Life

ทำไมเราถึงไม่ควรเรื่อยเปื่อย และตัดสินใจทุกเรื่องด้วยความเคยชิน ?

By: unlockmen January 27, 2021

หลายคนคงคิดว่า เมื่อเราเป็นเจ้าของชีวิต เราก็น่าจะควบคุมการตัดสินใจของตัวเองได้เสมอ แต่ในความเป็นจริง มนุษย์มีระบบการตอบสนองแบบอัตโนมัติอยู่ หรือที่เรียกกันว่าโหมด autopilot เมื่ออยู่ในโหมดนี้เราจะตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยใช้ความเคยชิน และคิดน้อยลง การใช้โหมดนี้อาจจะดีเมื่อเราทำเรื่องที่เป็นรูทีน เช่น การขับรถ หรือ กินข้าว เพราะช่วยประหยัดพลังงานสมอง แต่เมื่อเจอกับเรื่องที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น การแต่งงาน การแก้ปัญหาในที่ทำงาน โหมดนี้อาจส่งผลให้เราตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องเหล่านั้นได้แย่ลงได้ เราเลยอยากมาแนะนำวิธีการออกจากโหมด autopilot เพื่อให้เราสามารถควบคุมชีวิตตัวเอง และตัดสินใจเรื่องยาก ๆ ได้ดีขึ้น


โหมด AUTOPILOT ทำงานยังไง ?

ว่ากันว่า โหมดขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือ autopilot ของเราเกี่ยวข้องกับโครงข่ายของสมองที่เรียกว่า Default Brain Network (DMN) ซึ่งจะทำงานในเวลาที่เราไม่โฟกัสกับโลกภายนอก หรือ กำลังใจลอยอยู่ โดยโครงข่ายนี้จะเกี่ยวข้องกับสมอง 3 ส่วน ได้แก่ Posterior cingulate cortex (PCC) และ precuneus ที่อยู่ในสมองกลีบข้าง Ventral medial prefrontal cortex (vmPFC) ที่อยู่ในส่วนหน้าสุดของสมอง และDorsal medial prefrontal cortex (dmPFC) ที่อยู่ในสมองส่วนหน้าสุดเช่นกัน

งานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า DMN เกี่ยวข้องกับการประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต การวางแผนสำหรับอนาคต รวมถึง การทำสิ่งต่าง ๆ แบบที่เราไม่ต้องใส่ใจกับมันมาก หรือ autopilot เช่น งานวิจัยโดย Dr.Deniz Vatansever จากมหาวิทยาลัยยอร์ค และทีม ได้ทำการศึกษาอาสาสมัครจำนวน 28 คน โดยให้พวกเขานอนอยู่ในเครื่องสแกนสมอง fMRI พร้อมกับเรียนรู้การเล่นการ์ดเกมด้วยตัวเองไปด้วย ในตอนแรก ทีมวิจัยจะมอบไพ่ให้อาสาสมัครคนละ 4 ใบ จากนั้นจึงให้ไพ่ใบที่ 5 และขอให้อาสาสมัครจับคู่ไพ่ใบนั้นกับ 1 ใน 4 ใบที่ได้รับในตอนแรก ซึ่งทีมวิจัยไม่บอกอาสาสมัครด้วยว่าต้องใช้เกณฑ์อะไรบ้างในการจับคู่ไพ่ อาสาสมัครจึงต้องลองผิดลองถูกเอง และหลังจากเล่นเกมนี้ไปไม่กี่รอบ อาสาสมัครก็เริ่มพบวิธีการที่ถูกต้องในการจับคู่การ์ด

ผลการสแกนสมองของอาสาสมัครพบว่า ในช่วงแรก สมองของพวกเขาจะทำงานเหมือนกับตอนที่กำลังเกิดการเรียนรู้ แต่เมื่อเกมดำเนินไปเรื่อย ๆ จนพวกเขาเริ่มรู้วิธีการจับคู่ไพ่แล้ว สมองของพวกเขาจะทำงานเหมือนกับตอนที่ DMN กำลังทำงานอยู่ พวกเขาจะตอบสนองได้เร็วขึ้นและแม่นยำมากขึ้นกว่าในตอนแรกด้วย ปรากฎการณ์นี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า เมื่อเราอยู่ในโหมดปิดสวิทช์จากโลกภายนอก สมองของเราจะเข้าสู่โหมด autopilot ทำให้เราสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยที่ไม่ต้องคิดถึงมันมากนัก


ทำไมเราถึงไม่ควรใช้โหมด AUTOPILOT ตลอดเวลา ?

แม้โหมด autopilot จะช่วยให้เราประหยัดพลังงาน และทำสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างรวดเร็ว แต่มันก็มีข้อเสียตรงที่ว่า มันอาจทำให้เราไม่สามารถตัดสินใจบางเรื่องได้ดีเท่าที่ควร เช่น เรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากในการประกอบการตัดสินใจอย่างการซื้อบ้าน หรือ เรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากกับชีวิตอย่างการแต่งงาน Daniel Kahnem ผู้เขียนหนังสือยอดฮิตอย่าง Thinking, Fast and Slow และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ได้พูดถึง 2 ระบบการคิดของคน ได้แก่ System 1 ซึ่งเป็นวิธีการคิดและตอบสนองเรื่องต่าง ๆ แบบ autopilot และ System 2 ซึ่งเป็นวิธีการคิดแบบถี่ถ้วน ต้องทุ่มพลังงาน สมาธิ และความสนใจ มากกว่า System 1

System 1 และ System 2 จะมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่ต่างกัน อย่าง System 1 ก็เหมาะกับการทำกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้ความคิดมาก เช่น การขับรถ การซักผ้า และ System 2 จะเหมาะกับสถานการณ์ที่เราต้องใช้เหตุและผลในการแก้ปัญหา การบริหารความสัมพันธ์ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และการฝึกนิสัยใหม่ ๆ แต่สมองของเรามักขี้เกียจและใช้ System 1 ตลอดเวลา เราจึงต้องระวังเรื่องนี้ และพยายามใช้ System 1 และ System 2 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์


เราจะออกจากโหมด AUTOPILOT ได้อย่างไร ?

เมื่อบางครั้งเราก็ใช้โหมด Autopilot ไม่ถูกที่ถูกเวลา นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด สิ่งที่เกิดขึ้นอาจบั่นทอนจิตใจ และทำให้เรารู้สึกเสียใจภายหลังตามมา ดังนั้น เราเลยอยากมาแนะนำวิธีการออกจากโหมด autopilot เพื่อเข้าสู่โหมดการคิดถี่ถ้วนและแก้ปัญหาเรื่องต่าง ๆ อย่างจริงจัง

สำรวจตัวเองก่อนว่ากำลัง Autopilot อยู่รึเปล่า – บางครั้งเราก็ใช้โหมด Autopilot จนชิน และคิดว่ามันเป็นนิสัยที่แก้ไขได้ยากไปแล้ว ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการกลับมาสำรวจวิธีการใช้ชีวิตของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง ลองถามตัวเองว่าเราใช้โหมด autopilot เพราะตั้งใจ หรือ มันเกิดขึ้นมาเอง? มันส่งผลต่อการตัดสินใจของเราอย่างไร? และเราใช้โหมดนี้กับทุกเรื่องเลยหรือไม่? จะเป็นก้าวแรกที่ช่วยให้เราออกจากโหมด autopilot ได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ควรสังเกตด้วยว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้รึเปล่า ได้แก่ 1.ทำเรื่องเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน และก็ทำตามแผนแบบที่ไม่คิดอะไรด้วย 2.ชอบเอาใจคนอื่นโดยที่ไม่สนใจความต้องการของตัวเอง และให้ความคาดหวังของคนอื่นมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ 3.มักใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่หยุดคิดว่า ตัวเองรู้สึกอย่างไร และกำลังทำอะไรอยู่ 4.รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วมากจนจำไม่ได้ว่าแต่ละวันทำอะไรบ้าง และ5.เชื่อว่าตัวเองกำลังพลาดอะไรหลาย ๆ อย่างไป แต่ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองสามารถหาความสุขใส่ตัวได้มากกว่านี้ แต่ก็อดที่จะทำตัวเรื่อยเปื่อยไม่ได้ เหล่านี้เป็นลักษณะของคนที่ใช้โหมด autopilot มากเกินไป

ตั้งเป้าหมายในแต่ละวัน – เมื่อเราไม่รู้ว่าแต่ละวันควรทำอะไร เราจะเข้าสู่โหมด autopilot ได้ง่ายกว่าเดิม ดังนั้น แต่ละวันควรมีเรื่องที่เราคิดว่าอยากทำ โดยเรื่องที่เราอยากทำไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ แต่เป็นเรื่องเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวันก็ได้ เช่น วันนี้จะฝึกตัวเองให้มีความอดทนมากขึ้น วันนี้จะกินข้าวเย็นที่บ้าน หรือ วันนี้จะคิดมากขึ้น เป็นต้น เมื่อเราวางแผนเรื่องที่จะทำในแต่ละวันจนเป็นนิสัยแล้ว เราจะใช้ชีวิตแบบมีการคิดมากขึ้น ควบคุมชีวิตตัวเองได้มากขึ้น และใช้โหมด autopilot น้อยลง

ยอมรับความไม่แน่นอน – เมื่อเราไม่ยอมออกจากคอมฟอร์ทโซน ทำแต่เรื่องเดิม ๆ ใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ เพราะกลัวความไม่แน่นอน มันจะทำให้เราใช้โหมด autopilot บ่อยเกินไป และคิดน้อยลง ดังนั้นถ้าเราต้องการปิดโหมด autopilot เราควรจะทำอะไรใหม่ ๆ บ้าง เช่น ขับรถในเส้นทางที่ไม่เคยไป หรือ ทำงานที่ไม่เคยทำ มันจะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีสีสันมากขึ้นด้วย

ทั้งหมดนี้ก็คือวิธีการออกจากโหมด autopilot ที่ใช้ได้ผล และช่วยให้เราควบคุมมากขึ้น เราอยากย้ำอีกครั้งว่า ทั้ง System 1 และ System 2 มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราควรเรียนรู้ที่จะใช้แต่ละระบบให้ถูกที่ถูกเวลา ไม่ใช้ระบบใดระบบหนึ่งมากเกินไป


 

Appendix: 1/2/3

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line