Survival

SURVIVAL: หล่อลื่นทำไงดี ? เผยวิธีการหกล้มอย่างมีชั้นเชิง จะได้ไม่เจ็บตัวมากเกินและไม่เขินมากไป

By: PEERAWIT May 8, 2018

ไม่มีใคร “ลุก” ก่อน “ล้ม” หรอกครับ ต่อให้จุดศูนย์ถ่วงของผู้ชายอย่างเราดีแค่ไหนมันก็ต้องมีพลาดสะดุดล้ม ไม่ก็ลื่นพรวดพราดลงไปกองกับพื้นกันบ้าง ยิ่งช่วงพายุฝนเข้าทำเอาพื้นเปียกแฉะแบบนี้ โอกาสวืดลงไปน็อกเอาต์แบบไม่รู้ตัวยิ่งมีสูง

ทีมงาน UNLOCKMEN เห็นว่าสิ่งที่ยกตัวอย่างมานั้นไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะผลการสำรวจพบว่าการพลัดตกและหกล้ม รวมถึงเดินเตะและสะดุดสิ่งของถือเป็นอุบัติเหตุยอดฮิตของหนุ่มออฟฟิศทั่วโลก โดยในประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่ามีคนบาดเจ็บจากการหกล้มโดยเฉลี่ย 25,000 คนต่อวันเลยทีเดียว ส่วนสถิติจาก The Agency for Healthcare Research and Quality ระบุว่า ปี ๆ หนึ่งมีคนราว 7.9 ล้านคนที่เข้าห้องฉุกเฉินมาเพราะสาเหตุเดียวกัน

เราไม่อยากให้คุณผู้อ่านทุกคนต้องบาดเจ็บหนักจากการลื่นล้มแบบใครเขา เราอยากให้ผู้ชายทุกคนเป็นคนเมืองที่แกร่งพอจะอยู่รอดกับความท้าทายชาย urban จึงขอนำวิธีการล้มที่จะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบามาฝากกัน เผื่อวันหนึ่งลุ้มลุกคลุกคลานขึ้นมาจะได้ยืนขึ้นแล้วเดินต่อด้วยความมั่นใจไม่มีใครแซว โดยก่อนที่จะแนะนำกันอยากให้ทุกท่านจไว้ให้ขึ้นใจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “สติ” ที่จะทำให้สัญชาติญาณอยู่รอดของเราได้ผลมากยิ่งขึ้น

 

ป้องกันศีรษะให้ดี

ศีรษะคือส่วนที่สำคัญที่สุดที่เราจะต้องปกป้องเวลาล้มลง ถ้าศีรษะกระแทกพื้นเมื่อไหร่ก็อาจจะทำให้บาดเจ็บร้ายแรงและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้นอย่างแรกที่เราต้องทำให้ได้ก็คือการจัดระเบียบหัวของเรา

  • ก้มหน้า เก็บคาง
  • ถ้ารู้ว่าการล้มครั้งนี้หน้าค้องถึงพื้นก่อนแน่ ๆ ให้หันหน้าด้านข้างลงพื้น
  • ยกแขนขึ้นมาตั้งการ์ดบริเวณศีรษะให้ทัน ถ้าล้มไปข้างหน้าก็ยกมือขึ้นกันด้านหน้า ถ้าล้มไปด้านหลังก็เอามือไขว้กันด้านหลัง
  • สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง, โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ที่ต้องทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants) หากล้มหัวฟาดพื้น ให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเพื่อทำ CT Scan เนื่องจากผู้ที่มีอาการที่กล่าวมาจะมีอัตราเสี่ยงถึงชีวิตมากกว่าผู้อื่น

 

หันด้านข้างตัวลงพื้น

ถ้าเกิดคุณล้มลงแบบตรงไปตรงมาเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลัง พยายามตั้งสติในเสี้ยววินาที แล้วหันตัวให้ตะแคงเพื่อ landing สู่พื้นแบบเอาข้างตัวลง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่ร้ายแรงกว่าจะการล้มไปทางด้านหลังตรง ๆ เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหลัง และถ้าล้มไปข้างหน้าแบบหมดฟอร์ม ทั้งศีรษะ ใบหน้า และแขนของคุณก็มีลุ้นเสียหายได้ไม่เบา โดยการล้มลงทางด้านข้างจะช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บได้ดี โดยเฉพาะหากล้มตกจากที่ที่ค่อนข้างสูง

 

งอแขน-ขา

ปฏิกริยาตอบสนองของแขนและขาเวลาที่เราล้มลงนั้น ก็มักจะกางออกพื้นยันพื้นเอาไว้ ซึ่งมันโคตรจะเสี่ยงบาดเจ็บแขนและขานับตั้งแต่ซ้นยันแตกหักกันเลยทีเดียว ดังนั้นเราต้องตั้งสติ เวลาล้มไปข้างใดก็ตามพยายามอย่ายืดแขนตรงไปรับน้ำหนักตัวบวกกับแรง g ให้งอแขนขาเล็กน้อยเพื่อการรับน้ำหนักที่เซฟตี้ทั้งคนและแขนขาของเขา ถ้าไม่พยายามทำอย่างที่เราแนะนำ กรรมนี้อาจตกเป็นของข้อมือและแขน ก็ เป็น ได้

 

อย่าเกร็ง

นักกีฬาและสตันท์แมนมักจะบอกเราเสมอว่า “เวลาล้มอย่าไปเกร็ง ยิ่งฝืนยิ่งเจ็บ” และมันก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะจากการวิจัยการเคลื่อนไหวของมนุษย์ทำให้เรารู้ว่ายิ่งร่างกายเกร็งเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ประสิทธิภาพในการรับน้ำหนักตอนกระแทกพื้นลดลง ร่างกายที่แข็งเกร็งมักจะมีโอกาสที่จะบาดเจ็บได้มากกว่า ขณะที่ถ้าเราตั้งสติไม่เกร็งไม่ฝืนก็จะเกิดความยืดหยุ่น ร่างกายจะกระจายแรงกระแทกได้ดีกว่า เคล็ดลับอีกอย่างหนึ่งจากสตันท์แมนก็คือ คุณต้องพยายามหายใจออกขณะล้ม เพราะมันจะช่วยให้ร่างกายรีแลกซ์ขึ้น

 

กลิ้งไว้ก่อนพ่อสอนไว้

ถ้าคุณมีความสามารถทางยิมนาสติกอยู่บ้าง คุณก็จะยิ่งมีสิทธิ์เจ็บน้อยลง เพราะว่าการกลิ้ง ม้วนหน้า ตีลังกา หรืออะไรแนว ๆ นี้เป็นเทคนิคที่ดีที่สามารถผ่อนการล้มหนักให้เป็นการเสียหลักเบา ๆ ได้ โดยการกลิ้งนั้นสามารถรับพลังที่ถ่ายเทมาจากการล้มได้ดีกว่าการใช้ตัวรับน้ำหนักโดยตรง ถ้ารู้สึกว่าเทคนิคนี้มันยาก มันไม่เป็นธรรมชาติ เราแนะนำให้ไปฝึกที่ยิมให้ชำนาญไปเลย พอล้มปุ๊ปสิ่งที่ฝึกฝนมามันก็จะออกมาอย่างอัตโนมัติทันที

ส่วนใครที่อยากฝึก เรามีคลิปที่แนะนำให้เข้าใจได้ง่าย ๆ มาให้ดูเป็นตัวอย่างตามนี้เลย

 

กระจายแรงกระแทกให้ทั่ว

อย่างหนึ่งที่ต้องคอยเตือนตัวเองไว้ก็คือการกระจายแรงกระแทก พยายามตั้งสติในเสี้ยววินาทีนั้นให้ร่างกายได้ใช่ส่วนใหญ่ ๆ หลาย ๆ ส่วนเผชิญกับแรงกระแทก อย่าให้จุดใดจุดหนึ่งต้องเจ็บหนักอย่างเพียงลำพัง ถ้ารู้จักการกระจายแรงกระแทกแล้วก็จะทำให้คุณหายกังวลเรื่องอาการบาดเจ็บจุกจิกที่เกิดขึ้นหลังจากการล้มทั้งยืน

 

ประโยคที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” ยังคงคลาสสิคเสมอ หลังจากที่เราแนะนำวิธีการล้มอย่างมีชั้นเชิงไปแล้ว ตอนนี้ก็มาถึงวิธีการป้องกันกันบ้าง

ใส่รองเท้าให้เหมาะสม

เข้าใจว่าการเลือกซื้อรองเท้าส่วนใหญ่มันเป็นเรื่องของ fashion แต่เรื่องความปลอดภัยนั้น สิ่งที่ต้องเน้นก็คือ function มากกว่า ถ้าเราต้องเดินไปเดินมาในที่ทำงานหรือสภาพแวดล้อมที่พื้นลื่นปรื๊ดเหลือเกิน เราก็ควรจะเลือกใส่รองเท้าที่มีพื้นที่ยึดเกาะได้ดี เดินที่นี่มีซาวด์เอี๊ยดอ๊าดเวลาเสียดสีกับพื้น เวลาจะไปทำกิจกรรมอะไรก็ต้องดูด้วยด้วยว่าควรใส่รองเท้าแบบไหน คงไม่มีใครใส่รองเท้าสตั๊ดเดินบนฟุตบาธใช่มั้ย ?

 

เดินดี ๆ

ฟังดูเรียบง่ายและกำปั้นทุบดินเหลือเกิน แต่ก็อยากให้เดินดี ๆ จริง ๆ อย่าประมาทแม้จะเดินมาทั้งชีวิตหลังจากตั้งไข่ได้ก็ตาม เพราะถ้ายิ่งเร่งจนใจมันสะท้านเท่าไหร่ โอกาสที่จะสะดุดล้ม หรือตายน้ำตื้นก็ยิ่งมีเยอะเท่านั้น จำไว้ว่าแมน ๆ อย่างเราต้องเดินเท่ ๆ อย่างมีสตินะครับ ตรงไหนที่ไม่ชัวร์เรื่องทางเดินก็อย่ามั่วเข้าไป ราวบันไดก็เกาะเข้าไปเถอะครับ เผื่อมีอะไรฉุกเฉินจะได้ผ่อนหนักให้เป็นเบา

 

ตรวจเช็กอุปกรณ์ให้ดี

แม้เราอาจจะไม่ได้ทำงานที่ต้องปีนป่ายนัก แต่ชีวิตประจำวันของผู้ชายอย่างเรามันต้องมีกันบ้างที่อาจต้องปีนบันได้ขึ้นไปเปลี่ยนหลอดไฟ ปีนขึ้นไปทำความสะอาดบ้าง ไม่ก็ปีนเข้าห้องสาว (อันหลังจำมาจากในหนัง) เพราะฉะนั้นควรตรวจเช็กอุปกรณ์ที่จะช่วยเราปีนป่าย นั่งเล่น เท้าแขนให้ดี ถ้าเกิดชำรุดเสียหายขึ้นมา ความไม่ประมาทของเราอาจจะไม่มีค่าเลยทันที

ส่วนข้าวของเครื่องใช้หรือยานพาหนะอื่น ๆ นั้น อยากให้เสียเวลาอ่านคู่มือกันหน่อย แล้วค่อยโซโล่นะพ่อหนุ่ม

 

สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

การสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานเป็นสิ่งจำเป็น บางสิ่งที่เราปล่อยปละละเลย คิดว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยอาจจะสร้างอันตรายให้เราได้ ลองเช็กดูว่าเรามักจะหลงลืมทำสิ่งนี้บ้างหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือใช่ ก็ลองปรับตามนี้ดูแล้วจะรู้ว่ามันมีประโยชน์

  • ปิดลิ้นชักเสมอ เวลาใช้งานเสร็จแล้ว
  • อย่าให้มีสายไฟต่าง ๆ ขวางทางเดิน
  • ให้ทุกพื้นที่มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ตรงไหนที่พื้นค่อนข้างลื่นหรืออันตราย ควรติดตั้งสเต็ปที่ทำให้เดินง่ายขึ้น
  • บันไดไหนที่มันโคตรชันต้องมีราวบันไดเสมอ
  • ใข้แผ่นรองเท้ากันลื่นในห้องน้ำ ส่วนอ่างอาบน้ำก็ควรมีราวจับ
  • ใช้เทปกาวสองหน้าช่วยติดพรมกับพื้น ป้องกันการหลุดลื่น

 

ฝึกการทรงตัว

ฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยในการทรงตัวเช่น ขา ท้อง กลางลำตัวเป็นต้น ไม่ก็ลองไปเล่นกีฬาเอ็กซ์ตรีมดู พอเริ่มเป็น การทรงตัวก็จะดีขึ้น เวลาล้มก็จะมีสติมากขึ้น แต่ก็ต้องอย่าประมาทนะ อย่าผาดโผนเกิน skill ที่มี เดี๋ยวจะเจ็บตัวกลายเป็นกลัวไปเลย เอาเป็นว่าออกกำลังกายเป็นประจำแล้วกันครับ การทรงตัวจะได้พัฒนาขึ้น

 

อย่าซ่าถ้าป่วย

เวลาป่วยขึ้นมาทีไรแม้จะใจสู้แค่ไหนก็ต้องหงอหากอาการหนัก และยิ่งกินยาเข้าไปด้วยยิ่งมีผลข้างเคียงไม่เบา เพราะยาบางชนิดก็ทำให้เราง่วงซึม เพิ่มโอกาสที่จำทำให้เราล้มได้ง่ายขึ้น อย่าลืมปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอาการให้ชัด ๆ ว่ายาที่คุณหมอจ่ายให้เรานั้นมันทำให้เรามึนเลเว่ลไหน พยายามตั้งสติ อย่าซ่าถ้าป่วย เดี๋ยวล้มขึ้นมาจะไม่หายและก็ไม่ฮานะครับ

 

จะเห็นได้ว่าชั้นเชิงการล้มที่เราแนะนำไปมีองค์ประกอบสำคัญคือ “สติ” ซึ่งเป็นคีย์ของทุกความเคลื่อนไหวของเรา ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้ แต่ที่เจ๋งต่อใจที่สุดก็คือการฮึดสู้ และลุกขึ้นยืนอีกครั้ง…

…”เพราะไฮไลท์ของการล้ม คือ การลุก และก้าวต่อไป”

 

SOURCE 1 / SOURCE 2 / SOURCE 3

PEERAWIT
WRITER: PEERAWIT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line