Featured

SUBCULTURE: WEARING HERO SUITS COULD BE HERO คอสเพลย์ไม่ใช่สนามเด็กเล่นพบพานชั่วคราว

By: anonymK August 5, 2019

สิ่งที่เหมือนกันมากคือเราต่างมีความชอบเป็นของตัวเอง
สิ่งที่ต่างกันมากคือไม้บรรทัดที่บางคนโยนใส่แล้วบอกว่าเรื่องที่เรากำลังทำ “ไร้สาระ”
แต่ความซื่อสัตย์ของคนคอเดียวกันที่ลุกมาสนใจอะไรร่วมกัน จะเปลี่ยนมันให้เป็น “วัฒนธรรมย่อย” ในที่สุด

เราสวมยูนิฟอร์มเดิมออกจากบ้าน เพื่อมาทำสิ่งเดิม ๆ ที่เคยทำในเมื่อวาน และจะทำต่อไปในวันพรุ่งนี้ ไทม์ไลน์ชีวิตที่มีหมวกหลายใบให้ใส่ตั้งแต่ก้าวออกจากบ้านยันกลับมาอยู่บ้าน บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกไม่เป็นตัวเองทั้งที่ใช้ชีวิตของตัวเองอยู่

เราเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน เป็นหัวหน้า เป็นลูกน้อง เป็นนักเรียน เป็นครู เป็นที่ปรึกษา และยังเป็นอะไรอีกหลายอย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเรา แต่ก็ยังรู้สึกอึดอัด เหนื่อยล้าและไม่พอใจเสมอ ทำไมเราถึงอยากจะเป็นอะไรเพิ่มอีก อะไรที่ไม่ใช่ตัวเราอยู่ดี การสวมวิญญาณเป็นคนอื่นและทำท่าทางลอกเลียนแบบนั้นมันสนุกตรงไหน

คนกลุ่มนี้มาทำอะไร? ทำไมต้องเสียเงินเสียทองมาลงทุนกับสิ่งที่แต่งไปแค่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วก็ต้องถอดออก

กลุ่มคนที่เอาจริงเอาจังกับการเป็นคนอื่น เป็นตัวการ์ตูนที่ไม่มีชีวิต เป็นฮีโร่ในเกมของโลกเสมือน หรือพยายามใกล้ชิดวัฒนธรรมที่ไม่ใช่บ้านเกิดเมืองนอนและหลงใหลมันสุดหัวใจ กลุ่มที่เราเรียกสิ่งที่พวกเขาหลงใหลและลงมือทำว่า “คอสเพลย์”

บรรยากาศร้อน ๆ ริมท่าน้ำนนท์พร้อมแสงแดดที่ไม่มีทีท่าว่าจะยอมถอยให้กับหุ่นรบจากเกมและหนังต่างสัญชาติแนวซูเปอร์ฮีโร่ เป็นภาพชวนทึ่งและแปลกตาสำหรับเรา 4 ฮีโร่ตรงหน้ามาจาก “ชมรมเชียร์ C4 Team” กลุ่มคอสเพลย์ชายชาวไทยที่เพิ่งไปคว้ารางวัลชนะเลิศจากประเทศเกาหลี

จะเป็นอย่างไรถ้าฮีโร่ผู้เรียกรอยยิ้ม ถอดหน้ากากกลับมาเป็นตัวเอง

จะเป็นอย่างไรถ้าเขาทบทวนเรื่องราวก่อนสวมชุดที่ตั้งใจทำขึ้นทั้งหมดนี้ แชร์ให้เราฟังกัน

นับจากนี้ไปจนสิ้นสุดบทความ คุณจะไม่ได้เห็นใบหน้าของคนที่อยู่ภายใต้ชุดเหล่านี้ แต่เราถอดเรื่องเล่าและเรื่องราวทุกด้าน จากปากของคนที่ได้จับเข่าคุยด้านในไว้ครบถ้วน

ชีวิตผู้ชายเริ่มต้นจากหุ่นยนต์สักตัว การ์ตูนสักเล่ม 

ถ้าถามเราว่าหุ่นยนต์สักตัว การ์ตูนสักเล่มจะพาเราไปสู่จุดไหนได้บ้าง เด็กผู้ชายส่วนใหญ่อาจตอบว่าเป็นแอนิเมเตอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักเขียนการ์ตูน ฯลฯ แต่หนึ่งในคำตอบที่ไม่ค่อยได้ยินจากที่ไหนของพวกเขา “ชมรมเชียร์ C4 Team” คือการรวมพลกันที่หน้าลานมาบุญครอง สวมชุดคอสเพลย์ง่าย ๆ ตามงบที่เด็กมัธยมพอมีเมื่อหลายปีที่แล้ว แลกเปลี่ยนความสนใจกับกลุ่มเพื่อนคอเดียวกัน รวมตัวกันจากหนึ่งคนกลายเป็นสิบ สิบสู่ยี่สิบ และเคยมากถึงห้าสิบคน ชนิดที่พวกเขาเองแทบไม่เชื่อว่าวันหนึ่งสิ่งนี้มันจะเดินมาถึงจุดที่คว้ารางวัลและเป็นตัวแทนประเทศไทยได้

“ที่มาของชื่อ มันคือเป็นการคอสเพลย์กรุ๊ปครั้งแรกของทีม เป็นเกม Osu! Tatakae! Ouendan เกมดนตรีจากเครื่องนินเทนโดที่เป็นทีมเชียร์ของญี่ปุ่น แล้วก็ไปตะโกนเสียงดัง ๆ เราชอบคาแรกเตอร์ของการเป็นตัวเชียร์อัปความรู้สึกของคน”

คอสเพลย์เหมือนฉลากที่แปะบอกว่าเราต้องแต่งตัวเป็นคนอื่น แต่ชายหนุ่มผู้รับบทบาทชีวิตจริงเป็นพนักงานส่งเอกสารที่สวมชุดไอรอนแมนในวันนี้กล่าวถึงสิ่งที่เขารักไว้อย่างน่าสนใจว่ามันต้องแต่งไปถึงจิตวิญญาณ แต่งไปถึงความคิดภายใน แต่อย่าเสียใจกับความเป็นตัวตนในชีวิตจริง

“ปกติผมทำงานเป็นพนักงานส่งเอกสาร แล้วเราก็ทำงานด้วยความรู้สึกอย่างนึง เราทำงานด้วยความสุภาพเรียบร้อยไปกับลูกค้า พอเรามาคอสเพลย์ เราก็ต้องใส่อินเนอร์เข้าไป เราไม่สามารถจะเป็นตัวเราแล้วเอาตัวเราไปใส่เวลาเราคอสเพลย์ได้ 100 % เพราะว่าถ้าคนนอกมองเข้ามาเห็นเราเป็นเรา คนก็มองว่าเป็นผมที่ใส่ชุดนั้นเฉย ๆ ส่วนตัวผมเอง ถ้าผมอยากดีขึ้น ผมก็ต้องศึกษา ก๊อปปี้บุคลิกเขา กระทั่งความรู้สึกนึกคิด เรียกว่ามันต้องดำดิ่งนิด ๆ ในมิติของตัวละคร

บางทีก็มีคาแรกเตอร์ที่เราใส่แล้วรู้สึกว่าอยากเป็นแบบเขา อยากคิดอยากทำได้แบบนั้น ตอนถอดก็รู้สึกว่าถ้าเป็นแบบนั้นก็คงดี แต่ถ้าถามว่าถึงขนาดโหยหาแล้วมานั่งคิดว่ากูไม่น่าเป็นกูเลยแบบนั้นไหม ก็ไม่ขนาดนั้น มันไม่ใช่ของที่เหมาะกับการเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา”

 

ชีวิตผู้ชายต้องเย็บปักถักร้อย

จากกระดุมเม็ดแรกที่กลัดลงไปของชุดนักเรียนญี่ปุ่นง่าย ๆ หรือชุดเชียร์ที่นำมาสวม เดินสายคอสฯ เอาฮา พอโตขึ้นการเทียวไปเทียวมาในวงการด้วยชุดธรรมดาก็เริ่มเปลี่ยน ทุกคนเริ่มจริงจังมากขึ้นตามอายุที่เพิ่ม อยากทำสิ่งท้าทายกว่าเดิม สั่งตัดชุดจนวันหนึ่งพวกเขาได้ลุกขึ้นมาคราฟต์ทำชุดกันดั้มเพื่อลงประกวดในนามทีมครั้งแรกปี 2007 และรับรางวัลชนะเลิศพร้อมเงินกลับมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสทางอาชีพที่เริ่มมีคนมาจ้างไปงานเปิดตัวห้าง จ้างทำชุด ฯลฯ

เขาเล่าว่าการประกวดครั้งแรกทุลักทุเลพอควร แต่ก็สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในกลุ่มคอสเพลย์ไทย เนื่องจากยุคนั้นวงการคอสเพลย์ไทยยังไม่ค่อยมีคนคราฟต์ชุดเกราะหรือหุ่นยนต์ ต้นทุนเงิน 8-9 พันต่อชุด เพื่อชุด 3 ชุด กับต้นทุนทางใจที่แต่ละคนไม่หลับไม่นอน จัดเวรผลัดกันหลับ ผลัดกันลุกมา นั่งทำชุดทั้งวันทั้งคืน เข็นกันจนถึงวันเข้างาน งานวันนั้นสำหรับเด็ก ๆ อย่างพวกเขาจึงเป็นความเสี่ยงที่ทุกคนกล้าแบกรับร่วมกัน เพราะไม่ว่า “ชนะ” หรือ “แพ้” มีผลกระทบทุกด้าน จึงใส่ความตั้งใจกันสุดพลัง

คำว่า “เย็บปักถักร้อย” บางคนฟังแล้วแทบหันหน้าหนีแล้วพูดว่าเป็นหน้าที่ของผู้หญิง แต่สำหรับการคราฟต์ชุดคอสเพลย์ของพวกเขา หรือนักออกแบบคนอื่นที่มีสกิลเย็บปักถักร้อยแบบนี้ เราคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากต้องอาศัยความประณีต ละเอียดอ่อน แถมยังเท่กว่าที่คิด เพราะนอกจากผ้าธรรมดาสำหรับตัดเย็บ ชุดที่พวกเขาคราฟต์ขึ้นยังมีวัสดุอื่นแปลก ๆ นำมาประยุกต์เพิ่มด้วย อาทิ โฟมยางทาสี สีสเปรย์ หนัง ระบบไฟ Led ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดคำนึงถึงการออกแบบเพื่อ ขยับออกท่าทางแอ็กชันให้คล่องแคล่ว จึงไม่ใช่แค่การตัดแปะง่าย ๆ

ฟังมาถึงจุดนี้ มารยาทอาจเป็นการยิ้มรับแล้วชื่นชมแพสชั่น แต่เราคงต้องยอมลดมันลงบ้างเพระความอยากรู้ที่มากกว่า “คราฟต์มันสำคัญยังไง เมื่อโลกยังมี eBay และ Amazon ให้สั่งซื้อ”

“เราได้ลองทำไปลองใส่ไปจนกว่าชุดจะเสร็จ เราได้ลองตั้งไม่รู้กี่รอบ ปรับแก้ให้ตรงกับสรีระของคนใส่หรือคนที่เราทำให้ใส่ ภาพรวมดูดีกว่าการสั่งชุดที่ใครไม่รู้ทำให้เรา จริงอยู่ทุกวันนี้โลกมันไปไกล กดคลิกเดียวได้ชุดสำเร็จรูปจากต่างประเทศเข้ามาเลย แต่ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าชุดนั้นเราถูกใจ เราอาจจะไม่ชอบดีเทลตรงนี้จุดขยับตรงนั้น สุดท้ายถ้าเอาเข้ามาแล้วมันไม่ถูกใจก็อาจจะลามไปถึงการไม่ได้ใช้งานได้จริงสำหรับเรา”

 

คอสเพลย์ไม่ใช่แฟนซีหวือหวา แต่เป็นครอบครัวและชีวิตจริง

คอสเพลย์เป็นครอบครัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีพระเอก ไม่มีพระรองและไม่มีคนถูกลืม “นิติ” หนึ่งในสมาชิกยุคบุกเบิกอธิบายการอยู่ร่วมกันของ C4 Team ว่าทุกคนคือคนสำคัญที่ทำให้การคอสเพลย์สำเร็จ บ้านที่เราเห็นเป็นพื้นที่ซ่องสุมขนาดใหญ่นี้ มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก ผู้ใหญ่ ต่างเจเนอเรชั่นหมุนเวียนเข้ามา

ถึงเราเห็นคนสวมชุดวันนี้เพียง 4 คน แต่ก็มีหลายชีวิตเบื้องหลัง บางคนมีสกิลทำชุดก็ช่วยทำชุด บางคนเป็นหน่วยสนับสนุนก็คอยวิ่งซื้อน้ำ ซื้ออาหารเข้ามาซัพพอร์ต หรือกระทั่งในวันที่แต่ละคนยังไม่มีรถ คนที่มีก็เข้ามาช่วยเหลือรับส่ง ภาพความสัมพันธ์เบื้องหลังอยู่กันแบบครอบครัว

“กัดกันเป็นประจำแหละครับ เราทะเลาะกันอยู่บน Attitude บางทีเราทะเลาะกันเรื่องชิ้นส่วนต่างๆ เถียงทีเป็นวัน การอยู่รวมกันมันจะมีทะเลาะกันก็มีบ้าง” ชายหนุ่มที่ลอกคราบซูเปอร์ฮีโร่กล่าวกับเรา

ปัญหาใหญ่ไม่ใช่การทะเลาะกันจากความเห็นต่างของคนที่ตั้งใจทำอะไรร่วมกัน หากเป็นคำว่า “ไร้สาระ” ที่เหมือนทากาวตราช้างติดไว้กับคำว่าคอสเพลย์ เพราะเป็นงานอดิเรกที่มีราคา ต้องสละทั้งเวลาและเงินทอง หลายครั้งรุ่นพี่จึงเป็นคนให้คำปลอบใจและคำปรึกษาแบบน้ำเย็นเข้าลูบ พวกเขาแนะนำให้อธิบายผู้ปกครองถึงประโยชน์ของการทำกิจกรรมยามว่าง แต่ทั้งหมดต้องจบลงแบบบัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น

“ทีมเราก็มีส่วนหนึ่งที่ที่บ้านไม่เข้าใจเหมือนกัน สิ่งที่เราแนะนำบ่อย ๆ คืออย่าดื้อกับที่บ้าน เชื่อฟังเขา ในขณะเดียวกันก็อย่าทิ้งความเป็นตัวของตัวเอง ถ้ารักในทางนี้อย่าเลิก อย่าท้อ โดนดุท้อได้ เบื่อได้ หายไปสักพักก็ยังได้ แต่ถ้าชอบจริง ๆ ก็อย่าปล่อยมือจากมัน คุณกลับมาหามันได้ตลอด เวลานี้อาจจะไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม บางคนอยู่มัธยมแม่ยังบังคับให้ไปเรียนพิเศษอยู่ก็เป็นความจำเป็นต้องรับผิดชอบจุดของตัวเองไปก่อน

เรามองภาพกว้างแล้วลองอธิบายให้ครอบครัวฟัง สิ่งที่เราทำมันดูเหมือนไร้สาระแต่ว่าเราเห็นประโยชน์ และเราอยากให้ครอบครัวเห็นประโยชน์บ้าง อาจจะไม่ต้องดึงให้ครอบครัวมาสนับสนุนเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ว่าขอแค่เข้าใจและไม่ต่อต้านงานอดิเรกที่ทำ แค่นี้เอง”

การพบและพูดคุยกับพวกเขาเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกันมากขึ้น เห็นความเคลื่อนไหวของมุมเล็ก ๆ นอกกระแสหลักที่น่าสนใจและน่าหลงใหลกับพลังของศรัทธาอีกแบบที่น่าชื่นชม

อาทิตย์ลับฟ้า ไร้สายฝน เราบอกลากันด้วยความสุขและความทรงจำที่ “ไม่มีส่วนไหนไร้สาระ” แม้บทสนทนาที่จบลงไม่ได้ทำให้เราลุกไปแต่งคอสเพลย์ก็ตาม

PHOTOGRAPHER: Krittapas Suttikittibut

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line