Entertainment

“CBGB” ตำนานคลับพังก์แห่งอเมริกันชน ก่อเกิดประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของดนตรี NEW WAVE

By: Synthkid January 22, 2020

ย้อนเวลาไปปี ค.ศ. 1969 ก่อนที่ชาวอเมริกันจะรู้จักกับคำว่าพังก์และคลื่นวิทยุต่าง ๆ ยังเปิดแต่เพลงบลูส์ร็อกไปทั่วบ้านทั่วเมือง ชายคนหนึ่งนามว่า Hilly Kristal ได้เช่าพื้นที่ด้านล่างโรงแรมราคาถูกในซอกหลืบหนึ่งของ Manhattan (ซึ่งเป็น Flophouse ลักษณะคล้าย Hostel ที่ต้องนอนรวมกัน แต่ไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกใด ๆ แถมเก็บค่าที่พักเพียง $6 ดอลลาร์ต่อเดือน) เปิดบาร์เล็ก ๆ ของตัวเองที่ชื่อว่า Hilly’s On The Bowery ณ บ้านเลขที่ 315 ถนน Bowery ด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะให้ร้านแห่งนี้เป็น Biker Bar สำหรับสิงห์นักบิด และเป็นบาร์ท้องถิ่นเล็ก ๆ ที่เป็นดั่งมิตรสหายของผู้คนในย่าน

แต่ด้วยความรักที่เขามีต่อเสียงเพลงและเล็งเห็นลู่ทางบางอย่างที่จะทำให้ขยับขยายธุรกิจของตัวเอง ในปี 1973 Hilly จึงตัดสินใจเปลี่ยนโฉมคลับเดิมของเขา อีกทั้งยังเปลี่ยนชื่อจาก Hilly’s On The Bowery เป็น CBGB ซึ่งย่อมาจาก Country, Bluegrass and Blues Music โดยครั้งนี้เขาต้องการจะให้ความสำคัญกับแนวดนตรีที่เปิดในคลับมากขึ้น (เพลงคันทรีและบลูส์ร็อก) รวมถึงจัดสรรพื้นที่ให้ผู้คนได้แวะเวียนกันเข้ามาอ่านบทกวีของตัวเอง จนโชคชะตานำพาให้เขาพบกับชายสองคนนามว่า Bill Page และ Rusty McKenna ที่ขันอาสามาเป็นทีมงานเสาะหาวงดนตรีมาลงเล่นที่บาร์นี้ พวกเขาโน้มน้าวจน Hilly คล้อยตาม ในที่สุด ใครจะไปคิดว่าการดีลกันในครั้งนั้นคือจุดกำเนิดครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ทางดนตรีของอเมริกา

ภาพถ่าย Hilly Kristal ปี 2004 credit: https://www.flickr.com/photos/nycdreamin/3328375914

ในขณะที่ CBGB เพิ่งจะถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็ประจวบเหมาะกับตอนที่ ศูนย์ศิลปะ Mercury ปิดตัวลงพอดี วงดนตรีมากมายที่เล่นประจำอยู่ที่นั่นจึงถูกลอยแพ รวมถึงวงดนตรีไร้สังกัดหน้าใหม่ ๆ ก็ไร้พื้นที่โปรโมตตัวเอง ตัว Hilly ผู้เชื่อมั่นในความสามารถของศิลปินเหล่านั้น อีกทั้งยังเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสดีของคลับที่จะได้ทำอะไรใหม่ ๆ นอกกรอบอีกด้วย ศิลปินที่เคยเล่นที่ Mercury อย่าง The Fast, Wayne County หรือ Suicide ล้วนแล้วแต่ต้องแยกย้ายมาเล่นที่ CBGB แทนในภายหลัง

กำเนิด CBGB & OMFG

เมื่อแนวทางเริ่มชัดเจน ในตอนนั้นเอง Hilly จึงตัดสินใจเติมชื่อคลับเป็น CBGB & OMFUG อย่างสมบูรณ์ โดยคำว่า OMFUG ย่อมาจาก Other Music for Uplifting Gormandizers ซึ่ง ‘Gormandizers’ ความหมายเดิมของมันสื่อถึงผู้มี ‘ละโมบโลภมาก’ ในการกิน แต่ในที่นี้เขาต้องการจะสื่อถึงผู้ที่ ‘ละโมบโลภมากทางดนตรี’ แทน จัดว่าเป็นไอเดียที่ทั้งชาญฉลาด แถมยังเป็นการเปิดโอกาสให้วงดนตรีแนวใหม่ ๆ ได้ลืมตาอ้าปาก

มีกฎเหล็กสองข้อสำหรับวงที่จะเข้ามาโชว์ใน CBGB ได้แก่ ข้อแรกต้องนำอุปกรณ์ดนตรีมาเอง และข้อที่สองคือต้องเล่นเพลงออริจินัลของตัวเองเท่านั้น! ตรงนี้แหละครับที่เป็นจุดแข็ง แถมยังเข้าทางวงดนตรีไร้สังกัดหน้าใหม่ ๆ ได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ปล่อยของอย่างเต็มที่ และในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1974 Hilly ได้จ้างวงร็อกท้องถิ่นชื่อ Squeeze มาเล่นประจำที่ร้านเฉพาะวันอังคารและวันพุธ จากร้านที่มีหัวใจหลักเป็นเพลงบลูส์ จึงเริ่มเปลี่ยนมาเป็นเพลงร็อกเต็มตัวนับตั้งแต่ตอนนั้น

วง Television credit: https://classicalbumsundays.com/

หลังจากนั้นผ่านไปแค่เดือนเดียว Terry Ork ผู้จัดการวง Television ได้ขอให้วงมาเปิดการแสดงใน CBGB บ้าง (ตรงส่วนนี้เราไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะคิวในร้านมันเต็ม หรือเพราะพวกเขายังเป็นวงหน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก) Hilly จึงตอบแบบติดตลกไปว่า ‘ถ้าอยากเล่นก็ทำเวทีเล็ก ๆ ขึ้นมาเองละกัน’ ปรากฏว่าพวกเขาทำมันขึ้นมาจริง ๆ! เวทีที่พวกเขาสร้างในวันนั้นจึงนับว่าเป็นเวทีแรกอย่างเป็นทางการของ CBGB นั่นเอง

วง Television แสดงในรายการ La Edad de Oro ปี 1985

หลังจากที่ Television มีโอกาสได้เข้ามาแสดงใน CBGB ความหัวขบถของพวกเขาที่กล้าหยิบจับเพลงฟังก์มาผสมผสานเข้ากับร็อก ซึ่งไอ้การกระทำแปลกแหวกแนวแบบนี้มันโคตรจะพังก์ตั้งแต่ยังไม่มีคำว่าพังก์ด้วยซ้ำ แถมยังไปจุดประกายให้วัยรุ่นเฮี้ยวซ่าในยุคนั้นหลาย ๆ คน อย่างเช่น Patti Smith และ Lenny Kate ให้กลายมาเป็นหนึ่งในศิลปินแถวหน้าที่ได้ขึ้นโชว์ใน CBGB ในเวลาต่อมา แต่สำหรับวงสำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ Ramones

PUNK

สิงหาคม ปี 1974 เป็นครั้งแรกที่ Ramones ได้มาเปิดการแสดงที่ CBGB Legs Mcneil หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Punk Magazine ได้บรรยายความทรงพลังในการแสดงครั้งนั้นเอาไว้ว่า “สมาชิกทุกคนสวมชุดหนังสีดำ แหกปากตะโกนตอนเริ่มเพลง แล้วก็เต็มไปด้วยเสียงอึกกะทึกครึกโครม พวกเขาโดดเด่นไม่เหมือนใคร ไม่ใช่ฮิปปี้ แต่เป็นบางสิ่งบางอย่างที่แปลกใหม่อย่างหมดจด”

credit: https://www.cbgb.com

หลังจากการแสดงอันลือเลื่องใน CBGB วันนั้น ชื่อเสียงของ Ramones ก็เริ่มขยายออกไปในวงกว้าง แนวเพลงและวิถีคิดหัวขบถแบบพวกเขาได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในอเมริกา จนถูกประทับในหน้าประวัติศาสตร์โลกว่าเป็น ‘วงพังก์ร็อกวงแรกของโลก’ ต่อให้มีคนขุดขึ้นมาว่ามีคนทำอะไรลักษณะนี้มาก่อน พวกเขาก็ยังถูกนับว่าเป็นวงแรกที่ทำให้วัฒนธรรมนี้ก่อตัวขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง รวมตัวพังก์ให้เป็นปึกแผ่นขึ้นมาจริง ๆ ในอเมริกาอยู่ดี เพราะวงดนตรีอังกฤษดัง ๆ อย่าง Sex Pistols และ The Clash ล้วนได้รับอิทธิพลจากพวกเขามาเช่นกัน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา วงดนตรีอีกมากมายแวะเวียนมาเปิดการแสดงที่ CBGB ไม่ว่าจะเป็น The Fleshtones, Mink DeVille, The Shirt หรือวงดังอย่าง Talking Heads, The Pretenders และ Iggy Pop

ต่อมาในปี 1977  The Damned กลายเป็นวงพังก์อังกฤษวงแรกที่บินข้ามน้ำข้ามทะเลมาเปิดการแสดงที่นี่ ก่อนจะตามมาด้วยวงร็อกอังกฤษชื่อดังอย่าง The Police ที่เลือกเข้ามาเปิดการแสดงในอเมริกาที่นี่เป็นที่แรก

NEW WAVE

New Wave (นิวเวฟ) คือแนวดนตรีที่มีรากฐานมาจากพังก์ แต่ถูกนำมาพัฒนาให้กลายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แปลว่า “ไม่ว่าจะพังก์หรือนิวเวฟก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการมีอยู่ของ CBGB” เพียงแต่นิวเวฟไม่ใช่เพลงร็อกเสียทีเดียว พวกเขานำดนตรีหลากหลายแนวไม่ว่าจะเป็น ดิสโก้, เร็กเก้, ซาวด์สังเคราะห์อื่น ๆ มาผสม โดยเรียบเรียงออกมาในโครงสร้างที่มีความเป็นป๊อปมากขึ้น ติดหูมากขึ้น ถึงจะฟังง่าย แต่ก็ไม่จำเจเหมือนเพลงป๊อปตลาดในยุคนั้น จนกระทั่งเข้ายุค 80 วงนิวเวฟใหม่ ๆ ส่วนมากก็ไม่ค่อยหลงเหลือความเป็นพังก์แล้ว

อันที่จริงตอนแรกมันแนวเพลงนี้ก็ถูกนับว่าเป็นพังก์ แต่ Seymour Stein เจ้าของค่าย Sire Records ผู้ซึ่งมีวงดนตรีแนว ๆ นี้อยู่ในค่ายเยอะ เขากลัวตัวเองจะขายเพลงไม่ได้ หรือเอาภาษาบ้าน ๆ คือกลัวดูไม่แพง Seymour จึงสั่งห้ามไม่ให้เรียกดนตรีแนวนี้ว่าพังก์ จนมีใครสักคนเรียกมันขึ้นมาใหม่ว่า New Wave เป็นอันว่าเข้าใจตรงกันครับ

credit: https://7wallpapers.net/blondie/

วง Blondie เจ้าของเพลงฮิตอย่าง Call Me, The Tide Is Hide และ One Way Or Another ก็เป็นอีกหนึ่งวงที่ถูกนับเป็นนิวเวฟ พวกเขาเดบิวต์อย่างเป็นทางการเมื่อปี 1974 ก่อนจะปล่อยอัลบั้มแรกออกมาในปี 1976 สาเหตุที่พวกเขาถูกหยิบยกขึ้นมาพูดทุกครั้งที่มีคนกล่าวถึง CBGB ไม่ใช่ว่าเพราะเป็นผู้บุกเบิดนตรีนิวเวฟหรอกครับ แต่เป็นเพราะ Blondie เป็นวงที่เล่นประจำอยู่ใน CBGB ก่อนจะประสบความสำเร็จในวงกว้าง จนพาดนตรีจากใต้ดินขึ้นสู่โลกเมนสตรีมอย่างงดงาม เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันดนตรี New Wave และคลับ CBGB ให้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

ในช่วงหลัง ๆ CBGB ก็ไม่ได้จำกัดแนวเพลงอีกต่อไป เริ่มมีวงฮิปฮอปอย่าง Beastie Boys เข้ามา หรือวงสายเฮฟวี่เมทัลอย่าง Guns N’ Roses เองก็เคยมาเปิดการแสดงที่นี่เช่นกันในปี 1987

มีขาขึ้นก็ย่อมมีขาลง ในปี 1990 ความรุนแรงและการทะเลาะเบาะแว้งในคลับเริ่มรุนแรงขึ้น ทั้งภายในและภายนอกบริเวณ ทำให้ Hilly ถูกระงับโชว์แนวฮาร์ดคอร์ทั้งหมด พวกเขาถูกร้องเรียนจากเพื่อนบ้านว่าเสียงดังก่อความรำคาญ คลับก็เงียบเหงาขึ้นทุกวัน จนทำให้วงดนตรีต่าง ๆ เริ่มแวะเวียนมาน้อยลง ในที่สุดก็ถึงจุดที่ไม่มีวงไหนมาเล่นที่นี่อีกต่อไป

credit: https://www.cbgb.com/

พวกเขายื้อยุดร้านเอาไว้ได้ถึงปี 2006 เท่านั้น สัปดาห์สุดท้ายก่อน CBGB จะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ Patti Smith ได้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดคอนเสิร์ต “many of the artists who made CB’s famous” รวบรวมบรรดาศิลปินที่เคยมีชื่อเสียงเพราะ CBGB และวงดนตรีหน้าใหม่ ๆ ที่อยากจะมีส่วนร่วม กลับมาเล่นคอนเสิร์ตที่นี่เพื่ออำลากันเป็นครั้งสุดท้าย อีกทั้งเธอยังใช้เวทีนี้แสดงความเคารพต่อเหล่าศิลปิน CBGB ยุคเก่าที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นการปิดตำนานสถานที่แห่งความทรงจำนี้ลงอย่างงดงาม

31 ตุลาคม 2006 CBGB ต่อลมหายใจเฮือกสุดท้ายด้วยการผันไปเป็น CBGB Fashions Store ผ่านไปได้แค่ปีเดียว Hilly Kristal ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งปอด แม้ภรรยาเก่าและลูก ๆ ของเขาจะพยายามดิ้นรนเพื่อรักษาร้านเอาไว้ แต่เมื่อค่าเช่าพุ่งสูงเกินจะสู้ไหว พวกเขาจำเป็นต้องปล่อยพื้นที่บริเวณนี้ไปในที่สุด

ปัจจุบัน บ้านเลขที่ 351 ถนน Bowery กลายเป็นร้านเสื้อผ้า The John Varvatos ไปแล้ว หลงเหลือไว้เพียงรอยสลักคำว่า ‘CBGB ’73’ บนพื้นปูนที่หน้าร้าน ที่ยังพอทำให้เราได้จดจำว่าครั้งหนึ่งสถานที่แห่งนี้เคยสำคัญเพียงใด

credit: https://wikipedia.johncave.co.nz/

CBGB อาจไม่มีชื่อเสียงหากขาดศิลปินเหล่านั้น แต่อีกนัยหนึ่งบรรดาศิลปินก็อาจไม่ได้แจ้งเกิดเช่นกันหากไม่มี CBGB ไม่น่าเชื่อนะครับว่าจากสถานที่เล็ก ๆ ใต้โรงแรมราคาถูก จะกลายเป็นเป็นบ่อเกิดประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่มากมายในวงการดนตรี แม้เราจะย้อนเวลาไปกอบกู้ของเก่าไว้ไม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเราทำได้ก็คือการสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ ๆ กันต่อไป เชื่อเถอะครับว่าแฟนเพลงอย่างพวกเราเนี่ยแหละที่จะสามารถหล่อเลี้ยงอาชีพและผลักดันพวกเขาได้ ไม่มากก็น้อย

สำหรับวันนี้ก็ต้องขอตัวกลับไปรำลึกความยิ่งใหญ่ของสถานที่แห่งนี้ ด้วยการฟัง Playlist CBGB ที่ Spotify USA เขาทำไว้สักหน่อย ใครกำลังอินก็สามารถเข้าไปฟังกันเป็นเพื่อนกันได้นะครับ

Source 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

 

 

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line