Life

IT BETTER TO LIE ซื่อสัตย์ไปใช่จะดี เพราะบางทีการโกหกก็ช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ยั่งยืนกว่า

By: PERLE October 8, 2018

เรามักถูกสอนมาตั้งแต่เด็กว่าอย่าโกหกนะ คนโกหกคือคนไม่ดี การเป็นคนซื่อสัตย์จริงใจต้องห้ามโกหก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด การโกหกเป็นเรื่องที่ไม่ดีจริง ๆ นั่นแหละ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น โลกความเป็นจริงซับซ้อนกว่าโลกในตำราเรียนเยอะ โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ที่บางครั้งการพูดความจริงตลอดเวลาก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด เรื่องนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาออกมายืนยันแล้วว่าการโกหกบางครั้งก็ช่วยให้ความสัมพันธ์ยั่งยืนกว่าเดิม คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าในสถานการณ์ไหนบ้างที่เราควรจะโกหก

โกหกเพื่อสร้างความมั่นใจ

“วันนี้คุณดูดีนะ”, “คุณใส่ชุดนี้แล้วดูดีมากเลย”

ประโยคเหล่านี้ที่เรามักจะพูดกับคนรักหรือคู่เดตเรา ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ แต่ก็ไม่ใช่การโกหกที่อันตราย โดยเรื่องนี้ Emma E. Levine ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมศาสตร์จาก University of Chicago Booth School of Business ยืนยันว่าการโกหกในลักษณะนี้ไม่มีผลเสีย ในทางตรงข้ามมันกลับเป็นผลดีเสียด้วยซ้ำ เนื่องจากจะทำให้คู่ของคุณมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น บรรยากาศในวันนั้นก็จะราบรื่นขึ้น บทสนทนาลื่นไหลขึ้น

แต่ข้อสำคัญที่ต้องจำไว้ให้ดีคือเมื่อคุณทะเลาะกัน อย่าขุดเรื่องเหล่านี้มาบอกเด็ดขาดว่าคุณไม่ได้รู้สึกแบบนั้นจริง ๆ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว คู่ของคุณจะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเป็นคนโง่ที่โดนหลอกมาตลอด

โกหกในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้

บางครั้งในสถานการณ์สำคัญเช่นก่อนขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าสาธารณชนจำนวนมากหรือก่อนพรีเซนต์งานต่อหน้าลูกค้า เพื่อนคุณอาจจะหันมาถามคุณว่า “นี่เราดูดีแล้วหรือยัง” 

ถึงแม้ว่าคุณจะรู้อยู่เต็มอกว่าสภาพเพื่อนคุณในตอนนั้นดูไม่ค่อยดีนัก อาจจะเพราะมีรอยเปื้อนบนเสื้อผ้า ใต้ตาดำ หรือดูตื่นเต้นมาก ๆ แต่ด้วยเวลาที่กระชั้นชิดจนไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว ในสถานการณ์เช่นนี้ Emma E. Levine แนะนำให้คุณพูดโกหกออกไป การให้กำลังใจทั้ง ๆ ที่คุณไม่ได้คิดแบบนั้นอย่างน้อยก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้เพื่อนของคุณ ดีกว่าคุณพูดความจริงออกไปในเวลาที่ก็รู้ทั้งรู้ว่าแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วบั่นทอนกำลังใจเขาเป็นไหน ๆ

โกหกเพื่อลดแรงกระแทก

บางครั้งที่คุณต้องรับบทเป็นคนวิจารณ์งานของคนอื่น ซึ่งเมื่อพิจารณาชิ้นงานนั้นดูแล้วปรากฏว่าในสายตาคุณมันดูไม่ดีเสียเลย ในสถานการณ์เช่นนี้คำพูดแบบไหนที่เหมาะสมที่สุดที่คุณจะพูดออกไป ?

ถึงแม้คุณจะเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า “ขอพูดตรง ๆ แบบไม่อ้อมค้อมเลยนะครับ” เชื่อเถอะว่าต่อให้ออกตัวก่อนแบบนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ผู้ฟังรู้สึกแย่น้อยลงเลย Emma E. Levine แนะนำว่าในสถานการณ์แบบนี้ให้คุณพยายามหาข้อดีของงานชิ้นนั้นมาเป็นประโยคขึ้นต้น ก่อนจะตบท้ายด้วยคำวิจารณ์ที่นุ่มนวลที่สุดเช่น

“คุณทำได้ดีแล้วนะ ผมชอบมันมาก แต่ผมว่าถ้าเปลี่ยนตรงนี้เป็นแบบนี้มันจะดีที่สุดเลยล่ะ คุณว่าไงล่ะ?”แบบนี้เป็นต้น

ไม่ได้โกหก แค่รอเวลาที่เหมาะสม

บางครั้งความจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก โดยเฉพาะความจริงที่มาในรูปแบบข่าวร้าย

ในสถานการณ์ตัวอย่างที่เพื่อนคุณกำลังจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คุณได้ข่าวว่าบริษัทที่เธอทำงานอยู่มีแผนจะลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยการปลดพนักงานออก คุณควรจะบอกข่าวนี้ให้เพื่อนทราบทันทีเลยหรือไม่ ?

คำตอบคือไม่ การบอกออกไปตอนนี้ไม่ส่งผลดีใด ๆ เลย เพื่อนคุณไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ นอกจากนั้นยังจะพาให้งานวิวาห์กร่อยไปด้วย รอให้ทุกอย่างจบแล้วค่อยบอกก็ยังไม่สาย

โกหกเพราะเรายังไม่ได้สนิทกันขนาดนั้น

ในการผูกมิตรกับเพื่อนใหม่ที่เพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเราต่างยังไม่รู้จักตัวตนอีกฝ่าย ดังนั้นเมื่อคุณโดนอีกฝ่ายยิงคำถามเกี่ยวกับตัวเขาเองใส่ คำถามเชิงที่ว่าเขาใส่ชุดนี้แล้วดูดีมั้ย หรือสิ่งที่เขาทำไปถูกต้องมั้ย Emma E. Levine แนะนำให้คุณเออออห่อหมกไปก่อน เพราะการไปวิจารณ์เขาในแง่ลบตั้งแต่ครั้งแรกที่เจออาจทำให้อีกฝ่ายตั้งแง่กับคุณว่าคุณคิดไม่ดีกับเขาหรือเปล่า คุณอิจฉาเขาหรือเปล่า ส่วนความคิดที่อยู่ในใจเราจริง ๆ ค่อยพูดให้เขาฟังหลังจากสนิทกันแล้วก็ได้

เห็นมั้ยว่าการโกหกไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ถ้าเราโกหกอย่างถูกที่ถูกเวลาเหมาะสมกับสถานการณ์ คำโกหกเหล่านั้นส่งผลดียิ่งกว่าการพูดความจริงเสียอีก แต่ก็นั่นแหละต้องเก็บการโกหกไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรการที่เป็นคนโกหกตลอดเวลานอกจากจะไม่ส่งผลดีแล้วคุณยังจะถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นจอมโกหกอีกด้วย

 

SOURCE1

PERLE
WRITER: PERLE
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line