Entertainment

MOVIE GUIDE : ถอดบทเรียนจากหนังญี่ปุ่น 4 เรื่อง ที่บอกกับเราว่า “ไปไม่ถึงฝันที่วาดเอาไว้ก็ไม่เป็นอะไรหรอก ระหว่างทางต่างหากที่สำคัญกว่า”

By: GEESUCH August 2, 2022

ถ้าพูดถึงประเทศแห่งความฝัน นอกจาก American Dream ก็มีญี่ปุ่นนี่ล่ะที่หัวข้อ ‘สู้เพื่อฝัน’ ถูกยกขึ้นมาพูดอย่างไม่เคยขาดในทุกสื่อ ไม่ว่าจะใน Soft Power หลักอย่างมังงะ อนิเมะ จนถึงวรรณกรรมหลาย ๆ เล่มเองก็ตั้งคำถามถึงสิ่งนี้เสมอ ถ้ายังจำกันได้ ตอนโอลิมปิกส์ปี 2020 ที่ผ่านมา ทีมวอลเลย์บอลของทีมชาติญี่ปุ่น ก็มีท่าตบลูกอย่างกับหลุดออกมาจากเรื่อง Haikyu!! จนเป็นที่ฮือฮาไปทั่วโลก 

และอีกหนึ่งสื่อสุนทรีย์ที่ขับเคลื่อนชีวิตมนุษย์กว่าศตวรรษอย่าง ‘ภาพยนตร์’ ของญี่ปุ่น เมื่อพูดถึงความฝันเราจึงได้เห็นภาพยนตร์ที่อิงจากชีวิตจริงมนุษย์ ซึ่งพูดถึงการตามความฝันแต่ไม่สำเร็จอยู่บ่อย ๆ 

UNLOCKMEN จะมาชวนทุกคนถอดบทเรียนจากหนัง 4 เรื่อง ว่าด้วยเรื่องราวของเหล่าผู้คนในวันที่สู้เพื่อฝัน แต่ความจริงก็ซัดหมักหนักใส่ชีวิตเหลือเกิน เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังทำตามฝัน หรือเคยมีฝันทุกคนใช้ชีวิตแบบที่ต้องการกันต่อไปครับ


Solanin (2010) : จงทำตามความฝันให้เหมือนกับว่าพรุ่งนี้จะไม่ได้ฝันอีกแล้ว

ไอเดียสำคัญจากหนังซึ่งดัดแปลงจากมังงะของ Inio Asano เรื่องนี้ คือการพูดกับคนดูด้วยน้ำเสียงปกติ ในวันที่แดดแรงพอจะทำให้ผ้าแห้งว่า 

“ทำความฝันวันนี้ให้เต็มที่นะ ถ้าพรุ่งนี้ตายไปจะได้ไม่ต้องเสียใจทีหลัง”  

‘ความตาย’ เป็นสิ่งใกล้ตัวเราทุกคนเสมอ ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ความตายฟรีสไตล์จริง ๆ และเราอาจจะไม่อยากพูดว่าในบางครั้งความตายก็มีข้อดีในตัวเองเหมือนกัน แต่มันก็มีอยู่จริง ๆ ซึ่งก็คือ ‘ความกลัว’ นั่นเอง และความกลัวอาจจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนของมนุษย์ชีวิตได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งเลย

Solanin เล่าเรื่องของ Taneda หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาลัยได้ 2 ปี เด็กหนุ่มคนนี้ก็ต้องเจอกับชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยอุปสรรคเกินกว่าชีวิตในช่วงวัยเรียนมากมายนัก แต่เมื่อชีวิตมีฝันที่ต้องการทำวงดนตรีให้ดังให้ได้ การสู้แบบไม่ลืมหูลืมตาหวังจะประสบความสำเร็จโดยมี Meiko เป็นคนซัพพอร์ตชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

สิ่งที่ประเด็นสำคัญของ ‘หนังสู้เพื่อฝัน’ ซึ่งเรามักจะได้เห็นกันบ่อย ๆ คือการที่ตัวละครถูกวางเอาไว้บนทางแยกเมื่อชีวิตจริงกับความฝันไม่ได้สัมพันไปด้วยกัน อย่าง Taneda ตัวเอกของเรื่อง ก็เรียกว่าฐานะลำบากเกินกว่าจะลองและล้มเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตัวเองตั้งเอาไว้ได้หลาย ๆ ครั้ง แต่ยังโชคดีที่มี Meiko คนซัพพอร์ตที่เชื่อมั่นและยังพอช่วยเหลือเขาได้ แต่เรื่องราวจะมีบทสรุปจะเป็นแบบที่ตั้งใจเอาไวมั้ย เราขอไม่สปอยล์ตรงนี้ แต่ขอเชียร์สุดตัวว่าทุกคนต้องห้ามพลาดเลยนะไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นมังงะหรือหนังก็ตาม 

บทเรียนล้ำค่าที่ Solanin มอบให้ มาพร้อมกับโน๊ตแรกของเพลงชื่อเดียวกันกับหนัง ถูกบรรเลงขึ้นโดย Meiko ซึ่งก็คือ ‘การเติบโต’ ไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลยแม้กับใครก็ตาม อาจจะยากยิ่งกว่าสำหรับคนที่มีความฝันด้วยซ้ำ แต่หากที่ผ่านมาเราพยายามอย่างหนัก พอมองย้อนกลับไปดูก็จะพบว่า ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความโกรธ ความล้าจากการสู้ยิบตาก็มีช่วงเวลาของรอยยิ้มและความสุขซ่อนอยู่เสมอ แม้ว่าเงินกับชื่อเสียงจะสำคัญ แต่ลึก ๆ แล้วการเป็นตัวเองพร้อมกับไม่ลืมภาพของเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรกตลอดเวลาที่ทำตามความฝันก็สำคัญไม่แพ้กัน


Life Punchline (2021) : ก่อนที่จะหยุดไว้เท่านี้ ลองมาใส่แรงเฮือกสุดท้ายให้ฝันอีกทีดีมั้ย?  

“สำหรับใครก็ตามที่คิดว่าตัวเองเลิกฝันไปแล้ว เคยได้ลองพยายามอย่างสุดชีวิตอีกสักครั้งเป็นครั้งสุดท้ายดูรึยังครับ?”

Life Punchline พาเราไปพบกับกลุ่มเพื่อนสนิทตอนมัธยม 3 คน ที่ตัดสินใจว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะเป็นคณะแสดงตลกชื่อดังของญี่ปุ่นด้วยกันให้ได้ ชื่อกลุ่มของพวกเขาคือ Mcbeth และพวกเขาพยายามเพื่อเป้าหมายถึงขนาดว่าเรียนจบแล้วไม่ไปต่อมหาวิทยาลัยแต่เช่าห้องอยู่ด้วยกัน ทำงานพาร์ทไทม์หาเงินประทังชีวิต แล้วฝึกซ้อมอย่าบ้าคลั่งทุกวันจนกว่าจะดัง .. แต่เมื่อเข้าถึงปีที่ 10 ของ Mcbeth พวกเขาก็ได้พบความจริงว่าบางครั้งการพยายามอย่างหนักก็ไม่ใช่ทุกอย่างที่ทำให้ไปถึงฝันได้

ความซับซ้อน (และยุ่งเหยิง) ของซีรีส์เรื่องนี้คือ ‘ความฝันที่มีร่วมกัน’ แค่เป็นมนุษย์ร้อยพ่อพันแม่ที่ต้องมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันก็ยุ่งยากมากพอแล้ว นี่ต้องมาทำในสิ่งที่ก็ไม่รู้ว่าต้องเดินด้วยระยะทางที่ไกลเท่าไหร่กันอีก การที่มีทีมสู้ไปด้วยกันก็จริงอยู่ว่าเป็นเรื่องดีที่มีคนคอยหนุนเวลาใครสักคนล้ม แต่เมื่อทุกคนล้มพร้อมกันหมด การตัดใจจากฝันจะยิ่งดูพังได้เร็วกว่าลุยไปคนเดียวเสียอีก

บทเรียนล้ำค่าที่ Mcbeth มอบให้จะขอแบ่งเป็น 3 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1.ในระหว่างทางที่ทำตามฝันอาจจะทำให้สิ่งที่ยังมาไม่ถึงดูน่ากลัว-กลัวทั้งอนาคตหลังจากทำไม่สำเร็จ กลัวว่าเวลาที่เสียไปจะทำให้เราอยู่ในสังคมได้ยาก แต่จะกลัวด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ให้คิดเสมอว่ามันยังมีความเป็นไปได้ของการใช้ชีวิตอีกมากมายบนโลกนี้   

2.เมื่อไปไม่ถึงฝันที่เคยตั้งเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นฝันที่มีร่วมกันกับเพื่อน กับตัวเอง หรือสัญญากับใครสักคน การใช้ชีวิตต่อไปบนความจริงต่างหากที่สำคัญ และเราสามารถตั้งความฝันครั้งใหม่ในเส้นทางต่อไปของชีวิตได้เสมอ

3.ความพยายามอย่างหนักไม่เคยเสียเปล่า ยกตัวอย่างผลกระทบจากโชว์ของ Mcbeth ต่อกลุ่มคนที่มาดู งานของพวกเขาได้ไปเปลี่ยนชีวิตของพี่ชายที่เคยโดนโกงจนหมดตัว, เปลี่ยนให้ผู้หญิงคนนึงที่ไม่มีจิตใจจะทำงานกลับมาใช้ชีวิตได้อีกครั้ง, และเปลี่ยนผู้จัดการวงของตัวเองให้ค้นพบความหมายของงานที่ดี งานที่ตั้งใจของเรามีค่าต่อเราและใครบางคนบนโลกนี้เสมอ

ขออวยยศ Life Punchline หนัก ๆ ในแง่ความสนุกของซีรีส์ก็บอกได้เลยว่าเคมีนักแสดงของเรื่องนี้คือสุด ๆ เขาสามารถ Recap ภาพ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เหลือ 10 ตอนไม่กี่ชั่วโมงให้คนดูเชื่อและอินจริงได้ แล้วคอนเซปต์ฉากตลกให้โยงไปถึงเหตุการณ์ชีวิตจริงได้งดงามเวรี่มนุษย์เหลือเกิน คือเล่นมุกเปิดแบบเดิมทุกตอนแต่ประเด็นลึกซึ้งไม่ซ้ำเลย


We Couldn’t Become Adult (2021) : ใช้ชีวิตอยู่กับความจริงไปเรื่อยๆ แล้วให้ความฝันเป็นโบนัสเล็กๆ น้อยๆ ก็พอแล้วล่ะ 

ถ้าถามว่าความเจ็บปวดของสิ่งไหนมีมากกว่ากันระหว่าง ‘ใช้ชีวิตอยู่กับความจริงให้ความฝันเป็นโบนัส’ กับ ‘ใช้ชีวิตเพื่อความฝันแล้วมองความจริงด้วยตาข้างเดียว’ สำหรับตัว Makoto พระเอกของเรื่องนี้ ชีวิตอย่างแรกดูจะ Fit In กับเขามากกว่า

เรื่องย่อของหนังญี่ปุ่นอารมณ์หว่องเรื่องนี้อาจจะพูดให้ชัด ๆ ได้ยาก เอาเป็นว่ามันเกี่ยวกับการเติบโตของผู้ชายคนหนึ่งในเมืองใหญ่ แสงไฟ ความรัก และความโหยหาอดีต

ฝันในเรื่องนี้อาจไม่ได้หมายถึงการเป็นคนมีชื่อเสียงหรือโด่งดังในสังคมแบบ 2 เรื่องที่ผ่านมา แต่คือความฝันที่เสียดายหากเราไม่ได้ใช้ชีวิตกับใครสักคนที่เริ่มต้นชีวิตจริง ๆ มาด้วยกัน และยิ่งเสียดายหนักเข้าไปอีกเมื่อปัจจุบันเรายืนอยู่ในความโดดเดี่ยว ในขณะที่เดินทางมาถึงอนาคต แต่ทุกสิ่งที่วาดเอาไว้กับเธอคนนั้นไม่เป็นจริงสักอย่างเลย ที่สำคัญคือข้าง ๆ กันก็ไม่มีคนนั้นอีกแล้ว

บทเรียนล้ำค่าของเรื่องนี้คือการ ‘ทอนความเจ็บปวดจากฝัน’ โดยการบอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไร เพราะความสุขในตอนนั้นเป็นของจริงที่หลับตานึกถึงเมื่อไหร่สัมผัสก็ยังชัดเจน แถมถ้าเราเปิดตาทั้ง 2 ข้างมองดี ๆ ชีวิตจริงก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น


After The Storm (2016) : เฝ้ามองความฝันที่กำลังจะผ่านไปด้วยสายตาเข้าใจ แล้วใช้ชีวิตอยู่กับความจริงให้ได้ 

หนังญี่ปุ่นของผู้กำกับ Hirokazu Koreeda เรื่องนี้ เล่าเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งในวันที่ฝันกำลังบินออกไปจากอกของพวกเขาเหมือนผีเสื้อ แต่จู่ ๆ พายุห่าฝนแห่งบททดสอบครั้งสุดท้ายก็สาดเข้ามาดื้อ ๆ จะเลิกฝัน หรือใช้ชีวิตอยู่กับความจริงที่เป็นอยู่ต่อไป นี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายที่จะได้ตัดสินใจแล้ว

สิ่งที่ชอบจาก After The Storm คือการที่หนังบอกเราว่าความฝันไม่ได้จำกัดอายุสำหรับคนบางวัยเท่านั้น ในเรื่องเราจึงจะได้เจอกับรวมชีวิตของคนในช่วงวัยกลางคน ไปจนถึงผู้สูงอายุที่เคยมีฝันทว่าทำมันไม่สำเร็จ ทำได้อย่างมากที่สุดก็เพียงเฉียดเข้าไป และตอนนี้ต้องเดินหน้าไปกับความจริงต่อแล้ว โดยเล่าตามสไตล์ของโคเรเอดะด้วยน้ำเสียงปกติที่สุด จนออกมาเรียลมาก ๆ ชีวิตจริงก็เท่านี้ล่ะ ฝันจบแล้วยังไงเหรอ ก็ชีวิตเรายังต้องใช้ต่อไปนี่นา

บทเรียนล้ำค่าใน After The Storm สำหรับผู้เขียนเองรู้สึกว่าจะเหมาะกว่ากับคนที่โอเคฉันจะพอกับความฝันแล้วนะ เพราะหนังสอนให้เราเข้าใจชีวิต After (Dream) Life ด้วยสายตาสามัญ โดยไม่บิวท์หรือปลอบประโลมด้วยคำพูดอย่าง “ทำใจเถอะ” หรือ “ลุกขึ้นมาเถอะนะ” อะไรอย่างนั้น แต่เป็นการทำให้ดูเลยว่าฝันที่ไปไม่ถึงมีหน้าตาแบบนี้นะ ทุกคนโอเคใช่มั้ยกับชีวิตที่จะไม่ได้ไล่ตามความฝันนั้นอีกแล้ว

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line