Style

อั้นไปทำไมให้ขนลุกชูชัน เมื่อผายลมมีประโยชน์มากกว่าแค่ระบายลมและไม่ได้แปลว่า “หยาบคาย”

By: anonymK December 13, 2018

มีใครเคยเจอปัญหาที่มองไม่เห็นอย่างเรื่อง “ลมตด” กันบ้าง

ถึงแม้ว่าการผายลมมันสุดแสนจะเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนต้องทำ พวกเราหลายคนเองก็เคยผายลมอัดกันในวงเพื่อน แต่พอมีแฟนหรืออยู่ท่ามกลางคนหมู่มากคงต้องเคยเจอปัญหาเรื่องนี้กันบ้าง ทั้งการตกเป็นเป้าสายตา จนถึงประณามไล่เราไปผายลมที่ห้องน้ำ ทั้งที่บางครั้งนั้นมันก็ไม่ได้มีกลิ่นสักกะนิด

เพื่ออธิบายเธอว่า “เฮ้ย! เธอ เราผายลมไม่ได้แกล้งเธอ แต่มันเรื่องธรรมชาติด้วย” UNLOCKMEN ขอส่งต่อสาระของการผายลม 7 ข้อ ที่จะทำให้คุณไม่ต้องประหม่าแค่แชร์ให้คนเหล่านั้นได้อ่าน จะมีอะไรกันบ้างไปดูกันเลย!

1. ดีกับลำไส้ใหญ่

อั้นไว้แทนที่จะรีแล็กซ์ให้เป็นไปตามธรรมชาติของร่างกายไม่ว่าอะไรก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ อุจจาระ หรือกระทั่งเรื่องแก๊ส ถึงแม้การส่งเสียงปู้ดป้าดต่อหน้าธารกำนัลมันจะเสี่ยงแค่ไหน แต่คงต้องขอลองเพราะถ้าฝืนไปขวางระบบการทำงานของลำไส้ในการกำจัดแก๊สแล้ว อาจจะส่งผลเสียกับทั้งระบบย่อยและลำไส้ในระยะยาว ไม่คุ้มจะอั้นหรอก บอกตรง ๆ

 

2. แก้โรคท้องอืด

ท้องอืดไม่ใช่เรื่องตลก เพราะมันทำให้ผู้ชายเราสายชิมอย่างเราเริ่มจะไม่อร่อยพะอืดพะอม ซึ่งอาการทรมานท้องไส้แบบนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วงสั้น ๆ หลังจากกินอาหารมื้อปกติหรือมื้อใหญ่เข้าไป และไอ้อาการท้องบวมกับความรู้สึกมวน ๆ นี้มันเป็นสัญญาณชี้ว่าแก๊สสะสม ถึงเวลาต้องปล่อยออกมา งานนี้แม้ว่าการอั้นลมไว้จะไม่ถึงตายแต่มันก็ทรมานร่างกายใช่ย่อยโปรดจงเห็นใจ

3. กลิ่นของมันมีประโยชน์

ถึงกลิ่นจะน้อง ๆ สกั๊งหรือระดับการหมักหมมจะหนาแน่น แต่มีคำอธิบายหนึ่งที่น่าจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกดีเวลาได้ดมกลิ่นผายลมขึ้น เนื่องจากในกลิ่นผายลมของเรามีสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า ไฮโดรเจนซัลไฟต์ คลุ้งอยู่ในนั้น ซึ่งมีผลการศึกษาอธิบายว่าสิ่งนี้ที่มากับกลิ่นนั้นช่วยป้องกันโรคบางโรคได้ แถมยังกันโรคหัวใจหรือหลอดเลือดสมองได้ด้วย

 

4. การผายลมบ่งชี้ว่าระบบทางเดินอาหารกับแบคทีเรียลำไส้ยังดีอยู่ไหม

“การกินอาหารที่สร้างแก๊สคือหนทางเดียวที่จุลินทรีย์ในลำไส้จะได้สารอาหาร ถ้าเราไม่กินอาหารประเภทคาร์บก็ยากมากที่จุลินทรีย์มีประโยชน์เหล่านั้นจะอยู่ในลำไส้” Purna Kashyap แพทย์ด้านระบบทางเดินอาหารจาก Mayo Clinic ใน Rochester, Minnesota ให้คำอธิบายไว้

ไม่เพียงเท่านั้น เพื่อไม่ให้ขาดตกบกพร่องกับระบบการย่อยที่ดีของเรา เราก็ต้องกินอาหารสร้างไฟเบอร์สูงเข้ามาช่วยพัฒนาฟังก์ชันการย่อยด้วย โดยแนะนำให้กินพืชผักประเภท ถั่วทั่วไปและถั่วเลนทิล กะหล่ำปลี คะน้า ซึ่งเราไม่ต้องบอกหรอกว่าพวกนี้มันสร้างกลิ่นหรือเร่งการผายลมแค่ไหน แต่เอาเป็นว่าถ้าไม่ผายลมก็จำไว้ได้เลยว่าระบบการย่อยเราตอนนี้มันต้องผิดปกติอะไรสักอย่างแน่นอน

 

5. ทำหน้าที่เป็นหมอด้านโภชนาการ

จากข้อที่แล้วที่บอกว่ากินให้ผายลมต้องกินอะไร ในอีกแง่ระดับกลิ่นผายลมมันยังถอดรหัสเรื่องสมดุลเรื่องโภชนาการเราได้อีกด้วย เพราะระดับกลิ่นมันโชว์ว่าเรากำลังกินอะไรเยอะเกินไปหรือเปล่า เช่น เมื่อเรากินเนื้อเยอะเกินไปกลิ่นอาจจะเกินบรรยาย ดังนั้น เราก็ควรจะลดอาหารประเภทนี้ลงมาอีกนิด แบบที่เราไม่ต้องเสียเงินเข้าโรงพยาบาลหรือคลินิกไปถามผู้เชี่ยวชาญที่ไหน

 

6. ไซเรนสุขภาพ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแต่ประโยชน์ของการผายลมที่น่าสนใจคือบางครั้งมันสามารถพยากรณ์ปัญหาสุขภาพของเราได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น กลิ่นที่แย่ผิดปกติ หรืออาการปวดที่เกิดจากการผายลมและการผายลมถี่ มันชี้ได้ว่าเราอาจจะกำลังเป็นได้ตั้งแต่เรื่องแพ้อาหารไปจนถึงมะเร็งลำไส้

7. ระบายความอึดอัดคับข้องของร่างกาย

ประโยชน์สุดท้ายคือการระบายความแน่นของอาการท้องอืดท้องเฟ้อจากลมที่ปล่อยออกไป ซึ่งแม้จะดูน่าอายในสายตาคนอื่นแต่ก็ดีกว่าอมอั้นตดเก็บแก๊สไว้ข้างใน

ฟังดูแล้วถึงจะมีประโยชน์แค่ไหน แต่ว่าก็ยังยากจะทำให้ยอมรับอยู่ดีใช่ไหม ทางเลือกง่าย ๆ ถ้ายังเดินทันก็เลี่ยงการผายลมกลางฝูงชน แต่ถ้าหลังชนฝาแล้วจริง ๆ เราแนะนำให้สร้าง norm ใหม่อัปสกิลการผายลมแบบมีชั้นเชิงเข้าไปเพิ่มให้มันกลายเป็นเรื่องขำ ๆ ไปเลยแล้วกัน ยิ่งตอนนี้มีแอปฯ AR มาช่วยให้เรื่องผายลมเป็นเรื่องตลกธรรมชาติด้วยแล้ว เราจะได้เนียนแบบไม่ต้องเขินแบบเดียวกับคลิป

พิมพ์เสร็จพอดี…เดี๋ยวขอตัวไปเข้ามุมแปปนะ อ๊าาาาา….สบาย

 

 

SOURCE

anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line