Entertainment

“Crying in H Mart” กิมจิ ออมม่า และวงดนตรีร็อก : หนังสือบันทึกความ (เศร้า) จำ ของ Michelle Zauner แห่ง Japanese Breakfast

By: GEESUCH April 15, 2023

บทนำ By UNLOCKMEN : ถึงทุกคนที่มีความทรงจำผูกพันธ์กับครอบครัวผ่านอาหาร (โดยเฉพาะกับแม่) หนังสือบันเล่มนี้อาจจะคล้ายเป็นเหมือนบันทึกช่วงเวลาของคุณด้วยเหมือนกัน มันอาจจะเป็นหนังสือต้องห้ามในวันที่ใครคนนั้นจากไป และก็สามารถเป็นหนังสือเพื่ออ่านให้คิดถึงเขาอย่างหมดใจในวันที่จู่ ๆ ความทรงจำก็ย้อนกลับคืนมาอย่างไม่ตั้งใจอีกครั้งนึง

เรื่องย่อจากปกหลัง : นี่คือบันทึกความทรงจำพาร์ทหนึ่งในชีวิตของ Michelle Zauner หรือที่เราทุกคนรู้จักเธอในฐานะฟรอนท์แมน ร้องนำ เล่นกีตาร์ และแต่งเพลงของวงดนตรีดรีม-ป็อปชื่อดัง Japanese Breakfast เล่าย้อนกลับไปในช่วงที่วงยังไม่เกิดขึ้น ในช่วงเวลาที่เธอเป็นออนนีของผู้เป็นแม่ที่เป็นเหมือนทุกอย่างของชีวิต ผู้ซึ่งจู่ ๆ วันหนึ่งก็พบว่าตัวเองเป็น ‘โรคมะเร็ง’ แล้วความรัก ความสับสน การตัดสินใจที่ยากลำบาก ที่มีมื้ออาหารเป็นเหมือนกาวใจของสายสัมพันธ์อันพิเศษนี้ก็เริ่มต้น  

“H-MART คืออะไร ?” 

พูดง่าย ๆ มันคือซุปเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกา ที่ขายข้าวสารอาหารแห้งทุกสิ่งอย่างจากเอเชีย (ฟีล Makro บ้านเรา) แต่สำหรับมิเชลล์ ซอเนอร์ มันคือสถานที่ ‘ของ’ เธอกับแม่ตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่ตอนที่แม่เข็นรถเข็นแล้วเธอเดินตามต้อย ๆ จนถึงวันที่มิเชลล์กลายเป็นคนเข็นเองในขณะที่อีกมือหนึ่งก็ถือโทรศัพท์ถามสูตรอาหารเกาหลีจากผู้เป็นแม่ ในบทที่ 1 มิเชลล์ให้คำนิยาม H-MART ของตัวเองเอาไว้ว่าแบบนี้   

“เอชมาร์ตทำให้ฉันระลึกได้ว่าแม่กับน้าเคยงดงามและมีชีวิตชีวาขนาดไหน”

ด้วยความสัตย์จริง ผมซื้อหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุผลที่น่าจะเหมือนกับผู้คนจำนวนมากที่เปิดอ่านมัน “แม่” ใช่ครับ แต่เรื่องราวระหว่างผมกับแม่ก็ไม่ได้เหมือนมิเชลล์เสียทีเดียว เรารู้ว่าสนิทกันแบบที่แทบไม่คุยหรือโทรหากันเลย และช่องว่างนั้นเอง เราก็รู้เสมอว่ามีบางเรื่องเท่านั้นที่มีแต่ผมกับแม่ 2 คนบนโลกนี้จะเข้าใจกันได้ … ขอหยุดเรื่องตัวเองเอาไว้แค่นี้ ผมไม่ได้กล้าหาญเหมือนมิเชลล์ที่สามารถเขียน Crying in H Mart ได้แบบซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตัวเองขนาดนั้น ทั้งความขัดแย้งที่มีต่อแม่มาทั้งชีวิต ไปจนถึงความรักอย่างสุดหัวใจในวันที่เธอจากไป ถ้าคุณจะบอกว่าไม่มีทาง ยังไงเธอก็ต้องเซนเซอร์บางอย่างบ้างล่ะ ผมไม่เถียงเลยครับ แต่ผมเชื่อเลยว่าคำว่า “บางอย่าง” คงเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ๆ กับหนังสือเล่มนี้ 

สิ่งที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้สามารถร่ายเป็นลิสต์ยาวมาก เพราะฉะนั้นจะคัดความประทับใจสั้น ๆ ของหนังสือ เพื่อเป็นการป้ายยาให้ทุกคนไปอ่านตาม และอ่านคอลัมน์นี้ได้จนถึงบรรทัดสุดท้ายเท่านั้นพอดีกว่า มีอย่างนึงที่ควรจะรู้เอาไว้ ว่าคุณไม่จำเป็นต้องรู้จักมิเชลล์ หรือเคยฟังเพลงของ The Japanese Breakfast มาก่อนเลยเพื่อเข้าใจมัน 


การเป็นคนนอกของโลกนี้

ผมอาจจะลืมบอกทุกคนไป แต่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้มีแค่ช่วงเวลาระหว่างมิเชลล์กับแม่เพียงอย่างเดียว แต่มันมีช่วงเวลาที่มิเชลล์อยู่กับมิเชลล์ตลอดเวลา และมันคือ Coming Of Age Book ครับ หนึ่งในประเด็นที่งดงามทว่ามาพร้อมความแสนเศร้าซึ่งมีผลต่อการเติบโตของมิเชลล์คือการเป็น ‘คนนอก’ ตลอดชีวิต ซึ่งเริ่มตั้งแต่ตอนที่เธอเริ่มจำความได้เลยด้วยซ้ำ

สำหรับคนที่ไม่ใช่แฟนคลับของมิเชลล์หรือวง The Japanese Breakfast ถ้าลองค้นประวัติของเธอใน Google จะพบว่ามิเชลล์เป็นลูกครึ่งเกาหลี-อเมริกัน ที่อาศัยอยู่ในประเทศอเมริกา ถึงจะหน้าตาน่ารักตั้งแต่เด็ก (และโตอย่างสวยเก๋) มิเชลล์ก็ไม่ได้โชคดีมากนัก เธอเป็นคนนอกทั้งในรั้วโรงเรียนกับเหล่าเพื่อนผิวขาว และกับสังคมเกาหลีในอเมริกา เพราะเธอพูดภาษาแม่ของตัวเองไม่ได้ มีเพียงทางกายภาพเท่านั้นที่บ่งบอกความเป็นเกาหลีของเธอ 

ในหนังสือเล่าว่าการเป็นคนนอกอย่างหลังเป็นปมในใจมิเชลล์มาก ๆ เราจะได้เห็นมิเชลล์พยายามที่จะเข้าใจความเป็นเกาหลีให้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะภาษา อาหาร หรือวัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อจุดมุ่งหมายเดียวเลยคือการเข้าใจ ‘ครอบครัว’ เพราะคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอคือแม่และน้า สิ่งที่น่าชื่นชมก็คือความพยายามที่จะแก้ปมชีวิตให้ได้ไม่ว่าจะใช้เวลานานเท่าไหร่ของมิเชลล์ เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ปม’ แล้ว มีคนไม่มากนักที่อยากจะหยิบมือไปจับความเจ็บปวดนั้นหรอกจริงมั้ย   


จงเผื่อใจเอาไว้สิบเปอร์เซ็นต์เสมอ 

อัลบั้มแรกของวง Japanese Breakfast ชื่อ Psychopomp (2016) ใช้รูปถ่ายของ Chongmi แม่ของมิเชลล์เป็นปก

เรายกชื่อตอนนี้ถอดคำเป๊ะ ๆ มาจากประโยคในหนังสือฉบับแปลภาษาไทยเลย มันคือประโยคที่แม่ของมิเชลล์พูดกับเธอ ประโยคเต็ม ๆ เป็นแบบนี้

“จงเผื่อใจเอาไว้สิบเปอร์เซ็นต์เสมอ ไม่ว่าคุณจะคิดว่าตัวเองรักใครสักคนมากแค่ไหน หรือคิดว่าอีกฝ่ายก็รักคุณเช่นกัน อย่าได้ทุ่มให้เขาไปทั้งใจ ต้องเผื่อไว้สิบเปอร์เซ็นต์เสมอ เวลาล้มจะได้ไม่เจ็บมาก แม้แต่กับพ่อแก แม่ก็เผื่อไว้เหมือนกัน แม่เสริม”

ประโยคนี้จะมีพลังยิ่งกว่านี้อีกเมื่อคุณอ่านมาถึงบรรทัดนั้น เพราะช่วงเวลาก่อนหน้า เราจะได้เห็นความเป็นแม่ผู้คอยสอนมิเชลล์ด้วยความเข้มงวด ความที่ต้องการให้ลูกเพอร์เฟกต์ตลอดเวลาโดยไม่แคร์ความรู้สึก / ความรักที่ไม่เคยปล่อยให้มิเชลล์กินอาหารแย่ ๆ หรือบังคับกินให้หมด / ความหัวเก่า / ความเป็นห่วง และความอีกหลาย ๆ อย่างที่เรียบเรียงได้ว่า “แม่ก็คือมนุษย์ผู้ไม่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งเหมือนกัน” แต่ความงดงามของประโยคนี้ไม่ได้มีเพียงเพื่อแค่เข้าใจความเป็นตัวเองของกันและกันเท่านั้น มันยังเป็นคำวิเศษเอาไว้ใช้เตือนตัวเองในวันที่เรากำลังจะเสียใครไป เผื่อเอาไว้สักสิบเปอร์เซนต์ ให้เจ็บน้อยลงอีกนิดก็ยังดี 


อย่าลืมถามตัวเองว่า ‘เราต้องการเป็นอะไรบนโลกใบนี้’

Michelle Zauner กับ Chongmi แม่ของเธอ

มันจะมีตอนหนึ่งในหนังสือ Crying in H Mart ที่มิเชลล์เล่าว่าเธอไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมแม่ของตัวเองถึงเลือกใช้ชีวิตเป็นแม่บ้าน กวาดบ้าน ซักผ้า ทำอาหาร และอยู่บ้านตลอดเวลา ทำไมถึงไม่เป็นคุณแม่หัวสมัยใหม่เหมือนแม่ของเพื่อนคนอื่น ที่ชอบงานศิลปะแล้วก็ดูเหมือนจะเข้าอกเข้าใจลูกมากกว่า การเป็นสามีและแม่ของลูกคนนึงทำกิจวัตรซ้ำ ๆ ทุกวัน มันคือการใช้ชีวิตจริง ๆ เหรอ ?

คำตอบของคำถามนี้ถูกสรุปในบทหนึ่งของหนังสือว่า แม่ของเธอใช้ชีวิตในแบบที่เรียกว่า ‘อยู่เพื่อให้ความรักกับคนอื่น’ สำหรับมิเชลล์มันคือการที่แม่เลี้ยงเธอจนโต และทำอาหารเกาหลีอย่างใส่ใจในทุกมื้อตลอดเวลา นั่นคือการใช้ชีวิตของแม่เธอ และมันก็คือรูปแบบหนึ่งของงานศิลปะที่สวยงามไม่แพ้กับการใช้ชีวิตในแบบอื่นเลย … การตั้งคำถามว่าเราอยากเป็นอะไร ทำเพื่อใคร และอยู่ที่ไหนบนโลก ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการมีชีวิตจริง ๆ นะ 


ล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Crying in H Mart กำลังจะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ล่ะ เย้ ! โดยมิเชลล์จะมีส่วนในการดัดแปลงบทจากหนังสือเป็นหนังเองด้วย ซึ่งได้ผู้กำกับคือคุณ Will Sharpe นักแสดงเจ้าของรางวัล Bafta จากซีรีส์ The White Lotus (2021-2023) และที่ถูกล็อคตัวเอาไว้แล้วอย่างน่าตื่นเต้น คือตำแหน่งผู้ประพันธ์ซาวด์แทร็คของหนังโดยวง The Japanese Breakfast นั่นเอง ใครจะเหมาะเท่ากับลูกสาวคนเก่งคนนี้อีกเล่า 

สำหรับคนที่อยากอ่าน Crying in H Mart เล่มนี้มีฉบับแปลภาษาไทยจาก Salmon Books ใช้ชื่อไทยว่า พื้นที่ให้เศร้า แปลโดย C.S. (ป่าน ฉัตรรวี) เป็นเล่มที่อ่านได้แบบที่ไม่ต้องเผื่อใจสิบเปอร์เซ็นต์เลย

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line