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าคนเก่งนั้นสามารถทำงานตัวได้เก่งกาจ แต่ไม่อาจอธิบายหรือสื่อสาร ส่งต่อให้กับทุกคนในองค์กรได้ โดยเฉพาะคนเก่งเฉพาะด้าน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่อาจมีคำศัพท์หรือความรู้เฉพาะแบบ ยิ่งต้องสื่อสารให้เข้าใจง่าย และอธิบายให้คนอื่นสามารถไปทำงานต่อหรือทำงานร่วมกันได้จริง สำหรับหนุ่ม ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองพูดรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน ลองศึกษาวิธีง่าย ๆ ได้ที่  เก่งและพูดรู้เรื่อง “5 วิธีพูดเรื่องยากให้คนอื่นเข้าใจง่าย”ไม่ใช่อธิบายเข้าใจอยู่คนเดียว

เก่งแล้วต้องบริหารจัดการเวลาให้อยู่หมัด

เพราะโลกทุนนิยมนั้นโหดร้าย ปริมาณงานไม่เพียงแต่ต้องมีคุณภาพดีเท่านั้น แต่ต้องแข่งขันกับเวลาอย่างบ้าคลั่ง โดยเฉพาะในยุคที่อินเทอร์เน็ตคือส่วนหนึ่งของชีวิต อะไร ๆ ก็ดูจะไหลไปเร็วเสมอ ทั้งในแง่การทำงาน และในแง่การปล่อยตัวปล่อยใจให้ไหลไปกับความบันเทิงผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ดังนั้น Time Management ถือเป็นอีกสกิลสำคัญแห่งทศวรรษ ที่ใครเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการตัวเองได้มีประสิทธิภาพกว่าก็สามารถเก่งได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วยเช่นกัน โดยการบริหารเวลาที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ได้หมายความถึงแค่การบริหารเวลางานเท่านั้น เพราะการบริหารเวลางาน เวลาพักผ่อน เวลาจัดการความสัมพันธ์ ล้วนส่งผลกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงานทั้งนั้น

การบริหารจัดการเวลาจึงไม่ได้หมายถึงการทำงาน 20 ชั่วโมง นอน 4 ชั่วโมง แต่หมายถึงการจัดลำดับเวลาการทำงานให้เกิดงานสูงสุด และเวลาพักสามารถชาร์จแบตให้ตัวเองได้เกิน 100 เพื่อกลับมาทำงานได้ดียิ่งกว่า ถ้าอยากบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ UNLOCKMEN ก็มีกฎการบริหารเวลาง่าย ๆ ให้ทุกคนได้ลองเริ่มต้นดูที่ ‘Pomodoro Technique’ กฏการเคลียร์งาน 25 นาทีจบ ที่จะช่วยให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไปตลอดกาล หรือ “52:17 สัดส่วนทองคำแห่งการทำงาน”วิถีใหม่ที่ดีต่อชีวิตและงาน

เก่งแล้วต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ไม่ใช่คนเก่งทุกคนเป็นแบบนี้ แต่การที่เติบโตมาโดยเก่งกว่าคนอื่นเสมอ ทำอะไรก็ล้ำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าวอยู่ตลอด อะไรที่คนอื่นว่ายาก คนเก่งก็มักมองว่าง่ายแสนง่ายอยู่ตลอด ลักษณะเช่นนี้จึงมักทำให้คนเก่งบางคนคิดว่าคนอื่นนั้นต่ำกว่าตัวเอง หรือพยายามน้อยกว่าตัวเองอยู่ตลอด

แต่ในความเป็นจริงมนุษย์นั้นมีความหลากหลายสูงมาก การเป็นคนเก่งที่มีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ (ซึ่งก็คือความหลากหลาย) ถึงจะสามารถทำงานร่วมกับทุกคนในทีมได้อย่างราบรื่น ไม่เช่นนั้นคนเก่งก็จะคิดว่าทำไมคนนั้นทำงานช้า ทำไมคนนี้ทำงานแย่ ทำไมทำสู้เราไม่ได้ และเมื่อมองว่าทุกคนทำงานได้แย่หมดยกเว้นตัวเอง ก็สุ่มเสี่ยงที่จะกวาดงานไปรับผิดชอบเองทั้งหมด เพราะไม่ไว้ใจให้คนอื่นทำ

ดังนั้นการเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์จึงสำคัญต่อการเป็นคนเก่งอย่างมีประสิทธิภาพ และการเติบโตไปพร้อมกันทั้งทีมเป็นอย่างมาก การทำงานร่วมกันเป็นทีมอาจไม่ได้ดังใจหรือสมบูรณ์แบบเหมือนที่คนเก่งรับผิดชอบคนเดียว แต่ในระยะยาวการทำงานร่วมกัน เติบโตร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกันจะส่งผลดีมากกว่า

เก่งแล้วต้องบริหารคนเป็น

เพราะทำงานด้วยกันจึงต้องเติบโตไปด้วยกัน องค์กรจึงตามหาคนเก่งที่มองเห็นศักยภาพและสิ่งที่ดีในตัวของคนอื่น ๆ ในทีมและสามารถดึงสิ่งนั้นออกมาสร้างสรรค์ผลงานได้ การเป็นคนเก่งที่ขึ้นแท่นผู้บริหารจึงไม่ใช่แค่เก่งเท่านั้น แต่สามารถมองเห็นเป้าหมายของแต่ละคน และดึงเป้าหมายทุกคนให้ไปในทางเดียวกับเป้าหมายใหญ่ขององค์กรได้ ทำให้ทุกคนในองค์กรที่มีความแตกต่างหลากหลายสามารถเห็นภาพใหญ่ที่อยากไปถึงร่วมกัน

รวมถึงการแบ่งงานกันทำ ไม่ใช่แค่เพราะเราเก่งแล้วชี้นิ้วสั่งว่าใครควรทำอะไรอย่างไร แต่แบ่งงานโดยสามารถอธิบายเหตุและผล รวมถึงชั่งน้ำหนักกับความสามารถในการทำงานของคนคนนั้นได้

เก่งแล้วต้องรับฟังคนอื่นด้วย

ต่อให้เป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกก็ต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ การรู้ด้วยตัวเองว่าตัวเองยังบกพร่องตรงไหน หรือต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มนั้นอาจยังไม่พอ เพราะในหลายแง่มุมเราก็อาจคิดไม่ถึงมาก่อน หรือในบางแง่มุมคนอื่น ๆ ที่ทำงานในส่วนอื่น ๆ แล้วได้เห็นในแบบที่เราไม่เห็น ดังนั้นการรับฟังคนอื่นจึงถือเป็นอีกสกิลสำคัญที่จะทำให้คนเก่งนั้นเก่งอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานร่วมกับทีมได้ดียิ่งขึ้น

มากไปกว่านั้นไม่ว่าเราจะเก่งกว่าคนอื่นแค่ไหน ก็ไม่มีทางที่เราจะเก่งได้ทุกเรื่อง คนที่เราอาจมองว่าเขาไม่ได้เก่งบางด้านเท่าเรา แต่ในสมรภูมิการทำงานที่เขาได้สัมผัสหน้างานมากกว่า หรือมีอินไซต์มากกว่า การรับฟังก็ช่วยให้เราเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นและทำงานได้ดียิ่งขึ้นด้วย

 

เพราะการแข่งขันหนักหน่วงขึ้นทุกวัน การเป็นคนเก่งนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว แต่การเป็นคนเก่งที่มีประสิทธิภาพ องค์กรไหน ๆ ก็ต้องการตัว ใคร ๆ ในทีมก็อยากร่วมงานด้วยยิ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเข้าไปใหญ่ แม้จะไม่ง่าย แต่ก็ไม่เกินความสามารถ หากเราไม่หยุดพยายาม ติดตาม UNLOCKMEN ไว้ให้ดี เพราะมีกลวิธีการทำงานให้สุดขีดพลังมาฝากเสมอ

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line