Life

“ยิ่งเสิร์ชข้อมูล ยิ่งอาการหนัก” รู้จัก Cyberchondria โรคคิดไปเองว่าตัวเองป่วยจากการใช้อินเทอร์เน็ต

By: unlockmen February 17, 2021

ในยุคนี้เราสามารถหาข้อมูลได้ทุกเรื่องเพียงแค่ปลายนิ้ว เรามีอาการป่วยแบบไหน เพียงแค่เข้า Google และเสิร์ชคียเวิร์ด เราก็จะพบกับคำตอบมากมายให้เราค้นคว้าต่อ แต่บางครั้งการใช้อินเทอร์เน็ตในการวินิจฉัยปัญหาด้านสุขภาพก็อาจทำให้เราเกิดอาการคิดไปเองว่า ‘ตัวเองป่วยเป็นโรคร้ายแรง’ เพราะอาการที่ตัวเองเป็นไปคล้ายกับอาการของโรคนั้นส่วนหนึ่ง และส่งผลให้เกิดอาการ Cyberchondria ที่มาขัดขวางความสุขในชีวิตของเรา


WHAT IS CYBERCHONDRIA ? 

Cyberchondria คือ ความกังวลในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่เราใช้อินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลทางการแพทย์ กล่าวคือ เมื่อเราเกิดอาการป่วยอะไรบางอย่าง เช่น ปวดหัวรุนแรง หรือ มีผืนขึ้นตามตัว แล้วเราใช้กูเกิ้ลในการหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการที่เราเป็น เราอาจพบว่าตัวเองสามารถเป็นได้หลายโรค ไม่ว่าจะเป็น ไข้ออกผื่น หัดเยอรมัน หรือ โรคไข้เลือดออก และเมื่อเราเห็นลิสต์โรคเหล่านี้ เราก็มักจะโฟกัสไปที่โรคที่รุนแรงมากที่สุดด้วย ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในเรื่องสุขภาพอย่างหนัก คล้ายกับโรคคิดไปเองว่าป่วย (hypochondria)  

งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงการมีอยู่ และผลเสียของ Cyberchondria ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยจากบริษัท Microsoft (2008) ซึ่งได้วิเคราะห์พฤติกรรมการค้นหาข้อมูลของผู้ใช้งาน search engine ของบริษัท และพบว่า 1 ใน 3 ของคนที่ค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ มักจะหาข้อมูลที่หนักขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าพวกเขาหาคำว่า “อาการปวดหัว” ก็อาจจะหาต่อว่า “อาการปวดหัวที่เกิดจากเนื้องอก” และคำว่า “การรักษาเนื้องอกในสมอง” ตามลำดับ  

นอกจากนี้ทาง Microsoft ยังให้พนักงานบริษัทจำนวน 500 คน ทำแบบสอบถามออนไลน์เกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลด้านการแพทย์ และพบว่า 70% ของคนที่เคยหาข้อมูลอาการป่วย จะหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยร้ายแรงซ้ำในอนาคต ส่วน 60% บอกว่า ผลการค้นหารบกวนการทำกิจกรรมทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์    

การหมกหมุ่นกับอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากการค้นหาข้อมูลออนไลน์ โดยไม่ยอมไปหาหมอ หรือ ไม่เชื่อหมอ สามารถทำให้เราเกิดความเชื่อว่าตัวเองมีอาการป่วยจริง ๆ และเกิดความเครียด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ รวมถึง การสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน คนรัก หรือ คนในครอบครัว เพราะคงไม่มีใครนั่งฟังเราบ่นเรื่องสุขภาพได้ตลอด ต้องมีเหนื่อยและเบื่อหน่ายกันบ้าง 


HOW DOES CYBERCHONDRIA DEVELOP ?

ข้อมูลวิทยาศาสตร์บอกว่า คนที่มีอาการวิตกกังวล อาจจะมีโอกาสเป็น Cyberchondria ได้มากกว่าคนกลุ่มอื่น งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร Cyberpsychology, Behavior and Social Networking (2012) ได้สำรวจผู้ใช้งาน Mechanical Turk (แพล็ตฟอร์มหางานของ Amazon) จำนวน 512 คน และพบว่า 454 คนได้ค้นหาข้อมูลด้านการแพทย์ออนไลน์ ซึ่งในคนกลุ่มนี้  Thomas Fergus นักจิตวิทยาผู้ทำงานวิจัย พบความเกี่ยวข้องกันระหว่าง ความถี่ในการหาข้อมูลด้านสุขภาพออนไลน์ กับ ระดับความวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเอง กล่าวคือ ยิ่งหาข้อมูลอาการป่วยบ่อยเท่าไหร่ เรายิ่งกังวลมากขึ้นเท่านั้น นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบด้วยว่า คนที่มีคะแนนความสามารถในการรับมือกับ ความไม่แน่นอนต่ำ (intolerance of uncerainty) จะค้นหาข้อมูลบ่อย และมีความวิตกกังวลสูงด้วย 

ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ภาวะซึมเศร้า การเสียชีวิตของคนรัก หรือ การได้เป็นแม่คนครั้งแรก ก็ดูจะทำให้เราเป็น cyberchondria ได้เหมือนกัน เพราะคนที่สูญเสียคนรัก มักจะไม่กล้าเผชิญหน้ากับความรู้สึกสูญเสียโดยตรง และใช้ความกังวลเป็นตัวเบี่ยงเบนความสนใจ ส่วนแม่มือใหม่ก็มักจะหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการป่วยของลูกตัวเองบนโลกออนไลน์ 


HOW TO MANAGE CYBERCHONDRIA ?

แม้การใช้อินเทอร์เน็ตในการหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพตัวเอง จะแสดงให้เห็นว่า เราใส่ใจกับสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่เราต้องอย่าลืมว่าข้อมูลบนโลกออนไลน์นั้นไม่ได้เป็นจริงหมด 100% และเราไม่ควรทุ่มเทความเชื่อของตัวเองให้กับสิ่งที่เจอบนอินเทอร์เน็ต

ในเมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นต้นตอของความกังวลของเรา การเล่นมันน้อยลงก็ช่วยให้เราหายจาก cyberchondria ได้เร็วขึ้นเหมือนกัน เพราะเมื่อเราหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคน้อยลง และกังวลเรื่องสุขภาพน้อยลง แต่ถ้าเราเลิกหาข้อมูลบนออนไลน์ไม่ได้จริง ๆ เราก็ควรพิจารณาดูด้วยว่าข้อมูลที่เราค้นเจอมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เช่น มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญมายืนยันข้อมูลนั้นหรือไม่   

บางครั้งความกลัวของเราอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากโรคโดยตรง แต่เกิดจากความรู้สึกแย่ ๆ ทีเก็บสะสมมานาน เช่น ความเครียดเรื้อรังที่เกิดขึ้นจากการทำงาน หรือ ความรู้สึกผิดหวังในความสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งมันอาจกระตุ้นให้เรากลายเป็น cyberchondria เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความรู้สึกเหล่านั้นโดยตรง เมื่อเป็นแบบนี้ เราควรระบายกับคนที่เราเชื่อใจได้ หรือ มีอาการคล้ายคลึงกับเรา จะช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้น  

ความเชื่อที่เกิดขึ้นจากอาการ cyberchondria มักจะไม่เป็นความจริง เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า ข้อมูลบนโลกอินเทอร์เน็ตไม่ได้น่าเชื่อถือได้ 100% และเรามักทำให้ตัวเองเชื่อว่าความเชื่อนั้นเป็นเรื่องจริงด้วย ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการตั้งคำถาม และหาคำตอบมาอธิบายว่าทำไมความเชื่อเหล่านั้นถึงไม่เป็นความจริง    

การฝึกฝน mindfulness ก็ช่วยเยียวยาเราจากอาการ cyberchondria ได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การหายใจเข้า นั่งสมาธิ รวมถึง การรับรู้อารมณ์ เพราะเมื่อเรามีสติ และรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เราก็มักจะมีความกังวลน้อยลงตามมา   

และที่สำคัญ เราต้องอย่าลืมว่า บางครั้งการวินิจฉัยโรคก็ควรทำโดยแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องนี้มากกว่าเรา ดังนั้น การไปพบแพทย์ จึงมีโอกาสทำให้เราเข้าใจอาการที่เราเผชิญอยู่ได้สูงกว่า การที่เราหาข้อมูลมาวินิจฉัยตัวเองจากอินเทอร์เน็ต 


Appendixs: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line