Entertainment

“ถ้าเป็นหมา ELECTRIC.NEON.LAMP ก็แก่มากแล้ว” เส้นทาง 14 ปี ของวงจากชมรมดนตรี

By: TOIISAN March 22, 2020

มีใครสักคนเคยกล่าวไว้ว่า บทเพลงไพเราะช่วยทำให้บรรยากาศในแต่ละสถานการณ์ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ UNLOCKMEN ครุ่นคิดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยครั้งเพราะพวกเราก็เป็นคอดนตรี บางคนชอบฟังเพลงในกระแส บางคนชอบฟังเพลงนอกกระแส บางคนชอบฟังเพลงสากลไปจนถึงเพลงของไอดอลเคป๊อป

พวกเรามักสลับกันเปิดเพลงเพื่อสร้างบรรยากาศในออฟฟิศ และหลายครั้งหลายคราวที่เลือกฟังเพลงของวงดนตรีวงหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง วงที่ว่าก็คือ eletric.neon.lamp

เราได้ฟังเพลงของ eletric.neon.lamp มาประมาณหนึ่ง และในที่สุดก็มีโอกาสร่วมวงสร้างบทสนทนากับสมาชิกในวงทั้ง เจน (ร้องนำ) แทน (กีตาร์) อุน (กีตาร์) เต้ (เบส) และแป๊ก (กลอง)

เราพบว่า eletric.neon.lamp คือวงดนตรีที่เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าสนใจ วิธีการเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ มุกตลกกวน ๆ อย่าง “ถ้าเทียบกับหมา eletric.neon.lamp ก็แก่มากแล้ว” และถ่ายทอดเรื่องราวอย่างจริงใจว่ากว่า 14 ปี พวกเขาพบเจออะไรบ้างระหว่างที่นั่งอยู่บนรถไฟแห่งความฝัน

 

การเดินทางจากเชียงใหม่สู่ใจกลางของวงการเพลงไทย

วงดนตรีนามว่า eletric.neon.lamp ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มคนที่หลงรักเสียงเพลงและอยากสร้างสรรค์ผลงานด้านดนตรีในสไตล์ของตัวเอง เริ่มจากพ.ศ. 2549 ที่พยายามค้นหาตัวเอง ลองผิดลองถูก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนวันนี้นานถึง 14 ปี ระยะเวลานานขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ UNLOCKMEN จึงเชื่อว่าจะต้องมีเรื่องราวมากมายที่ eletric.neon.lamp อยากจะเล่าให้เราฟังโดยเริ่มจากคำถามง่าย ๆ อย่าง ชื่อวงของพวกเขา

เจน: ชื่อวงของเราได้มาจากต้นที่เป็นมือกีตาร์คนก่อน ต้นนั่งอ่านหนังสืออยู่ครับแต่ว่าอ่านไม่รู้เรื่อง ระหว่างที่นั่งอ่านอยู่บนโต๊ะมีโคมไฟอยู่อันหนึ่งที่อยู่ ๆ ก็ทำให้ต้นตัดสินใจอยากทำเพลง เลยเอาคำว่าโคมไฟมาเรียงต่อกันเป็น eletric.neon.lamp จริง ๆ ที่มาของชื่อวงมันดูบัดซบมากครับ แบบว่า ‘อะไรวะ แค่เนี๊ย?’ แถมยังจำยากอีก แต่สุดท้ายพวกเราก็พอใจกับชื่อนี้

เห็นว่าเปลี่ยนสมาชิกของวงด้วย การเปลี่ยนมือกีตาร์ส่งผลอะไรกับแนวเพลงหรือทีมเวิร์กไหม ?

แทน: สำหรับทีมเวิร์กผมว่าไม่

แต๊ก: ทีมเวิร์กไม่กระทบครับ แต่ถ้านิสัยกระทบเต็ม ๆ 

เจน: ผมมองว่ามันกระทบในช่วงแรก ก่อนหน้านี้ต้นเป็นเหมือนคีย์แมนของวง เป็นเซ็นเตอร์ พอต้นออกไปทำให้พวกเราที่เหลือ 4 คน ตัดสินใจมานั่งคุยกันว่าจะเอาอย่างไรต่อและได้ความเห็นว่าพวกเรายังอยากทำวงดนตรีอยู่ ซึ่งการไปต่อมันก็ใช้เวลาพอสมควร ขรุขระมากกว่าจะลงตัว แต่พอผ่านช่วงนั้นมาได้ก็โอเคแล้วครับ

eletric.neon.lamp ถูกเรียกว่าเป็นวงดนตรีป๊อปร็อกที่มีซาวด์ดนตรีเอกลักษณ์ มีแรงบันดาลใจอะไรบ้างสร้างสรรค์ดนตรีที่เฉพาะตัวแบบนี้ ?

เต้: เนื้อเพลงส่วนใหญ่ก็จะเอามาจากชีวิตของแต่ละคน ชีวิตของเพื่อนบ้าง ส่วนด้านของดนตรีพวกเราฟังเพลงไม่ค่อยเหมือนกันอยู่แล้วเพราะแต่ละคนก็ชอบแนวเพลงที่ต่างกัน แต่พื้นฐานของทุกคนก็จะมีร็อก แต่เราคิดว่าถ้าจะทำเพลงให้เขาถึงคนมากกว่าก็ควรจะเป็นป๊อป เราก็เลยนำสองสิ่งนี้มารวมกันจนเป็นสไตล์เพลงของ eletric.neon.lamp

เจน: เราไม่เคยพยายามหาเอกลักษณ์ของวงเลย แต่ผมว่าเอกลักษณ์ที่คนฟังพูดถึงมันออกมาเป็นธรรมชาติของเรา ตัวผมเองยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเอกลักษณ์จริง ๆ ของเพลงจากวง eletric.neon.lamp มันคืออะไรหรือเป็นแนวไหน ผมว่ามันคือความเป็นธรรมชาติของพวกเรา

แทน: พวกเราเล่นแบบที่เราอยากเล่น ถ้าสังเกตจากคลิป cover หรือคลิปที่น้อง ๆ แฟนคลับส่งมาให้ มันไม่มีวงไหนที่สามารถเล่นเหมือนเราได้ ถ้าเทียบกับวงดัง ๆ เราก็เล่นตามแบบเขาได้เลย

แต่พอเป็นเพลงของเราเองกลับตอบไม่ได้ว่าเรากำลังเล่นอะไรอยู่ พื้นฐานทุกคนไม่มีใครเก่งดนตรีเลย และด้วยความที่ไม่เก่งเราเลยพยายามทำดนตรีให้มันซับซ้อน ซึ่งจริง ๆ มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากแต่มันซับซ้อนสำหรับเราแล้ว

เท่าที่ฟังมาเขาจะบอกว่าดนตรีของ eletric.neon.lamp จะมีพาร์ตของความซับซ้อนอยู่ สุดท้ายในมุมของผมเอกลักษณ์ไม่ใช่เรื่องของดนตรี แต่เป็นเพราะพวกเรายังสนุกกับตรงนี้ได้นานกว่าคนอื่น

ตอนนี้อยู่ค่ายอะไร ?

เจน: BEC-Tero Music

การทำอัลบั้มกันเองสมัย “Bright Side (2008)” กับตอนนี้ที่อยู่ในสังกัด BEC-Tero มันให้ความรู้สึกเหมือนหรือต่างอย่างไรบ้าง ?

แทน: ส่งผลกับวิธีคิดวิธีการทำเพลง 

เจน: ไม่ส่งผลกับแนวเพลงครับ แต่วิธีการทำงานจะเปลี่ยนไป การทำงานกับค่ายทุกอย่างต้องรันไปเป็นระบบ พอมีสังกัดตัวพวกเราเองก็คาดหวังมากขึ้นเวลาที่ปล่อยเพลงออกไป ค่ายก็คาดหวัง คนรอฟังก็คาดหวัง เราจะได้เจอกับการทำงานที่จริงจังมากขึ้น เข้มข้นมากขึ้น แต่ผมว่าไม่ส่งผลต่อแนวเพลงนะครับ

ความท้าทายที่เจอตั้งแต่ตอนเป็นวงดนตรีจากชมรมมหาวิทยาลัยมาจนถึงวันนี้คืออะไร ?

เจน: ผมว่าสิ่งที่ท้าทายมาก ๆ คือการเปลี่ยนแปลง ในยุคสมัยหนึ่งตอนเราทำเพลงแรก ๆ คนฟังจะไม่ได้ชอบแนวเพลงเหมือนปัจจุบัน eletric.neon.lamp เลยพยายามทำเพลงให้ไม่หลงยุคหรือตกยุค เพลงมันก็มีพลวัตของ สิบปีที่แล้วมันก็เป็นแบบหนึ่ง ทุกวันนี้ฮิปฮอปกลายเป็นเป็นเมนสตรีม ความท้าทายของเราคือการปรับตัว ปรับวิธีคิดในการทำเพลง จากเมื่อก่อนเราทำปีละเพลงก็เปลี่ยนเป็นสามปีเพลง ล้อเล่นนะครับ เราก็ต้องปรับตัวและออกเพลงให้ถี่ขึ้น

“พูดตรง ๆ วงยังไม่ดังคือความท้าทายที่สุดแล้วครับ” – แทน

คิดว่า eletric.neon.lamp เติบโตมากแค่ไหนแล้ว ?

เจน: เราโชคดีที่ได้รับโอกาสดี ๆ มาตลอด เพราะพวกเราเคยปล่อยเพลงปีละครั้ง บางทีหายไปเลย แต่ก็ยังมีคนรอติดตามเรามาตลอด ถือว่ามาไกลมากและเราก็เคยไม่นึกถึงภาพวันนี้ ไม่เคยคิดถึงภาพตอนไปเล่นดนตรีแล้วมีคนดูเยอะ ๆ มาก่อน  

เต้: ผมมองว่า eletric.neon.lamp เหมือนเด็กปีหนึ่ง ทุกวันนี้กระแสของโลกมันหมุนไวมาก มีสิ่งใหม่มาตลอด ผมรู้สึกว่าวงเจออะไรใหม่ ๆ ตลอดเหมือนกับเด็กปีหนึ่ง และไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าไหร่ eletric.neon.lamp ก็จะเป็นเด็กปีหนึ่งอยู่ในสายตาของผม

 

ไม่ใช่ไม่เหมือนเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงคือการเริ่มต้นสิ่งใหม่ 

“ทำไมแนวเพลงไม่เหมือนเดิม ?” หรือ “eletric.neon.lamp เปลี่ยนไป” คือสิ่งที่สมาชิกของวงเห็นผ่านตาอยู่เสมอ ซึ่ง UNLOCKMEN ก็ได้หยิบเรื่องนี้มาพูดคุยกับพวกเขาด้วยเพื่อค้นหาคำตอบว่า eletric.neon.lamp เปลี่ยนไปจริงหรือไม่ ?

แทน: ผมว่าเป็นกันทุกวงนะ ตอนเราฟังเพลงเราก็ไม่ได้คิดหรอก แค่รู้สึกว่าฟังเพลงของวงหนึ่งไปเรื่อย ๆ แล้วแปลกใจว่าทำไมเพลงชุดนี้มันไม่เหมือนเดิมล่ะ?

แต่พอได้มาเล่นดนตรีเองเลยเข้าใจว่าการเล่นเหมือนเดิมมันไม่ท้าทาย ถามว่าจะให้ eletric.neon.lamp เล่นแนวเดิมต่อไปได้ไหม เราก็ทำให้ได้ครับ แต่เราแค่รู้สึกว่าการเล่นดนตรีมันสนุกน้อยลง

ผมเข้าใจความรู้สึกของคนฟังที่คิดว่าเพลงไม่เหมือนเดิมนะครับ แต่ถ้าเขาไม่ฟังแล้วไม่ชอบแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ ก็รู้สึกขอบคุณครับที่ครั้งหนึ่งเคยชอบและรักเพลงของเรา 

เจน: ผมเฉย ๆ กับทุกคำวิจารณ์ ไม่ได้รู้สึกว่าเขามาด่าวง แค่รู้สึกว่าวงดนตรีทุกวงต้องก้าวไปข้างหน้า ถ้าเล่นเพลงแนวเดิม ๆ แล้วคิดว่าถ้าเราจะเล่นดนตรีแบบเดิม แนวเดิม สไตล์เดิมไปอีก 20-30 ปี ก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันครับว่ามันจะสนุกในทุก ๆ โชว์ได้อย่างไร แถม eletric.neon.lamp ไม่ได้เปลี่ยนจากป๊อป-ร็อกไปเป็นเมทัล

แต่ถามว่าแนวเพลงมีโอกาสเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ไหม ถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันสนุกดีก็น่าลองครับ แนวเพลง ‘เปลี่ยนได้’ แต่ไม่ได้รู้สึกว่า ‘ต้องเปลี่ยน’

แทน: จริง ๆ แล้วอยากให้แยกเป็นสองพาร์ตมากกว่าคือการดูและฟังผ่านระบบสตรีมมิงหรือดูผ่านยูทูปกับดู eletric.neon.lamp เล่นสด เมื่อสิบปีที่แล้วเวลาเรามิกซ์เพลงมันก็ไม่ได้เหมือนกับตอนนี้ มันมีเรื่องของเทรนด์ซาวด์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพลงสิบปีที่แล้วก็ไม่เหมือนกับตอนนี้

เวลาผมอ่านข้อความในยูทูปเจอคนบ่นว่าไม่เหมือนเดิมเราก็อยากให้แฟนเพลงเก่า ๆ ของเราลองมาดูเราเล่นสดสักครั้ง ถ้าดูเล่นสดแล้วยังยืนยันว่าเราเปลี่ยนไปก็โอเค แต่ผมรู้สึกว่าบรรยากาศในการเล่นสดของ eletric.neon.lamp ยังเหมือนเดิมอยู่ครับ 

ถ้าอยากแนะนำเพลงของ eletric.neon.lamp ให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักวงมาก่อน จะแนะนำเพลงอะไรกันบ้าง และเพราะอะไรถึงแนะนำเพลงนี้ ? 

เจน: ของผมเป็นเพลง ‘เสมอ’ แทรคที่ไม่ค่อยมีคนกดฟังเท่าไหร่ และเป็นเพลงที่วงไม่ค่อยมีโอกาสได้เล่น แต่ผมคิดว่าเพลงนี้จะเล่าเรื่องราวของ eletric.neon.lamp ได้ครบถ้วน มีสไตล์ ๆ เก่าของวงในช่วงแรก มีแนวโมเดิร์นของยุคปัจจุบัน เป็นเพลงที่ทำขึ้นช่วงที่วงกำลังเปลี่ยนผ่าน ต้น มือกีตาร์คนก่อนก็ร่วมเขียนด้วยกันและออกไปก่อน พวกเราที่เหลือก็พยายามทำเพลงนี้ให้เสร็จ 

แทน: เพลง ‘รถไฟแห่งความฝัน’ ตอนนั้น eletric.neon.lamp มีกันอยู่สี่คน มีมือกีตาร์คนเดียว เราเจอกันที่ชมรมดนตรีสากล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น้อง ๆ เขาก็มาชวนผมจนผมได้เล่นแทนทุกตำแหน่งแล้ว เพลงรถไฟแห่งความฝันมันเป็นจุดกึ่งกลางของเพลงเซตเก่ากับเพลงเซตใหม่

ถ้าจะเริ่มฟังเพลงของ eletric.neon.lamp ก็อยากให้ลองฟังเพลงนี้ดูก่อน แล้วค่อยไล่ทามไลน์เหมือนดูหนัง เพราะเราจะเลือกได้แล้วว่าจะไปฟังเพลงช่วงปีหลังจากรถไฟแห่งความฝันหรือจะเลือกฟังเซตก่อนหน้าเพลงนี้ 

อุน: ‘สุขุมวิท’ อยากให้ทุกคนฟังเพราะมันน่าจะง่ายสุดถ้าไม่นับภาวินี เป็นเพลงที่เพราะที่สุดสำหรับผม

เต้: อยากแนะนำเพลง ‘สุขุมวิท’ ที่เหมือนอัปเดตยกเครื่องใหม่จน eletric.neon.lamp เป็นเวอร์ชันล่าสุด เป็นอินโทรที่จะทำความรู้จักกับ eletric.neon.lamp ได้ดีที่สุดแล้ว และถ้าอยากจะลงลึกอีกก็ไล่ฟังเพลงเก่า ๆ อย่างพวก ‘อวกาศ’ หรือ ‘สลาย’ อีกทีก็ได้ แต่ถ้าเริ่มฟังจริง ๆ ก็ยังเชียร์สุขุมวิทครับ

แต๊ก: คนอื่นตอบหัวกับท้ายไปแล้ว ขอตอบกลาง ๆ อย่างเพลง ‘นางรอง’ เพราะมันเต็มไปด้วยกลิ่นอายของวงเรา

เห็นมีคนพูดถึงเพลงภาวินี เราเลยอยากรู้ว่า ‘ภาวินี’ คือใคร ?

เต้: จริง ๆ แล้วภาวินีเป็นเพื่อนของผมสมัยมัธยม สนิทกันประมาณหนึ่งพอเข้ามหาวิทยาลัยก็ยังเรียนด้วยกัน ผมได้รู้เรื่องราวชีวิตเขาค่อนข้างเยอะ แล้วพอเห็นภาพรวมของเนื้อเพลงมันตรงกับชีวิตของเพื่อนคนนี้พอดีเลยขอชื่อเขามาใช้เป็นชื่อเพลง

แล้วเพลง ‘นางรอง’ มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเลือกเต้นเหมือนบอยแบนด์ อะไรถึงทำให้ฉีกแนวในเอ็มวีนี้ ?

เจน: ตอนนี้แม่ก็ยังไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เลิกกับแฟนก็เพราะเพลงนี้ ตอนนั้นพวกเราแค่นึกสนุกครับ อยากลองทำอะไรที่มันตลก ๆ ดูบ้าง เลยลองคุยกับพี่ต้นผู้กำกับเพลงนางรอง เล่าให้เขาฟังว่าคิดอยากจะทำอะไร พอพี่ต้นฟังก็สนใจบอกว่าทำให้มันจริงจังไปเลย เขาก็หาคนมาสอนเต้น ส่วนเราก็บ้ายุ

แทน: จริง ๆ ท่าที่โฮโลกราเฟอร์เขาคิดขึ้นมามันสวยมากนะครับ แต่เราทำได้แค่นั้นจริง ๆ 

ถ้ามีโอกาสจะทำอีกไหม ?

eletric.neon.lamp: ไม่ครับ!

 

การแข่งขันของวงดนตรีในโลกออนไลน์ ยิ่งเข้าถึงง่ายยิ่งมีคนเห็น

ทำเพลงมาตั้ง 14 ปีแล้ว เห็นอะไรมาก็มากพอสมควรแล้วคิดอย่างไรกับวงการเพลงไทยปัจจุบัน ?

เจน: ผมรู้สึกสนุก พบเจอความหลากหลายมาก ๆ จากวันแรกที่ eletric.neon.lamp เริ่มทำเพลงมาจนถึงทุกวันนี้ เหมือนกับว่าทุกคนสามารถทำเพลงได้หมดเลย ตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้เท่า ๆ กันแล้วจากเมื่อก่อนที่มีข้อจำกัดมาก ๆ เพราะอินเทอร์เน็ตมันไม่ได้แพร่หลาย คนสมัยโน้นก็จะได้ฟังเพลงไม่เท่ากัน บางคนต้องฟังผ่านวิทยุ รอดูรายการเพลงทางโทรทัศน์ แต่ทุกวันนี้มันมีสิ่งที่เรียกว่า ‘สตรีมมิง’ มีสื่อเยอะขึ้นมาก

ผมว่ามันส่งผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนทำเพลง เราเลยเห็นวงการเพลงไทยที่หลากหลาย และตอนนี้ใคร ๆ ก็สามารถเผยแพร่ผลงานเพลงของตัวเองได้เลย ทุกคนสามารถฟังได้หมด มีโอกาสเท่า ๆ กัน 

การที่ใคร ๆ ก็สามารถแชร์ผลงานเพลงของตัวเองได้ง่ายไม่คิดว่าจะทำให้เรามีคู่แข่งมากขึ้นเหรอ ?

เจน: ยิ่งวงการเพลงคึกคักมากเท่าไหร่เราก็สามารถเข้าถึงง่ายได้มากขึ้น เพราะคนจะยิ่งอยากฟังเพลง อยากเสพเพลงแถมมีแนวเพลงให้เลือกเยอะมาก พอวงหนึ่งดังขึ้นมาแล้วมีคนตามไปฟังซ้ำเราเองก็จะมีโอกาสถูกคนเหล่านี้หาเจอได้ง่ายขึ้นด้วย หรืออย่างพวกงานเทศกาลดนตรีที่ทำให้วงการเพลงคึกคักงาน eletric.neon.lamp ก็จะถูกแปะโปสเตอร์ตามที่ต่าง ๆ พร้อมกับวงดนตรีอื่น เราถูกมองเห็นง่ายขึ้น ผมเลยไม่รู้สึกว่าการเข้าถึงที่ง่ายขึ้นเป็นอุปสรรค แต่มันทำให้เศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเพลงมันดีขึ้น ทำให้คนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นไปอีก

สำหรับเด็กรุ่นหลังเราที่มีความฝันว่าอยากทำวง อยากทำเพลง เราจะบอกพวกเขาอย่างไรบ้าง ? 

เจน: เขินเลยครับ ถ้าประโยคคลาสสิกคงต้องบอกว่า

“ไม่ต้องท้อนะทำต่อไปเรื่อย ๆ เราก็บอกตัวเองอยู่แบบนั้น” 

เราต้องถามตัวเองก่อนว่าเราชอบเล่นดนตรีจริง ๆ หรือเปล่า ถ้าคิดว่าตัวเองชอบจริงก็ทำต่อไปเรื่อย ๆ เลยเพราะมันไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้าจะเล่นเพื่อทำมันเป็นอาชีพมันก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง มันจะจริงจังมากกว่า ยากกว่าเดิมมาก ๆ เพราะต้องใช้หลายอย่างทั้งความพยายาม ร่างกาย เงิน เวลา มันก็ต่างกันลิบลับ ต้นทุนที่ใช้มันต่างกันค่อนข้างเยอะ กับการทำแค่เพราะชอบหรืออยากเล่นกับเพื่อน ๆ เลยต้องถามตัวเองครับว่าอยากทำเพราะอะไร 

เต้: สำหรับคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในฝีมือเหมือนอย่างผม ชอบกังวลว่ามันจะออกมาห่วยไหม ผมเคยเจอบทสัมภาษณ์ของพี่ตุลย์ อพาร์ทเม้นท์คุณป้า บอกว่า “สุดท้ายแล้วเพลงห่วยมันไม่ได้ทำให้ใครตาย” ผมเลยอยากให้ใครที่มีความฝันทำต่อไป อย่าเพิ่งท้อ วันนี้เพลงยังออกมาไม่ดีแต่เพลงต่อไปมันจะดีขึ้น และเราต้องยอมเปิดใจเปิดรับฟังข้อบกพร่องตัวเองจะได้รู้ว่าควรแก้ตรงไหน เก็บคอมเมนต์ตรงนั้นไปพัฒนาผลงานตัวเองขึ้นเรื่อย ๆ 

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line