Life

“มึงว่ากูติดยังวะ” รับมืออย่างไรดี เมื่อโควิดทำให้เรากลัวจนไม่เป็นอันทำอะไร

By: unlockmen January 22, 2021

หลังจากที่ทั่วโลกเกิดปัญหาโควิดขึ้นมา หลายคนคงเกิดอาการกลัวการออกจากบ้านพอสมควร เพราะตอนนี้มันยังไม่มีวิธีการใดที่สามารถป้องกันการติดโรค COVID-19 ได้แบบ 100% แถมยังการันตีไม่ได้ด้วยว่าวัคซีนจะช่วยทำให้เราปลอดภัยได้จริง เมื่อคนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตัวเองสามารถติดโรคได้ตลอดเวลา และไม่สามารถคาดเดาได้ว่าปัญหานี้จะจบลงเมื่อไหร่ ความเครียด ความกังวล ความหวาดระแวงโรคระบาด ก็มารังควานพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

บางคนอาจได้รับผลกระทบร้ายแรง จนถึงขั้นเป็นโรคกลัวไวรัสโคโรนา (coronaphobia) ซึ่งเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่ส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตพอสมควร เราเลยอยากมาแนะนำวิธีรับมือกับอาการกลัวไวรัสโคโรนา เพื่อให้พวกเรากลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้อีกครั้ง


แบบไหนถึงเรียกว่าเป็น coronaphobia ?

ความกลัวไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป เพราะบางครั้งมันก็ช่วยให้เราระมัดระวังตัว และเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดอย่างดีที่สุด แต่ถ้าความกลัวมีมากเกินไป จนเกิดเป็นโรคกลัวไวรัสโคโรนา (coronaphobia) ขึ้นมา มันก็อาจทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างแย่ลงได้ ลองเช็คตัวเองดูว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่

    • กลัวติดเชื้อ COVID-19 เกินเหตุ ปกป้องตัวเองอย่างหนาแน่น แม้ในเวลาทำกิจกรรมที่รักษาระยะห่างทางสังคมได้ง่าย เช่น สวมถุงมือและหน้ากากในระหว่างการออกกำลังกายในสวนสาธารณะ
    • อยู่ในสภาวะกลัวและกังวลอย่างหนักเป็นเวลานานหลายสัปดาห์จนถึงหลายเดือน
    • หลีกเลี่ยงทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ คน กิจกรรม แม้จะได้รับการยืนยันแล้วว่ามีความปลอดภัย
    • เสียเวลาชีวิตไปกับการตรวจหาสัญญาณหรืออาการของโรคระบาด รวมถึง การหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสบนโลกออนไลน์
    • หมกมุ่นกับการล้าง การทำความสะอาด และการฆ่าเชื้อสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว รวมถึง ร่างกายของตัวเอง

ถ้ามีหลายข้อที่ตรงกับตัวเรา แถมยังเกิดขึ้นมานานแล้วด้วย เราอาจเข้าข่ายเป็น coronaphobia แล้วก็ได้ และควรอ่านบทความนี้ต่อไป เพราะเรามีวิธีรับมือกับอาการกลัวไวรัสโคโรนามาฝากทุกคนกัน

บอกตัวเองว่าทุกอย่างจะต้องดีขึ้น

ถ้าเรารู้สึกสิ้นหวัง เราจะไม่สามารถรับมือกับความกลัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเมื่อเรารู้สึกสิ้นหวังแล้ว เราจะรู้สึกว่าต่อให้ทำอะไรก็ไม่มีประโยชน์ และสุขภาพจิตเราจะยิ่งแย่ลง ดังนั้น เราเลยจำเป็นต้องมีความหวัง เพื่อให้เราสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง เราเชื่อว่าทุกปัญหามีจุดเริ่มต้นและมีจุดจบ COVID-19 ก็เช่นเดียวกัน

เปลี่ยนวิธีการรับข่าวสารใหม่

ถ้าเราเสียเวลาไปกับการอ่านเรื่องที่ถ่ายทอดความน่าสะพรึงกลัวของ COVID-19 มันจะยิ่งทำให้เราเกิดความเครียดและความกังวลมากกว่าเดิม จะดีกว่า ถ้าเราเปลี่ยนมาโฟกัสกับข่าว กิจกรรม หรือ เรื่องราวดี ๆ บ้าง เพื่อลดความครึงเครียด และบรรเทาความกลัว

ใส่ใจกับร่างกายของตัวเองน้อยลง

มันไม่ผิดหรอกที่เราจะอาบน้ำหลาย ๆ รอบ ล้างมือหลาย ๆ ครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ COVID-19 แต่ถ้าเราโฟกัสกับร่างกายของตัวเองมากเกินไป บางทีเราอาจเกิดอาการคิดมาก และวิตกกังวลมากกว่าเดิม ดังนั้น แทนที่จะโฟกัสกับร่างกายอย่างหนัก ลองแบ่งความสนใจมาที่เรื่องอื่นบ้าง เช่น เรื่องที่เราอยากทำ หรือ เรื่องที่ทำให้เราสนุก

ช้าเข้าไว้จะดีที่สุด

เวลาเราเกิดความกลัวหรือกังวล เรามักทำอะไรเร็วขึ้นเสมอ และการทำอะไรเร็ว ๆ มักทำให้เราคิดน้อยลง และเปิดโอกาสให้เกิดความผิดพลาดมากขึ้น ดังนั้น พยายามทำทุกอย่างให้ช้าลง พยายามทำทีละอย่างให้เสร็จ ไม่ multi-tasking จะช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

โฟกัสเรื่องที่ควบคุมได้

ความกังวลมักเป็นเรื่องที่แก้ไขได้ด้วยการลงมือทำอะไรสักอย่าง ลองคิดว่าเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ความกังวลมันหายไป และลงมือทำมัน เช่น ทำกิจกรรมสนุก ๆ ออกกำลังกาย หรือ พักผ่อนให้เพียงพอ แบบนี้จะช่วยให้เราโฟกัสในสิ่งที่สามารถควบคุมได้ และเป็นทุกข์กับปัญหาน้อยลง

 

เราหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น แต่ถ้าเรามีอาการกลัวอย่างหนัก จนไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม อาจเป็นสัญญาณของปัญหาด้านสุขภาพจิต เราเลยอยากแนะนำให้ไปพบกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเข้ารับคำปรึกษา หรือ รับการตรวจรักษาโรคทางสุขภาพจิต ต่อไป

 


APPENDIXS: 1 / 2

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line