DESIGN

ปกนี้มีที่มา ขุดลึกเรื่องราวเท่ ๆ เบื้องหลัง “5 ปกอัลบั้มโคตรดัง” ที่ผู้ชายทุกคนคุ้นตา

By: unlockmen January 17, 2018

หลายครั้งที่ปกอัลบั้มของศิลปินเป็นภาพที่คุ้นตา โด่งดังไปทั่วโลก จนเป็นเหมือนงานอาร์ตอีกชิ้นนึง ทำให้ปกอัลบั้มเป็นมากกว่าสิ่งพิมพ์หรือบรรจุภัณฑ์ของอัลบั้ม มันคือการสื่อความหมายของศิลปินผ่านปกอัลบั้ม วันนี้ UNLOCKMEN เอาเรื่องราวเบื้องหลัง ที่มาที่ไป ของปกอัลบั้มที่เราทุกคนต้องคุ้นตาจากศิลปินดังอย่าง Pink Floyd, Radiohead, Nirvana, Joy Division และ Coldplay มาบอกเล่าเอาไว้คุยกับเพื่อนแบบเท่ ๆ อย่างคนรู้จริง

 

Nevermind จาก Nirvana

ภาพสุดดังคุ้นตานี้เป็นภาพของเจ้าหนูน้อย Spencer Eldren ที่อายุเพียงสี่เดือนในตอนนั้นและเป็นการว่ายน้ำครั้งแรกของเขาด้วย โดยการถ่ายทำปกอัลบั้มนี้เกิดขึ้นที่ Pasadena public pool ที่มีเด็กที่เพิ่งโผล่ออกมาดูโลกได้ไม่นานมาออดิชั่นอีกหลายคน แต่ Kurt ประทับใจรูปของเด็กคนนี้มากที่สุด แต่ยังรู้สึกว่ามันใส่อะไรเข้าไปได้อีก เขาพูดติดตลกให้ใส่เบ็ดตกปลาลงไป ซึ่งนั่นทำให้ทีมงานต่อยอดไอเดียออกมาเป็นปกสุดเจ๋งที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ แม้ว่า Kurt เองจะไม่ได้บอกถึงความหมายจริง ๆ ว่ามันหมายถึงอะไร แต่ดีไซเนอร์ของภาพนี้อย่าง Robert Fisher ได้สันนิษฐานไว้ว่า เด็กเป็นตัวแทนของความไร้เดียงสาของเขา ส่วนเบ็ดนั้นหมายถึงการเข้าสู่วงการเพลงของเขานั่นเอง

 

A Rush of Blood to the Head จาก Coldplay

รูปนี้คริส มาร์ติน ฟรอนต์แมนของวงเห็นจากนิตยสาร Dazed & Confused แล้วดันถูกใจเข้าอย่างจัง จนนำมาออกแบบเพิ่มเติม แล้วทำออกมาเป็นปกอัลบั้ม จริง ๆ แล้วรูปต้นฉบับเป็นรูปจากฝีมือของช่างภาพสายแฟชั่น Sølve Sundsbø โดยเขาใช้ 3D Scanner แล้วมันเกิดขัดข้องไม่อ่านค่าสีเสียอย่างนั้น ทำให้ส่วนไหล่ของนายแบบเพี้ยนกลายเป็นเส้นแหลม ๆ เหมือนหนาม แถมส่วนหัวยังหายไปอีก จึงเป็นภาพอย่างที่เห็นในปกอัลบั้มนั่นเอง มันจึงกลายเป็นความขาด ๆ เกิน ๆ ที่ออกมาโคตรเท่แบบที่ผู้ชายอย่างเราจำติดตามาถึงทุกวันนี้เลยทีเดียว

 

Wish You Were Here  จาก Pink Floyd

เนื้อเพลงในอัลบั้มนี้ส่วนมากเนื้อหาเกี่ยวกับ ความไม่จริงใจ ทีมงานสตูดิโอที่ถ่ายทำปกอัลบั้มเห็นว่าควรสะท้อนถึงความหมายในอัลบั้มด้วย อย่างเพลง “Welcome to the Machine” และ “Have a Cigar” โดยเสนอให้เป็นนักธุรกิจสองคนจับมือกันเพื่อดีลงานร่วมกัน แต่คนนึงมีไฟลุกที่ตัว เพื่อให้ล้อกับเนื้อเพลงและเนื้อหาในอัลบั้มด้วยนั่นเอง

 

Unknown Pleasures จาก Joy Division

จริง ๆ แล้วอัลบั้มนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จในตอนที่วางแผงเท่าไหร่นัก แต่กลับมามีคนพูดถึงเพิ่มขึ้นเมื่อมีกลุ่มเด็กแนวใส่เสื้อลายปกอัลบั้มนี้ซะได้ โดยดีไซเนอร์ Peter Saville อธิบายว่ามันคือภาพที่สร้างขึ้นจากการที่โปรตอนและอิเล็กตรอนเคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในสนามแม่เหล็ก และจริง ๆ แล้วภาพนี้มาจาก The Cambridge Encyclopedia of Astronomy บวกกับภาพสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์เมื่อมีดวงดาวโคจรผ่าน ช่างดูซับซ้อนและวุ่นวาย แต่อย่างไรก็ตามอัลบั้มนี้ขายได้เพราะปกอัลบั้มสุดพิศวงนี้นี่แหละ

 

OK Computer จาก Radiohead

ปกอัลบั้มนี้ออกแบบโดย Stanley Donwood เจ้าเก่าเจ้าเดิมที่เคยออกแบบให้วงนี้มาแล้วทุกอัลบั้ม โดย Thom Yorke ฟรอนต์แมนโคตรเก๋าได้ให้ความหมายของปกอัลบั้มไว้ด้วยตัวเองว่า “มันเหมือนกับเวลาที่บางคนซื้ออะไรสักอย่างทั้งๆที่ไม่อยากได้ และบางคนก็ทำเป็นคุยจ้อเพื่ออยากขายบางอย่างเท่านั้น มันค่อนข้างเศร้าและตลกไปพร้อม ๆ กัน” แม้จะไม่รู้ว่าภาพมันเกี่ยวกับอัลบั้มนี้อย่างไรแต่มันก็เป็นอัลบั้มที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงอยู่ไม่น้อยทีเดียว

บางทีศิลปะก็มาจากความตั้งใจ บางทีก็มาจากความขาด ๆ เกิน ๆ และความบังเอิญของตัวผู้สร้างเอง ใครจะรู้ว่าบางทีความผิดพลาดก็กลายเป็นความเท่ที่สุดท้ายถูกพูดถึงไปในวงกว้างได้ มันคงไม่ได้แปลว่าทุกความผิดพลาดหรือขาด ๆ เกิน ๆ จะกลายเป็นเรื่องเท่ แต่มันคงแปลว่าบางทีในความผิดพลาดก็มีด้านที่ดีของมันอยู่บ้างเหมือนกัน เหมือนปกอัลบั้มคูล ๆ มีที่มาที่ UNLOCKMEN เอามาฝากกันวันนี้

SOURCE, SOURCE2, SOURCE3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line