Entertainment

อยาก Punk ฟังทางนี้ คู่มือเรียนลัดสู่ความ Punk 10 บทเพลงที่ฟังแล้ว “Punk” เลย

By: Chaipohn June 10, 2022

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ท่ามกลางความขัดแย้งและความรุนแรงของสังคมในปัจจุบัน ดนตรี Punk มักถูกพูดถึงอยู่เสมอในฐานะอาวุธในคราบเสียงดนตรี ที่มาพร้อมการสั่นสะเทือนสังคม แม้ในปัจจุบัน วัฒนธรรม Punk จะโดนแปรรูปไปด้วยรูปแบบที่หลากหลาย จนกลายเป็นเพียงความขบถอันแสนเจือจางไปแล้ว

แต่ประวัติศาสตร์ของดนตรี ก็ยังกล่าวถึงความ Punk อยู่เสมอ ในฐานะผู้บุกเบิก / ปฏิวัติ และทำลายล้างขนบเก่า ๆ ให้สิ้นซากไปซึ่งอายุอานามของแนวนี้มีมาได้ครึ่งศตวรรษแล้ว

และสำหรับคนที่ยังรู้จักดนตรีแนวนี้ไม่เพียงพอ เราขอเวลาคุณสักครู่ มาทำความรู้จักความ Punk ผ่าน 10 บทเพลงนี้ รับรองมันส์ถึงแก่นอย่างแน่นอน

The Stooges – “Search and Destroy” (1973)

การปรากฏตัวของ The Stooges ท่ามกลางความมึนงงของแฟนเพลงที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่คุ้นเคยกับคำว่า “Punk” เนื่องจากช่วงนั้นดนตรี Hard Rock ยังคงยึดหัวหาดอยู่ จนทำให้วงพบความล้มเหลวของ 2 อัลบั้มแรกติด ๆ กัน จึงตัดสินใจแยกทางเพราะคิดว่าฝืนไปก็ไม่น่ารอด

จนกระทั่ง David Bowie เห็นแววและพลังทำลายล้างที่มีอยู่ในตัวสูง โดยเฉพาะการเพอร์ฟอร์แมนซ์อันแสนเดือดดาลของ James Newell Osterberg Jr. หรือที่รู้จักกันในนาม Iggy Pop ที่โดดเด่นเตะตา จึงชวน Iggy มาเซ็นสัญญากับค่ายใหม่ Columbia Records และตั้งวงใหม่ภายใต้ชื่อ Iggy and the Stooges และออกอัลบั้มชุดที่ 3 ในชื่อ Raw Power

และ “Search and Destroy” คือพิมพ์เขียวสำคัญ ที่เป็นจุดประกายแรกให้โลกรู้จัก Punk อย่างเป็นทางการ ผ่านการคำรามอันเดือดดาล และทำให้วัยรุ่นทั่วทั้งโลกเริ่มใช้ดนตรีทำลายล้างสังคมอันฟอนเฟะในกาลต่อมา จึงเหมาะสมที่สุดแล้ว หากจะอวยยศของ Iggy Pop ว่า “The Godfather of Punk”


Ramones – “Blitzkrieg Bop” (1976)

หาก Iggy Pop ทำหน้าที่ปฏิสนธิดนตรี Punk คนที่ตัดสายสะดือแนวนี้อย่างเป็นทางคงหนีไม่พ้น Ramones นำการผสมผสานของยาพิษให้เข้ากับบับเบิ้ลกัมอันหอมหวาน เพลงที่ได้แรงบันดาลใจจากกลยุทธิ์การจู่โจมทางการทหารของทัพนาซี นำมาสู่บทเพลงสั้นกระชับเพียง 2 นาทีกว่าๆ แต่ตีหัวคนฟังอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเสียงตะโกน “Hey Ho, Let’s Go” ที่ฟังครั้งเดียวก็สามารถร้องตามได้อย่างง่ายดาย

แต่ในปี 1976 ในตอนที่ออกซิงเกิ้ลนี้ครั้งแรก เพลงๆนี้กลับไม่ได้รับความสนใจในวงกว้างสักเท่าไหร่ กระทั่งความขลังของมันก็ค่อย ๆ ทำงานจนกลายเป็นเพลงชาติของชาว Punk กระทั่งปัจจุบันช่องโปรแกรมสำหรับเด็กอย่าง Cartoon Network หรือหนัง Spider-Man: Homecoming ยังนำเพลงนี้ไปใช้ จึงไม่แปลกใจเลยว่า Ramones ได้แทรกซึมในทุกเพศทุกวัยอย่างไม่น่าเชื่อจริงๆ


Sex Pistols – “Anarchy in the UK” (1976)

ซีนดนตรี Punk ในอเมริกา อาจจะสร้างกระแสได้อย่างเชื่องช้าเหมือนเต่าคลาน แต่การทะยานพุ่งเร็วดุจจรวดของอังกฤษผ่านวงดนตรี Sex Pistols ที่มาเพื่อเขย่าสังคม ตั้งแต่การอนุรักษ์นิยม / ศาสนา ไปยันราชวงค์อังกฤษ พวกเขาใช้ความเละเทะของดนตรี ความเมามายจากฤทธิ์ยา ความหยาบช้าถ่อยสถุน และความบ้าคลั่ง ทำลายทุกกรอบของสังคมอย่างย่อยยับ

แม้ท้ายสุดพวกเขาจะออกอัลบั้มเพียงชุดเดียว แต่มันก็เป็นอัลบั้มแห่งการถกเถียงทั้งความไพเราะ ความเหมาะสม ไปจนถึงความดีงาม จนทำให้พวกเขากลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมพ็อพอันแข็งแกร่ง เป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะเชื่อว่ามาจากวงหน้าใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าอาวุธสำคัญที่ทำให้ Punk กลายเป็นอาวุธนิวเคลียร์ทำลายล้างโลกเก่าให้สิ้นซาก ก็มาจากเพลง ๆ นี้อย่างไม่ต้องสงสัย


The Clash – “(White Man) In Hammersmith Palais” (1978)

การปรากฏตัวของ The Clash ในคอนเสิร์ตของ Sex Pistols เมื่อเดือนกรกฎาคม 1975 ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก ด้วยความดุดัน บวกกับภาคดนตรีที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพในแบบที่ไม่เคยได้ยินมาก่อนจากวง Punk วงอื่นๆที่เน้นความสดมากกว่าคุณภาพของดนตรี ให้ทำคืนนั้นพวกเขาได้ทำการเซ็นสัญญากับ CBS ทันที และนำไปสู่เวฟที่ 2 ของดนตรี Punk Rock ที่ทั้งห้าวทั้งเจ๋งในคราวเดียวกัน และทำให้กระแสดนตรี Punk กลายเป็นกระแสหลักในสหราชอาณาจักรทันที

“(White Man) In Hammersmith Palais” คือการตกตะกอนของวง หลังจากที่เขาผสมผสานดันตรี Punk เข้ากันกับ Reggae ได้อย่างกลมกลืน แม้ว่า (White Man) In Hammersmith Palais จะเป็น Punk จังหวะกลางๆ  แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ The Clash ได้เป็นผู้จุดกระแส Ska Punk ที่ทั้งเดือดทั้งแดนซ์จนกลายเป็นลายเซ็นหลักของวง รวมไปถึงเป็นหัวเชื้อสำคัญที่ทำให้เกิดอัลบั้มและแทร็คคลาสสิคที่ชื่อ London Calling ในเวลาต่อมา


Dead Kennedys – “Holiday In Cambodia” (1980)

แม้มหานคร New York จะเป็นต้นธารแห่งดนตรี American Punk แต่เมืองที่ทำให้กระแสดนตรีนี้เติบโตอย่างยั่งยืนกลับเป็น L.A. Punk ที่เต็มไปด้วยวงแจ๋วๆอย่าง Black Flag, The Germs, The Circle Jerks และ The Bay Area แต่วงที่หาญกล้าจนเรียกได้ว่าเป็น Sex Pistol แห่งฟากฝั่งอเมริกานั้นได้แก่ Dead Kennedys นั่นเอง ที่ Jello Biafra มีความกล้าและเกรียนในแบบเดียวกันกับที่ Johnny Rotten พึงมี รวมไปถึงจุดยืนทางการเมืองอันแสนเข้มข้น

และ Holiday In Cambodia คือซิงเกิ้ลที่ 2 ที่สร้างชื่อให้กับวงที่ชื่อเพลงแสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของการสังหารหมู่ในกัมพูชาจากการปกครองของ เผด็จการพลพต ขณะเดียวกันปกซิงเกิ้ลก็นำภาพการสังหาหมู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ของการล้อมฆ่านักศึกษามาใส่เพื่อบอกถึงช่วงเวลาแห่งความเลวร้ายในอีกฟากฝั่งหนึ่งของโลกใบนี้ และประชดประชันกลุ่มนักศึกษาอเมริกันที่นิ่งเฉยไม่ใส่ใจกับเหตุการณ์เลวร้ายในโลกเลย Dead Kennedys จึงเป็น Punk สุดห้าวที่กล้าแสดงจุดยืนและด่ากราดพวกโลกสวยได้อย่างเจ็บแสบถึงใจ


Minor Threat – “Straight Edge” (1981)

ในช่วงยุค 80s ดนตรี Hardcore คือพัฒนาการอีกขั้นของดนตรี Punk โดยเมืองท่าที่สำคัญก็ยังอยู่ Washington D.C. โดยดนตรี Hardcore นั้นคือการกลับไปหารากเหง้าของดนตรี Punk ในช่วงต้น ที่ดิบ ดุ เดือด และ Minor Threat คือผู้บุกเบิกวัฒนธรรม Hardcore นั้น อย่างรุนแรงสุดขั้ว

แม้พวกเขาจะออกมาเพียง 1 อัลบั้มและ 3 อีพี แต่ล้วนแล้วแต่เป็นงานมาสเตอร์พีซ ด้วยบทเพลงที่สั้น กระชับ และยิงตรงทุกประเด็น Straight Edge คือแทร็คที่มีความยาวเพียง 45 วินาที แต่มันไม่ต่างกับกระสุนสังหารจากสไนปเปอร์ที่ยิงตรงกลางกระหม่อมอย่างจัง และด้วยอายุที่แสนสั้นของวงและเพลงก็ทำให้ Minor Threat เป็นตำนานหน้าสำคัญของซีนดนตรี Hardcore Punk อย่างเหลือเชื่อ


Bad Brains – “I Against I” (1986)

ในขณะที่ The Clash สร้างซีนของดนตรี Punk ในสไตล์ Reggae วงดนตรีที่พื้นเพจากเมืองจาไมก้าอย่าง Bad Brains ก็ปฏิวัติภาพลักษ์ที่มักมองคนดำเพียงดนตรีไม่กี่แนวด้วยการทำเพลง Hardcore Punk ที่ผสมผสานทั้ง Funk, Reggae และ Heavy Metal ได้อย่างลงตัวและโคตรเดือด

I Against I คือซิงเกิ้ลหลักในอัลบั้มชุดที่ 3 หลังจากที่พวกเขาฝ่าฟันสายตาที่ดูแคลนพวกเขามาอย่างยาวนาน มันจึงพิสูจน์ได้ว่า ดนตรีนอกจากไม่ควรแบ่งแยกแนวเพลงแล้ว มันก็ไม่ควรกีดกันสีผิวและเชื้อชาติด้วยเช่นกัน


Bikini Kill – “Rebel Girl” (1993)

แม้ดนตรี Punk จะถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 70s แต่กว่าที่จะมีซีนของวงดนตรีหญิงสุด Punk โลกก็หมุนเวียนมาถึงยุค 90s แล้ว ท่ามกลางการล่มสลายของดนตรี Punk ที่ผู้ชายส่วนใหญ่เลือกไปเล่นแนว Grunge สมัยนิยม กลุ่มสตรีนิยม Punk ก็ถือกำเนิดขึ้นเป็นคลื่นใต้น้ำที่มีคนฟังเพียงน้อยนิด

จนกระทั่ง Tobi Vail มือกลองของ Bikini Kill เพื่อนซี้ของ Kurt Cobain ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับแทร็คคลาสสิคตลอดกาลอย่าง “Smells Like Teen Spirit” ด้วยการบอกกับ Kurt ว่า “กลิ่นตัวแกเหมือนยาดับกลิ่นเต่ายี่ห้อ Teen Spirit ชิบหายเลยว่ะ” ก็ทำให้วงๆนี้เป็นที่ฮือฮาในทันที และด้วยการเคลื่อนไหวในฐานะศิลปินที่ท้าทายการเมืองเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ก็ยิ่งจุดประกายพลังหญิงให้ลุกโชนขึ้นอย่างรุนแรงและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ดนตรี Girl Power


Green Day – “Basket Case” (1994)

ช่วงเวลาที่ดนตรี Punk เสมือนคนกำลังจะจมน้ำ สามหนุ่มน้อย (ในยุคนั้น) สุดเกรียน ก็ปลุกดนตรี Punk ให้กลับมา Pop ได้อย่างเหลือเชื่อ แถมยังทำให้กระแสของดนตรีที่คิดว่าจะสูญพันธุ์กลับมากระหึ่ม MTV ได้อีกด้วย

จาก 3 หนุ่มแห่งเมือง California ตัดสินใจลงขันกันทำอัลบั้มกันแบบ DIY จนมาถึง อัลบั้มชุดที่ 3 Dookie ก็กลายเป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ปลุกชีพดนตรีที่หายใจรวยรินให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยความมันส์ในแบบ The Clash และความกวนในแบบ Sex Pistols พวกเขาได้สร้างวัฒนธรรม Punk ให้กลับมาเรืองรองอีกครั้งหลังจากที่อเมริกาพบช่วงเวลาสูญญากาศหลัง Grunge เสื่อมความนิยม และ “Basket Case” คือเพลงสำคัญที่ทำให้ Punk ยังคงมีผู้สืบทอดต่อไปเรื่อยๆจวบจนทุกวันนี้


The Linda Lindas – “Racist, Sexist Boy” (2021)

ต้นปี ปี 2021 กลับกลายเป็นปีแห่งการล็อคดาวน์จากพิษแห่งไวรัสถล่มโลก ในขณะที่ผู้คนอยู่บ้านฟังดนตรี Punk กันจนปรุแล้ว ต่างเรียกร้องหา Punk เลือดใหม่ของวงการ กลุ่มเด็กสาวลูกครึ่งเอเชีย-ละติน ถูกเพื่อนผู้ชายพากันตีตัวออกห่าง เพราะเข้าใจว่าพวกเธอคือตัวปล่อยไวรัส แน่นอนว่ามันทำให้พวกเธอโกรธที่โดนดูถูกเหยียดหยาม แต่แทนที่เธอจะเดินไปต่อยเข้าที่เบ้าตาของไอ้เด็กชายปากเสียคนนั้น พวกเธอเลือกเก็บความโกรธแค้นนั้นและระบายออกมาเป็นบทเพลงสุด Punk พลังหญิงที่ชื่อว่า “Racist, Sexist Boy” ที่มาถูกที่ถูกยุคในช่วงเวลาที่การยับยั้งการเหยีดเชื้อชาติ พวกเธอจึงเป็นสาว Punk อายุน้อยที่พร้อมเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้กับคนทั้งโลก และช่วยต่ออายุดนตรีแนวนี้ให้คงอยู่คู่โลกตราบนานเท่านาน

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line