Life

คิดถึงเรื่องร้าย ๆ ในอนาคตตลอดเวลา ? มาเช็คกันว่าเราวิตกกังวลกับอนาคตมากเกินไปรึเปล่า

By: unlockmen November 23, 2020

“เราเตรียมตัวมากพอรึยังนะ”

“วันนั้นจะมีเหตุการณ์อะไรร้าย ๆ เกิดขึ้นรึเปล่านะ”

“เราจะทำอะไรผิดพลาดรึะเปล่านะ”

ฯลฯ

หลายคนน่าจะเคยคิดมากเรื่องอนาคต เพราะเรามักไม่รู้ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นได้บ้างเมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ มาถึง จึงเป็นกลไกของสมองที่สร้างความกังวลขึ้นมา เพื่อปกป้องเราจากภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต  และเป็นตัวกระตุ้นให้เราเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ดีที่สุด แต่สำหรับบางคน ความกังวลที่เกิดขึ้นอาจรุนแรง จนกระทบต่อการใช้ชีวิต บทความนี้เราเลยอยากมาพูดถึงวิธีการรับมือกับความกังวลเรื่องอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนคิดมากน้อยลง และมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นได้


ทำไมเราถึงไม่ควรกังวลเรื่องอนาคตมากเกินไป ?

วิตกกังวลเรื่องอนาคต ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Anticipatory Anxiety ขยายความได้ว่า เป็นภาวะที่เราเครียดและกังวลกับเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเหตุการณ์เหล่านั้นอาจจะเป็นได้ทั้งเรื่องใหญ่ ๆ อย่างเช่น การนำเสนอแผนธุรกิจต่อหน้านักลงทุน หรือ เรื่องเล็ก ๆ อย่าง การขับรถไปทำงาน การพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ฯลฯ ซึ่งความเครียดความกังวลที่เกิดขึ้นมักเกี่ยวข้องกับความคิดที่ว่าเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้นเลวร้าย ปกติเราจะวิตกกังวลเรื่องอนาคตในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเราเป็นโรคแพนิก (Panic Disorder) หรือ โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder) เราอาจวิตกกังวลหนักกว่าคนอื่น

เพราะคนเป็นโรคแพนิกมักจะโฟกัสไปที่เรื่องแย่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งอาจมีอาการคิดซ้ำ ๆ ควบคู่กับการวาดภาพเหตุการณ์เหล่านั้นในหัวซ้ำ ๆ ด้วย ส่งผลให้พวกเขาเกิด ‘ความกลัว’ อนาคตอย่างหนักหน่วง เข่น กลัวว่าจะตื่นตระหนก กลัวว่าจะทำในสิ่งที่น่าอับอาย กลัวว่าจะเกิดความไม่สบายใจ กลัวว่าจะเกิดความเครียด ฯลฯ

ความกลัวอนาคตที่มาเกินไปส่งผลเสียต่อทั้งกายและใจ เราเลยจำเป็นต้องรู้วิธีการรับมือกับความกังวล เพื่อป้องกันไม่ให้ความคิดลบกัดกินชีวิตเรามากจนเกินไป แต่ก่อนอื่นเราอยากให้ทุกคนทำแบบทดสอบความวิตกกังวลอนาคตก่อน เพื่อประเมินว่าตัวเองเป็นคนขี้กังวกับอนาคตมากแค่ไหน แบบทดสอบนี้จะมีคำถามทั้งหมด 6 ข้อ โดยแต่ละข้อต้องให้คะแนนตั้งแต่ 1 (ไม่เห็นด้วยอย่างมาก) – 7 (เห็นด้วยมากที่สุด)

  • ฉันกลัวว่าปัญหาที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่นี้จะอยู่กับฉันไปอีกยาวนาน
  • ฉันกังวลกับเคราะห์ร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
  • ฉันกลัวว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจ จะเป็นภัยต่อฉันในอนาคต
  • ฉันกลัวว่า สถานการณ์ด้านสาธารณสุขในตอนนี้ จะเป็นภัยต่อฉันในอนาคต
  • ฉันมักคิดถึงอาการเจ็บป่วยร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
  • ฉันกลัวว่าตัวเองจะล้มเหลวในการเอาชนะอุปสรรค์ต่าง ๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

*ถ้าได้คะแนนรวมเกิน 30 คะแนน อาจเข้าข่ายเป็นคนมีความวิตกกังวลกับอนาคตสูง


วิธีการรับมืออาการกลัวอนาคต

สำหรับใครที่มีปัญหาเรื่องความกังวล เรามีวิธีช่วยให้ทุกคนรับมือกับมันได้ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะทำให้เรามีความกังวลน้อยลงแล้ว ยังส่งผลให้ชีวิตเราง่ายขึ้นด้วย จะมีวิธีอะไรบ้างมาดูกัน!

ระลึกไว้เสมอว่าความคิดของเราไม่ถูกต้องเสมอไป – เพราะเรามักจะเดาสิ่งที่เราไม่รู้โดยใช้อารมณ์เป็นหลัก แถมความคิดของเรายังเน้นไปที่เรื่องแย่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย ส่งผลให้เราคาดเดาสิ่งที่เกิดขึ้นผิดไปจากความเป็นจริง แถมความคิดยังทำให้เราเจ็บหนักอีก เมื่อเรารู้ตัวแล้วว่าสิ่งที่เราคิด ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเสมอไป เราก็จะสามารถรับมือกับความคิดของตัวเองในแง่บวกมากขึ้น

เปลี่ยนมุมมองที่มีต่ออุปสรรค์ – เราไม่สามารถควบคุมอนาคตได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของตัวเองได้ เราไม่จำเป็นต้องมองว่าอุปสรรค์จะทำให้เกิดผลลัพธ์แย่ ๆ เสมอไป เช่น ความพ่ายแพ้ หรือ ความอับอาย เราสามารถมองอุปสรรค์ในแง่บวกมากขึ้นได้ เช่น มองว่ามันเป็นโอกาสในการเรียนรู้แล้วเติบโตซึ่งหากเรามองอุปสรรค์ที่จะเกิดขึ้นในแง่บวกแล้ว เราจะกังวลและเครียดกับมันน้อยลงอย่างแน่นอน

หาสิ่งที่จะทำให้เราละความสนใจจากความกังวล – การได้คุยกับเพื่อน หรือ กลุ่มคนที่มีพลังบวกก็ช่วยให้เราละความสนใจความกังวลของตัวเองได้มากขึ้นเช่นกัน เพราะบางครั้งการอยู่กับสิ่งเดิม ๆ หรือ คนเดิม ๆ อาจกระตุ้นให้เกิดความกังวลมากขึ้น การทำกิจกรรมที่เราชื่นชอบก็ช่วยได้เหมือนกัน ตราบใดที่มันสร้างความสุขให้กับเรา จนเราหลงลืมความกังวลของตัวเองไป

วางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต – มนุษย์กลัวความไม่แน่นอน เราเลยจำเป็นต้องมีวิธีการเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หนึ่งในนั้น คือ การวางแผน ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้เรารับมือกับสิ่งที่จะมาถึงในอนาคตได้ดีขึ้น การวางแผนทำให้เราสามารถระบุความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ จึงช่วยให้เราสามารถสร้างวิธีการรับมือความเป็นไปได้เหล่านั้นได้ เมื่อวางแผนเสร็จแล้ว เราจึงอุ่นใจได้ว่า เราได้พยายามอย่างเต็มที่แล้วในการเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความวิตกกังวลสูงในเรื่องอนาคต สามารถเกิดขึ้นได้จากความผิดปกติ ดังนั้น ใครที่มีอาการดังกล่าว การไปพบกับผู้เชี่ยวชาญก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาเหมือนกัน


Appendixs: 1 / 2 / 3 / 4

 

 

 

 

 

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line