Life

เหงากินเหล้า เครียดกินเหล้า ยิ่งกักตัวทำไมยิ่งเมา? ต้องดื่มแบบไหนถึงไม่เสียผู้เสียคน

By: PSYCAT April 14, 2020

“จน เครียด กินเหล้า” แท็กไลน์คุ้นหูจากองค์กรหนึ่งที่แม้ผ่านมานานหลายปี คนก็ยังท่องกันได้เหมือนเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนว่าความจนไม่ได้เป็นตัวแปรหลักในสมการนี้ ทุกฐานะ ทุกอาชีพ ทุกการศึกษาล้วนดื่มแอลกอฮอล์เพื่ออะไรบางอย่างทั้งสิ้น

โดยเฉพาะเมื่อ COVID-19 ลุกลามไปทั่วโลก แม้หลาย ๆ เมือง หลาย ๆ ประเทศผับบาร์ถูกสั่งปิด และบางแห่งห้ามขายแอลกอฮอล์เพื่อลดการแพร่ระบาด แต่ผู้คนกลับดื่มกินกันมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ไม่ใช่แค่ที่ไทยเท่านั้น ผู้คนทั่วโลกต่างก็ดื่มมากขึ้นในห้วงเวลาอันยากลำบากเช่นนี้ แม้จะเป็นการดื่มอย่างเดียวดายก็ตามที

ทำไมยิ่งกักตัวโดดเดี่ยว เรายิ่งดื่ม?

ห้ามขายเหล้า ผับบาร์ก็ประกาศปิด แล้วทำไมคนถึงยังดื่มกิน? กิจกรรมผ่อนคลายมีหลากหลายประเภท แต่ทันทีที่กิจกรรมผ่อนคลายหลัก ๆ ถูกปิดประตูตายเป็นอาทิตย์ ๆ หรือเป็นเดือน จากที่เคยไปดูหนังเรื่องโปรดระบบเสียงสะใจที่โรงหนังใกล้บ้านเมื่อใดก็ได้ ก็ต้องหยุด จากที่เคยไปวิ่งออกกำลังกายในสวนหรือเสียเหงื่อเกือบลิตรตามฟิตเนสก็ต้องงด ห้างสรรพสินค้า พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ทุกอย่างปิด จึงไม่แปลกที่คนจะหันมาหนทางผ่อนคลายที่ทำได้แม้อยู่ที่บ้านคนเดียว

ไม่เพียงเท่านั้นการดื่มนอกบ้านนั้นเต็มไปด้วยความรับผิดชอบ เช่น เราอาจต้องคอยดูแลคนอื่นระหว่างดื่มกิน หรือเราต้องขับรถกลับบ้าน ไปจนถึงเวลาที่สถานบริการปิดให้บริการ

แต่การดื่มเองที่บ้านนั้นผู้คนไม่ต้องกังวลเรื่องเวลากลับบ้าน ไม่ต้องห่วงเรื่องการขับขี่ยานพาหนะ ปริมาณการดื่มและช่วงเวลาแห่งการเมามายจึงยืดขยายตามไปด้วย เพราะเมาก็แค่คลานเข้านอนไม่เดือดร้อนใคร

“ใคร ๆ ก็ดื่มในช่วงเวลานี้ นี่คือเรื่องปกติ” คำตอบจากนักจิตวิทยา

Kenneth Skale ประธานสมาคมจิตวิทยาลอสแองเจลีสเคาน์ตี้ระบุว่าเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะดื่มช่วงนี้ “ คิดดูสิว่าในช่วงนี้พวกเราต้องเผชิญกับอะไรบ้าง?” Kenneth Skale กล่าว “ช่วงเวลานี้ชีวิตผู้คนเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงความกดดันเรื่องการเงิน ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นกับพวกเขา”

เขาระบุเพิ่มเติมว่ามนุษย์มักจะใช้สารเสพติดเพื่อ 2 เหตุผลใหญ่ ๆ โดยเหตุผลแรกคือเป็นไปเพื่อเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ และเหตุผลที่สองคือดื่มเพื่อลบลืมหลีกหนีความรู้สึกบางอย่างชั่วคราว ซึ่งเขามองว่าในห้วงเวลาที่เราไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ดังเดิม ทั้งเพื่อนฝูง คนรัก หรือแม้แต่คนทั่ว ๆ ไปที่เราอาจไม่ได้รู้จักแต่บรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ในคืนวันศุกร์ในผับบาร์คนหนาแน่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จึงมาทดแทนความสัมพันธ์ที่ขาดหายไป

ในขณะที่อารมณ์เหงา เศร้า กลัว หดหู่ตึงเครียดที่เราไม่อยากเผชิญในช่วงนี้ ผู้คนก็ใช้การดื่มมาลบลืมมันไปชั่วขณะด้วยเช่นกัน Kenneth Skale กล่าวว่าการดื่มมากไปมันไม่ใช่เรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่เขามองว่าในช่วง COVID-19 มันยังถือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์จะหันมาเลือกวิธีผ่อนคลายด้วยหนทางนี้

นักจิตวิทยาคลินิก Ryan Howes ยังบอกด้วยว่า “มันช่วยลดความเครียดและช่วยให้คุณผ่อนคลายได้จริง ๆ ในขณะที่คุณกำลังดื่ม”

แต่เมาชั่วครั้ง ก็ลืมแค่ชั่วคราว เหล้าจึงอาจทำร้ายมากกว่าช่วย

ดื่มเพื่อการผ่อนคลายชั่วคราวก็เรื่องหนึ่ง แต่หากดื่มเพื่อหวังลบลืมความเครียดวิตกกังวลทั้งหลายตลอดกาล แม้นักจิตวิทยายืนยันว่ามันก็ช่วยได้จริง แต่อย่าลืมว่ามันช่วยให้ลืมความรู้สึกเลวร้ายเหล่านั้นแค่เฉพาะตอนที่เราดื่มเท่านั้น หมายความว่าเมื่อเราสร่างเมา หรือเมื่อพระอาทิตย์ของวันใหม่สาดแสงจ้ามาทักทาย เราก็ยังต้องเผชิญความรู้สึกเลวร้ายเหล่านั้น มิหนำซ้ำการณ์จะกลายเป็นเลวร้ายยิ่งกว่าถ้าเราต้องรับมือกับอาการเมาค้างที่พาลจะทำให้การงานและชีวิตประจำวันรวนไปหมด

นักจิตวิทยาคลินิก Ryan Howes ระบุว่า “เมื่อคุณตื่นนอนในเช้าวันถัดมา คุณจะต้องเผชิญกับอาการเมาค้าง และความเครียดที่คุณพยายามลืมมันเมื่อคืน แต่ที่แย่กว่าคือความสามารถในการจัดการกับความเครียดนั้นที่ลดลงเพราะอาการเมาค้าง”

นอกจากนั้น George F. Koob แพทย์ด้านจิตวิทยาพฤติกรรมและผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติว่าด้วยการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่ผิดและโรคพิษสุราเรื้อรังกล่าวว่า “การดื่มมาก ๆ ไม่ใช่ความคิดที่ดีเลย ถ้าคุณพยายามหลีกเลี่ยงการป่วย เพราะแอลกอฮอล์มีแนวโน้มที่จะระงับระบบภูมิคุ้มกันของคุณได้”

เขายังเตือนด้วยว่าการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ๆ ในช่วงนี้เพื่อฆ่าเวลาอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก โดยเฉพาะเมื่อคุณเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ซึ่งเขาระบุว่าอันที่จริงแล้วในช่วงแห่งการแพร่ระบาดทุกคนก็มีความเสี่ยงและเปราะบางเป็นพิเศษอยู่แล้ว จึงยิ่งไม่ควรบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกันของตัวเอง

“ดื่มอย่างรู้จักตัวเอง”กลวิธีดื่มเหล้าช่วง COVID-19

การดื่มเหล้าและเมาเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ จึไงม่ไดีต่อสุขภาพแน่นอน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงเวลาที่เราต้องรับผิดชอบสังคมด้วยการอยู่ในบ้าน การดื่มแอลกอฮอล์ดูเป็นทางเลือกที่ช่วยชุบชูจิตใจห่อเหี่ยวให้พองฟูและผ่อนคลายได้บ้าง ถ้าอย่างนั้นดื่มเท่าไรถึงจะพอดี? ดื่มแบบไหนถึงจะไม่ทำร้ายสุขภาพและเสียผู้เสียคน?

Kenneth Skale ประธานสมาคมจิตวิทยาลอสแองเจลีสเคาน์ตี้ให้คำแนะนำว่าจริง ๆ มันไม่ได้มีกฎเหล็กตายตัวขนาดนั้นว่าห้ามดื่ม แต่เขาเสนอว่าเราทุกคนควรดื่มแบบรู้จักตัวเอง เนื่องจากการดื่มลำพังที่บ้านนั้นสุ่มเสี่ยงที่เราจะดื่มเยอะขึ้น ๆ ทุกวันโดยไม่รู้ตัว

การไปดื่มตามร้านอาหาร เรามักมีเวลาเป็นตัวกำหนดว่าต้องกลับกี่โมง หรือมีเรื่องความปลอดภัยว่าไม่ควรดื่มมาไปเพราะยังต้องพาตัวเองกลับบ้านให้ได้ แต่การที่ดื่มอยู่ไม่ไกลจากเตียงนอนแสนรัก ทำให้เราสามารถเผลอกระดกเอา ๆ เอาได้เยอะอย่างที่เราไม่คาดคิด

เขาจึงแนะนำว่าเราควรจดบันทึก หรือโหลดแอปพลิเคชันช่วยจำ เช่น ถ้าเรารู้ว่าปกติเราไปกินกับเพื่อนเรากินเบียร์กัน 2 คน 6 ขวด ถ้าเราอยู่คนเดียวตอนนี้ปริมาณเดิมก็ควรเป็น 3 ขวด (ไม่ใช่ปล่อยตัวปล่อยใจให้กินหก เพราะอย่าลืมว่าไม่มีใครมาช่วยหารแล้ว) หรืออาจจดเพื่อดูร่างกายตัวเอง เช่น วันนี้กิน 2 ขวดแล้วเมา ผ่านไป 5 วันดันต้องกิน 4 ขวดถึงจะกรึ่ม ๆ หรือกินแค่ไหนที่เรารู้สึกว่าสนุก หายเครียด ก็จดไว้แล้วกินเท่านั้นพอ ไม่ควรไปถึงขั้นเมา จนพรุ่งนี้เมาค้างและกระทบหน้าที่การงาน

สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรายังสามารถเลือกผ่อนคลายได้ ควบคู่ไปกับการควบคุมไม่ให้ดื่มมากเกินไป

“ดื่มเพื่อดื่ม หรือดื่มเพื่อลืมอะไรบางอย่าง?” ตอบคำถามให้ได้ เมาครั้งต่อไปต้องชัวร์

อีกสิ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำคือการตั้งคำถามถึงแรงบันดาลใจในการดื่มของตัวเองให้ชัด ใช่ เพราะทุกครั้งก่อนที่เราจะตัดสินใจเปิดเบียร์สักกระป๋อง รินไวน์สักแก้ว หรือเลือกเหล้ามาชโลมใจ เราย่อมมีแรงกระตุ้นที่จะดื่มกันทั้งนั้น แต่ถ้าอ่านมาถึงตอนนี้แล้วเราพบว่าเราไม่เคยถามตัวเองเลยสักครั้งว่า “ทำไมต้องกิน?” สักแต่ว่ากิน ๆ ๆ ตามแรงขับภายใน นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่เก็บไว้ใช้ตลอดช่วง COVID-19 และหลังจากทุกอย่างคลี่คลาย

Kenneth Skale แนะนำว่าถามตัวเองให้ดีว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นในการดื่มของวันนี้? ถ้าเราอยากดื่มเพราะอยากเพิ่มความพิเศษให้ช่วงเวลา เช่น นัดเพื่อนวีดีโอคอล เลยอยากดื่มกระตุ้นบรรยากาศ หรือรู้สึกว่าวันนี้ช่างเป็นวันพิเศษ เราควรฉลองแต่ออกไปไหนไม่ได้งั้นเอาแชมเปญมาฉลองให้ตัวเองแล้วกัน ถ้าแรงกระตุ้นการดื่มเป็นไปเพื่อเพิ่มดีกรีความพิเศษของอะไรสักสิ่งหรือเวลานั้น ๆ เขามองว่านี่คือเรื่องปกติ

แต่ถ้าทุกครั้งที่เราดื่ม แล้วถามตัวเองจนได้คำตอบมาว่า ดื่มจะได้หายเหงา ดื่มจะได้ลืมเครียด ดื่มจะได้เลิกเศร้า เขามองว่า “การดื่มเพื่อลบลืมความรู้สึก” นั้นอาจมีปัญหา เนื่องจากความรู้สึกคือสิ่งสำคัญ และเราไม่ควรใช้การดื่มเพื่อลบลืมมัน ถ้าเรารู้สึกว่าความรู้สึกนั้นหนักหน่วง เรายิ่งต้องจัดการมันให้ได้ ไม่ใช่พยายามลบมันทิ้งด้วยเหล้าไม่กี่แก้ว (เนื่องจากสุดท้าย หายเมา เราก็ยังจะจำมันอยู่ดี)

ดังนั้นถ้าคุณคือคนหนึ่งที่ตอบว่าดื่มเพื่อต้องการลบลืม หลีกหนีความรู้สึกอะไรบางอย่าง แทนที่จะดื่มเพื่อให้ลืม ๆ ไป เราควรถามจี้ต่อไปว่านี่คือความรู้สึกอะไร และเมื่อได้คำตอบ เราควรแก้ที่รากของปัญหานั้นให้คลี่คลายให้ได้ ไม่ใช่ผัดวันประกันพรุ่งเพื่อลืมไป

เช่น ถ้าเราบอกว่า เราเหงา การดื่มเหล้าอาจไม่ใช่คำตอบเสมอไป แต่เราต้องถามตัวเองว่าทำไมถึงเหงา? ถ้าคำตอบคือการอยู่คนเดียวนานเกินไป เราอาจต้องตั้งเวลาของทุกวันเพื่อโทรหาเพื่อน ครอบครัว หรือใครสักคนเพื่อคุยด้วยให้เป็นกิจวัตร แก้ปัญหาความเหงาให้คลี่คลายไปได้ หรือถ้าคำตอบคือเบื่อ เราก็ต้องถามตัวเองว่ามันมีกิจกรรมอื่นที่คลายเบื่อโดยไม่ต้องดื่มไหม เช่น อ่านหนังสือ ดูเน็ตฟลิกซ์ เล่นเกมส์ เปิดยูทูบแล้วออกกำลังกายตาม ฯลฯ

พูดง่าย ๆ ว่าถ้าเราต้องการดื่มเพื่อหนีความรู้สึก เราต้องถามให้ชัดว่าความรู้สึกที่เราจะหนีคืออะไร? แล้วมันมีวิธีไหนที่จะแก้ความรู้สึกนี้ได้บ้างโดยไม่จำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช่เอะอะ ๆ ก็เอาแอลกอฮอล์ง่ายเข้าว่า การพยายามหาคำตอบ เราจะได้สำรวจตัวเองมากขึ้น รู้จักและเข้าใจตัวเองมากขึ้น รวมถึงค้นพบกิจกรรมใหม่ ๆ ที่มันอาจไม่ง่ายเหมือนเทของเหลวสีอำพันลงแก้ว แต่อาจให้อะไรใหม่ ๆ ที่คุณคิดไม่ถึงก็ได้

ของเหลวสีอำพันมีทั้งคุณและโทษ ในช่วงเวลาอันแสนโดดเดี่ยวและกิจวัตรของเราทุกคนล้วนเปลี่ยนไป ไม่แปลกที่เราจะหลงใหลการดื่มของมึนเมาเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ แต่การดื่มนั้นควรเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น รวมถึงไม่ไปรวมตัวกันดื่มให้เพิ่มความเสี่ยง

ชนแก้ว แด่นักดื่มผู้เดียวดายทุกท่าน

SOURCE: 1

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line