Work

ฟังคำวิจารณ์ทีไรก็หัวร้อน! ศาสตร์และศิลป์แห่ง “การรับฟีดแบ็คด้านลบแบบมืออาชีพ”

By: PSYCAT December 11, 2019

ในชีวิตมนุษย์ทำงานทุกคน เราล้วนต้องเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์หรือฟีดแบ็คอยู่เสมอเพื่อพัฒนาตัวเองและผลงานให้ดียิ่งขึ้น คำวิจารณ์เชิงบวกไม่ต่างอะไรจากของขวัญล้ำค่าที่เรารอคอย ในขณะที่คำวิจารณ์หรือฟีดแบ็คเชิงลบเป็นสิ่งที่เราอยากหนีไปสุดหล้าฟ้าเขียว เพราะฟังทีไรก็เจ็บลึก สร้างแผลทางความรู้สึกไปนานแสนนาน

แต่อยากให้รู้ไว้ว่าบนโลกใบนี้ ไม่มีใครที่รับฟีดแบ็คด้านลบได้อย่างร่าเริงเสมอไป เพียงแต่โลกใบนี้มีมีหนทางรับฟีดแบ็คด้านลบแบบมืออาชีพ” อยู่ ที่ต่อให้ข้างในเราจะกระทบกระเทือนเพียงไหน แต่เราจะสามารถรักษาความเป็นมืออาชีพและสามารถนำฟีดแบ็คนั้นมาพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดได้

เพราะในชีวิตการทำงานหรือแม้แต่ชีวิตด้านอื่น ๆ ฟีดแบ็คเชิงลบนี่เองที่จะทำให้เราเห็นข้อผิดพลาด หรือส่ิงที่ต้องปรับปรุง รวมถึงได้เห็นตัวเองในเวอร์ชันที่เราอาจไม่เคยมองเห็นมาก่อน

UNLOCKMEN จึงเอาทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งการรับฟีดแบ็คด้านลบแบบมืออาชีพมาฝากกัน รับฟังคำวิจารณ์ครั้งต่อไป เราจะรับฟังอย่างสง่างาม มืออาชีพ และนำมาปรับปรุงตัวเองได้ดีขึ้นแน่นอน

ศาสตร์แห่งการไม่หัวร้อน: เพราะคำวิจารณ์ด้านลบ ทำลายภาพที่เราเห็นตัวเอง

วินาทีแรกที่เราถูกวิจารณ์ ไม่แปลกที่เราจะโกรธ เนื่องจากนี่คือกลไกอัตโนมัติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคนเมื่อตัวเองได้ฟังฟีดแบ็คที่เราไม่เชื่อว่าตัวเราเป็น โดยขั้นแรกเราจะเริ่มโมโห หัวร้อน จากนั้นเราจะเริ่มสร้างเกราะมาปกป้องตัวเองทุกหนทางเท่าที่จะทำได้ และเราจะจบลงด้วยขั้นสุดท้ายคือการเข้าข้างตัวเอง และโยนคำวิจารณ์นั้นทิ้งไป (ทั้ง ๆ ที่มันอาจมีประโยชน์ต่อเรามาก)

Tasha Eurich นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาระบุไว้ในบทความ The Right Way to Respond to Negative Feedback ว่าทั้งหมดนั้นเป็นกลไกปกติ แต่ถ้าเราอยากเป็นมืออาชีพมากขึ้น และรับฟีดแบ็คลบ ๆ มาใช้ได้ดีกว่าเดิมลองทำตาม 5 ขั้นตอนต่อไปนี้

นิ่งไว้ก่อนเดี๋ยวดีเอง

ทันทีที่ได้รับฟีดแบ็คให้นิ่งเข้าไว้ ฟีดแบ็คด้านลบที่เราได้รับทำให้เราหัวร้อนและทุกข์ทรมาน เพราะคำพูดที่คนอื่นบอกว่าเราเป็น มันขัดกับภาพที่ตัวเราคิดว่าตัวเราเป็น เราจะรู้สึกว่าตัวตนของเราถูกคุกคามหรือโจมตี เช่น เรารู้สึกว่าเราเป็นคนสื่อสารชัดเจนรู้เรื่อง แต่ฟีดแบ็คจากคนอื่นกลับบอกว่าเราเป็นคนสื่อสารไม่ตรงจุด เน้นใช้เสียงดัง และใช้คำที่ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น เราย่อมต่อต้าน เพราะสิ่งที่เราต้องปรับปรุง ดันเป็นสิ่งที่เราคิดว่าเราทำได้ดีมาก ๆ อยู่แล้ว

ในขณะที่คนที่มี Self-Awareness จะไม่ตอบสนองทันที จะนิ่งไว้เพื่อรับฟังให้ถี่ถ้วน จากนั้นทบทวนคำพูด คำวิจารณ์ที่ได้มาอย่างละเอียด การนิ่งและการให้เวลาตัวเองก่อนจะโต้ตอบอะไรนั้นจะทำให้เราสามารถถอยออกมามองภาพใหญ่ว่าเราเป็นอย่างที่เขาพูดจริงไหม? ถอยออกมาจากภาพที่เราเชื่อว่าตัวเองเป็นเพื่อเห็นตัวเองกว้างขึ้น

ฟังแล้วอย่าเพิ่งเชื่อ หาข้อมูลก่อน

เมื่อรับฟีดแบ็คด้านลบมาแล้ว เป็นธรรมดาที่เราช็อก เพราะสิ่งที่คนอื่นบอก ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็น ดังนั้นเรายังไม่ต้องเชื่อหรือปฏิเสธฟีดแบ็คนั้นทันที แต่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม ถ้าคำวิจารณ์นั้นมาจากคนกลุ่มหนึ่งหรือคนหนึ่ง เรายิ่งต้องไปคุยกับคนอื่น ถามหลาย ๆ คน ทั้งกับคนที่ใกล้ชิดสนิทกัน และคนที่ห่างไปว่าเราเป็นอย่างที่ฟีดแบ็คนั้นบอกจริงไหม

ถ้าถามคนที่ใกล้ชิดไปก็สุ่มเสี่ยงที่เพื่อนเราจะตอบเอาใจเรา หรือเห็นแต่ข้อดีของเรา ในขณะที่คนที่ห่างออกไป หรือกล้าวิจารณ์เราตรง ๆ ก็จะให้ภาพอื่น ๆ ให้เราได้ และเราต้องใช้วิจารณญาณของตัวเองพิจารณาทุกข้อมูลที่ได้รับ เพราะคำวิจารณ์ก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่น ๆ เมื่อได้รับมา เราก็ควรตรวจสอบ ถามหาข้อเท็จจริงก่อนที่จะโกรธ ก่อนที่จะเชื่อ หรือไม่เชื่อ

อย่าตีตัวออกห่างคนที่ให้ฟีดแบ็ค

มนุษย์มักคิดว่าคนที่ชมเราเท่านั้น พูดแต่เรื่องดี ๆ เท่านั้นคือมิตรภาพที่ถาวร แต่จริง ๆ แล้วคนที่กล้าให้ฟีดแบ็คด้านลบกับเรานี่เองคือมิตรแท้ที่ต้องเอาเขาไว้ใกล้ ๆ เพราะเขาจะช่วยพัฒนาตัวคุณได้อย่างที่คนเอาแต่ชมคุณให้คุณไม่ได้

มากไปกว่านั้นเขาวิจารณ์การทำงานของคุณ ผลงานของคุณ หรือสิ่งที่คุณทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ เขาไม่ได้โจมตีตัวตนคุณ ความเป็นคุณ อย่างที่คุณหัวร้อนตั้งแต่แรก ดังนั้นอย่าโกรธหรือตีตัวออกห่าง แต่เปิดใจรับฟังให้มาก ๆ เข้าไว้

สัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลง สำคัญไม่แพ้การเปลี่ยนแปลง

เมื่อหาข้อมูล กลั่นกรองจนได้สิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงแล้ว ให้จำไว้เสมอว่าสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลง สำคัญไม่แพ้การเปลี่ยนแปลงพูดง่าย ๆ ก็คือบางครั้งที่เราลงมือเปลี่ยน เราอาจจะเห็นมันอยู่คนเดียว เพราะมันคือการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลในระยะยาว

แต่คนรอบข้างอาจไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้น ดังนั้นเราจึงต้องพยายามหาสัญลักษณ์ว่าเราตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เป็นสัญญะ ให้คนอื่น ๆ รับรู้ว่าแผนระยะยาวเราก็ทำอยู่ แต่นี่คือจุดเริ่มต้นและความตั้งใจของเรา

เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเสมอไป

อย่างไรก็ตามมนุษย์เต็มไปด้วยความหลากหลาย บางสิ่งที่คนอื่นมองว่าเป็นข้อเสียหรือผลเสียของเรา อาจเป็นบางอย่างที่เราไม่อาจแก้ไขได้เลย หรือเป็นสิ่งที่เรามีอย่างอื่นมาทดแทน ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามฟีดแบ็คเสมอไป แต่เราต้องเข้าใจและยอมรับว่าสิ่งที่คนอื่นพูดถึงเรานั้นคืออะไร

จากนั้นเราอาจยอมรับกับคนอื่นตามตรงเลยก็ได้ว่านี่คือข้อเสียของคุณที่คุณพยายามอย่างมากที่จะแก้ไข เพื่อให้ทุกคนช่วยกันรับมือกับสิ่งนี้ในระหว่างที่คุณก็พยายาม ในขณะที่เราก็เอาเอาพลังไปโฟกัสกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ (แต่ต้องมั่นใจจริง ๆ ว่าสิ่งนั้นไม่มีทางเปลี่ยนได้ และไม่ได้ส่งผลเสียระดับหายนะกับทีม)

 

ศิลป์แห่งการฟังคำวิจารณ์: ยิ่งสูง ยิ่งดัง ยิ่งต้องฟังฟีดแบ็ค

นอกจากศาสตร์แห่งการรับฟังฟีดแบ็คอย่างเป็นระบบแล้ว “ศิลปะ” แห่งการฟังคำวิจารณ์ โดยเฉพาะจากคนมีชื่อเสียงก็เป็นสิ่งที่เราอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้ไว้ ว่าคนที่อยู่ในที่สูง ที่หนาว ที่ที่ใคร ๆ ก็บอกว่าคือยอดเขาแห่งความสำเร็จนั้นเขารับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร? และมีอะไรที่เราจะนำมาปรับใช้ได้บ้าง

 

เป๋งชานนท์ ยอดหงษ์: คำต่อว่าที่ไม่ได้มาจากอคติ ผมชอบมาก!

เป๋งชานนท์ ยอดหงษ์ อาร์ตไดเรกเตอร์ฝีมือเก่งกาจ ที่ใคร ๆ ก็ยอมรับผลงาน แต่ก็เลี่ยงข้อผิดพลาดและคำวิจารณ์ไม่ได้ แต่เขาไม่ได้มองสิ่งนั้นเป็นปัญหา กลับมองว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เขาพัฒนา

ผมชอบคำวิจารณ์มาก ผมเคยทำวิชวลงานหนึ่งด้วยเวลาจำกัด และความสามารถ ความรู้เราก็ไม่ถึง เกิดความผิดพลาดเยอะมาก หลายคนบอกผมว่าคนดูดูไม่ออกหรอก แต่ผมบอกว่าผมรู้ พี่ที่เป็นหัวหน้าทีมเขาเดินมาว่าเรา ผมบอกเขาว่า พี่ว่าผมมาเยอะ ๆ เราก็น้ำตาคลอนะ แต่พี่ใส่มาให้เต็มที่เลยพี่ (หัวเราะ) ใส่มาให้ครบทุกเม็ด ชอบ

คำด่า คำว่า ที่มาจากเหตุผล ว่าจากงาน ไม่ใช่จากความอดคติ ผมยินดีมากและผมจด ข้อแก้ไข ทุก ๆ ปีผมจะสรุปตัวเองทุกปี หรือครึ่งปี สรุปว่าทีผ่านมาทำอะไรไป และต้องแก้ไขอะไร ต้องทำอะไรต่อไป เมื่อก่อนจะปีละครั้ง แต่ตอนนี้ลดมาปีละสองครั้ง เพราะทุกอย่างมันต้องสั้นลง ทุกอย่างมันเร็วขึ้น เผลอ ๆ ต่อไปอาจเป็น 3 เดือนครั้งก็ได้ หรือเดือนเดียวก็ได้

อ่านศิลปะแห่งการรับคำวิจารณ์และเรื่องอื่น ของเขาฉบับเต็มได้ที่: เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ: “เป๋ง-ชานนท์”อาร์ตไดฯ ที่เชื่อว่างานออกแบบต้องไม่ใช่การกดสูตร 

 

ฮั่นมิตติ ติยะไพรัช: โต้คำวิจารณ์ด้วยผลงาน

ฮั่นมิตติ ติยะไพรัชอดีตประธานสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ดและประธานที่ปรึกษาสโมสรฯ ที่เพิ่งพาทีมคว้าแชมป์ไทยลีก 2019 มาหมาด ๆ แต่ใครจะรู้ว่าตอนเริ่มต้นทำทีมฟุตบอล วินาทีแรกของหนทางแห่งความสำเร็จในวันนี้ เขาต้องฝ่าฟันคำสบประมาทและคำวิจารณ์มามากมายเท่าใด

คนมันก็จะด่าก่อนเลยว่า มาทำทีมฟุตบอล ลูกเศรษฐี บ้านมีตังค์ มาทำเล่น ๆ เดี๋ยวก็ท้อ ทีมมันไม่ได้ขึ้นง่าย ๆ หรอก พอเราทำขึ้นชั้นอีก คนก็บอกฟลุค ๆ แน่ ๆ ฟลุคว่ะ เนี่ยเดี๋ยวมึงเจอของจริงละ เดี๋ยวมึงเจอแน่ พอเราขึ้นได้อีก คนก็บอกว่าเดี๋ยวมึงก็ตกชั้น นี่คือของจริงสุด ๆ แล้ว เราก็คิดนะมันจะมีของจริงอีกกี่อันวะ? มึงไม่ยอมรับความสามารถกูสักที

ฟุตบอลมันก็เป็นแบบนี้ หรือธุรกิจต่าง ๆ แม้แต่การเมือง คนที่เขาไม่ได้อยู่กับเรา เขาก็วิจารณ์ได้ แต่มันคือสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนหนึ่งของผมที่สำคัญเหมือนกัน อยากจะแสดงให้เขาเห็นว่าเราจะผ่านคำวิจารณ์พวกนั้นได้ไหม

ผมคิดว่า หนึ่ง มันอยู่บนพื้นฐานที่เขาไม่รู้จักเรา เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ได้รู้จักเราดี เราก็มีแต่ต้องเอาผลงานไปตอบเขา แต่บางทีก็ยอมรับว่าเราก็มีความรู้สึก เราก็โกรธบ้าง บางทีเราก็ไม่พอใจ บางทีเราก็ไม่ชอบ” 

อ่านศิลปะแห่งการรับคำวิจารณ์และเรื่องอื่น ๆ ของเขาฉบับเต็มได้ที่: “แค่ลูกเศรษฐีทำทีมฟุตบอล” มิตติ ติยะไพรัช จากคำสบประมาทถึงวันพาสิงห์ เชียงรายฯ คว้าแชมป์

การรับฟีดแบ็คด้านลบและคำวิจารณ์ ถือเป็นศาสตร์และศิลป์ ไม่แปลกที่เราจะเริ่มต้นด้วยความหัวร้อน แต่หลังความรู้สึกหัวร้อนและเจ็บปวดที่ตัวตนของเราถูกท้าทาย ถ้าเราถอยห่างออกมาอีกนิด ใช้เวลาพิจารณาคำวิจารณ์เหล่านั้นขึ้นมาอีกหน่อย เราจะสามารถนำมันไปพัฒนาตัวเองได้อย่างไร้ขีดจำกัด

อย่างไรก็ตามคำวิจารณ์กับคำก่นด่าหยาบคาย ก็มีเจตนาแตกต่างกัน แต่ UNLOCKMEN เชื่อว่าชาว UNLOCKMEN จะสามารถใช้วิจารณญาณแยกออกได้ว่าคำวิจารณ์แบบไหนที่หวังเห็นเราพัฒนา ปรับปรุง และคำวิจารณ์แบบไหนที่มุ่งเหยียบเราให้จมดิน

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line