Life

ปีใหม่ต้องได้ภาษาใหม่ “กลยุทธ์เรียนภาษาเห็นผลไว”พัฒนาได้ใน 6 เดือน

By: PSYCAT January 4, 2019

ขึ้นปีใหม่บรรยากาศแห่งการเริ่มต้นใหม่และการพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจและทักษะก็อบอวลไปทั่ว ทักษะอย่างหนึ่งที่ผู้ชายหลายคนนึกอยากคว้ามาประดับตัวทุก ๆ ครั้งที่ปีใหม่มาถึงก็คือ “ทักษะทางด้านภาษา”

ในโลกที่ผู้คนเชื่อมถึงกันอย่างง่ายดาย โลกทั้งใบเหลือแคบนิดเดียว การได้ภาษายิ่งมากก็ยิ่งได้เปรียบ เราจึงมักตั้งปณิธานกับตัวเองไว้ว่าปีใหม่นี้ต้องเรียนภาษาใหม่ ๆ กับเขาเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง แต่วิธีเรียนกับตัวเองวิธีไหนที่จะได้ผล ? แล้วยิ่งรับรองว่าได้ผลภายใน 6 เดือนอีก ? มีวิธีนั้น! แถมเป็นคำแนะนำจากนักภาษาศาสตร์

Chris Lonsdale คือนักภาษาศาตร์ชาวนิวซีแลนด์ ผู้พยายามควานคว้าหาคำตอบที่เราก็ถามตัวเองอยู่ทุกวันคือ “เรียนภาษาอย่างไรให้ได้เร็วขึ้นและได้ผล” โชคดีที่เขาใช้เวลาเฟ้นหาคำตอบจนออกมาเป็นกลยุทธ์ต่อไปนี้

ฟังไว้ก่อน เดี๋ยวดีเอง

เราล้วนเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราเขาใจว่าการพัฒนาหรือการเรียนต้องผูกอยู่กับการเขียนการอ่านซึ่งดูเป็นรูปธรรม หลายครั้งที่การเรียนภาษาที่ 2 หรือ 3 ของเราจึงมักเริ่มต้นด้วยการจับปากกา อ่านตำรา ทั้ง ๆ ที่วิธีพื้นฐานอย่างการฟังนี่แหละที่ไม่ควรมองข้าม

การฟังคือทักษะพื้นฐานเริ่มแรกในการเรียนภาษาของมนุษย์ และถือเป็นหัวใจสำคัญ (นึกถึงตอนคุณยังเด็กแล้วเริ่มเรียนรู้ภาษาไทย คุณว่าคุณเริ่มอ่านเขียนก่อน หรือฟังก่อน?) โดยวิธีที่นักภาษาศาสตร์แนะนำก็คือฟังไปเถอะ ฟังไปเรื่อย ๆ เหมือนเอาน้ำสาดเข้าผนัง แต่นี่คือการสาดความรู้ใส่สมอง ไม่ว่าภาษาอะไรที่เราเลือกเรียนให้เปิดเพลง เปิดวิทยุ เปิดพอดแคสต์ ฯลฯ ของภาษานั้น ๆ แล้วฟังให้มากที่สุด

เข้าใจไม่เข้าใจไม่เป็นไร ยังไม่ต้องกังวลเรื่องคำศัพท์ ความหมายใด ๆ เราฟังเพื่อเข้าใจจังหวะ น้ำเสียง รูปแบบของภาษานั้น ๆ ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญที่เรามักมองข้าม

จดจ่อที่การสื่อสารให้เข้าใจก่อน

เวลาเราพูดภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษ เทียบกันระหว่างคุยแบบเห็นหน้าตัวต่อตัวกับตอนคุยโทรศัพท์ รู้สึกไหมว่าตอนคุยโทรศัพท์เราจะกังวลมากกว่า รู้สึกว่าสื่อสารได้เข้าใจน้อยกว่า ? นั่นเป็นเพราะการที่เราจะเรียนรู้ เข้าใจและใช้ภาษานั้น ๆ ได้จริง มันไม่ได้แปลว่าเราต้องจดจ่อแต่การเรียนในตำรา แต่การสื่อสารให้เข้าใจนั่นแหละที่สำคัญมาก

เพราะการสื่อสารประกอบขึ้นจากหลายองค์ประกอบ นอกจากตัวภาษาเอง ยังมีน้ำเสียง จังหวะที่พูด สีหน้า ไปจนถึงท่าทางร่างกาย หลายครั้งที่เราพูดภาษาใดภาษาหนึ่งไม่คล่อง แต่การได้สนทนากันตรงหน้าและคาดเดาเอาจากน้ำเสียง สีหน้า ท่าทางและภาษากาย จึงช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้น

ดังนั้นถ้ามีโอกาสได้ลองฝึกสนทนาในภาษาที่เรากำลังเรียนอย่ามัวโฟกัสว่าเราไม่รู้ศัพท์เลย ความหมายของรูปประโยคนี้คืออะไร แต่ให้ปล่อยตัวสบาย ๆ ไหลไปกับจังหวะ สีหน้า ท่าทาง แล้วการสื่อสารจะราบรื่นกว่าที่เคย

ฝึกผสมคำศัพท์

อย่ามัวรอให้ตัวเองรู้คำศัพท์ของภาษานั้นเป็นร้อยเป็นพันแล้วค่อยเริ่มเรียนภาษา เพราะกว่าจะถึงตอนนั้นมันอาจจะสายก่อนไป การเรียนภาษาไม่ใช่ขั้นตอนที่ใครกำหนดว่าต้องมีคลังคำศัพท์ในหัวมากพอถึงจะเริ่มฟังพูดอ่านเขียนได้

ตอนเรายังอายุ 2-4 ขวบ คลังคำศัพท์ภาษาไทยของเราก็มีไม่มากเท่าไหร่ แต่ในไม่กี่คำพื้นฐานที่เรารู้ เราสามารถนำมันมาผสมกันจนกลายเป็นโยคสื่อสารได้สารพัดรูปแบบอย่างไม่น่าเชื่อ

การเรียนภาษาอื่นให้ได้ผลก็เช่นกัน เราอาจจะรู้คำนามสัก 10 คำ คำกริยา 10 คำและคำคุณศัพท์ในจำนวนเท่า ๆ กัน แค่นี้เราก็สามารถผสมคำศัพท์เหล่านี้สลับที่ไปมาจนกลายเป็นประโยคพันประโยคได้แล้ว ดังนั้นอย่ามัวรอให้รู้มาก เริ่มเลยตอนนี้ ผสมคำศัพท์ที่มีในหัว พูดกับตัวเองบ้าง พูดในใจบ้าง เขียนลงบันทึกประจำวันสั้น ๆ บ้าง ไม่ยากเกินไปแน่นอน

ขยับสู่คำศัพท์จำนวนที่มากกว่า

ถ้าคำศัพท์ 10 คำจากแต่ละชนิดคำทำให้เราสามารถสร้างประโยคเพื่อพูดได้เป็นพันประโยค จินตนาการว่าถ้าเรามีคำศัพท์เพิ่มจำนวนเป็นหลักหลายสิบหลายร้อย นอกจากเราจะพูดได้เป็นพันเป็นหมื่นประโยคแล้ว เราจะเริ่มเข้าใจรูปประโยค เข้าใจว่าใครพูดอะไรมากขึ้นตามไปด้วย

สำหรับภาษาอังกฤษ ถ้าคุณรู้คำศัพท์เพียง 1,000 คำ (ใช้คำว่าเพียง 1,000 เพราะไม่ว่าจะศัพท์ง่ายแค่ไหน Cat, Dog, Fan เราก็นับหมด) เราจะสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้ราว ๆ 85% ของประโยคทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน ในขณะที่ถ้าเรารู้ศัพท์ 3,000 คำ เราจะเข้าใจ 98%

ดังนั้นฟังเยอะ ๆ ดูเยอะ ๆ อ่านบ้าง เพื่อเก็บเกี่ยวจำนวนคำศัพท์เข้าหัวและเข้าใจหัวใจของภาษานั้น ๆ ได้ดีขึ้น

ภาษาต้องการคุณพ่อ คุณแม่

มันจะดีมากถ้าเรามีใครสักคนที่รู้ภาษาที่เรากำลังเรียนอยู่ในระดับที่สามารถช่วยดูแลและเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เราได้ เทียบกับตอนเราเป็นเด็กเหมือนเดิม เราเริ่มจากการฟัง พูด และรู้ศัพท์ไม่กี่คำ แต่จากการผสมคำจนเป็นประโยคไม่กี่ประโยคเราสามารถพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ด้วยการที่พ่อแม่หรือคนที่ดูแลเราคอยช่วยเหลือ

เด็กน้อยพูดไม่เก่งมีพ่อแม่คอยโต้ตอบกลับ บอกเราว่าคำนี้ต้องออกเสียงแบบนี้ ถ้าต้องการน้ำต้องพูดแบบนี้ ถ้าอยากเข้าห้องน้ำต้องพูดแบบนี้ เราจะเรียนรู้แถมเป็นการเรียนรู้ในบรรยากาศที่ปลอดภัย ไม่กลัวผิด ไม่กลัวที่จะลอง ไม่กลัวที่จะถาม ซึ่งการมี language parent นี้ต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่เรามักจะกลัวครูดุ กลัวเพื่อนล้อ กลัวโดนหักคะแนน

ฉะนั้นหาเพื่อนที่พูดภาษานั้นได้ แฟนสักคน หรือใครที่เรารู้สึกว่าคนนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่กลัวผิด กล้าที่จะลองได้อย่างไม่เขินอาย

รูปปาก วิธีการออกเสียงก็สำคัญ

บางภาษาที่เราเลือกเรียนมันห่างไกลจากความคุ้นเคยทางภาษาของเราไปไกลพอสมควร เช่น บางเสียงไม่มีในภาษาไทย บางรูปแบบการพ่นลมไม่มีในภาษาไทย (หรือภาษาอังกฤษที่เราพอคุ้นอยู่บ้าง)

อีกหนทางการเรียนรู้ได้ไวเพื่อให้เราใช้ภาษานั้นได้คล่องง่ายขึ้นกว่าเดิมก็คือการสังเกตว่าคนที่พูดภาษานั้น ๆ เขาพูดกันอย่างไร ทำรูปปากอย่างไร (เช่นบางคำต้องห่อปาก ต้องเอาลิ้นออกมามาก ออกมาน้อย)

การที่เราสังเกต จดจำ และนำไปใช้เมื่อเราต้องพูดเองโดยพยายามเลียนแบบให้มากที่สุดจะทำให้เราคุ้นชินกับการพูดภาษานั้น ๆ ได้ดีขึ้น เวลาเราจะพูดภาษานั้นรูปปากเราจะทำให้ง่ายต่อการออกเสียงโดยอัตโนมัติโดยเราไม่ต้องพยายาม

ต่อให้ติดด้วยรูปภาพ

การท่องจำด้วยการเขียนย้ำ ๆ ทำให้เราจำคำศัพท์ในรูปแบบตัวอักษรซึ่งมักเป็นกันมากเวลาเรียนภาษาใหม่ ๆ แต่ให้ลองนึกดูว่าถ้าเราพูดคำว่า แมว ในภาษาไทย เราเห็นภาพอะไรในหัว ? เมื่อพูดคำว่าแมว เราก็มักเห็นภาพแมวโผล่ขึ้นมา เราไม่ได้จำแมวเป็นสระแอ-ม.ม้า-ว.แหวน เราถึงจำมั่นได้แม่น เห็นแมวก็รู้เลยว่านี่คือแมว

การใช้คำศัพท์โดยเชื่อมโยงไปที่ภาพจึงตรึงอยู่กับเราและสร้างความเข้าถึง เข้าใจที่แท้มากกว่าการจำหรือท่องแค่ว่าคำนั้นสะกดอย่างไร ดังนั้นอีกหนทางเรียนรู้ได้ไวคือการพยายามจำคำศัพท์นั้นคู่กับการนึกภาพในหัวให้ได้ รับรองว่าถ้าทำได้จะเรียนรู้ได้ไวกว่าแสง

การเรียนภาษาใหม่ ๆ อาจจะเป็นเรื่องที่ดูท้าทายความสามารถมากจนผู้ชายอย่างเรากลัว ไม่กล้าแม้แต่จะคิด หรือหลายครั้งที่คิดจะเริ่มแต่กลับต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า จากนี้ลองพกกลยุทธ์นี้ไปใช้ แล้วมาดูกันหน่อยว่าอีก 6 เดือนข้างหน้าพัฒนาการทางภาษาเราจะเป็นอย่างไร ?

UNLOCKMEN เป็นกำลังใจให้เสมอ ลุย!

 

SOURCE 

PSYCAT
WRITER: PSYCAT
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line