Entertainment

ย้อนฟังตอนนี้ยังทัน รีวิวฉบับรวบรัด 6 อัลบั้มที่คว้ารางวัล “GRAMMY AWARDS 2020” มาครอง

By: Synthkid January 28, 2020

จบไปแล้วเป็นที่เรียบร้อยสำหรับรางวัลอันทรงเกียรติที่จัดเป็นประจำทุกปีอย่าง Grammy Awards โดยปี 2020 นี้ก็เข้าสู่ปีที่ 62 เป็นที่เรียบร้อย และหลังจากประกาศรายชื่อผู้ชนะออกมาครบทุกสาขา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ตก็เข้มข้นเลยทีเดียว ซึ่งก็ถือว่าเป็นปกติ (อย่างที่เป็นอยู่ทุกปี) จะให้ UNLOCKMEN ไปชี้ว่าใครเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เกรงว่าทางเราจะไม่มีคุณวุฒิมากพอ

ความน่าสนใจในปีนี้คือการที่ Grammy เริ่มเปิดโอกาสให้มีศิลปินหญิงเข้าชิงเยอะขึ้น รวมไปถึงมีศิลปินหน้าใหม่ ๆ ที่ไม่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงมาก่อนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใคร เรามาดูกันดีกว่าว่า 7 อัลบั้มคุณภาพที่สามารถคว้ารางวัลไปครองในปีนี้มีอะไรบ้าง เผื่อใครยังไม่เคยฟัง จะได้ทำความรู้จัก และตัดสินด้วยตัวคุณเอง

When We All Fall Asleep, Where Do We Go? – Billie Eilish

Best Pop Vocal Album, Album Of The Year

เธอคือหนึ่งในศิลปินตัวเต็งของปีนี้ที่ทำให้ชาวเน็ตถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้นมาตั้งแต่ก่อนวันงาน เหตุเพราะเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่มีจำนวนชื่อเข้าชิงในหลากหลายสาขามากเป็นประวัติการณ์ และในที่สุดสาวน้อยชาวอเมริกัน วัย 18 ปีคนนี้สามารถคว้าไปได้ถึง 5 สาขา ทั้ง Best Pop Vocal Album, Best New Artist, Record Of The Year, Song Of The Year และใช่ครับรางวัลที่ใหญ่สุดในงานอย่าง Album Of The Year ซึ่งนี่ก็เป็นเพียงอัลบั้มแรกของเธอเท่านั้น!

แต่ถ้าพูดกันถึงในแง่ของงานดนตรี When We All Fall Asleep, Where Do We Go? จัดว่าเป็นอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปที่มีเอกลักษณ์มากทีเดียว โดยเฉพาะเสียงเบสในอัลบั้มที่หนักมากจนหลายคนนึกว่าลำโพงตัวเองแตกไปเสียแล้ว (มีทั้งคนที่ชอบมากและเกลียดไปเลย)

เพลงป๊อปแบบฉบับ Billie Eilish เต็มไปด้วยกลิ่นอายความมืดหม่นลึกลับ ขณะเดียวกันก็ฟังง่าย ติดหู และใช้วิธีการเล่าจากมุมมองของคนที่ต้องเผชิญปัญหาเรื่องสุขภาพจิต การค้นหาตัวเอง ความเศร้า ความรักที่ไม่สมหวัง จนไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ไม่แปลกนะครับหากมันจะเข้าถึงคนยุคนี้ได้ง่าย เรียกว่าออกมาถูกที่ถูกเวลาและไปตรงจริตผู้ฟังยุคใหม่ที่กำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้พอดิบพอดี

นอกจากฝีมือการเขียนเพลงของ Billie ที่ล้ำหน้าเกินอายุ Finneas พี่ชายผู้ควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มนี้ก็จัดว่าเป็นบุคลากรทางดนตรีที่มีฝีมือคนหนึ่ง องค์ประกอบต่าง ๆ ที่หลอมรวมมาเป็นผลงานชุดนี้ ล้วนผ่านกระบวนการคิด ทดลองทำซ้ำ ๆ มาครั้งแล้วครั้งเล่าจากเขา

ซิงเกิลแรกในชีวิตของ Billie Eilish คือเพลง Six Feet Under ในปี 2016 พวกเขาโปรโมตและผลักดันตัวเองมาครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่ว่ามาถึงก็ประสบความสำเร็จเลยอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจ บางครั้งนอกจากฝีมือแล้ว ก็อาจจะต้องอาศัยเรื่องของจังหวะและเวลา (โชคช่วยบ้างนิดหน่อย) ไม่ว่าคุณจะชอบอัลบั้มนี้หรือไม่ ขอให้คิดเสียว่าผลรางวัลในครั้งนี้อาจส่งผลดีต่อเด็กรุ่นใหม่ ๆ ที่สนใจจะทำดนตรีตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะตอนนี้เธอได้ขึ้นแท่นศิลปินอายุน้อยที่สุดที่คว้าไปได้ถึง 5 รางวัลเป็นที่เรียบร้อยครับ

Ventura – Anderson .Paak

Best R&B Album

ถ้าคุณไม่ใช่สาย R&B คุณอาจจะรู้สึกว่า นาย Anderson .Paak นี่ประสบความสำเร็จไวจริง ๆ ผิดครับ! อัลบั้มแรกของเขาออกมาตั้งแต่ปี 2004 แล้ว แถม Ventura ยังเป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 6 ของเขาแล้วอีกต่างหาก

ในยุคที่เพลง R&B แบบดั้งเดิมเริ่มวิวัฒนาการเข้าหาซาวด์แบบใหม่อย่างเช่นดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ Anderson .Paak หนุ่มอเมริกันวัย 33 ปีคนนี้ เลือกนำเอาซาวด์ R&B, Soul และ Funk แบบยุค 70’s มาผสมผสานเข้ากับ Rap แต่ถึงกระนั้นก็ยังสอดแทรกเล็กทรอนิกส์ร่วมสมัยเข้าไปบ้างในบางแทร็ก ทำให้งานเพลงชุดนี้ของเขา สดใส มีชีวิตชีวา หลากหลาย กลมกล่อมในหนึ่งเดียว อีกทั้งเนื้อเพลงที่มีการขมวดปมชีวิตของตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน NME ถึงกับยกย่องให้ Ventura เป็นดั่งเทพนิยายที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวเขาเอง

นอกเหนือจากรางวัล Best R&B Album แล้ว Anderson .Paak ยังคว้ารางวัลสาขาอื่น ๆ อย่าง Best R&B Performance จากเพลง Come Home มาได้อีกต่างหาก ใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับผู้ชายคนนี้ หรือกำลังมองหาอัลบั้มโทนสว่าง ๆ ฟังอยู่ Ventura จะเป็นอีกหนึ่งอัลบั้มคุณค่าที่คุณคู่ควรครับ

IGOR – Tyler, The Creator

Best Rap Album

ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราได้ฟังอัลบั้มนี้คำว่า ‘Grammy’ ก็วนเวียนอยู่ในหัวเรามาตลอด กว่าจะมาถึงจุดนี้ Tyler, The Creator คือศิลปินที่ผ่านเรื่องราวมากมายมาทั้งดีและร้าย เขาคือหนึ่งในหัวหอกของกลุ่มศิลปินอัลเทอร์เนทีฟ Hiphop/Soul ที่ชื่อว่า Odd Future เพื่อผลักดันศิลปินไร้สังกัด โดยมุ่งหวังให้ทุกคนมีอาชีพที่ยั่งยืน ผลักดันให้ Hiphop สามารถกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับกลุ่มคนชายขอบเช่น LGBTQ ให้มีที่ยืนในวงการฮิปฮอป เนื้อเพลงของเขามักจะมีเนื้อหาที่รุนแรง ประชดประชัน หลาย ๆ ครั้งก็ไปสร้างความไม่พอใจให้ใครเขา จนถูกแบนไม่ให้โชว์ในบางประเทศก็เคยมาแล้ว

การเติบโตของเขาปรากฏชัดขึ้นในงานเพลงแต่ละชุด เขาระวังคำพูดมากกว่าเดิม Tyley, The Creator มักจะสร้าง Alter-Ego หรืออีกตัวตนของเขาขึ้นมาเพื่องานแต่ละชุด และ IGOR ก็เป็นอีกหนึ่งคาแรกเตอร์ที่แปลกแยกออกมาอย่างเด่นชัด ก่อนจะปล่อยอัลบั้มนี้เขาได้บอกแฟนเพลงว่าอย่าคาดหวังว่ามันจะเป็นอัลบั้มเพลงแร็ป ได้โปรดตั้งใจฟัง และอย่านำไปเทียบกับอัลบั้มอื่น ๆ ซึ่งนี่ก็เป็นครั้งแรกที่แรปเปอร์หนุ่มคนนี้ เผยด้าน ‘ชีวิตรัก’ ของเขาให้แฟนเพลงได้ฟังอย่างหมดเปลือก ตั้งแต่ต้นจนจบ

IGOR เป็นอัลบั้มฮิปฮอปที่เต็มไปด้วยดนตรี Experimental หลากหลายซาวด์ผสมปนเปจนจะใช้คำว่า ‘แปลก’ ก็ไม่ผิดนัก หากแต่ไม่ใช่แปลกในทางที่ไม่ดี ซึ่งในแต่ละบทเพลงก็แตกต่างกันไป มีทั้งเสียงเปียโน, ซินธิไซเซอร์, กีตาร์, ซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำ ๆ ที่หยิบจับดนตรีหลากหลายแนวตั้งแต่ R&B, Jazz, Dance, Neo-Soul ไปจนถึงดนตรีแบบ MoTown มาผสมกับความเป็น Hiphop เหมือนภาพตัดแปะที่กลายมาเป็นผลงานชั้นยอดสุดแหวกแนว แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงความงดงามได้ในทุก ๆ ดีเทล

อัลบั้ม IGOR กลายเป็นผลงานชิ้นแรกของ Tyler, The Creator ที่เปิดตัวอันดับ 1 บนบิลบอร์ดชาร์ต 200 อีกทั้งยังทำให้เขาได้รับรางวัล Grammy ตัวแรกในชีวิตมาครอง

Father of the Bride – Vampire Weeknd

Best Alternative Album

หากคุณเป็นสายอินดี้ ชื่อของ Vampire Weeknd คงจะเป็นที่คุ้นเคยอยู่แล้ว เพราะพวกเขาไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการ และเป็นเจ้าของเพลงฮิต A-Punk สำหรับ Father of the Bride ก็เป็นสตูดิโออัลบั้มลำดับ 4 ของพวกเขาที่สมศักดิ์ศรี เพราะไม่ได้ทำเพลงมาตั้งแต่อัลบั้ม 2013 เปิดตัวมาก็ได้รับคะแนนวิจารณ์จากสื่อต่าง ๆ อย่างท่วมท้น (เอาง่าย ๆ ว่าได้ 4 ดาว – 4 ดาวครึ่งจาก) อัดแน่นไปด้วยเพลงคุณภาพมากถึง 18 แทร็ก! แถมยังเปลี่ยนแนวเพลง นิตยสาร Rolling Stone ถึงกับยกย่องว่าเป็นผลงานระดับ Masterpiece ของพวกเขา

เนื้อหาในอัลบั้มนี้ถึงจะค่อนข้างออกไปทางมองโลกในแง่ดี ซาวด์ก็สว่างสดใส แต่เนื้อเพลงซ่อนความขม มีความขุ่นเคืองแฝงอยู่ ความเจ๋งคือเนื้อหาในอัลบั้มนี้ เพราะมันหลากหลายจนเหมือนสารานุกรมเสียมากกว่างานเพลง มีทั้งเรื่อง รักโรแมนติก การเมือง เคราะห์กรรม สิ่งแวดล้อม ความไม่แน่นอน จนไปถึงปรัชญาแห่งความเป็นอิสระ ในแง่ของดนตรี ริฟฟ์กีตาร์ในแต่ละเพลงมีความละมุนละไมและ ‘ติดหู’ อย่างต้านทานไม่ได้ แม้สองอัลบั้มแรกของเขางจะโดดเด่นไปด้วยซาวด์ซินธิไซเซอร์ แต่ Father of The Bride กลับมีความ ‘เป็นธรรมชาติ’ สูง ถึงแม้จะยังได้ยินซาวด์อิเล็กทรอนิกส์อยู่บ้าง สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ตัวชูโรงของพวกเขาอีกต่อไป

ดนตรีหลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ Folk, R&B, Soul, Baroque Pop, Rock, Art Rock ถูกร้อยเรียงออกมาให้อยู่ในโครงสร้างของเพลงป๊อป มันจึงกลายเป็นอัลบั้มล้ำ ๆ ที่เป็นมิตรกับคนฟังและถูกใจนักวิจารณ์ ใครว่าวงดนตรีที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตจะไม่สามารถกลับมารุ่งเรืองได้ใหม่หากหายไปนาน Vampire Weekend ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างแน่นอน

While I’m Livin’ – Tanya Tucker 

Best Country Album

หลังจากที่ปีศิลปินสาวแนว Country-Pop อย่าง Kacey Musgrave ได้รางวัล Album Of The Year ไปเมื่อปีก่อน ปีนี้ก็ถึงตาที่รุ่นใหญ่อย่าง Tanya Tucker จะคว้ามันมาครองบ้าง แม้เธอจะอายุ 61 ปีแล้ว เธอห่างหายจากวงการเพลงไปตั้งแต่ปี 2009 อีกทั้งยังเผชิญหน้ากับปัญหาสุขภาพ จนหมดไฟในการทำเพลงไปนานหลายปี ในที่สุดเธอได้กลับมาอีกครั้งในปี 2019 พร้อมอัลบั้ม While I’m Livin’ ซึ่งเต็มไปด้วยความชุ่มชื่นและเปี่ยมไปด้วยพลัง ความมั่นใจในตัวเองของเธอได้ถ่ายทอดออกมาผ่านทุก ๆ บทเพลง ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกลับมาอย่างสมเกียรติ เพราะคว้าไปทั้ง Best Country Album และ Best Country Song จากเพลง Bring My Flowers Now

แฟนเพลงที่กำลังโหยหา Country ดั้งเดิม และกลิ่นอาย Americana อัลบั้มนี้จะไม่ทำให้คุณผิดหวัง เพราะถึงจะไม่อึกทึกครึกโครม แต่เข้มข้นถึงใจ ราวกับเมล็ดกาแฟคั่วสดใหม่ที่ถูกบรรจุลงในภาชนะสุดคลาสสิกก็ไม่ปาน

Social Cues – Cage The Elephant 

Best Rock Album

Social Cues คือสตูดิโออัลบั้มลำดับที่ 5 ของ Cage The Elephant วงอัลเทอร์เนทีฟร็อกอเมริกันที่ทำเพลงกันมาตั้งแต่ปี 2006 และเป็นหัวหอกสำคัญของยุค Post-Punk Revival แห่งยุค 2000 โดย Grammy ครั้งนี้คือตัวที่ 2 แล้ว เพราะพวกเขาเคยได้รางวัลในสาขาเดียวกันจาก Live Album “Unpeeled” เมื่อปี 2017 ความตลกร้ายคือตอนอัลบั้มนี้ออกมาใหม่ ๆ สื่อหลายเจ้าให้คะแนนน้อยมาก แถมยังได้รับวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ เนื่องด้วยวงเคยทำเพลงร็อกที่เต็มไปด้วยสีสัน แถมยังมีความห่าม แต่อัลบั้ม Social Cues กลับเต็มไปด้วยความเศร้า ความหม่นหมองและยังค่อนไปด้วยเพลงจังหวะกลาง ๆ อีกต่างหาก เกิดอะไรขึ้นกับวง?

แต่ถ้าหากรู้ที่มาที่ไปของมัน ความขลังของอัลบั้มนี้จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว รู้หรือไม่ว่าเพลงโปรโมตอย่าง Ready To Let Go ถูกเขียนขึ้นเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและความรู้สึกของ Matt Shultz กับภรรยาของเขา ทั้งคู่อยู่เคียงคู่กันมายาวนานกว่า 7 ปี ตลอดเวลาคบหาพบความระหองระแหง ดั่งเชือกที่กำลังจะขาดสะบั้น เมื่อเขาทั้งคู่ตัดสินใจไปเที่ยวเมือง Pompeii ด้วยกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ กลับพบว่าไม่มีสิ่งใดสามารถเยียวยารอยร้าวในครั้งนี้ได้อีกต่อไป พวกเขาจึงตัดสินใจหย่าขาดกันในที่สุด สิ่งนี้ส่งผลให้ Matt ห่างหายจากการทำเพลงไป (อัลบั้มล่าสุดที่ไม่ใช่ Live Album คือปี 2015) และแม้กระทั่งช่วงที่เขายอมกลับมาทำงานอีกครั้ง ระหว่างอัดเสียงในสตูดิโอก็ยังมีหลายครั้งที่ Matt ร้องไห้ถึงขั้นลงไปนอนกองกับพื้น

 

ใครจะไปรู้ว่าความเจ็บปวดในครั้งนั้นจะแปรเปลี่ยนเป็นอีกหนึ่งผลงานคุณภาพที่นำมาซึ่งความสำเร็จทางดนตรีของ Cage The Elephant และ Matt Shultz และถึงแม้เพลงในอัลบั้มจะเศร้าไปนิด แต่มันเป็นผลงานเจ๋ง ๆ และควรค่ากับการฟังมากสำหรับแฟนเพลงอย่างเรา

นอกเหนือจาก 6 อัลบั้มที่เรากล่าวมานี้ คุณสามารถเช็กรายชื่อผู้ชนะในสาขาอื่น ๆ ได้ที่นี่ คลิก ถึงแม้ว่ารางวัลเหล่านี้อาจจะถูกใจหรือไม่ถูกใจใครไปบ้าง แต่ก็เหมือนการฉายสปอตไลต์ไปที่ศิลปินสักคน แม้แค่ชั่วขณะหนึ่งความสว่างของพวกเขาอาจส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลังต่อไป ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดี ๆ นะครับ เพราะสุดท้ายแล้วเพลงที่เราชอบนั้น แม้จะไม่ได้รางวัลอะไร หรือไม่เคยได้รับการเสนอชื่อสักรางวัล มันก็เป็นเพลงที่ยอดเยี่ยมในใจเราตลอดไป

Source 

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line