Featured
งานสร้างสรรค์ในห้องปิดตาย: 6 ศิลปินที่เราชื่นชมทำงานอย่างไรในสภาวะกดดันเช่นนี้?
By: PSYCAT April 10, 2020 181416
รูปแบบการทำงานของใครหลายคนเปลี่ยนไปแบบพลิกโลก จากที่มีออฟฟิศเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ กลายเป็นต้องพึ่งอินเทอร์เน็ต น้ำ ไฟ จากที่บ้าน จากที่ทำงานเหนื่อย ๆ ตกเย็นหาที่ฟังเพลงจิบเครื่องดื่มคล่องคอหล่อเลี้ยงหัวใจ ก็เหลือแค่ห้องเดียวกับที่นั่งทำงานมาทั้งวันให้เอกเขนกดูซีรีส์จนตาแฉะ
คนทำงานแต่ละประเภทจึงต้องเผชิญความท้าทายในรูปแบบที่ต่างกันไป รวมถึง “คนทำงานสร้างสรรค์” ศิลปิน นักดนตรี นักวาด นักเขียน ฯลฯ เมื่องานต้องการพลังสร้างสรรค์เท่าเดิม (หรือบางงานต้องการมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ) แต่การทำงานสร้างสรรค์ในห้องปิดตาย หรือสถานที่เดิม ๆ ซ้ำ ๆ นั้นไม่ง่ายที่จะขุดขุมพลังฉูดฉาดมาได้เหมือนที่เคยเป็นมา ทางออกคืออะไร?
เราเชื่อว่าสายสร้างสรรค์หลายคนคงอยากฟังคำตอบจากเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ วันนี้ UNLOCKMEN รวบรวม 6 คำตอบจากคนทำงานสร้างสรรค์ว่าในสถานการณ์ชวนอึดอัดนี้และออกไปหาแรงบันดาลใจที่อื่นไม่ได้ พวกเขาทำอะไรเพื่อยังผลิตผลงานหรือใช้ชีวิตให้ไม่ทำร้ายศักยภาพตัวเองเกินไปนัก?
ป๊อก-ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล ศิลปินผู้เชื่อเรื่องการแบ่งปันสิ่งดี ๆ ให้เพื่อนมนุษย์ เขาเลือกใช้ศิลปะช่วยเหลือคนไร้บ้าน สำหรับเขาในห้วงวิกฤตเช่นนี้ อีกหนทางที่คนผลิตงานสร้างสรรค์ยังพอทำได้ คือการพยายามมองหาส่วนที่ดีที่สุดจากสิ่งที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เพื่อลืมแต่เพื่อหาหนทางที่จะใช้ผลงานของเรา ช่วยเหลือหรือสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ เท่าที่พอทำได้ในช่วงเวลาที่ทุกสิ่งนั้นไม่ง่ายเลย
“ผมพยายามมองด้านบวกว่าในเหตุการณ์นี้พอมีเรื่องอะไรดีอยู่บ้าง เราจะมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ได้มีเวลาวางแผนการงานและชีวิต เห็นวิกฤตเป็นความท้าทาย พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปกับมัน เพราะผมเชื่อมั่นเสมอว่าวิกฤตจะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ
วิกฤตจะกระตุ้นความคิด และสร้างทักษะใหม่ ๆ ที่จริงเป็นข้อดี เราอาจจะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่น ได้ในช่วงเวลาแบบนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกันนะครับ”
“วิกฤตจะกระตุ้นความคิด และสร้างทักษะใหม่ ๆ”
อ่านบทสนทนาว่าด้วยความสร้างสรรค์และเรื่องราวอื่น ๆ ของเขาได้ที่ ZERO TO HERO: 7 ปีกับการสร้างวิมานในกระดาษของ ป๊อก-ไพโรจน์ ศิลปินไทยที่วาดภาพให้คนไร้บ้าน หรือติดตามผลงานของเขาได้ที่ Facebook Fanpage: Pairoj Pichetmetakul
“เป๋ง-ชานนท์ ยอดหงษ์” อาร์ตไดเรกเตอร์ฝีมือฉกาจหาตัวจับยากที่มีไลฟ์สไตล์จัดจ้านไม่แพ้ผลงาน ในวันที่ต้องใช้ชีวิตในสถานที่ปิดมากกว่าสถานที่เปิด เขายอมรับแบบไม่เขินว่าที่ผ่านมาเขาใช้ชีวิตสุดทุกทางจนเข้าประมาท และเผลอคิดว่าตัวเองพร้อม แม้ COVID-19 จะเกินที่เขาคาดไปมาก แต่ด้วยวิธีคิดแบบเป๋ง ๆ เขาก็เชื่อว่าในสถานการณ์แบบนี้เป็นอีกความท้าทาย และเขาได้ทบทวนและพิจารณาหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต
“ต้องเกริ่นก่อนว่าก่อนหน้านี้ใช้ชีวิตแบบประมาทมาก ใช้เวลา สุขภาพ การเงินแบบสิ้นเปลือง และมั่นใจว่าตัวเองมีแผน 2 รองรับ ถ้าเกิดสถานการ์ที่มีปัญหา แต่เหตุการณ์นี้คือเกินคาดครับ ตกใจเหมือนกัน
ผมไม่รู้ว่าเรียกว่าสร้างสรรค์หรือเปล่านะครับ เพราะมันไม่ได้เป็นการสร้างอะไรใหม่ ๆ ให้คนอื่นแต่มันสร้างให้ตัวเองมันเป็นช่วงที่ได้ทบทวนและพิจารณาการใช้ชีวิตมากกว่าครับ ผมเชื่ออย่างหนึ่งเสมอว่าทุก ๆ สถานการณ์คับขัน เราจะพบ Mindset แบบใหม่ที่ไม่เคยเจอ สำหรับผมมันอยู่ที่เราจะเลือก Focus ครับ
“ผมเชื่ออย่างหนึ่งเสมอว่าทุก ๆ สถานการณ์คับขัน เราจะพบ Mindset แบบใหม่ที่ไม่เคยเจอ”
ผมเรียกช่วงเวลานี้ว่าการโหลดกระสุนครับ เพื่อการเตรียมพร้อมหลังวิกฤตจะได้ออกไปรบได้อย่างเต็มที่ไม่ต้องกลัวอะไร กระสุนของผมคือความรู้ใหม่ ทัศนคติการใช้ชีวิตแบบใหม่ กระสุนของสุขภาพ กระสุนการวางแผน
จากที่เคยงานเยอะ ๆ วุ่น ๆ แล้วมีข้ออ้างที่จะไม่ทำสิ่งนั้นนี้ ตอนนี้ก็ได้กลับมาทำหมดเลยครับ อ่านหนังสือ จัดบ้าน ออกกำลัง คุยกับครอบครัวมากขึ้น ถ้าเราผ่านไปได้ด้วยดี ผมเชื่อว่าเราจะเก่งขึ้นกันทุกคนครับ เหมือนเพิ่ม Skill ใหม่ในการใช้ชีวิต
ผมมองว่าถ้าจบวิกฤตนี่แหละสำคัญ มันเป็น Challenge ครั้งใหม่ เหมือนปล่อยตัว Motocross ครับ Start ที่จุดเดียวกัน รั้วกั้นเปิด แป๊ดดดดด! เร่งเครื่อง ใครพร้อมสุด ฝึกมาดีสุด รถดีสุด คนนั้นชนะ”
อ่านบทสนทนาว่าด้วยความสร้างสรรค์และเรื่องราวอื่น ๆ ของเขาได้ที่ เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ: “เป๋ง-ชานนท์”อาร์ตไดฯ ที่เชื่อว่างานออกแบบต้องไม่ใช่การกดสูตร
“ป้อม-ฉัตรชัย งามสิริมงคลชัย” หรือที่ใคร ๆ ก็เรียกเขาว่า ป้อม LOMOSONIC มือกีตาร์แห่งวงร็อกบ้าดีเดือดที่การต้องเผชิญสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การทำงานของเขาเปลี่ยนไปแทบไม่เหลือเค้าเดิม สิ่งสำคัญที่เขาตั้งใจบอกเราวันนี้อาจไม่ได้โลดโผน แต่เป็นการยอมรับให้ได้ว่าเรากำลังเผชิญกับอะไร และเราจะประคับประคองสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอย่างร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ คู่ไปกับการทำงานได้อย่างไรมากกว่า
“ผมรู้สึกว่าการใช้กำลังใจ หรือพลังชีวิตนำทางช่วงนี้มันยาก เพราะเราคงไม่ได้ตื่นมามีกำลังใจทำงานทุกวันในเวลาแบบนี้ ผมเลยใช้วิธีสร้างวิถีชีวิตประจำวันแทน
เนื่องจากผมไม่ได้ทำงานประจำ ก็เลยมีเวลาว่างเยอะ ของผมใช้วิธี Set Routine ทุกวันครับ จะช่วยให้เรายังอยู่กับร่องกับรอยได้ โดยในโครงสร้างรูทีนก็เลยแบ่งออกเป็น 4 อย่าง คือดูแลร่างกาย จิตใจ งาน และความสัมพันธ์ครับ
เช้า ตื่น ยืดตัว นั่งสมาธิ กินข้าวแล้วเริ่มทำงานซึ่งก็เป็นงานสร้างสรรค์วางแผนหรือขึ้นงานใหม่ ๆ แก้งานเก่า ๆ เย็นก็กินข้าวเย็น แล้วโทรหรือไลน์หาเพื่อนๆ คอนเนคชันต่างๆ โทรหาครอบครัว วันละสายก็พอ แล้วก็ออกกำลังกายครับหลังจากนั้นว่าง ก็เล่นเกม ดูหนัง หรือนัดเพื่อน ๆ เล่นซูม เมากันไปคุยกันไป ผ่อนคลายครับ
“ผมออกแบบมันโดยคิดว่าถ้าทำแบบนี้ทุกวัน ตอนที่โควิดหาย ผมน่าจะพร้อมออกตัวกลับไปทำงานได้ทันที”
วิธีการของผมมันไม่ได้เป็นเคล็ดลับหรืออะไรเลยง่ายมาก ๆ อาจจะไม่น่าสนใจ แต่ว่ามันทำได้จริง ๆ ทุกวัน ผมออกแบบมันโดยคิดว่าถ้าทำแบบนี้ทุกวัน ตอนที่โควิดหาย ผมน่าจะพร้อมออกตัวกลับไปทำงานได้ทันที (ถ้ายังมีงานให้ทำ) ป.ล. ตอนนี้ว่างมากครับ ถ้าใครมีงานออกแบบกราฟิกหรือภาพประกอบก็เรียกใช้ได้นะครับ (หัวเราะ)”
อ่านบทสนทนาว่าด้วยความสร้างสรรค์และเรื่องราวอื่น ๆ ของเขาและวง LOMOSONIC ได้ที่ : CONVERSATION WITH “LOMOSONIC” เส้นทางดนตรีและ ATTITUDE เท่ ๆ ของร็อกบ้าดีเดือด
“มานะ-มนพร ศรีศุทธยานนท์” หรือ MANA DKK นักวาดภาพประกอบที่เคยฝากงานภาพประกอบสีสันสดใสของที่ผนวกรวมเข้ากับเนื้อหาหนักแน่นของสื่อออนไลน์อย่าง The MATTER ได้กลมกล่อม แต่ตอนนี้เธอไม่ได้ทำงานประจำ เธอจึงทำงานอยู่ที่บ้านแทบ 24 ชั่วโมง สิ่งสำคัญที่เธออยากบอกคนทำงานสร้างสรรค์คือถ้าคิดงานไม่ออกตอนนี้ อย่าโทษ หรือต่อว่าตัวเอง เพราะการดูแลจิตใจตัวเองนั้นสำคัญมาก ๆ ไม่แพ้กัน
“ปกติเราจะ Work From Home อยู่แล้ว นี่ถือเป็นกิจวัตรปกติของเราเลย เราอยู่บ้านเกือบจะ 24 ชั่วโมง แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ Work From Home มาก่อน เวลาจะรวนมาก เช่น เวลาหลับ ตื่น กิน จะส่งผลต่อสุขภาพจิตระยะยาว ต้องพยายามทำตัวตามกิจวัตรประจำวันปกติให้ได้มากที่สุด
รวมถึงอย่าโทษตัวเองว่าทำไมทำงานไม่ได้ เพราะในเวลานี้เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกที่เราทำอะไรไม่ได้มากกว่าการอยู่บ้าน บางคนอาจจะแสดงออกมาในการนอนมากเกินไป วิตกกังวล คิดเสียว่าเป็นเรื่องปกติที่อาจจะเกิดขึ้น เราต้องดูแลใจตัวเองให้มาก อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้เพราะเราห่วย ในเวลาแบบนี้แค่หายใจอยู่กับตัวเองอาจจะยังลำบาก
“เราต้องดูแลใจตัวเองให้มาก อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้เพราะเราห่วย”
พยายามหาทางเบี่ยงความสนใจตัวเอง การทำกิจกรรมกลุ่ม เช่น นัดวาดรูป ดื่มสังสรรค์ผ่านวิดีโอคอลก็ช่วยได้มาก เพราะทำให้เหมือนได้พบปะเพื่อนเหมือนเดิม เรานั่งสมาธิด้วย ช่วยได้เยอะเรื่องสงบสติ และกินวิตามินดีเสริม เพราะไม่ได้ออกไปเจอแดดเลย”
อ่านบทสนทนาว่าด้วยความสร้างสรรค์และเรื่องราวอื่น ๆ ของเธอได้ที่ ZERO TO HERO: “มานะ-มนพร”นักวาดฯ ผู้เชื่อว่าการวาดรูปได้อย่างเป็นสุขถือเป็นความสำเร็จ
“อาหมิง-เอื้อบุญ จงสมชัย” บรรณาธิการดิจิทัลคอนเทนต์แห่ง a day ปกติเธอมอบพลังจี๊ดจ๊าดผ่านไทม์ไลน์ของเราบ่อย ๆ ด้วยผลงานหนักแน่นน่าติดตาม และภาพจากออฟฟิศที่ a day ดูสนุกสนานจนอยาก,ไปร่วมสนุกให้รู้แล้วรู้รอด
แต่เมื่อสถานการณ์ทำให้ต่างคนต่างต้องแยกย้ายไปทำงานที่บ้านมันจึงไม่ง่ายสำหรับเธอนัก แต่สิ่งที่อาหมิงใช้เพื่อยังทำงานของเธอต่อไปได้อาจเป็นความงดงามเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการเฝ้ามองแสงสุดท้ายของแต่ละวัน และความงดงามจากการเคียงข้างกันของคนในทีมที่หล่อเลี้ยงใจเธอเอาไว้
“เราใช้วิธีตั้งใจกับตั้วเองว่าจะพยายามดูตะวันตกดินให้ได้ทุกวัน ออฟฟิศเรา Work From Home มาเกือบเดือนได้ ช่วงนี้เพื่อน ๆ รวมทั้งตัวเราเองก็เริ่มไม่ไหว นานวันเข้าก็เรียกได้ว่าแทบตายเหมือนกัน
สิ่งที่ยังทำให้คงทำงานต่อไปได้คือกำลังใจจากเพื่อนร่วมงานเลย โชคดีที่ทุกคนในทีมซัพพอร์ตกันและกันทั้งเรื่องงานและเรื่องใจ มันเลย เออ ต้องรอดไปเล่นมุกกันแบบเห็นหน้ากันจริง ๆ ที่ออฟฟิศสักวันสิวะ
ตอนนี้เลยจะมาเวย์ต้องเอาชีวิตรอดไปให้ได้ก่อน พยายามกินให้ได้ นอนให้หลับ เพื่อจะได้มีแรงไว้ทำงานเล็ก งานใหญ่ งานเลี้ยงปากท้อง หรืองานหล่อเลี้ยงใจไปได้ยาว ๆ ”
“กินให้ได้ นอนให้หลับ เพื่อจะได้มีแรงไว้ทำงานเล็ก งานใหญ่ งานเลี้ยงปากท้อง หรืองานหล่อเลี้ยงใจไปได้ยาว ๆ”
โอ๊ต-นิพัฒน์ ศรีสวัสดิ์ นักร้องนำวง Wave and So ควบตำแหน่ง อาร์ตไดเรกเตอร์แห่ง What The Duck ค่ายเพลงของคนรุ่นใหม่ คำตอบแบบมินิมัล ๆ ของเขา แม้ไม่ยาว หรือเป็นเคล็ดลับอะไร แต่แก่นของมันคือการเหนื่อยก็ต้องรู้จักพัก อย่าฝืนตัวเอง ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีง่าย ๆ ที่หลายคนหลงลืมไป
“ตอนนี้ Work From Home มา 13 วัน เราค่อนข้างแฮปปี้กับการทำงานที่บ้าน มีบางวันนอย ๆ มึน ๆ ทำงานไม่ได้ การแก้ง่ายมากคือ ไม่ทำ พักเลย คิดไม่ออกให้ไปนอน ฝืนไปก็เท่านั้น พอรู้สึกร่างกายแปลก ๆ บางวันขุ่นมัว เราหยุดเลย พักเลย ดีที่สุด”
“คิดไม่ออกให้ไปนอน ฝืนไปก็เท่านั้น”
วิธีคิดงานในสถานการณ์ตึงเครียดของแต่ละคน ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่เราจินตนาการถึง แต่ใจความสำคัญคือการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าคิดไม่ได้คือคิดไม่ได้ (และไม่ได้แปลว่าจะคิดไม่ได้ตลอดไป) แต่ต้องไม่คิดว่าการคิดงานไม่ออก = ห่วยแตก หรือมัวแต่นั่งเค้นมันอยู่อย่างนั้น ต้องใจดีกับตัวเองให้มาก ๆ พอ ๆ กับที่อย่าลืมทำอะไรให้เป็นกิจวัตร เพราะในห้วงเวลาที่ทุกอย่างเกิดขึ้นในสถานที่เดียว ทั้งทำงาน กิน นอน เล่น ถ้าเราไม่ใช้เวลาเป็นเส้นแบ่ง หลายสิ่งหลายอย่างอาจรวนได้โดยไม่รู้ตัว