Life

ช่างภาพนักพัฒนาแผ่นดิน : จากกล้องตัวแรกถึงตัวสุดท้ายเพื่อพัฒนาประชาชนในพระหัตถ์รัชกาลที่ 9

By: anonymK October 12, 2018

รู้หรือไม่ว่าชายที่ถือกล้องถ่ายรูปไว้กับมือแต่กลับโดนคนถ่ายภาพไว้มากที่สุดในประเทศไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาคือใคร?

Credit photo: spiceee.net

เชื่อว่าพระบรมฉายาลักษณ์ด้านบนคงแทนคำตอบที่ทำให้หลายคนต้องพยักหน้าโดยพร้อมเพรียง แต่สิ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้มาก่อนคือภาพที่ได้รับการบันทึกผ่านสายพระเนตรของพระองค์เป็นเช่นไร และความสำคัญของกล้องต่อการพัฒนาแผ่นดินนี้มีเบื้องหลังความเป็นมาอย่างไร เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ทีมงาน UNLOCKMEN ได้รวบรวมเรื่องราวนำมาบอกเล่าต่อ ณ ที่นี้

โปรดการถ่ายภาพตั้งแต่ทรงพระเยาว์

Credit Photo: matichon

ย้อนกลับไปก่อนเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดการถ่ายภาพตั้งแต่พระชนมายุราว 8 พรรษา ทรงมีกล้องส่วนพระองค์ที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมราชชนนีตัวแรกเป็น Coronet Midget ซึ่งเป็นกล้องระบบ Manual ขนาดเท่าฝ่ามือ ราคา 2.50 ฟรังก์สวิส

กล้องตัวแรกที่พระราชชนนีพระราชทาน

ต่อมาภายหลังเมื่อพระชนมายุ 18 พรรษา ได้ทรงซื้อกล้องมืออาชีพเป็นของพระองค์เองจากการทรงทำหัตถกรรมฝีพระหัตถ์ (งานฝีมือ) เข้าร่วมประมูลเพื่อหาทุนเข้าสมาคมปราบวัณโรคฯ ซึ่งสมเด็จพระราชชนนีได้ทรงแบ่งเงินร้อยละ 10 จากการประมูลให้เป็นรางวัล

กล้องที่พระองค์ซื้อเอง Credit Photo: Thairath

เส้นทางช่างภาพสู่ความเป็นกษัตริย์

“ช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่ง และฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว”

คือประโยคหนึ่งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงบรรยายภาพไว้ในพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์” เพราะพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรครั้งทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ทรงทำหน้าที่เป็นช่างภาพส่วนพระองค์เสมอคราวตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 การย่ำตามรอยทางและบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมเชษฐาฐิราชรัชกาลที่ 8 จึงเสมือนเป็นหนึ่งในการเรียนรู้โดยไม่รู้พระองค์

ประมวลภาพกล้องส่วนพระองค์รุ่นต่าง ๆ Credit : Line today

*ข้อมูลดังกล่าวที่รวบรวมมานำเสนออาจไม่ครบถ้วน เนื่องจากมีกล้องส่วนพระองค์จำนวนมากที่ได้รับทูลเกล้าฯ ถวาย

 

เหนือความสุขส่วนพระองค์คือความสุขปวงชนชาวไทย

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรขึ้นครองราชย์ การกดชัตเตอร์จาก “กล้องถ่ายภาพ” ได้มีบทบาทสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ เพราะบันทึกความทุกข์ยากที่ปรากฏในแผ่นดินทั้งพื้นที่และเรื่องราวเพื่อนำมาแก้ไขพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรอย่างแม่นยำ

ท้ายนี้ UNLOCKMEN ขออัญเชิญพระราชดำรัสถึงการถ่ายภาพของรัชกาลที่ 9 ครั้งแสดงไว้ ณ The First Annual Bangkok Art & Photography Event 2007 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ณ เซน อีเวนท์ แกลอรี่ ห้างสรรพสินค้าเซน ไว้เป็นแรงบันดาลใจให้กับพวกเราทุกคนและผู้ที่อยู่ในสายอาชีพที่เกี่ยวข้อง

 

“…การถ่ายภาพเป็นงานศิลปะ เป็นของดีมีประโยชน์ ขออย่าให้ถ่ายภาพกันเพื่อความสนุกหรือสวยงามเท่านั้น ขอจงใช้ภาพให้เกิดคุณค่าแก่สังคม ให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม งานศิลปะจะได้ช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อีกแรงหนึ่ง…”

 

อ้างอิงข้อมูล :

  1. นิตยสาร LIPS. (2559) นิตยสาร LIPS ฉบับกำสรวลสยาม ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ตะวันออก.
  2. ภัทราวรรณ พูลทวีเกียรติ์และคณะ. (2560) . แสงแห่งแผ่นดิน. กรุงเทพฯ:อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.
anonymK
WRITER: anonymK
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line