Girls

ZERO TO HERO: “มานะ-มนพร”นักวาดฯ ผู้เชื่อว่าการวาดรูปได้อย่างเป็นสุขถือเป็นความสำเร็จ

By: PSYCAT February 4, 2019

“ความสำเร็จ”คืออะไร ? รูปร่างหน้าตาเป็นแบบไหน ? ถามคำถามนี้กับใครก็ยากที่คนตรงหน้าจะระบุรูปลักษณ์ที่แน่นอนของสิ่งนามธรรมอย่างความสำเร็จออกมาได้ โดยเฉพาะกับคนหนุ่มสาววัย 20 ต้น ๆ ที่มักกำลังตามหาความหมายอะไรบางอย่างของชีวิต เราก็ทึกทักเอาเองว่าคนจะมีพวกเขาน้อยคนนักที่จะสามารถนิยามความหมายของคำว่าความสำเร็จของตัวเองได้

แต่ไม่ใช่กับ มานะ-มนพร ศรีศุทธยานนท์” หรือ MANA DKK นักวาดภาพประกอบสาวที่เรามีโอกาสสนทนาด้วย เธอนิยามความสำเร็จในแบบของเธอเองได้อย่างแจ่มชัด บางความสำเร็จของบางคนอาจหมายถึงเกียรติยศ ชื่อเสียง หรือเงินทอง แต่สำหรับเธอความสำเร็จอาจหมายรวมถึงการได้ตื่นขึ้นมาในแต่ละวันและยังสามารถทำสิ่งที่เธอรักอย่างการวาดรูปได้อย่างมีความสุขนั่นก็เพียงพอจะเป็นความสำเร็จแล้ว

ไม่ใช่แค่นิยามของความสำเร็จของมานะเท่านั้นที่ดูชัดเจน แน่วแน่ แต่ในฐานะนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ ผลงานและตัวตนของมานะก็โดดเด่นน่าสนใจไม่แพ้กัน สำหรับใครที่เคยอ่านสื่อออนไลน์อย่าง The MATTER มาบ้าง ก็ดีใจด้วย เพราะคุณอาจเห็นงานภาพประกอบสีสันสดใสของมานะที่ผนวกรวมเข้ากับเนื้อหาหนักแน่นได้อย่างกลมกล่อม แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นตัวเธอแต่อย่างใด

ยิ่งเห็นภาพสีสันสดใส แต่เต็มไปด้วยตัวตนเหล่านั้น เรายิ่งอยากทำความรู้จักเธอ …

ตอนที่เรากำลังอยากรู้จักเธอมากขึ้นก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มานะกลับมาไทยช่วงสั้น ๆ เพราะตอนนี้เธอกำลังเรียนปริญญาโทด้าน Visual Development ที่สหรัฐอเมริกา เธอเรียนมา 2 ปีเต็ม ๆ แล้วและยังเหลืออีกปีกว่า ๆ ก่อนจะจบการศึกษาอย่างเป็นทางการ

“เรียนมาสองปีแล้ว เหลืออีกปีกว่าจะจบ แต่เราค้นพบว่ามันใช่มาก ชอบมาก แต่ก็น่าจะหางานยากด้วย เพราะในไทยก็มีงานด้านนี้น้อย ในต่างประเทศมีเยอะกว่าแต่อาจต้องฝีมือเซียนมาก ๆ “มานะแนะนำตัวเองสั้น ๆ ก่อนจะเริ่มเล่าถึงสิ่งที่เรียนและความท้าทายเรื่องอาชีพที่พ่วงมาด้วย ถ้ารู้ว่าเรียนแล้วน่าจะหางานทำยากแล้วไม่กลัวหรอ ? เราอดถามต่อไม่ได้

“เรารู้แล้ว เรารู้ว่าถ้าเราเรียนมันจะมีความเสี่ยง แต่จริง ๆ ทุกอาชีพมันก็มีความเสี่ยงนั่นแหละ

แต่เราก็คิดว่าเกิดมาครั้งหนึ่ง ลองทำตามความฝันให้ได้ก่อน แล้วสุดท้ายถ้ามันไม่เวิร์ค ค่อยเปลี่ยนก็ได้

ซึ่งช่วงอายุ 20 เราว่ามันคือช่วงของการลองทำตามความฝัน ช่วงของการลองผิดลองถูก”

ช่วงอายุนี้สำหรับมานะจึงเป็นการกระโจนเข้าสู่ความฝันแบบที่เธอเชื่อและถ้าถึงจุดหนึ่งของวันเวลาที่เธอรู้สึกว่ามันควรพอเธอก็ยินดีจะปรับตัวเข้ากับชีวิต เพราะสำหรับเธอ เธอเชื่อว่าคนเราพร้อมเปลี่ยนแปลง พร้อมเติบโตไปตามอายุและช่วงวัยอยู่แล้ว

“ตอนเราอายุ 18 เราก็คิดแต่ว่าเราจะวาดภาพประกอบ แต่แม่ก็บอกว่ามันจะหากินได้ยังไง เป็นศิลปินไส้แห้งแน่เลย เราเลยเริ่มคิดเลยว่าอย่างแรกก็คือเราต้องวาดรูปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องทำเงินให้ได้ พอตีโจทย์นี้ได้แตกแล้ว เราก็เริ่มมองแล้วว่าเราจะวาดรูปทางไหนกันแน่ เพราะการวาดรูปมันก็มีหลายทาง บางคนก็วาดรูปแล้วเป็นไอดอล บางคนก็วาดรูปแล้วไปทำพวกวีดีโอโปรดักชั่น พวกเอ็มวี แต่เราอยากทำอะไรแน่ ?”

“เราก็คอยถามตัวเอง แล้วก็ลงลึกไปทีละอัน แต่ละสิ่งที่เราเลือกมันก็มีความเสี่ยง แต่เราก็อยากลองทำมันก่อน สมมติว่าอายุ 30 เราอยากทำอย่างอื่นควบคู่ไปด้วย Why not? ก็ทำสิ”

เธอเล่าย้อนไปถึงความคิดแรกที่เธอเพียงต้องการแค่วาดรูปเท่านั้น แต่เมื่อเติบโตขึ้นก็ต้องคิดถึงเรื่องการเลี้ยงชีพเข้ามาด้วย แต่ทั้งหมดก็ยังคงเป็นตัวเธอที่ค่อย ๆ เติบโตขึ้นนั่นเอง

“ตั้งแต่อนุบาลก็วาดรูปแล้ว พอโตขึ้นก็ดูหนังดิสนีย์ รู้สึกสนุก ชอบ ชอบปีเตอร์แพนมาก แล้วมีประโยคนึงที่เราจำมาตลอดจากปีเตอร์แพนคือ ‘ถ้าคุณเชื่อ คุณก็จะทำได้’ ซึ่งเป็นฉากที่ปีเตอร์แพนจะกระโจนออกไปเพื่อบิน” เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของการวาดรูป

“เราก็รู้สึกเลยว่า งั้น ฉันจะวาดรูป ทุกวันนี้เวลาใครถามว่าทำไมวาดรูปก็จะบอกว่ามีปีเตอร์แพนเป็นไอดอล” มานะหัวเราะ ทำให้ดูเหมือนนี่คือนิทานเรื่องหนึ่งที่ตัวละครเลือกพุ่งทะยานตามสิ่งที่ตัวเองฝันถึง ต่างกันที่นี่คือชีวิตจริงของเธอและเธอกระโจนเข้าใส่สิ่งที่เธอชอบจริง ๆ

แต่เรารู้สึกสงสัยไม่ได้ว่าคนเราเมื่อบินไปตามความฝันไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งบางคนจะรู้ตัวว่า เฮ้ย เราทำได้ดีนี่ เราถึงยังทำมันต่อไปอย่างสม่ำเสมอ ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าที่ทำอยู่มันไม่เวิร์คขนาดนั้น ถึงชอบแค่ไหนแต่ก็ต้องหยุดเพราะท้อ เพราะไปต่อไม่ได้หรืออะไรก็ตาม ในขณะที่มานะยังไม่หยุด นับตั้งแต่วันที่กระโจนออกจากเรือปีเตอร์แพนลำนั้น เราเลยอดถามไม่ได้ว่ามันมีจุดไหนหรือเปล่าที่มันทำให้มานะรู้สึกว่า ฉันทำได้ดี และฉันจะไม่มีทางหยุดแล้ว

“ไม่นะ ไม่มีจุดนั้น” มานะพยายามบอกเราว่าสำหรับเธอไม่มีจุดที่เธอรู้สึกว่ามันดีเธอถึงทำต่อ แต่เพราะเธอชอบ ชอบมาก ๆ จึงต้องทำต่อไป วาดต่อไป

“เราชอบมากกว่า ความชอบต่างหากที่เป็นแรงผลักดันให้เราทำมันไปเรื่อย ๆ “

“เหมือนบางคนรู้สึกว่า เฮ้ย ฉันคิดเลขเก่งว่ะ ฉันเลยต้องไปเรียนบัญชี แต่วาดรูปคือเราชอบ ไม่รู้ว่าทำดีหรือเปล่า แต่เราชอบมากไง ดังนั้นเราจะทำยังไงให้สกิลเราเพิ่ม พอช่วงก่อนมัธยมเราก็เริ่มเข้าไปเรียนวาดรูปสำหรับเด็ก พอมัธยมเราก็เริ่มไปติว มหาวิทยาลัยเราเลือกเรียนเดค (คณะมัณฑนศิลป์) ก็เพราะเราคิดว่ามันน่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพเรา

มันจึงไม่ได้หมายความว่าเราคิดว่าเราเราวาดรูปเก่งเราถึงวาดรูป แต่เพราะเราชอบวาดรูป เราถึงคิดว่าต้องทำอะไร ต้องเรียนอะไร เพื่อพัฒนาตัวเองมากกว่า”

“การวาดรูปมันเป็นสกิลเซ็ต มันไม่เหมือนกฎหมายที่เราอ่าน เราจำ แล้วดึงมาใช้ แต่วาดรูปมันเหมือนการประคับประคองไปเรื่อย ๆ มันถึงจะดีขึ้นมา ถ้าวันไหนที่เราหยุดวาด ความสามารถมันก็จะลดลง ถ้าวาดเยอะ ๆ วาดเรื่อย ๆ มันก็จะสะสมไปเรื่อย ๆ “

การวาดรูปสำหรับมานะจึงเริ่มต้นด้วยความชอบ ขับเคลื่อนไปด้วยความชอบมาก ๆ และอยากทำต่อไป รวมถึงความสม่ำเสมอที่เธอเชื่อว่ามันจะช่วยให้เธอพัฒนา แต่เราต่างก็รู้ว่าเมื่อต้องก้าวเข้าสู่สมรภูมิทางการงานที่รูปวาดของเธอก็อาจเป็นสินค้าที่ใช้แลกเงินได้ ความกดดันมันมากน้อยต่างกันแค่ไหน

“เราเชื่อว่าถึงจุด ๆ นึงทุกคนก็จะต้องตั้งคำถามนั่นแหละว่านี่ฉันทำอะไรอยู่วะ ? ฉันเอาสิ่งที่ฉันชอบมาหาเงิน เคยมีคุณแม่ของเพื่อนคนนึงซึ่งเขาทำอาชีพนี้เหมือนกันแล้วเขาก็พูดนะว่าอะไรที่ชอบอย่าทำเป็นอาชีพเพราะว่าเราจะเกลียดมัน” 

“แต่เราค้นพบว่าถ้าเราค้นพบสิ่งที่ชอบและทำเป็นอาชีพได้มันก็ดี มันอยู่ที่มุมมองความคิดนะ มันจะมีจุดที่เราต้องถามตัวเองนั่นแหละว่าสิ่งที่เราทำอยู่ เราทำเพื่ออะไร ? เพราะบางทีมันจะมีงานที่เงินดีมาก แต่เราไม่อยากทำ แต่เราก็ต้องทำ เพราะมันได้เงิน แต่ถ้าเราหาจุดที่มีความสุขกับงานให้ได้ เราทำออกมาเราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่ทำและเราก็จะได้เงินด้วย”

แล้วจุดที่มีความสุขระหว่างการวาดรูปที่เธอรักกับเงินที่ต้องใช้เพื่อมีชีวิตต่อไปมันคือจุดไหนกันแน่ ?

“อย่างแรกเวลาทำงานที่มีคนอื่นมาจ้างเรา เราก็ต้องพยายามหาอะไรบางอย่างที่เป็นจุดร่วมระหว่างเรากับเขา เช่นถ้าเขาอยากให้เราทำแพคเกจจิ้งสำหรับเด็ก จุดร่วมก็คือแพคเกจจิ้งสำหรับเด็กมันน่ารัก ส่วนเราเองก็ชอบวาดอะไรน่ารัก ๆ อยู่แล้ว พอหาจุดร่วมนี้ได้ เราก็จะมีความสุขกับสิ่งที่เราวาดแล้ว”

“ต้องหาจุดนั้นให้ได้ เพราะถ้าหาได้ ก็จะมีความสุขด้วยและได้เงินด้วย”

“แต่ถ้าวาดแบบที่ไม่ได้มีใครมาจ้าง เราวาดเอง เราก็มีความสุขตลอด” มานะทิ้งท้าย และนั่นคงเป็นสาเหตุที่เธอวาดรูปทุกวัน “วาดรูปทุกวัน ถ้าเป็นวันที่ไม่มีงานเลย ก็จะตื่นมา เอากระดาษมานั่งวอร์มมือ เปิดพินเทอร์เรสต์หานางแบบ นายแบบน่ารัก ๆ แล้วก็วาดตาม เพราะเรารู้สึกว่าเราต้องคีปสกิลไว้ทุกวัน”

“วาดอะไรก็ได้ เราไม่เก่งวาดคนนะ อย่างบางคนให้ไปนั่งในคาเฟ่ เขานั่งมองคนในคาเฟ่แล้วก็วาดได้ แต่ว่าเราวาดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะเรา Capture ภาพเขาไม่ทัน เราก็เลยเลือก Landscape Painting แทน เราก็เพนต์เป็นเล่ม ๆ เลย แต่เราก็พยายามวาดหลาย ๆ อย่าง”

ถ้ามานะวาดคนไม่เก่ง อะไรทำให้มานะวาดคนออกมาได้ เราถามถึงเคล็ดวิธีส่วนตัว

“ก็แค่วาด วาดอย่างเดียวเลย มันไม่มีทางออกอื่น ก็คือวาด ปกติสารภาพเลยว่าเราก็ไม่ได้วาดเยอะ วาดทุกวัน แต่จะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ทำงานหนักมาก ๆ แล้วต้องวาดวันละประมาณเกือบร้อยรูป ช่วงนั้นเลยเห็นชัด ๆ เลยว่าเราพัฒนาขึ้น”

แค่วาด ไม่เก่งก็วาดไป ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องพุ่งชนเข้าไปเลย มันไม่มีทางลัดจริง ๆ

ใช่ เราพยักหน้าหงึกหงักเห็นด้วยกับบางเรื่องมีทางลัด แต่กับบางเรื่องมันไม่มีทางลัด โดยเฉพาะเรื่องที่เรารู้สึกว่าเรานี่มันไม่เก่งเอาเสียเลย มันทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับและเริ่มลงมือทำมันซ้ำ ๆ แล้วกับเรื่องอื่น ๆ ในชีวิตล่ะ เราอดถามเธอไม่ได้ มานะจะคิดว่ามันพอมีทางลัดไหม ?

“คิดว่ามันไม่ใช่ทางลัด มันน่าจะเป็นคล้าย ๆ อย่าทำงานหนัก แต่ให้ทำงานให้ฉลาด เราว่ามันน่าจะเป็นแบบนั้นมากกว่า การทำงานให้ฉลาดอย่างวาดรูป ถ้าเราวาดผิดไปเรื่อย ๆ มันคือการทำงานไม่ฉลาด มันจึงเป็นการทำงานหนักด้วยและทำงานไม่ฉลาดด้วย เราว่าไม่น่าได้ผล แต่ถ้าเรารู้ว่างานที่เราวาดบกพร่องตรงไหน ต้องแก้ยังไง แล้วเราก็พยายามที่จะแก้มันไป

หรือถ้าเราไม่รู้ว่ามันถูกไหม เราก็พยายามถามคนอื่น พอเรารู้วิธีการทำงานอย่างฉลาดแล้ว เราก็จะไม่ต้องเหนื่อยมาก แบบนี้น่าจะใกล้เคียงกับคำว่าทางลัดที่พอจะช่วยได้ที่สุดแล้ว”

มานะดูเป็นคนที่สม่ำเสมอ ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการทำงานอย่างถูกวิธีและชาญฉลาด ด้วยความมุ่งมั่นแบบนี้เราเลยอดถามถึงนิยามความสำเร็จส่วนตัวของเธอในฐานะนักวาดภาพประกอบไม่ได้

“ประสบความสำเร็จหรอ เอาจริงมีคนถามเราบ่อยมาก เช่น อาจารย์ที่เราเรียนด้วย เขาก็จะถามคนในห้อง บางคนก็จะบอกเลยว่าอยากเป็น Concept Artist ในบริษัทดัง ๆ อะไรแบบนี้ เราฟังแล้วเราก็จะแอบคิดว่า โห การแข่งขันมันสูงนะ ความกดดันมันเยอะนะ จนวันนึงอาจารย์ก็ไล่ถามทีละคนเลยว่าเห็นภาพตัวเองในอนาคตไว้ยังไง ? คนก็ตอบว่าฉันจะเป็นนั่นเป็นนี่

เราตอบว่าขอแค่ตัวเองยังวาดรูปและยังมีความสุขกับการวาดรูป แค่นี้เลยความสำเร็จ

สำหรับเราต่อให้เข้าบริษัทใหญ่ ๆ ได้ แต่ถ้าเราไม่มีความสุข มันเหมือนไม่มีจุดสิ้นสุดอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเราอยู่ตรงไหนแล้วเรายังมีความสุขกับสิ่งที่เราทำอยู่ ยังมีความสุขกับรูปที่เราวาดอยู่ เราว่านั่นก็เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้วนะ เพราะเราว่าการมีความสุขกับตัวเองนั่นแหละที่ยากที่สุดแล้ว”

แล้วมานะมีความสุขกับตัวเองมั้ย ? เราเย้าถาม “ใช่ มีความสุขสุด ๆ “ เธอตอบพร้อมยิ้มกลับมา

“เพราะเราอยากไปเรื่อย ๆ ไม่ต้องกดดันตัวเองมาก เพราะการกดดันตัวเองมันเครียด ตื่นมาแล้วต้องทุกข์ทุกวันก็คงไม่อยากทำต่อ “

นี่จึงอาจเป็นจุดที่มานะเรียกว่าความสำเร็จ เพราะจุดอื่นที่คนมองว่าคือความสำเร็จ แต่ถ้ามานะพาตัวเองไปอยู่จุดนั้นแล้วเธอไม่มีความสุขกับการวาดรูป เธอก็ลงความเห็นว่านั่นไม่ใช่ความสำเร็จสำหรับเธอ

“บางคนมีหน้าที่การงานดีมาก แต่กลับมาแล้วมาบ่นกับมานะทุกวันว่าไม่อยากไปทำงานเลย แต่ต้องไปเพราะเงินเดือนดี มีหน้ามีตา เราก็จะแบบดูว่าถ้าเป็นเรา เราคงต้องเปลี่ยน ตรงไหนที่เราอยู่แล้วอึดอัด เราก็คงต้องถามตัวเองว่าทำไม เป็นที่ตัวเรา หรือเป็นที่อย่างอื่นก็ต้องลองดู”

ถึงการวาดรูปอย่างมีความสุขจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่กับการเรียนเพื่อพาความสามารถตัวเองให้ก้าวกระโดดไปข้างหน้า บางครั้งก็ไม่ได้มาพร้อมความสุขเสมอไป โดยเฉพาะการได้ไปเรียนต่างประเทศที่ที่วิธีการเรียนการสอนต่างจากที่เธอเคยเรียนมาอย่างสิ้นเชิง

“ต่างนะ อย่างวิธีสอนก็ไม่เหมือนกัน เช่น การดรอว์อิ้งที่ไทยเราสอนดรอว์อิ้งแบบนึง ที่นู่นเขาก็สอนดรอว์อิ้งอีกแบบ หมายถึงว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง จนเราไปดรอว์อิ้งที่นู่นแล้วอาจารย์เดินเข้ามาถามว่าเรามาจากประเทศไทยใช่มั้ย เราตกใจมาก ถามว่าเขารู้ได้ไง อาจารย์ก็ตอบกลับมาว่า คนไทยก็วาดรูปแบบนี้กันทั้งนั้นอ่ะ

เราจำได้เลยว่าเราเข้าเรียนวันแรก เราร้องไห้ เราทำไม่ได้ เขาทำอะไรกัน เราทำไม่ได้ ซึ่งมันก็ไม่มีทางลัด เราก็ต้องนั่งฝึกไปเรื่อย ๆ จนทำได้”

เราจินตนาการไม่ออกว่าจากจุดที่ร้องไห้เพราะทำไม่ได้ กว่าจะมาถึงจุดที่มานะวาดรูปอย่างมีความสุขอีกครั้งได้มันเป็นอย่างไร เราเลยขอให้เธอเล่าให้เราฟัง…

“การทำไม่ได้มันมีสองแบบ แบบแรกคือเรารู้ว่าเราต้องทำอะไรแต่เราอ่ะทำไม่ได้ กับอีกแบบคือเราไม่รู้เลย ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราต้องทำอะไร ไม่รู้แม้กระทั่งว่าเราไม่รู้อะไร ซึ่งอันนั้นมันยากมาก เราร้องไห้เพราะเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เฮ้ย นี่เราไม่รู้อะไร มันผิดหรอ มันผิดตรงไหน ผิดยังไง เราไม่รู้อะไรเลย”

“เราก็ต้องถามคนที่รู้ เราให้เพื่อนคนที่เก่ง ๆ วาดให้ดู แล้วเราก็คอยสังเกตวิธี ถึงค่อย ๆ เข้าใจว่ามันต้องเป็นแบบไหน แล้วเราก็พยายามวาดตาม แล้วถึงค่อย ๆ รู้ว่าตัวเราไม่รู้อะไร มันถึงค่อย ๆ ผ่าน ๆ ไป เพราะถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้สิ”

“สำหรับเราเบื่อก็วาด ดีใจก็วาด เหงาก็วาด มันก็แค่การวาดรูป ไม่ต้องเตรียมอะไรเลย เตรียมใจก็ไม่ต้องเตรียม เราแค่ลุกขึ้นมา เบื่อจังเลย แล้วเราก็วาด “

“มันจะมีบางคนที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน เขาเรียนตรีด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านศิลปะมา แต่อยากมาเรียนเพราะเขาคิดว่ามันน่าสนุกดี แต่พอเรียนไปเขาเริ่มทรมานกับการวาดรูป เขาจะเริ่มไม่อยากวาดรูป เขาก็จะเลิกไป เขาไม่สามารถตื่นมาแล้ววาดรูปทุกวันได้ สุดท้ายเขาก็ไม่ไหว ต้องออกไป”

สำหรับมานะการยังตื่นมาแล้วอยากวาดรูปทุกวันเป็นสิ่งสำคัญ จงวาดต่อไปเรื่อย ๆ จึงเป็นพิธีกรรมสำคัญที่ทำให้มานะฝ่าฟันจากวันแรกที่ร้องไห้เพราะทำไม่ได้ มาจนถึงวันที่เรียนมาได้ 2 ปีแล้ว แต่นอกเหนือไปจากการวาดอย่างสม่ำเสมอ มานะเชื่อเรื่องการรับฟังคำวิจารณ์เพื่อพัฒนางานตัวเอง

“ที่นั่นเขาจริงจังกับการทำงานมากเลยนะ ที่ไทยมันให้ความรู้สึกว่าแป๊ป ๆ เดี๋ยวก็ส่ง เดี๋ยวทุกอย่างก็ผ่านไปแล้ว แต่ที่นู่นทุกคนก็เก่งกันทั้งนั้น ถ้าเราไม่ได้ตั้งใจจริง ๆ แล้วพอเอางานไปวางเทียบกับคนอื่นเขามันก็จะเห็นเลย แล้วในห้องเรียนคนมันก็ไม่ได้เยอะ อาจารย์ก็จะสามารถจี้ทีละคนจริง ๆ

การวิจารณ์ เขาก็จะไม่ได้พูดแค่ว่างานเราห่วย อย่างที่นี่ก็จะมีนะอาจารย์ที่บอกว่างานเราห่วย เขาไม่ชอบงานเราเลย ถามว่าเราทำมาได้ยังไง แต่อาจารย์ที่โน่นเขาจะบอกเลยว่ามันต้องแก้ยังไง

ถ้ามีคนวิจารณ์งานเราแต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเราจะแก้ให้มันดีขึ้นได้ยังไง เราไม่จำเป็นต้องสนใจเพราะเขาก็แค่อยากว่าเรา”

ต้องยอมรับว่าในไทย ทั้งวงการศิลปะหรือวงการไหน ๆ เราก็ยังอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ของคนอื่นอยู่มาก การได้เห็นมานะสามารถรับฟังคำวิจารณ์ได้มันจึงน่าสนใจมาก ๆ และนี่คือวิธีที่เธอเลือกรับมือกับคำวิจารณ์…

“เขาวิจารณ์งานเรา เขาไม่ได้วิจารณ์เรา นั่นคือเรื่องแรกที่เราต้องแยกระหว่างงานเรากับเราให้ออก งานเราอาจจะแย่ แต่เราไม่ได้แย่นะ”

“อย่างที่สอง เราต้องลดอีโก้ตัวเองลงเยอะ ๆ เลย ถ้ามีคนมาบอกว่างานเราแย่มากเลย แต่ถ้าเขามีทางออกให้เรา ย้ำนะว่าคนที่วิจารณ์ต้องบอกได้ว่าแก้ให้ดีขึ้นยังไง เราก็จะแก้ได้ แล้วงานมันก็จะพัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจริง ๆ

เคยมีช่วงหนึ่งที่เราไม่รับคำวิจารณ์ เพราะเราอ่อนแอ เรารับไม่ได้ ฟังแล้วรู้สึกแย่ เลยไม่พยายามรับคำวิจารณ์ ช่วงนั้นก็จะเป็นช่วงที่งานพัฒนาได้น้อยมาก พอเราลดอีโก้ตัวเองลง เราจะเห็นกราฟเลยว่ามันพุ่งขึ้น การฟังคนอื่นมันทำให้เราเห็นว่ามันมีทางเลือกที่หลากหลายมากกว่า”

“มันก็เริ่มนำไปสู่การบอกตัวเองว่า เฮ้ย เราจะไปคิดมากทำไม เขาหวังดี ส่วนใครที่วิจารณ์เพราะหวังดีกับวิจารณ์เพราะไม่หวังดีมันก็เห็น ๆ กันอยู่แล้ว

ถ้าเขาว่า งานเราห่วยว่ะ ทำมาได้ไงวะ มันก็เป็นคำวิจารณ์ที่ไม่มีค่ามากพอให้เราฟังอยู่แล้ว แต่ถ้าเขาบอกว่างานเรามันทำให้ดีขึ้นได้มากกว่านี้ยังไง ให้เหตุผลมา หนึ่ง สอง สาม สี่ เราก็คิดว่าลองแก้สิ เขาอยากช่วยเรานะ เปลี่ยนวิธีคิด”

แม้มานะจะมีความสุขกับการวาดรูปของตัวเองดีอยู่แล้ว แต่เราเชื่อว่าทุกคนล้วนมีตัวเองในเวอร์ชั่นต่อไปที่อยากไปถึงกันทั้งนั้น แล้วสำหรับมานะ เธอมีอะไรที่อยาก UNLOCK ตัวเองอีกบ้างและคำตอบของเธอก็ช่างน่าสนใจ

“คิดว่าจะฝึกให้มากขึ้นนะ เพราะทุกวันนี้เราวาดรูปทุกวันก็จริง แต่มันก็คือการวาดแบบไม่มีเป้าหมาย จริง ๆ ก็อยากทำอะไรที่มีจุดมุ่งหมาย เช่น เราใช้สีไม่เก่ง เราก็ควรจะฝึกด้านสี แต่จะฝึกด้านสียังไง ?

เราก็ต้องไปทำการบ้าน เช่น ดูหนังเยอะ ๆ เวลาดูหนังทุกครั้ง กลายเป็นโรคที่ต้องดูคอมโพส ดูสีไปด้วย ทุกครั้งที่เปลี่ยนซีนเราจะดูว่าเขาทรานเฟอร์ทุกอย่างยังไง เช่นซีนนี้เขาใช้สีโทนเย็น เราก็จะคอยดูว่าเขาใช้สีโทนเย็นไปอีกนานมั้ย พอเขาเปลี่ยนซีน เขาดึงสีจากอันเก่ามาเป็นอันใหม่ยังไง

เราคิดเรื่องสีตลอดเลยเวลาดูหนัง มันกลายเป็นนิสัยที่เลิกไม่ได้แล้ว เราเลยคิดว่าเราอยากดูหนังเยอะขึ้น แล้วก็พยายามเพนต์ตามซีนหนัง”

“การเรียนรู้มันอยู่ในชีวิต อย่างตอนที่เราคุยกันอยู่นี่เราก็คิดอยู่เลยนะว่าเห็นหน้าพี่แล้วจะเพนต์ยังไงดี”เราหัวเราะลั่นไปพร้อมกับเธอ เพราะการเรียนรู้ การฝึกฝน การไปข้างหน้าสำหรับเธอมันคงเป็นเรื่องสนุก เธอถึงไม่เคยหยุด

การ UNLOCK ตัวเองไปสู่เวอร์ชั่นใหม่ ๆ ของตัวเอง สำหรับคนอื่นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ แต่สำหรับมานะแล้ว มันคือการก้าวไปเรื่อย ๆ อย่างมั่นคงและสม่ำเสมอในแต่ละวัน และค่อย ๆ กลายเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่เก่งขึ้น วาดรูปได้อย่างที่ต้องการมากขึ้น และมีความสุขมากขึ้นกับสิ่งที่ทำ

มานะยืนยันว่ามีความสุขดี ไม่เหนื่อย ไม่เครียด ถึงจะแอบบ่นบ้างว่าถ้าพูดให้แม่ฟังว่าเธอดูหนังไปหรือมองหน้าแม่ไปแล้วคิดถึงโทนสีไป แล้วแม่เธออาจจะคิดว่าเธอเพี้ยน ๆ

“ทุกวันนี้แม่ก็ยังคิดว่าเราวาดรูปอะไรสักอย่างก็ไม่รู้ แต่ดันได้เงิน เขาก็ภูมิใจในระดับหนึ่ง เพราะเขาก็ไม่คิดว่าวาดรูปแล้วมันจะทำเงินได้จริง ๆ พอเราได้เงินกลับไปให้เขา เขาก็รู้สึกว่า เออ มันก็ทำได้นี่ พอเราทำได้เรื่อย ๆ ได้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ เราก็บอกแม่ว่าเราจริงจังนะ เราจะไปเรียนต่อ เขาก็โอเค เราก็ดื้อด้วยแหละ จริง ๆ แม่อยากให้เป็นหมอ เหมือนแม่ ๆ ทั่วไป”

แต่มานะไม่ได้เป็นหมอ มานะเลือกไปติว เลือกสอบให้ติดในสายศิลปะอย่างที่ชอบ เลือกทำให้แม่เห็นว่าทำได้ พอจบมา เธอก็เลี้ยงตัวเองด้วยการวาดรูปให้ได้ สำหรับเธอมันจึงเป็นการบอกให้รู้ด้วยการทำให้แม่เห็น ไม่ใช่แค่การดื้อดึงดันโดยไม่พิสูจน์อะไร ตอนนี้แม่จึงเข้าใจสิ่งที่เธอทำ แล้วนอกจากแม่แล้วมีใครอีกมั้ยที่เธออยากพิสูจน์ตัวเอง ?

“คงพิสูจน์แค่ตัวเอง เพราะเราพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็นไป มันก็เป็นเหมือนเราไปไล่ตามคนอื่นหรือเปล่า เพราะคงไม่ใช่ทุกคนที่จะพอใจกับเรา

พิสูจน์ตัวเองกับคนอื่นไปมันก็เท่ากับเราไปไล่ตามคนอื่นเขา และเราจะไม่มีวันเจอจุดที่ตัวเองพอใจ เพราะมันดันไปขึ้นอยู่กับคนอื่นถ้าเราพอใจกับตัวเอง เฮ้ย วันนี้เก่งมากวาดรูปได้ตั้งสิบรูป มันน่าจะดีกับเรามากกว่า”

“เมื่อก่อนเราก็มีความอยาก เหมือน ๆ ที่คนอื่นอยาก อยากเป็นคอนเซปต์อาร์ตติสต์ชื่อดัง นักวาดชื่อดัง ทำเงินได้เยอะ ๆ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เป็นเรื่องของอนาคตจริง ๆ ที่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นได้ไหม หรือจะเป็นแล้วดีไหม เราจะคิดมากไปทำไม ทำตอนนี้ให้ดีที่สุด เพราะเราจะถามตัวเองตลอดว่าถ้าเราไม่วาดรูปวันนี้ แล้วเราจะมีวันเป็นอย่างที่เราเคยฝันได้ยังไงนะ ?”

นั่นสินะ ถ้าเราไม่วาดรูปวันนี้ แล้วเราจะมีวันเป็นอย่างที่เราเคยฝันได้ยังไงนะ ? ประโยคคำถามนี้จากมานะก้องสะท้อนอยู่ในหัวเราจนถึงตอนนี้ แทนค่าลงไปด้วยอะไรก็ได้บนโลกใบนี้ ถ้าอยากเป็นคนสำเร็จ แล้วไม่ลงมือทำวันนี้ แล้วเราจะมีวันเป็นอย่างที่เราเคยฝันได้ยังไงนะ ? 

เราจะไม่มีวันเป็นอย่างที่เราเคยฝันไว้ได้เลย ถ้าเราไม่กระโจนลงไปทำมัน และทำมันอย่างสม่ำเสมอและมีความสุข สูตรนี้มันอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จตายตัวของทุกคนบนโลก แต่ถ้าคุณคือคนหนึ่งที่นิยามความสำเร็จไว้ว่าการได้ตื่นมาทำสิ่งที่รักทุกวันและยังมีความสุขแบบที่มานะ-มนพร ศรีศุทธยานนท์ นิยามไว้ ก็เชื่อเถอะว่าการลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นสุขนี่แหละคือสิ่งที่จะไม่มีวันหวนมาทำร้ายคุณ เหมือนที่การวาดรูปยังเป็นแรงผลักให้มานะเติบโตไปอยู่ทุกขณะ … ทุกขณะ

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line