World

ดำดิ่งสู่ประวัติศาสตร์และเรื่องราวแห่ง “เบียร์”ก่อนจะยกแก้วมาดื่มด่ำให้ฉ่ำลำคอ CHEERS!

By: anonymK August 2, 2018

“เบียร์มันขม พวกมึงกินกันไปได้ยังไงวะ” คือประโยคหนึ่งในวงเหล้าที่เป็นที่มาของการควานหาเรื่องเล่าเกี่ยวกับเบียร์มาเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ อันที่จริงผู้เขียนไม่เคยตั้งข้อสงสัยกับรสชาติขมที่มีในเบียร์ เพราะชื่นชอบรสขมกับระดับความเมาที่น้อยกว่าการกินเหล้าเป็นทุนอยู่แล้ว ยิ่งริน ยิ่งคุย ยิ่งเฮ แต่พอมาคิดตามคำที่เพื่อนหรือสาว ๆ พูดก็น่าสนใจ เมื่อเบียร์มันเกิดขึ้นมานานกว่าหลายพันปี รสชาติ “ขมเข้ม” คนโบราณเขาควรจะคิดว่ามันเป็นยาพิษมากกว่าเป็นของที่นำมาดื่มกินได้หรือเปล่า

สุดท้ายคำถามนี้มันนำมาสู่คำตอบที่บอกได้เลยว่า น่าทึ่ง เพราะเราเองก็ยังไม่เคยรู้มาก่อนหลายเรื่อง และหวังว่าเรื่องนี้จะสามารถไขข้อกระจ่างให้เอาไปเล่าต่อหรือตอบคำถามในวงเบียร์ได้ว่า “ทำไมพวกเราถึงกินเบียร์”

 

“เบียร์แก้วแรกของโลกมันไม่ขม”

เชิญพูดใส่หน้าเพื่อนรักของเราที่หันมาถามว่าคนเขากินไปได้ยังไงได้ทันที เพราะที่มาของความขมในเบียร์มันมาจาก “ดอกฮอปส์” ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการคิดค้นเบียร์มาแล้วราว 2,000 ปี ดังนั้น เบียร์แก้วแรกที่อุบัติขึ้นในโลกใบนี้มันเลยไม่ขม คนเขาก็เลยกินกัน แล้วเรายังสามารถต่อยอดด้วยการหันไปบอกเพื่อนได้ว่าเบียร์ไม่ขมมันก็มีให้เลือกดื่ม ลองดูก่อนแล้วจะติดใจ

เบียร์จัดเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทแรกของโลกที่คิดค้นขึ้นโดยชาวบาบิโลเนียน อายุขัยของการคิดค้นเบียร์เล่าแบบหลวม ๆ เรื่องตัวเลขว่าเกิดขึ้นมาเป็นหลักพันปีแล้วจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งตามข้อมูลที่สืบค้นมาหลายแหล่งระบุตัวเลขไว้แตกต่างกันตั้งแต่ 3,000 ปีไปจนถึง 8,000 ปีเลยทีเดียว เบื้องหลังของเบียร์ขวดแรกว่ากันว่าเกิดขึ้นจากชาวนาคนหนึ่งที่บังเอิญไปชิมน้ำที่ทำขนมปังตกใส่สักระยะ (เหมือนบ่มโดยบังเอิญ) แล้ว…บูม! เกิดเป็นเบียร์โบราณขึ้นตอนนั้น

 

เบียร์ไม่ใช่เรื่องของผู้ชาย

ไม่ใช่แค่เรื่องการเกิดที่เกิดจากการกินอะไรแผลง ๆ ของคนโบราณอย่างเดียวที่น่าสนใจ แต่ประวัติศาสตร์ยังบันทึกไว้ด้วยว่าที่มาของรสชาติขมเฉพาะตัวของเบียร์มันเกิดจากผู้หญิง แถมสาวคนที่ใส่ดอกฮอปส์ลงในเบียร์ครั้งแรกยังเป็นแม่ชีอีกต่างหาก โดยแม่ชีท่านนี้บันทึกการสนับสนุนให้ไส่ดอกฮอปส์ลงในเบียร์ไว้ในหนังสือด้านสุขภาพของเธอตั้งแต่ราว ค.ศ. 1159 เพราะฮอปส์มีสารที่ให้ประโยชน์ด้านสุขภาพ และมีสารพิเศษที่ทำหน้าที่ยืดอายุและฆ่าแบคทีเรียในเบียร์ทำให้เบียร์สามารถเก็บไว้ได้นานขึ้นด้วย เรียกได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ที่สะเทือนวงการเบียร์และทำให้ฮอปส์กลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบการทำเบียร์ที่ขาดไม่ได้จนถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างประติมากรรมโบราณในพิพิธภัณฑ์แสดงให้เห็นกรรมวิธีการผลิตเบียร์

นอกจากนี้เรื่องเบียร์กับความเป็นชายหญิงยังมีข้อมูลระบุเพิ่มเติมอีกว่าการผลิตเบียร์ชั้นเลิศในอดีตเกิดขึ้นจากผู้หญิง บ้างก็ว่าในอียิปต์โบราณหากชายคนไหนลุกมาผลิตเบียร์ หรือนำมาขายจะถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่ในเปรูโบราณอนุญาตให้เฉพาะหญิงชนชั้นสูงเท่านั้นที่มีสิทธิ์กลั่นเบียร์

 

วัฒนธรรมการกินเบียร์ด้วยหลอด

อีกเรื่องที่แปลกตาสำหรับพวกเราทุกวันนี้เสียเหลือเกินคือวิธีการกินเบียร์ รู้หรือไม่ว่าสมัยโบราณคนเขากินเบียร์กันด้วยหลอดไม่ใช่การใช้ริมฝีปากจรดขอบแก้วกระดกเอา ๆ  เรื่องนี้ได้รับการยืนยันผ่านภาพสลักของทหารซีเรียขณะจิ้มหลอดในไหไว้เป็นหลักฐานคาตา ถามว่าทำไมถึงไม่กระดก ดื่มแบบนั้นมันโคตรสำอางรสชาติไม่ถึงใจ แต่ความจริงมันมีที่มาที่ไปจากกระบวนการหมักบ่มในอดีตที่ไม่ได้ดีหรือสะอาดเท่ากระบวนการในปัจจุบัน ขืนยกกระดกก็ได้ซดหมดทั้งกากทั้งน้ำ แต่กากอาจจะมากกว่าจนทำให้เป็นอุปสรรคขัดอารมณ์การดื่มเลยทำให้ต้องต่อหลอดเพื่อทำหน้าที่กรองกากออก

อย่างไรก็ตามเรื่องที่หลายคนสงสัยคือทำไม “เบียร์” ถึงกลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมทั่วโลก เรื่องนี้สารคดี How Stuff Work ได้ให้เหตุผลที่น่าสนใจว่า based ingredient หรือวัตถุดิบพื้นฐานที่นำมาใช้นี่แหละที่บ่งบอกความ worldwide ของมันได้อย่างดี มันสามารถหาได้ง่ายจากแหล่งต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะทำขึ้นจากวัตถุดิบพื้นฐาน 4 อย่าง ได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ (หรือแป้งที่หมักได้ชนิดอื่น เช่น แป้งสาลี แป้งข้าวเจ้า) ฮอปส์ (ดอกไม้จากพืชในตระกูลป่านเครือเดียวกับพืชประเภทกัญชา) ยีสต์ (ราที่มีเซลล์เดียว) และน้ำ แตกต่างจากการทำไวน์ ที่จำเพาะเรื่องพันธุ์และกรรมวิธีการทำ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โรงบ่มต้องอยู่ใกล้กับสวนองุ่นเพื่อให้ได้คุณภาพในการผลิต

 

จากพีระมิดถึงสยาม วัฒนธรรมการดื่มเบียร์บอกชนชั้น

ร้านขายเหล้าฝรั่งโดยเฉพาะ จะเห็นว่ามีเฉพาะเหล้าประเภทต่างๆ และบุหรี่ต่างประเทศ ซึ่งเป็นสินค้าคู่กัน (ภาพจาก “สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ”)

มากกว่าสีอำพันกับความมึนและการเฉลิมฉลอง แต่การดื่มเบียร์ยังเป็นอารยธรรมที่สืบทอดกันมาในหมู่ชาวอียิปต์ด้วย ในบันทึกชาวไอยคุปต์เขียนไว้ว่าเบื้องหลังการก่อสร้างพีระมิด ฟาโรห์จ่ายค่าจ้างชนชั้นแรงงงานของตนด้วยเบียร์จำนวน 2 เหยือก บ้างก็ได้รับแบบรายวันคือ 3 ครั้งต่อวัน ดื่มกันเป็นล่ำเป็นสัน ไม่รู้เลยว่ากว่าพีระมิดสักแห่งจะสร้างเสร็จจะต้องเสียเบียร์ไปมากน้อยขนาดไหน ที่สำคัญชาวอียิปต์ในทุกชนชั้นยังดื่มเบียร์กันเป็นปกติอีกต่างหาก เรียกได้ว่าเป็นเครื่องดื่มสำหรับทุกชนชั้นเลยทีเดียว

แต่สำหรับประเทศไทยของเราซึ่งในเวลาที่เบียร์เข้ามาครั้งแรกยังคงเรียกว่าสยาม และได้รับสมญาว่าเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่ามีเบียร์ก็เลยไม่ต้องแปลกใจว่าครั้งแรกเมื่อสยามได้รู้จักกับเครื่องดื่มอย่าง “เบียร์” มันต้องมาจากการนำเข้าเท่านั้น เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ชาวสยามคุ้นเคยมันมักจะมาในรูปแบบเหล้ามากกว่า (บ้านเราไม่ได้กินขนมปังเป็นอาหารหลัก พวกข้าวหมัก หรือเหล้าขาวเลยเป็นที่นิยมมากกว่า) โดยหลักฐานจากบันทึกของลาลูแบร์บอกว่าเมื่อนำเข้าครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 นำเข้ามาเพื่อดื่มกันในวงชาวตะวันตกเพียงอย่างเดียว

ส่วนกลุ่มคนไทยที่จะมีโอกาสดื่มเบียร์ได้ในเวลานั้นสันนิษฐานว่าเป็นกลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้นเพราะเป็นสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงจนกระทั่งเกิดการสร้างทางรถไฟจึงราคาถูกลง (คาดว่าราคาที่แพงเป็นผลจากการขนส่ง) ต่อมาเมื่อความนิยมสูงขึ้น  พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) จึงแสวงหาความรู้ในการทำเบียร์และขออนุญาตตั้งโรงต้มเบียร์ขึ้นบริเวณบางกระบือ ตลอดจนไปดูงานในโรงงานต่างประเทศและซื้อเครื่องจักรเข้ามาเสริมและเปิดกิจการริเริ่มสร้างโรงผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทย เกิดเป็นบริษัทบุญรอด บริวเวอร์รี่ บริษัทเบียร์ไทยแห่งแรก จนภายหลังสงครามน้ำเมาสีอำพันมีฟองได้ขยายมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้พวกเรามีเบียร์หลายยี่ห้อ หลายรสชาติให้ได้ดื่มกันมากขึ้น

นอกจากเกร็ดที่มาเบียร์น่ารู้เหล่านี้ ใครที่อยากรู้เรื่องอื่นเพิ่มเติม อัปโหลดความรู้เพิ่มเพื่อให้สีสันของการดื่มเพิ่มขึ้น ผู้เขียนได้รวบรวมเรื่องอื่นมาให้แล้วด้านล่าง ใครที่สนใจเรื่องไหน ไม่ว่าจะเป็นผลวิจัยหรือรสชาติก็ลองคลิกเข้าไปอ่านได้ตามสะดวก

  1. บียร์สด เบียร์กระป๋อง เบียร์ขวด เบียร์ไหนรสชาติดีกว่ากัน
  2. ดื่มเบียร์แล้วอารมณ์ดีไม่ใช่เรื่องคิดไปเอง แต่มีเหตุผลบ่งชี้ทางวิทยาศาสตร์
  3. กินเบียร์กับอะไรถึงอร่อย
  4. รู้วิธีเทเบียร์ให้ถูก รสชาติจะได้ถึงใจกว่า

 

ระหว่าง scroll อ่าน มืออีกข้างที่ว่างแนะนำให้ถือเบียร์กระดกพลาง ๆ ให้ฟองติดปาก รับรองจะได้อารมณ์สุด ๆ … CHEERS

 

SOURCE : 1 / 2 / 3 / 4 / 5 / 6

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line