Entertainment

รู้จักกับ AUXUMAN ศิลปินปัญญาประดิษฐ์ค่ายใหม่ ที่ร้องเพลงได้ แถมแต่งเพลงเองด้วย

By: Synthkid October 10, 2019

มนุษย์กับความฝันเรื่องหุ่นยนต์เรียกได้ว่าเป็นของคู่กันในทุกยุคสมัย มนุษย์เราพยายามสร้างสรรค์ พัฒนาทั้งหุ่นยนต์เลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ หุ่นยนต์รถ และอีกสารพัดมากมายที่สามารถมาแทนงานมนุษย์ ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว หนึ่งในภาพวาดจากฝีมือปัญญาประดิษฐ์เพิ่งจะถูกประมูลไปในราคาสูงกว่า 432,500 ดอลลาร์ แน่นอนว่ามากกว่าศิลปินมีเลือดเนื้อบางคนที่วาดภาพมาทั้งชีวิตเสียอีก!

ภาพวาด Edmond de Belamy จากฝีมือ A.I. ที่ถูกประมูล

ทีนี้เรามาพูดถึงวงการดนตรีกันบ้าง จากการใช้เสียงสังเคราะห์ ถูกพัฒนามาเป็น ‘ศิลปินสังเคราะห์’ แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะมันถูกพัฒนามาอย่างช้านาน แต่ที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักทั่วโลก คงหนีไม่พ้น ‘Hatsune Miku’ ไอดอลสาวโวคัลลอยด์จากญี่ปุ่นที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2007  ศิลปินสาวเสียงใสมากเสน่ห์ที่ออกทัวร์ได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ผลิตงานเพลงใหม่ ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แถมยังมีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่นอีกต่างหาก

ล่าสุดบริษัทสตาร์ตอัปในลอนดอนชื่อ AUXUMAN ได้เปิดตัวอัลบั้มเพลงจากปัญญาประดิษฐ์ ครั้งนี้ไม่ได้มาแค่คนเดียว แต่มาถึง 5 คน! หากจะใช้เรียกบริษัทนี้ด้วยศัพท์วงการบันเทิง คำว่า ‘ค่ายเพลง’ ก็คงจะไม่มากเกินไปไปนัก โดยศิลปินของพวกเขาถูกเรียกว่าเป็น Virtual Entertainers ประกอบไปด้วย Yona, Mony, Gemini, Hexe และ Zoya แถมพวกเขายังมีแพลนจะปล่อยเพลงออกมาให้พวกเราฟังในทุก ๆ เดือนอีกต่างหาก!

ONE – YONA

Ash Koosha ผู้ก่อตั้งบริษัท และเป็นโปรดิวเซอร์สัญชาติ British-Iranian ได้กล่าวว่าเพลงเหล่านี้พวกเขาไม่ได้เป็นคนแต่งให้ A.I. ร้องเอง แต่ตัว A.I. ต่างหากที่เป็นผู้เขียนขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องสร้างผ่านเครื่องมือสองสามอย่างในการคิดคำร้อง ทำนอง และออกแบบเสียงร้องจากดิจิทัลให้ครบถ้วน

โดยแกนหลักของเพลง A.I. เหล่านี้ เนื้อร้องต่าง ๆ จะถูกปั้นขึ้นมาจากกลุ่มข้อมูลตัวอย่าง มีทั้งบทความ บทกวี และบทสนทนา เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อที่พวกเขากำหนด Yona และเพื่อน ๆ Auxuman ถูกติดตั้งโปรแกรมที่ทำให้สามารถรับรู้ และประมวลผลข้อมูล เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของมนุษย์บนโลกอินเทอร์เน็ตได้  การถ่ายทอดเรื่องราวในแต่ละเพลงของพวกเขา จึงเกิดจากสิ่งที่พวกเราทุกคนโพสต์ลงบนไปบนอินเทอร์เน็ตนั่นเอง

MARLENE – MONY

เชื่อว่าหลายคนคงจะตั้งคำถามว่า “ทำไมจะต้องใช้ A.I. ในการสร้างเพลงเองทั้งหมด?” เราไม่ได้ขาดแคลนนักดนตรีเสียหน่อย ซึ่ง Ash Koosha เขาก็มีคำตอบตรงส่วนนี้เช่นกัน โปรดิวเซอร์อัจฉริยะผู้นี้ได้กล่าวว่า แท้จริงแล้วเราขาดแคลนผู้ริเริ่มดนตรีแนวใหม่ ๆ อยู่ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจเริ่มส่งผลต่อการทำเพลงของมนุษย์ หลายคนยอมจำนนต่อสิ่งนี้ เพื่อความประสบความสำเร็จในอาชีพ เขามีความเชื่อว่า ‘จักรกล’ จะสามารถผสมผสานดนตรีแต่ละแนว เพื่อช่วยให้มนุษย์เรา ได้ค้นพบดนตรีแนวใหม่ ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน

TRY ME – HEXE

มาถึงตรงนี้ เชื่อว่าความคิดเห็นของผู้อ่านอาจแตกออกเป็นสองฝั่ง คงมีทั้งส่วนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกอะไร เพราะไม่ใช่ทุกคนจะต้องการค้นหาแนวเพลงใหม่ ๆ ในระดับนั้น เพราะที่คุณฟังอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่าหลากหลายมากแล้ว แต่ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้น โลกเราหมุนไปทุกวัน วงการดนตรีเองก็ต้องขับเคลื่อนตาม เชื่อเถอะว่ายังมีดนตรีอีกมากมายหลายประเภทที่พวกเราไม่เคยฟัง ไม่แม้แต่จะเคยได้ยินชื่อมาก่อน และเพลงฮิตที่พวกเราฟังอยู่วันนี้ ก็อาจจะน่าเบื่อมาก ๆ สำหรับคนในอีก 30 ปีข้างหน้าก็เป็นได้

Auxuman Album On Spotify

บางทีเจ้า A.I. เหล่านี้ อาจจะนำมาซึ่งประโยชน์ที่ไม่คาดคิดกับวงการดนตรีดั่งที่ Ash Koosha กล่าว หรืออาจนำมาซึ่งหายนะที่ไม่คาดฝันเราเองก็ไม่อาจรู้ คนฟังเพลงแบบเรา ๆ ก็คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า ในอนาคตข้างหน้าเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์จะนำพาอุตสาหกรรมดนตรีไปในทิศทางใด

 

Source

 

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line