Featured

“เราเป็นแค่คนพัฒนา แต่เจ้าของคือคนทั้งประเทศ” คุยกับเอฟ นักพัฒนาเว็บไซต์ MASK MAP THAI

By: anonymK March 25, 2020

ไม่ใช่ว่าไม่อยากใส่นะ แต่ไม่มีให้ใส่

ขณะที่หน้ากากอนามัยหายไปจากสารระบบร้านขายยาและห้างสรรพสินค้าทุกแห่ง ถ้าคุณเคยเดินไปหลายกิโลฯ เพื่อตามหาซื้อแต่เจอแต่ร้านปิดป้ายว่า “ไม่มีหน้ากากอนามัย” พวกเราคือเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกันในช่วงหนึ่งของชีวิต

เชื่อแล้วแหละว่า “เงิน” มันซื้อไม่ได้ทุกอย่างจริง ๆ

กระทั่งไม่นานมานี้มีเว็บไซต์หนึ่งเปิดตัวในโลกออนไลน์และใช้ชื่อว่า “Mask Map Thai” เจาะพิกัดหน้ากากอนามัยที่อยู่ใกล้ตัวเรา บอกราคาและเส้นทางเสร็จสรรพ เข้าใช้ง่าย แถมยังระบุรายละเอียดครบถ้วนว่าราคาเท่าไหร่ให้ตัดสินใจ ชีวิตหลายคนวันนี้ก็เลยพอมีทางออกมากขึ้น

เมื่อติดตามรายละเอียดไปเรื่อย ๆ ยังได้รู้ว่าคนพัฒนาเว็บฯ คือ “คนไทย” ด้วยกัน UNLOCKMEN จึงถือโอกาสขอพูดคุยกับเขาด้วยตัวเองผ่าน Call Conference เพราะช่วงนี้เราทุกคนควรงดเดินทางเพื่อเป็นอีกวิธีรับผิดชอบทางสังคมทั้งกับตัวเราและกับผู้ที่ปฏิสัมพันธ์ด้วย (ภาพประกอบที่เห็นจึงเห็นเขาอยู่ภายในรถส่วนตัวแบบนี้)

“เอฟ” หรือ เอกโยธิน พิลา หนุ่มไทยที่มีอาชีพเป็นอาจารย์สอนเขียนโปรแกรมของสถาบันแห่งหนึ่ง ปัจจุบันเขาอยู่ที่จังหวัดนครนายก ชายคนนี้คือนักพัฒนาเว็บไซต์ Mask Map Thai แพลตฟอร์มฟรี ชี้พิกัดหน้ากากอนามัยพร้อมจำนวนสต๊อกสินค้าที่มีในไทยขณะนี้

“ผมไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นของจังหวัดใดจังหวัดนึงครับ คือทำปุ๊บเราตั้งใจให้เป็น Open Project เลย โปรเจกต์นี้เราเป็นแค่คนพัฒนาแต่เจ้าของจริง ๆ ก็คือคนทั้งประเทศ เหมือนเป็น Open Data อันนี้คือความตั้งใจ แต่ไม่รู้ว่าจะไปถึงตรงนั้นได้ไหม”

เอฟเล่าความจุดประสงค์ของการสร้างเว็บไซต์ให้เราฟังว่า เดิมทีโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นนี้ เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกคือรูปแบบเว็บไซต์ที่ได้แนวทางมาจากรัฐบาลไต้หวันที่แก้ปัญหาด้านสต๊อกหน้ากากอนามัยด้วยการจัดทีมสร้างแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ให้บุคคลทั่วไปเข้าถึง

อีกส่วนคือ 5Lab ทีมคนไทยที่สร้าง Covid Tracker แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ติดเชื้อ Covid-19 แบบเรียลไทม์ที่ใช้เวลาเพียง 1 คืนก็สามารถสร้างได้สำเร็จ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เขาตัดสินใจใช้ความสามารถที่มีลงมือทำเว็บฯ ตามหาแหล่งซื้อ-ขายหน้ากากอนามัยตามลำพัง

“เราดีไซน์ในหัวลึก ๆ คิดว่า เฮ้ย ไม่ยาก ก็เลยทำเลย ตอนแรกตั้งใจไว้ว่าจะใช้เวลาวันเดียว แต่มีภารกิจซ้อนหลายอย่าง โปรเจกต์นี้เลยใช้เวลา 2 วันครับ”

 

2 วันลำพัง กับการทำเว็บไซต์เพื่อคนทั้งประเทศ

เดิมทีเอฟไม่ได้คาดคิดว่าโปรเจกต์นี้จะทำให้เขาโด่งดัง เพราะเขาลงมือทำเองจากจุดเล็ก ๆ และประชาสัมพันธ์ผ่านหน้าวอล์เฟซบุ๊กส่วนตัว แต่เมื่อเผยแพร่ออกไปเริ่มมีผู้คนให้ความสนใจและแชร์ต่อ ๆ กันจนกลายเป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากในช่วงนี้

รูปลักษณ์ที่ใช้ง่ายแต่ให้รายละเอียดมาก ทำให้หลายคนอยากรู้ว่าโครงสร้างที่แท้จริงของการออกแบบเว็บไซต์นี้ใช้อะไรบ้าง

“Materials ทั้งหมดที่ใช้เนี่ยมีแค่ ฐานข้อมูล ตัวเว็บไซต์ทั่วไปปกติและตัวแผนที่ที่เป็นตัวหลัก แล้วเราเอามาประกอบกันครับ”

รูปแบบโครงสร้างเว็บไซต์ Mask Map Thai เกิดจากการนำเทคโนโลยีหลายส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เริ่มจากบริการ API ของแผนที่จาก Mapbox ที่นำมาใช้ร่วมกับการเขียนเว็บไซต์ จากนั้นก็สร้างฟีเจอร์สำหรับบันทึกข้อมูลและแสดงผลด้วย Firebase Realtime Database เพื่ออัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์ ดังนั้น ทันทีที่ใครก็ตามแก้ไขข้อมูล ทุกคนจะสามารถรับรู้และเข้าถึงได้พร้อม ๆ กัน ทำให้สามารถใช้งานจริงมีประสิทธิภาพ

“แล้วมันมี Cost อะไรไหม” เรายิงคำถามแทนทุกคนที่สงสัย

“คือตอนเริ่มต้นทำมันจะไม่มี cost ครับ แต่พอเรามีการใช้งานไปปุ๊บจะเริ่มมีค่าใช้จ่าย ซึ่งในแต่ละเจ้าอย่างเช่นฐานข้อมูล เขาก็จะมีโควตาให้ใช้ฟรีเท่านี้ แผนที่จะมีโควตาให้ใช้ฟรีเท่านี้ แต่ปรากฏว่าภายในวันสองวันแรกที่ใช้ ค่าใช้จ่ายทะลุไปเป็นหลักหมื่นครับ อยู่ประมาณ 5-6 หมื่นบาท

ตอนแรกผมตั้งใจว่า เออถ้ามีค่าใช้จ่ายประมาณนึงเราพอรับไหวอยู่ แต่ปรากฏว่าพอค่าใช้จ่ายทะลุไปถึงขนาดนี้ เราก็เลยอีเมลไปทาง Mapbox แล้วก็เล่าให้ฟังว่าโปรเจกต์ตรงนี้มันเป็นของคนไทยนะ แล้วเราทำเป็น non-profit ในช่วงวิกฤต เป็นไปได้ไหมที่จะลดราคาค่าใช้จ่ายหรือว่าให้ฟรี

สักพักก็มีเมลตอบกลับมาว่าเราจะให้คูปองให้คุณใช้แผนที่ของเราฟรีไปเลย 6 เดือน ตอนนี้ผมก็เลยตัดค่าใช้จ่ายที่เป็นหลักหมื่น ซึ่งถ้าคำนวณจริง ๆ ก็น่าจะเกือบแสนแล้วครับ ตอนนี้ก็ได้ใช้ฟรี ก็ดีใจครับ เหลือค่า hosting เป็นค่าข้อมูลของทาง firebase อยู่ที่ 7-8 พัน ช่วงนี้ก็มีผู้เข้ามาสนับสนุนโครงการบ้างครับเป็นพี่ ๆ น้อง ๆ ที่รู้จักมักคุ้นกัน”

หลังจากเข้ามาใช้งานจริง users ก็เริ่มเข้ามาคอมเมนต์ปัญหาที่พบ เอฟจึงนำข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้รับมาปรับแก้ ซึ่งเวอร์ชัน 2 เพิ่งอัปเดตล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ดังนั้น ใครที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ ถ้าลองกลับเข้าไปใช้ใหม่จะพบความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นมาโดยมากเน้นเรื่องการสร้างคอมมูนิตี้ที่น่าเชื่อถือ และระบุสินค้าที่หลากหลาย เนื่องจากหน้ากากอนามัยขาดแคลนจึงมีสินค้าหน้ากากประเภทอื่น ๆ ร่วมลงทะเบียนคละเคล้าในแผนที่

ฟีเจอร์ที่เพิ่มขึ้นในเวอร์ชัน 2

  • เพิ่มปุ่มโชว์ความหมายไอคอน (ล่างซ้าย)
  • เพิ่มปุ่มเปลี่ยนภาษา
  • เพิ่มการ Donate (แบบง่ายๆ)
  • ปรับรูปแบบการแสดงข้อมูลของร้าน
  • เพิ่มชนิดสินค้า รายละเอียดร้าน รูปสินค้า
  • เพิ่มระบบยืนยันตัวตนแบบคำ้ประกันตัวตน
  • เพิ่มการรายงานปัญหา

“นอกจากประชาชนทั่วไปเห็นแล้ว รู้ว่าแถวบ้านฉันมีของแล้ว ใจจริงเราแฝงความตั้งใจว่า เฮ้ย ถ้ารัฐบาลเข้ามาเห็น เขาจะได้รู้นะว่าสินค้ามันขาดแคลน ถ้าภาครัฐหรือหน่วยงานภาครัฐมาเห็นจะได้ทราบปัญหาที่แท้จริงว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่มันเป็นประมาณไหน”

 

ยอมรับ พูดน้อย ลงมือจริง ทางออกสำคัญของการแก้ไข

แม้เสียงชื่นชมความสามารถของเอฟที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองจะล้นหลาม มีหลายคนประสานงานเข้ามาร่วมกันพัฒนาโปรเจกต์ แต่อุปสรรคที่เขาพบก็มีไม่น้อย

บางคอมเมนต์อาจทักท้วงเข้ามาว่าก๊อบปี้แนวทางคนอื่นมา หรือข้อมูลที่มีตอนนี้มั่ว แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้ตัดทอนกำลังใจเขา เพราะอย่างแรกเขายอมรับว่าได้ไอเดียจากที่อื่นจริงและโพสต์บอกตั้งแต่แรกแล้วกับอีกส่วนคือมุมมองส่วนตัวของเขา ที่มองว่าการลงมือทำย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ที่สำคัญเรื่องความถูกต้องของข้อมูลเขาก็ปรับปรุงเพิ่มให้ประสิทธิภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ

“พอคนแชร์ มีคนบอกก๊อบปี้เขามานี่หว่า เราก็บอกอยู่ว่าเราไปเห็นเขามานะ แล้วเรา (ไทย) ไม่มี เราก็เลยทำ ผมเข้าใจตั้งแต่ตอนที่เราจะเริ่มทำโปรเจกต์นี้ว่ามันมีคนด่าอยู่แล้วแหละ หรือว่าจะมีอะไรตามมาอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าเราพอใจที่เราจะทำ แล้วเราคิดว่ามันเป็นประโยชน์มากกว่าเป็นโทษ ก็เลยทำมันเลยดีกว่า แล้วก็ไม่ต้องไปพะวงเกี่ยวกับคนที่เข้ามาคอมเมนต์หรือวิจารณ์ครับ ถ้ามองประโยชน์ส่วนรวมปุ๊บมันจะมีความสุขครับ”

หลังจากโปรเจกต์นี้ เขาอยู่ระหว่างคิดจะทำ Side Projects เพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาอื่น โดยแย้มเรามาว่า อาจเป็นการเพิ่มสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้คุณบนแผนที่ หรือการเข้าถึงบริการร้านอาหารในวันที่ร้านรวงและสถานที่สาธารณะหลายแห่งถูกสั่งปิด

“อีกโปรเจกต์นึงที่คิดไว้คืออีกปัญหาที่เจอคือ ตอนนี้รัฐบาลสั่งปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่คนจะไปชุมนุมเยอะใช่ไหมครับ ปัญหาที่ตามมาคือเรื่องอาหาร ฯลฯ คนที่อยู่ที่บ้านอาจจะเข้าถึงยาก ซึ่งจริง ๆ มันก็มีพวก Grab พวก FoodPanda หรือ Lineman ใช่ไหมครับ แต่ว่าแล้วคนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือว่าคนที่เข้าไม่ถึงบริการพวกนี้ เขาจะทำอย่างไร ?

ตอนนี้กำลังคิด ๆ อยู่ อาจจะทำเป็น Open Platform อย่างนี้เหมือนกัน รูปแบบคล้าย Grab พวก FoodPanda หรือ Lineman แต่ว่าแค่เป็นโปรเจกต์ที่ไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของครับ ไม่มียี่ห้อ กำลังคิดอยู่ว่ามีความเป็นไปได้ไหมที่มันจะสร้างขึ้นมาสำเร็จ”

หัวใจของความเปลี่ยนแปลง บางครั้งเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวและพลังของคนตัวเล็ก ๆ UNLOCKMEN เชื่อว่าทุกคนมีความสามารถ แม้บางครั้งอาจจะไม่กล้าลุกขึ้นมาทำเพราะความกังวลจากปัจจัยรอบข้าง แต่ถ้าคุณคิดว่าพลังที่มีอยู่ในมือมีประโยชน์และรอสักเสียงมากระตุ้น

ก่อนลาบทความนี้ “เอฟ” ฝากเรามาบอกคุณว่า

“เราคิดอะไรได้ เราลงมือทำไปเลย ส่วนตัวของผมเอง คิดอะไรได้ ผมก็ทำไปเลย ไม่ค่อยชอบพูดเท่าไหร่ หลาย ๆ คนอาจจะกลัวว่า เอ้ย ทำไปแล้วจะไม่มีคนใช้ ทำไปแล้วจะไม่ดังหรือว่าทำไปแล้วข้อเสียมากกว่าข้อดี ผมอยากให้มองว่าทุกอย่างที่เราทำมีประโยชน์หมดครับ ไม่ว่าจะมีคนใช้หรือไม่มีคนใช้ ถ้าไม่มีคนใช้เราก็ได้กับตัวเอง ได้ฝึกสกิลของเรามากขึ้น ถ้ามีคนใช้ก็จะดียิ่งขึ้นไปอีกครับ”

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line