Life

รับมือกับ Empty Nest Syndrome อาการโศกเศร้าหลังจากลูกต่างไปใช้ชีวิตนอกบ้านของตัวเอง

By: unlockmen November 15, 2021

พอรู้ว่าลูกชายหรือลูกสาวที่ตัวเองเลี้ยงมากับมือตั้งแต่เล็กจนโต จะต้องออกจากบ้านไปทำงานหรือเรียนในที่ห่างไกลการดูแล ผู้ปกครองมักรู้สึกสับสนหรือรู้สึกไม่สบายใจจากการสูญเสียสมาชิกในบ้าน และบรรยากาศรอบตัวที่เหงาลง เราเรียกอาการที่เกิดขึ้นว่าเป็น ‘Empty Nest Syndrome’ ซึ่งทำลายสุขภาพจิตของผู้นำครอบครัวได้อย่างมาก หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี UNLOCKMEN จึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักวิธีรับมือกับอาการนี้ให้อยู่หมัดกัน

 

Empty Nest Syndrome คือ อะไร

Empty Nest Syndrome คือ อาการโศกเศร้าของผู้ปกครองที่เกิดขึ้นหลังจากลูกของพวกเขาได้ออกจากรังหรือบ้านของพวกเขาไป การสูญเสียสมาชิกในบ้านทำให้ผู้ปกครองต้องเจอกับการสูญเสียครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สูญเสียหน้าที่และชีวิตประจำวันในฐานะผู้ปกครอง หรือ สูญเสียการใช้เวลาร่วมกับลูกตัวเอง เป็นต้น ส่งผลให้พวกเขาเกิดความเจ็บปวด และอาจต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้

ความน่ากลัวของอาการ Empty Nest คือ มันทำให้ผู้ปกครองเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าและอาการติดสุรามากขึ้น เพราะความรู้สึกแย่ ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างบั่นทอนจิตใจพวกเขามากสมควร จนบางคนอาจเลือกที่จะหนีจากความเจ็บปวดโดยการใช้ของมึนเมาเป็นตัวช่วย แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็ช่วยลดความขัดแย้งเรื่องงานหรือครอบครัวได้เหมือนกัน เพราะคู่รักบางคู่อาจโฟกัสกับเรื่องลูกเป็นหลักมาตลอด จนเมื่อภาระเรื่องลูกหายไป พวกเขาก็สามารถกลับมาโฟกัสกับเรื่องความสัมพันธ์ได้มากขึ้น และมีชีวิตสมรสที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม

 

เราจะรับมือกับ Empty Nest Syndrome ได้อย่างไรบ้าง

คนที่เจอกับ Empty Nest Syndrome มักเจอปัญหาต่าง ๆ เช่น สูญเสียเป้าหมายในการใช้ชีวิต รู้สึกกังวลเรื่องลูกบ่อยขึ้น หรือ รู้สึกเครียดกับคู่สมรสมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้หากเรารู้จักวิธีรับมือที่ถูกต้องดังต่อไปนี้

  • ยอมรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนคุณสามารถควบคุมลูกได้ทุกอย่างทั้งเรื่องเวลาหรือประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้รับ แต่ตอนนี้ทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว คุณไม่มีอำนาจมากขนาดนั้นอีกต่อไป เรื่องนี้อาจทำให้คุณเกิดความเศร้าไม่น้อย สิ่งที่คุณควรทำ คือ เปลี่ยนมาโฟกัสกับเรื่องที่คุณสามารถช่วยลูกได้หลังจากที่เขาออกจากบ้านไป
  • รักษาความสัมพันธ์ แม้แต่ตอนที่แยกกันอยู่ คุณก็ยังสามารถคีฟคอนเนคชั่นกับลูก ๆ ของคุณได้ผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การคุยโทรศัพท์ การติดต่อผ่านอีเมล์ ไลน์ หรือ วิดีโอคอล การไม่ติดต่อกับพวกเขาเลยจะยิ่งทำให้คุณรู้สึกแย่มากกว่าเดิม
  • มองหาแรงสนับสนุน แชร์ความรู้สึกของคุณกับเพื่อนหรือคนที่คุณรัก โดยเฉพาะคนที่ลูกของพวกเขาเพิ่งออกจากบ้านเหมือนกัน เพราะมันจะทำให้คุณไม่รู้สึกโดดเดี่ยว และถ้าคุณรู้สึกซึมเศร้า ก็ควรไปพบแพทย์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสุขภาพจิต เพื่อรับการรักษาหรือบำบัดต่อไป
  • คิดในแง่บวก ลองคิดดูว่าเราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการที่ลูกออกจากบ้าน เช่น ทำให้มีเวลาอยู่กับภรรยามากขึ้น หรือ มีเวลาในการทำสิ่งที่ชอบมากขึ้นเป็นต้น mindset แบบนี้จะช่วยให้คุณปรับตัวเข้าหาการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น

 

เตรียมตัวรับมือกับ Empty Nest  Syndrome

แม้ลูกของคุณยังไม่ออกจากบ้านในตอนนี้ คุณก็ควรเตรียมตัวรับมือกับมันไว้ก่อนอยู่ดี ซึ่งทักษะที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราเกิดการปรับตัวได้เร็ว คือ การยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการสูญเสียให้ได้เร็วที่สุด โดยการโฟกัสที่เป้าหมายอื่นนอกจากหน้าที่พ่อ

  • ลองทำลิสต์บทบาทหน้าที่ทั้งหมดที่เรามีนอกจากผู้ปกครอง โดยการคิดถึงบทบาทที่เราได้ใช้แรงและเวลาจำนวนมากไปกับมัน บทบาทเหล่านี้นจะเป็นอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็น ภรรยา ญาติ ลูกชาย เพื่อน พนักงาน หรือ อาสาสมัคร
  • ดูลิสต์แล้วคิดทบทวนดูว่าบทบาทไหนที่เราอยากจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น เราอาจจะอยากก้าวหน้าในหน้าที่การงาน หรือ อยากใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น หรือ เราอาจจะเป็นคนรักที่ดีขึ้นของแฟนสาว แบบนี้จะช่วยให้เรามีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น
  • คิดถึงความสนใจที่เราอยากทำมันต่อ เช่น งานอดิเรกที่เราเคยทำก่อนมีลูก หรือ งานอดิเรกที่เราไม่เคยทำมาก่อนแต่น่าสนใจ ลองมองหาชมรม กลุ่ม หรือ งานอีเว้นท์ที่อยู่ในความสนใจของเรา และช่วยให้เราได้เจอกับคนกลุ่มใหม่
  • อย่ารอให้ลูกของคุณออกจากบ้าน ถึงจะเริ่มมองหาบทบาทหรือความสนใจใหม่ เราสามารถเริ่มทำมันได้ตั้งแต่ตอนนี้ มันอาจจะไม่น่าสนุกเหมือนกับที่คิดในตอนแรก แต่กิจกรรมและความสนใจใหม่ ๆ จะช่วยให้เราปรับตัวเข้าหาชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายและเร็วขึ้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีรับมือกับ Empty Nest Syndrome ที่เราอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกัน ซึ่งเราหวังว่ามันจะช่วยให้ทุกคนสามารถผ่านความรู้สึกแย่ ๆ และมีความสุขกับชีวิตได้ในวันที่สมาชิกครอบครัวแยกย้ายกันไปอยู่คนละที่


Appendix: 1 / 2 / 3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line