Life

HEALING MINDSETS: เมื่อเรากลัวตายจนจิตใจพัง จะเรียกความสุขกลับคืนมาได้อย่างไรบ้าง

By: unlockmen February 24, 2021

แม้หลายคนจะยอมรับได้แล้วว่า “ชีวิตไม่ยั่งยืน” ยังไงสักวันหนึ่งเราก็ต้องตายจากคนที่เรารักไป แต่ในใจของเรากลับพยายามหนีจากความตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะมนุษย์จะกลัวความตายเป็นธรรมชาติ เราเลยพยายามใช้ชีวิตกันอย่างระมัดระวังที่สุด เพื่อให้ชีวิตของตัวเองยืนยาว ซึ่งเป็นเรื่องที่เฮลตี้ แต่บางคนอาจได้รับผลกระทบจากความกลัวมากเกินไป จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ซึ่งเดี๋ยวเราจะอธิบายในช่วงท้ายของบทความว่าจะมีวิธีอะไรบ้างในการรับมือกับ ‘อาการกลัวความตาย’ มากเกินไปเพื่อให้เรากลับมาใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ดั่งเดิม


ที่มาที่ไปของอาการกลัวตาย

 

อาการกลัวตาย (หรือ thanatophobia) เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงตั้งแต่สมัย ซิกมันด์ ฟรอยด์ แล้ว และมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อ เอิร์นเนส เบกเกอร์ มนุษยวิทยา ได้เสนอว่า มนุษย์ทุกคนกลัวตาย เพราะไม่สามารถยอมรับความคิดเกี่ยวกับการตายหรือความตายได้ จนเป็นที่มาของทฤษฎี Terror Management Theory (TMT) ซึ่งอธิบายว่า มนุษย์ต้องต่อสู้กับความขัดแย้งภายในตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความขัดแย้งว่านี้ คือ ความขัดแย้งระหว่างความปราถนาที่จะมีชีวิตอยู่ และการรับรู้ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

การรับรู้ว่าสักวันหนึ่งเราต้องตาย กระตุ้นให้มนุษย์พยายามรักษาความเชื่อหรืออุดมการณ์ของตัวเองไว้อย่างหนาแน่น เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเรารู้สึกว่าชีวิตของตัวเองมีความหมาย เลยจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมัน

นอกจาก TMT แล้วยังมีทฤษฎีอื่น ๆ ที่พยายามอธิบายอาการกลัวตายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น Separation Theory ที่พยายามชี้ว่า ประสบการณ์ในวัยเด็กส่งผลต่ออาการกลัวความตายในวัยผู้ใหญ่ หรือ Post-Traumatic Growth Theory (PTG) ที่พยายามชี้ว่า หลังเจอประสบการณ์ที่เลวร้าย (trauma) เช่น ประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่จนต้องเข้าโรงพยาบาล หรือ ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต คนเราจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้น เช่น กลัวตายน้อยลง และสนใจกับเป้าหมายในชีวิตของตัวเองมากขึ้น


ทำไมคนเราถึงกลัวตาย

มีหลายเหตุผลมากที่ทำให้เรากลัวตาย ไม่ว่าจะเป็น เพราะเชื่อว่าความตายจะทำให้เจ็บปวดทรมาน เพราะไม่แน่ใจว่าพอตายแล้วจะเกิดอะไรขึ้นอะไรหลังจากนั้นบ้าง (ไม่รู้ว่าจะดีกว่าหรือแย่กว่าตอนมีชีวิตอยู่) เพราะเชื่อว่าพอตายแล้วเราจะไม่มีตัวตนหลงเหลืออยู่อีกต่อไป เพราะเชื่อว่าพอตายแล้วจะถูกสวรรค์ลงโทษ เพราะเชื่อว่าพอตายแล้วเราจะไม่สามารถควบคุมชีวิตของตัวเองได้ เพราะกังวลว่าถ้าตายแล้วคนรอบข้างจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร ทั้งหมดนี้สามารถทำให้เกิดความกังวลเรื่องความตายขึ้นมาได้ ซึ่งกระตุ้นให้เราอยากใช้ชีวิตอย่างยืนยาว


รับมืออย่างไรเมื่ออาการกลัวตายทำให้ชีวิตเราฟังก์ชันแย่ลง

อาการกลัวตายเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันกระตุ้นให้เราพยายามใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง และตัดสินใจทำอะไรที่เสี่ยง ๆ น้อยลง แต่ถ้าเกิดเรากลัวตายมากเกินไป จนถูกความคิดนี้ครอบง่ำ การใช้ชีวิต รวมถึง การตัดสินใจต่าง ๆ ก็อาจจะแย่ลงได้เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น กลัวตายมากเกินไป จนไม่กล้าออกจากบ้านเลย เป็นต้น ดังนั้น เราเลยจำเป็นที่จะต้องควบคุมความกลัวของเราให้ได้ เริ่มจากลองวิธีเหล่านี่ก่อนเลย

ใช้ความกลัวเป็นแรงจูงใจในการดูแลตัวเอง

แทนที่เราจะจมอยู่กับความกลัว และสิ้นหวัง ลองใช้ความกลัวเป็นตัวกระตุ้นให้เราพยายามยืดชีวิตของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ นอนหลับให้เพียงพอ รวมถึง การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับคนรอบข้าง พฤติกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถรักษาสุขภาพได้ยาวนาน และการมีสุขภาพที่แข็งแรงก็ช่วยให้เราตายช้าลงด้วย

สนใจเรื่องความตายให้น้อยลง

การสนใจแต่เรื่องความตาย ไม่ได้ให้ประโยชน์อะไร นอกจากสร้างความเครียด ความกังวล และทำให้ระบบการใช้ชีวิตขัดข้อง ดังนั้น ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น การเปลี่ยนโฟกัสจึงเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องทำ ลองเริ่มจากการตั้งเป้าหมายในชีวิตเพื่อให้เราหันมาสนใจการกระทำของตัวเองมากขึ้น แล้วเราจะเหลียวมองความกังวลน้อยลงตามมาเอง

ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ออกมา

บางครั้งการทำงานอดิเรก เช่น การเขียนหนังสือ วาดภาพ หรือ ถ่ายรูป ก็ช่วยให้เรารู้สึกมีชีวิตชีวามากขึ้นได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราได้ปลดปล่อยอารมณ์และแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมา บางทีผลงานศิลปะที่เราสร้างขึ้น อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนรุ่นถัดมารับรู้เกี่ยวกับเรามากขึ้นได้ ดังนั้น ถ้าใครกลัวว่าตายแล้วจะไร้ตัวตน การทำงานฝีมือจะช่วยให้เรารักษาตัวตนไว้ได้

มองหาความสุขจากสิ่งที่อยู่รอบตัว

เราเชื่อว่าสิ่งดี ๆ มีอยู่ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การได้ดื่มกาแฟแก้ว หรือ การได้ช่วยเหลือใครสักคน ถ้าเราสามารถเอนจอยกับสิ่งเล็ก ๆ ที่อยู่รอบตัวได้ เราจะมีชีวิตยืนยาวขึ้น ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใกล้เรื่องนี้ได้ คือ การหา ikigai ของตัวเอง แล้วเราอาจจะพบว่าไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องกังวลเรื่องความตาย

อย่างไรก็ตาม การเยียวยาอาการกลัวตายอย่างหนัก อาจไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว เพื่อน หรือ คนรัก ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถผ่านพ้นมันไปได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้น คนที่เป็น thanatophobia ไม่ควรปิดบังอาการของตัวเอง และกล้าที่จะเล่าให้คนที่เชื่อใจฟัง หรือ อาจลองใช้บริการจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตบำบัด


Appendixs: 1 / 2 / 3 / 4

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line