Entertainment

“ร่างทรง” และหนัง Mockumentary ดราม่าในรูปแบบสารคดีที่สยองจนคนต้องลองด้วยตาตัวเอง

By: Chaipohn November 12, 2021

ในช่วงเวลานี้ วงการหนังคงไม่มีอะไรคึกคักเท่ากับหนังไทย “ร่างทรง” ที่สร้างความหลอนจนทำรายได้และสร้างกระแสทั้งในจอและนอกจอ แม้กระทั่งมีหนังที่หลุดในโลกออนไลน์ แต่ก็ไม่ได้ลดทอนกระแสของหนังเรื่องนี้ให้จืดจางลงได้เลย ซ้ำยังมีผู้ที่พร้อมไปพิสูจน์ความหลอนด้วยตาตัวเองในโรงอย่างแน่นขนัด

แต่ท่ามกลางความสำเร็จระดับโลกนั้น ก็แลกด้วยข้อถกเถียงกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะรูปแบบที่หนังพยายามนำเสนอในรูปแบบหนังสารคดี จนส่งผลให้ผลลัพธ์ออกมาเป็น “หนังเสียงแตก” อย่างชัดเจน คือถ้าชอบจะชอบมาก แต่ถ้าไม่ชอบก็พาลเกลียดไปเลย

โดยเฉพาะการถ่ายทำในรูปแบบของสารคดีนั้น แม้จะไม่ใช่สิ่งใหม่ในโลกภาพยนตร์ แต่ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่สำหรับหนังไทย เราจึงชวนคุณมาทำความรู้จักกับหนังแนวนี้ มาดูกันว่าทำไมนักสร้างหนังหลายคนถึงเลือกที่จะทำในแนวทาง Mockumentary และคำ ๆ นี้แปลว่าอะไรกันแน่

Mockumentary ความไม่จริง สะท้อนความจริงอย่างชัดแจ้ง

หนังสารคดี หรือ Documentary นั้น มักถูกใช้สะท้อนภาพความจริง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของเหตุการณ์หรือบุคคลนั้น ๆ เพื่อใช้โน้มน้าวหรือสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านหลักฐานไม่ว่าจะเป็นภาพเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกได้ หรือการบอกเล่าจากปากผู้ประสบเหตุนั้นมา สารคดีส่วนใหญ่จึงทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนที่มุ่งหวังหรือตั้งคำถามต่อสิ่ง ๆ นั้นโดยใช้ “ความจริง” เพื่อเป็นสิ่งประจักษ์แก่ผู้รับสาสน์

ในขณะเดียวกัน ยาขมของ Documentary ก็ทำให้คนบางคนรู้สึกเบื่อ เมื่อภาพจริงในบางครั้งก็ไม่อาจนำพาอารมณ์ให้ตื่นเต้นจนคนคล้อยตามได้ หนังสารคดีบางส่วนจึงจำต้องสร้างฉากบางฉาก ซีนบางซีน เพื่อสอดรับกับสิ่งที่นำเสนอ เช่นการสัมภาษณ์ของผู้ให้สัมภาษณ์อาจจะน่าเบื่อจนเกินไป หรือบางเหตุการณ์ที่กล้องจับภาพไม่ทัน การใส่สีสันไม่ว่าจะเป็นภาพที่ถ่ายใหม่เพื่อจำลองเหตุการณ์จริงที่กล้องไม่ทันได้ถ่าย เพื่อทำให้เหตุการณ์นั้น ๆ ยิ่งสนุกน่าติดตามเพิ่มมากขึ้น จนเกิดศัพท์ที่เรียกว่า Docufiction หรือ Docudrama ที่เร้าความจริงอีกด้านให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น

แต่เพราะ “ความจริง” นั้นมีหลายด้าน ขึ้นอยู่กับมุมที่มอง ไม่ว่าการเมืองต่างขั้ว / เหยื่อหรือจำเลยของสังคมที่มองต่างมุม มุมมองแห่งความบิดเบี้ยวนี้เอง ก็นำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ความจริง” บน “ความลวง” จนเกิดสิ่งที่เรียกมันว่า Mockumentary นั่นเอง

Mockumentary มาจากการสมาสของคำสองคำ นั่นก็คือ Mock ที่แปลว่า การจำลอง / เย้ยหยัน หรือแสร้งทำ ผสมกับคำว่า Documentary ที่มาจากสารคดี

Mockumentary จึงแปลง่าย ๆ ว่า หนังที่ใช้รูปแบบของสารคดีเพื่อเน้นย้ำความน่าเชื่อถือ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เห็นตรงหน้าล้วนเป็นความลวงหรือเรื่องที่เมคเองทั้งสิ้น

ต้นขั้วของความลวงที่นำเสนอถึงความจริงที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการประกาศผ่านรายการวิทยุในรูปแบบข่าวของ Orson Welles ผู้กำกับหนังยอดเยี่ยมตลอดกาลอย่าง Citizen Kane ที่ก่อนหน้านั้นในปี 1938 เขาเคยประกาศถึงการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาวผ่านวิทยุกระจายเสียง ซึ่งมันได้สร้างความวิตกกังวลของคนหมู่มากเมื่อได้รับฟัง เพราะคิดว่าเหตุการณ์นั้นคือเรื่องจริง

จนกระทั่งได้รับการเฉลยในตอนหลังว่า เหตุการณ์ทั้งหมด Wells นำมาจากนิยายไซไฟเรื่อง The War of the Worlds สร้างความโมโหโกรธาให้กับคนรับรู้มากเพราะทำให้พวกเขารู้สึกโง่และถูกหลอก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เทคนิคการเสนออย่างจริงจังนั้นสามารถสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้สมจริงจนคนเชื่อมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งโชว์ให้เห็นกึ๋นของผู้สร้าง (หรือผู้อำ) มากยิ่งขึ้นเท่านั้น

Mockumentary เองก็ไม่ต่างกัน ยิ่งสมจริง ยิ่งอำเก่ง ก็ยิ่งสร้างเสียงหัวเราะและเสียงฮามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งต้นขั้วของสารคดีเก๊ที่ขึ้นหิ้งคลาสสิคก็คือหนังเรื่อง This Is Spinal Tap (1984) สารคดีปลอมที่ตามติดชีวิตของกลุ่มวงร็อคปลอม ๆ ที่ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม หรือ Borat: Cultural Learnings of America for Make Benefit Glorious Nation of Kazakhstan (2006) หัวหอกของสารคดีเก๊รุ่นใหม่ที่ใช้ความเป็นหนังสารคดี อำเชื้อชาติแซะสังคมกันอย่างสุดโต่งจนบางคนฮาไม่ออก

*อ่านเรื่องราวของ Sacha Baron Cohen จอมป่วนแห่งวงการหนัง ผู้สร้างความปังด้วยสารคดีเก๊แซะสังคมได้ที่ Sacha Baron Cohen จอมป่วนแห่งวงการภาพยนตร์


Mockumentary Horror เมื่อทางตัน นำไปสู่ทางใหม่ของหนังสยองขวัญ

มิติของความกลัวในบริบทที่แตกต่างกัน และอารมณ์ของความกลัวที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา ทำให้ผู้สร้างหนังสยองขวัญพยายามสรรหารูปแบบและเทคนิคเพื่อขยายขอบข่ายความน่ากลัวให้เพิ่มมากขึ้น

และ Mockumentary ก็ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่สร้างความน่ากลัวขนลุกขนพองได้อย่างเหลือเชื่อ เพราะยิ่งสร้างความสมจริงให้คนดูมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งกระตุ้นความน่ากลัวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเท่านั้น Mockumentary Horror หรือเรียกง่าย ๆ ว่า หนัง Found Footage จึงถือกำเนิดแยกย่อยจากตระกูลหนังสยองขววัญนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ซึ่งหนัง Found Footage มีสูตรสำเร็จตายตัวไม่กี่อย่าง ไม่ว่าจะเป็นใช้นักแสดงที่ไม่มีชื่อเสียงเพื่อความความน่าเชื่อถือ การใช้กล้องและการถ่ายภาพแบบดิบ ๆ ที่ไม่ประณีตบรรจงเพื่อความสมจริง และการซ่อนข้อมูลทุกอย่างเพื่อปกปิดเป็นความลับคือเสน่ห์ของหนังแนวนี้นั่นเอง

และนี่คือ 5 หนัง Mockumentary Horror หรือหนัง Found Footage ที่ Unlockmen แนะนำให้ทุกคนต้องดู

Cannibal Holocaust (1980)

เปรตเดินดินกินเนื้อคน คือปฐมบทของหนัง Found Footage ที่เล่าถึงกลุ่มนักทำหนังสารคดีที่เข้าไปถ่ายทำชีวิตของชนเผ่ากินคน ก่อนที่พวกเขาเองจะกลายเป็นอาหารอันโอชะของชนเผ่านั้นเสียเอง ในช่วงเวลาของหนังฉายนั้น คนที่ดูต่างช็อคกับภาพสยดสยองที่เห็นตรงหน้า และปักใจเชื่อว่าภาพเหล่านั้นคือเหตุการณ์จริง ก่อนจะได้รับการเฉลยทีหลังว่า เหล่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นยังคงมีชีวิตอยู่ และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองก็หาได้เป็นชนเผ่ากินคนไม่ ทุกอย่างล้วนเมคอย่างสมจริงจนผู้กำกับอย่าง Ruggero Deodato เกือบถูกรุมประชาทัณฑ์เมื่อเขาสารภาพในอีกหลายปีต่อมาว่ามันคือเรื่องที่แต่งขึ้นมาทั้งหมด

และความสมจริงของ Cannibal Holocaust นั้นเอง ก็เปิดทางให้หนังแนว Found Footage ได้เป็นแนวทางที่คนสร้างหนังสยองขวัญเลือดสาด เลือกที่จะสืบทอดและทำกันในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหนังแนวทางอย่าง “แอบดูเป็น แอบดูตาย” ที่ใช้การเล่าเรื่องราวการจับภาพความตายให้เห็นตรงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นภาพที่สร้างขึ้นมาทั้งนั้น

 

The Blair Witch Project (1999)

หนึ่งในหนัง Found Footage อันลือลั่น ที่วางแผนการตลาดอย่างแยบยลถึงการหายตัวอย่างลึกลับของทีมถ่ายทำสารคดีแห่งแม่มดในรัฐแมรี่แลนด์ ที่ทิ้งไว้เพียงปริศนาของเทปลับอันชวนขนพองสยองเกล้า เล่าความลึกลับและการก้าวล่วงไปยังสถานที่ต้องคำสาป จนนำมาสู่ความหวาดกลัวและถลำลึกไปจนไม่อาจหวนกลับมา

The Blair Witch Project คือหนังทุนต่ำสุดฮิต ที่สามารถสร้างปรากฏการณ์ทำรายได้เป็นอันดับ 1 จากการฉายในยุคนั้น ด้วยการโหมโปรโมทถึงการหายตัวไปอย่างลึกลับของกลุ่มคนทำหนังทั้ง 3 ด้วยการปิดป้ายประกาศตามหาคนหาย ไปจนถึงเก็บงำทุกอย่างในหนังให้เป็นความลับอันดำมืด กระตุ้นความอยากดูจนทำกำไรเป็นกอบเป็นกำ แม้จะถูกหลอกแต่ก็เต็มใจให้หลอกกันอย่างคึกโครม จนมันได้เปิดศักราชของหนัง Found Footage ยุคใหม่ที่เล่นกับเทคโนโลยีและอารมณ์คนดูได้อย่างยอดเยี่ยม

 

V/H/S/ (2013)

กลุ่มโจรกระจอกได้งัดบ้านลึกลับหลังหนึ่ง และได้วีดีโอ 6 ม้วนติดไม้ติดมือไป หากแต่ในวีดีโอนั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องราวสุดสยองที่ยากเกินหยั่งถึง และเรื่องราวของหนังสั้นทั้ง 6 ก็บรรจุอยู่ในวีดีโอเทป ที่แต่ละม้วนบันทึกเรื่องราวแตกต่าง แต่มีจุดร่วมหนึ่งเดียว คือความสยองแบบถึงเลือดถึงเนื้อและความโหดแบบที่คนดูไม่ทันจะตั้งตัว

V/H/S/ คือหนังชุดแนว Found Footage ที่ได้รับคำชมในฐานะการสร้างบรรยากาศผ่านสัญญาณภาพจากวีดีโอเทปมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ดีไซน์ภาพสยองหลอนได้เหนือชั้นจนมีภาคต่อตามมาอีกหลายต่อหลายภาคและสร้างตำนานหนังสยองขวัญยุคใหม่ได้อย่างยอดเยี่ยม

 

Paranormal Activity (2011)

ความสยองที่นำเสนอผ่านกล้องวงจรปิด และใช้โลเคชั่นเพียงห้องนอนห้องเดียว ก็สามารถสร้างความสยองจนกลายเป็นปรากฏการณ์ได้ไม่ต่างกัน เรื่องราวของ 2 สามี-ภรรยาที่พบความผิดปกติในบ้านของตน จึงทำการตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อจับสิ่งผิดปกตินั้น จนได้พบกับความหลอนที่มาพร้อมความกลัวแบบถึงขีดสุด

นับเป็นหนังที่ไม่ธรรมดา เมื่อยามที่หนังเรื่องนี้ออกฉายในเทศกาลหนังซันแดนซ์ จน Steven Spielberg ได้ชมหนังเรื่องนี้ก็ติดใจในไอเดียจนเสนอตัวเป็นผู้จัดจำหน่ายในอเมริกา และทำการโปรโมทหนังด้วยการชวนคนดูมาชมภาพยนตร์เรื่องนี้และซ่อนกล้องวงจรปิดในโรงหนังเพื่อเก็บ Reaction ระหว่างดู จนทำให้หนังเรื่องนี้ไต่ระดับความอยากดูอย่างล้นหลาม จากหนังที่เข้าฉายเพียงไม่กี่โรง ทะยานขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา และกลายเป็นแฟรนไชส์ของหนังสยองแนวกล้องวงจรปิดที่ได้ทำต่ออีกหลายภาค

 

ร่างทรง (2021)

แม้ว่า ร่างทรงจะเป็นหนังซ้อนหนังที่เสนอผ่านการถ่ายสารคดี แต่ท่ามกลางความกังขาของผู้ชมก็นำไปสู่การถกเถียงกันระหว่างคนที่ติดอยู่ในความจริงของครอบครัวที่ได้รับหน้าที่เป็นร่างทรงดวงวิญญาณของย่าบาหยันจนนำไปสู่เรื่องที่ยากเกินควบคุม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายทำสารคดีที่ความละเอียดของภาพกลับละเอียดดุจการถ่ายหนังฟอร์มใหญ่ หรือกระทั่งจรรยาบรรณของตัวคนถ่ายสารคดีเอง ที่ตามติดครอบครัวร่างทรงนี้ประดุจเงาตามตัว แต่นักดูหนังหลายคนก็เลือกที่จะมองข้ามความสมจริงของตัวหนังและมุ่งเป้าไปที่ความสยองในบรรยากาศอันสมจริง พร้อมมองการสร้างสารคดีเป็นเพียงหนึ่งในตัวละครที่บอกเล่าถึงความอยากรู้อยากเห็นไม่สิ้นสุดของคน และมองการดำเนินเรื่องผ่านกล้องคือการสะท้อนภาพความจริงอันชวนสยองและเรียกร้องให้คนดูเชื่อมั่นตามข้อมูลที่เห็นเพียงเท่านั้น

แม้ว่าท้ายสุดร่างทรงจะยอดเยี่ยมเหนือชั้น หรือผิดหวังจนต้องสาปส่ง แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สิ่งที่เหนือกว่าคุณค่าใด ๆ คือความสดใหม่และการท้าทายของผู้สร้างที่ไม่หยุดอยู่กับที่ ร่างทรงจึงไม่เป็นเพียงภาพยนตร์ แต่เป็น นวัตกรรมที่ถูกคิดค้นเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ให้กับคนดูนั่นเอง นับได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดที่น่าสนใจอีกขั้นของหนังไทย Soft Power ของบ้านเราที่ยกระดับหนังผีอันเป็นสินค้าส่งออกทางวัฒนธรรมสู่ระดับโลกได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

 

Chaipohn
WRITER: Chaipohn
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line