Life

อันตรายที่เกิดจากความอ้างว้าง เมื่อผู้คนกำลังจะตายจาก “การแพร่ระบาดของความเหงา”

By: TOIISAN January 15, 2019

ในสังคมที่เต็มไปด้วยความเครียด ความสับสนและความโดดเดี่ยว ไม่แปลกที่ผู้คนจะรู้สึกอ้างว้างและความอ้างว้างนี้ก็กัดกินเราแทบตลอดเวลาไม่ว่าเราจะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายหรืออยู่ลำพังก็ตาม แม้เราจะอ้างว้างและเหงากันจนคิดว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ ความเหงา กลับอันตราย รวมถึงส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจมากกว่าที่คิด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่าคนที่ตกหลุมพรางของความเหงามีแนวโน้มจะเสียชีวิตเร็วกว่าคนที่ชอบเข้าสังคม 50% ด้วยตัวเลขที่สูงมากจึงทำให้นักสังคมวิทยาได้ออกมาเตือนถึงอันตรายที่เป็นผลพวงมาจากความเหงา

การศึกษาระบุว่าชาวอเมริกันมากถึงหนึ่งในสามไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกเหงาด้วยกันทั้งนั้น แต่สำหรับผู้สูงอายุจะรู้สึกเหงามากกว่าคนวัยอื่นถึง 18% และความเหงาเป็นเหตุที่ทำให้เราตายได้

Julianne Holt-Lunstad ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Brigham Young University ได้นำเสนองานวิจัยของสมาคมจิตวิทยาอเมริกันที่สำรวจผู้คนกว่า 3.4 ล้านคนในสหรัฐ ฯ (รวมถึงการสำรวจในทวีปยุโรปและเอเชีย) พบว่าผลของความเหงาที่เกิดจากการอยู่คนเดียวนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายและชีวิตวัยเด็กได้เท่ากับโรคอ้วน

เพราะยิ่งเหงาจะยิ่งเครียด และยิ่งเหงาก็จะทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนามีความเห็นไปในทางเดียวกันว่าความเหงาร้ายกาจพอ ๆ กับโรคเบาหวาน อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด

รวมไปถึงงานวิจัยที่พูดถึงอันตรายของความเหงาในคอนเทนต์  Loneliness Kills: เป็นคนเหงามันเจ็บปวด เพราะการเหงา “อันตรายกว่าการสูบบุหรี่ 15 มวนต่อวัน” ที่แสดงให้เห็นว่าความเหงาอันตรายเทียบเท่ากับโรคมะเร็งปอดที่มาพร้อมกับบุหรี่ก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความน่ากลัวของความรู้สึกอ้างว้างที่สามารถทำร้ายเราได้

นอกจากความเหงาที่ทำให้เกิดโรคแล้ว ศาสตราจารย์ Holt-Lunstad ยังแจ้งให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของความเหงา และพยายามหาวิธีสลายความรู้สึกเหงา รวมถึงค้นหาคำตอบว่ากลุ่มคนประเภทไหนจะมีอัตราเสี่ยงเผชิญกับความเหงามากที่สุด

คำตอบที่ได้นอกจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่มักเหงาอยู่บ่อย ๆ แล้ว เรื่องของอายุที่ยืนยาวของเหล่าเศรษฐีก็ส่งผลทำให้เหงาได้ง่ายกว่าคนที่มีฐานะทั่วไปเช่นกัน เมื่อพวกเขาป่วย เขาพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อรักษาโรค และใช้เงินไปกับการซื้อความสุข เสริมสุขภาพจิตด้วยการไปเที่ยวต่างประเทศหรือกินอาหารที่ชอบ

แต่จากผลสำรวจนั้นแสดงให้เห็นว่าเศรษฐีเหล่านี้ถึงจะอายุยืนแต่อัตราการแต่งงานนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อไม่แต่งงานก็ไม่มีลูกหรือบางคนที่แต่งงานก็หย่าร้างและอยู่ตัวคนเดียว ถึงแม้จะอายุยืนและไร้โรคภัยแต่ความเจ็ดปวดจากความเหงานี่แหละที่จะเริ่มส่งผลต่อเหล่าคนมีเงินมากกว่าคนกลุ่มอื่น

ความเหงาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาของ Loneliness Epidemic หรือ การแพร่ระบาดของความเหงา ว่ามันน่ากลัวกว่าที่คิด ในปีที่ผ่านมาประเทศอังกฤษได้ตระหนักถึงปัญหาของความเหงาและได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเหงาขึ้นอย่างจริงจัง เพื่อให้ประชาชนไม่มองข้ามอันตรายที่เกิดจากความเหงา และลดปัญหาการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากภาครัฐในบางประเทศที่พยายามแก้ปัญหาอันตรายจากความเหงาแล้ว ศาสตราจารย์ Holt-Lunstad ได้เสนอวิธีแก้ปัญหาไว้เช่นกัน ด้วยการให้คำแนะนำว่าผู้คนควรที่จะวางแผนชีวิตให้ดีก่อนถึงวัยเกษียณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุ สังคม การเงิน ทุกอย่างมีส่วนที่ทำให้เกิดภาวะอารมณ์เหงา หมั่นสร้างปฏิสัมพันธ์กับสังคมส่วนร่วมนั้นก็เป็นสิ่งจำเป็นที่แม้จะดูเป็นเรื่องยุ่งยากแต่ก็ไม่ควรละเลย

ไม่ว่าเราจะเป็นผู้ชายแข็งแกร่งแค่ไหน ก็อย่าอย่าปล่อยให้ตัวเองต้องจมกับความเหงานานเกินไป ใช้เวลาว่างทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ออกไปพบปะกับผู้คนบ้างในบางครั้ง หรือหาความมั่นคงทางจิตใจในรูปแบบที่เราชอบเพื่อให้ความเหงามันจางหายไปจากใจได้บ้าง

 

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line