Entertainment

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ “MADCHESTER” การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมดนตรีอังกฤษยุค 80

By: Synthkid December 26, 2019

หากพูดถึงวัฒนธรรมดนตรีจากเกาะอังกฤษ เชื่อว่าหลายคนจะนึกถึง ‘Britpop’ มูฟเมนต์ครั้งสำคัญที่ทำให้ดนตรีอัลเทอร์เนทีฟร็อกจากอังกฤษส่งอิทธิพลต่อวงการเพลงไปทั่วโลก นำทีมโดย 4 จอมทัพที่ผู้คนต่างเรียกกันว่า ‘Big Four’ ประกอบไปด้วย Oasis, Blur, Suede และ Pulp (ในบ้านเรา Oasis จะได้รับความนิยมที่สุด แต่อันที่จริง Suede ถือว่ามาเป็นวงแรกของมูฟเมนต์นี้นะครับ) และกระแสในครั้งนั้นก็ได้เข้ามาฟาดฟันกับดนตรีกรันจ์ร็อกอันเป็นที่นิยมในฝรั่งอเมริกา เรียกว่าเป็นยุคที่ดนตรีร็อกเฟื่องฟูและยึดครองพื้นที่สื่ออย่างแท้จริง

credit: 7wallpapers.net

แต่หากย้อนไปอีกนิด ก่อนจะมี Oasis เป็นดาวเด่น ณ เมืองตอนเหนือของเกาะอังกฤษที่เรียกว่าแมนเชสเตอร์ เคยเกิดมูฟเมนต์สำคัญที่กลายเป็นจุดกำเนิดของอะไรหลาย ๆ อย่างมาก่อน คือความเคลื่อนไหวทางดนตรีที่เรียกว่า Madchester สิ่งนี้เกิดขึ้นและเฟื่องฟูช่วงปลาย 1980 ถึงต้น 1990 และกลายเป็นรากฐานให้กับวง Britpop หลากหลายวงในเวลาต่อมา รวมทั้งส่งอิทธิพลสำคัญต่อดนตรีแนว House ที่ถูกพัฒนาจนกลายมาเป็น EDM ในปัจจุบันอีกด้วย

กำเนิด Madchester

หากย้อนกลับไปอังกฤษในยุค 1980 เศรษฐกิจในประเทศตกต่ำอย่างรวดเร็ว อัตราว่างงานสูงจนน่าตกใจ แถมบรรยากาศบ้านเมืองก็เต็มด้วยความอึดอัดตึงเครียด (แม้เราจะเกิดไม่ทัน แต่ศิลปินยุคนั้นเขามักจะพูดถึงในลักษณะนี้เป็นทำนองเดียวกันนะครับ) ผู้คนยุคนั้นจึงเริ่มเสาะแสวงหาความบันเทิงราคาถูก การเสพหนัง ฟังเพลง และยาเสพติด กลายเป็นทางออกที่พวกเขาพอจะนำมาหล่อเลี้ยงตัวเองได้ ถ้าลองย้อนฟังเพลงจากศิลปินอังกฤษยุค 80 แล้วพบว่าเนื้อเพลงเต็มไปด้วยการด่าทอเสียดสีสังคมก็ไม่ต้องตกใจไป สำหรับ 3 วงดนตรีที่ขึ้นมามีบทบาทอย่างมากกับชาวแมนเชสเตอร์ในยุคนั้นคือ The Smiths, New Order และ The Fall 

ยกตัวอย่างเช่น Heaven Knows I’m Miserable Now เพลงฮิตของ The Smiths เพลงนี้ เราจะเห็นได้เลยว่าเนื้อเพลงที่ร้องว่า I was looking for a job, and then I found a job And heaven knows I’m miserable now (ผมมองหางาน แล้วผมก็ได้งาน แต่สวรรค์ก็รู้อยู่ดีว่าผมนั้นแสนทุกข์ทน) ได้สะท้อนมุมมองบางอย่างเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนั้นที่การหาอาชีพเป็นเรื่องยากออกมาผ่านบทเพลง

นอกจากเพลงลักษณะนี้แล้ว วัยรุ่นยุคนั้นเขาก็นิยมการ ‘ตื๊ด’ แบบเรานี่แหละครับ ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แนวเฮ้าส์ (House) เริ่มแพร่กระจายออกเป็นวงกว้างในยุโรป (คล้าย ๆ เพลงเฮ้าส์ยุคนี้ที่เราได้ยินได้ฟังกันในปัจจุบัน แต่อาจจะไม่เหมือนเสียทีเดียว) ในขณะที่ดนตรียุคนั้นถูกหลอมรวมเข้ากับการเสพยาในลักษณะที่ขาดกันไม่ได้ และคนหนุ่มสาวยุคนั้นสามารถปาร์ตี้สุดเหวี่ยงได้ตั้งแต่ค่ำยันเช้าราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ดนตรีแนว Acid-House จากชิคาโก ฝั่งอเมริกาเริ่มข้ามมามีบทบาทในยุโรป แพร่กระจายถึงขั้นว่าเปิดทั่วบ้านทั่วเมืองไม่เว้นแม้แต่ในห้างสรรพสินค้า วัฒนธรรมปาร์ตี้ที่เรียกว่า Rave ก็ถือกำเนิดขึ้นในไทม์ไลน์ช่วงนี้เหมือนกัน แต่เอาไว้เรามาพูดถึงสิ่งนี้ในโอกาสต่อ ๆ ไปนะครับ

credit: districtmagazine.ie

Factory Records (ค่ายต้นสังกัดของวง New Order) ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์วัยรุ่นยุคนั้นด้วยการเปิดไนต์คลับที่มีชื่อว่า The Haçienda หลายคนอาจจะสงสัยว่าเศรษฐกิจก็ไม่ดีอยู่แล้วทำไมถึงกล้าเปิด ? อันนี้เราเองก็ตอบไม่ได้ แต่คิดว่าพวกเขาคงเล็งเห็นอะไรบางอย่างว่าจะเติบโตได้ ในช่วงแรก ๆ พวกเขาเจียดเงินกำไรการขายซีดีเพื่อมาลงทุนกับคลับ เหล้าเบียร์ก็ขายไม่ค่อยออก เพราะคนพกยาเสพติดมาเล่นกันเองในคลับ

แต่ด้วยความที่เป็นค่ายเพลง คอนเนกชันของพวกเขาจึงแน่นหนามากพอที่จะดึงศิลปินตัวท็อป ๆ ในยุคนั้นมาโชว์ได้ ไม่ว่าจะเป็น The Smiths, Thompson Twins รวมถึง New Order วงของค่ายที่เฟื่องฟูมากในยุคนั้น ไม่แปลกที่จะเกิดกระแสปากต่อปากจนใคร ๆ ก็ต้องมาจอยกับ The Haçienda ดูสักครั้ง

นอกจากนั้นดีเจในคลับก็ถูกคัดสรรมาแล้วจากคนดนตรีที่จับกระแสเป็น ไม่ว่าจะเป็น Techno, Acid-House, Disco อะไรก็ตามที่วัยรุ่นเขาสนใจ จนต่อมาสิ่งนี้ก็พัฒนาจนกลายเป็นมากกว่าคลับ The Haçienda สนับสนุนศิลปินที่มาร่วมเล่นในทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะเป็นการออก EP อัลบั้ม ช่วยโปรโมต และสร้างความเป็นปึกแผ่น จนกลายเป็นศูนย์รวมวัฒนธรรมย่อยที่สำคัญในอังกฤษ

การมาถึงของ The Stone Roses

credit: hipwallpaper.com

เราเชื่อว่าแฟนเพลง Oasis หลายคนรู้จักเขาเป็นอย่างดี เพราะ The Stones Roses เป็นหนึ่งในวงดนตรีที่มีอิทธิพลต่อ Liam Gallagher เป็นอย่างมาก แม้กระทั่งวง Beady Eye (Oasis หลัง Noel Gallagher ออกจากวง) ก็ยังเคยเป็นวงซัพพอร์ตทัวร์ให้ The Stones Roses พวกเขาทั้ง 4 คน Ian Brown (ร้องนำ), John Squire (กีตาร์), Mani หรือ Gary Mounfield (เบส) และ Reni หรือ Alan John Wren (มือกลอง) มีส่วนสำคัญต่อในวงการเพลงยุคนั้นอย่างยิ่ง

พวกเขาก่อตั้งวงในปี 1983 และปล่อยซิงเกิลแรกอย่าง Elephant Stone ออกมาในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน เพลงของพวกเขาได้หลอมรวมเอาดนตรีหลายแนวไม่ว่าจะเป็น ร็อก, ฟังก์, เฮ้าส์ และกลิ่นอายความเป็นไซคีเดลิกเข้าไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นแนวเพลงใหม่ที่เรียกว่า ‘Baggy’ ซึ่งเป็นเหมือนการตกตะกอนจากดนตรีอินดี้หลาย ๆ แนวอันเป็นเอกลักษณ์ของแมนเชสเตอร์ หนักแน่นแบบร็อก แต่เต้นย้วย ๆ เมา ๆ ได้แบบเฮ้าส์ ตอบโจทย์แฟนเพลงที่กำลังโหยหาอะไรใหม่ ๆ ในยุคนั้นได้อย่างดีเยี่ยม

ซึ่งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีวงอื่นอย่าง Happy Mondays ที่ทำเพลงคล้าย ๆ กันกำลังเป็นที่นิยมเช่นกัน เมื่อดนตรีแนว Baggy กลายเป็นที่สนใจของผู้คน อิทธิพลของมันก็เริ่มส่งต่อให้วงดนตรีอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแมนเชสเตอร์ ไม่ว่าจะเป็น The Chalartans, Inspiral Carpets และ Primal Scream เกิดปรากฏการณ์ทางดนตรีที่กระจายออกเป็นวงกว้างในช่วงเวลานั้นจึงถูกใครสักคนนิยามชื่อให้มันว่า Madchester นอกจากนั้นในเวลาต่อมา สื่อดนตรีหลายเจ้ายังยกย่องให้ The Stones Roses เป็น ‘ผู้สร้างมาตรฐานให้เพลงร็อกในยุค 90’ อีกด้วย

คำว่า Baggy หากแปลตรงตัวก็คือ ‘ย้วย’ นอกจากแนวเพลงแล้ว ไอ้ความย้วยยืดของมันก็ส่งผลต่อแฟชั่นด้วย ลองคิดถึงเสื้อตัวใหญ่ ๆ กางเกงโคร่ง ๆ ที่ดูจะฮิปปี้ก็ไม่ใช่ สปอร์ตก็ไม่เชิงแบบยุค 90 ดูสิครับ นั่นแหละที่เขาเรียกกันว่า Baggy Fashion โดยเฉพาะมือกลอง The Stone Roses ที่ชื่อ Reni เขาเปรียบเสมือน Trendsetter (ผู้นำเทรนด์) ของยุคนั้นที่ทำให้เจ้าหมวกตกปลากลายเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น ซึ่งมันก็คือ Bucket Hat ที่กลับมาฮิตในหมู่วัยรุ่นยุคนี้นั่นเอง

 

credit: nostalgiacentral.com

แน่นอนว่าอะไรก็ตามที่คนลุกขึ้นมาทำเป็นจำนวนมากมันก็จะเฟื่องฟูอยู่ยุคหนึ่งก่อนจะจืดจางลงไปตามกาลเวลา แต่ถึงกระนั้น Baggy Sound ของ Madchester ก็กลายเป็นรากฐานที่ทำให้เกิดดนตรียิบย่อยแนวอื่น ๆ เช่น Shoegaze หรือ Dreampop ก่อนที่ในปี 1991 วงน้องใหม่มาแรงจากลอนดอนอย่าง Blur จะถูกผู้คนเคลมว่าเกิดมาเพื่อฆ่า Madchester แม้ว่า Leisure อัลบั้มแรกของพวกเขา จะได้รับอิทธิพลจาก Baggy มาเต็ม ๆ

The Stones Roses มีสตูดิโออัลบั้มแค่ 2 ชุดเท่านั้น ช่วงอัลบั้มแรกพวกเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ไม่สู้ดีหลายอย่าง ทั้งการดูแลจัดการที่ย่ำแย่ มีปัญหากับต้นสังกัดทั้งเรื่องกฎหมายและลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ทำให้อัลบั้มที่ 2 อย่าง Second Coming เพิ่งถูกปล่อยตามออกมาในปี 1994 ล่าช้าจากอัลบั้มแรกถึง 5 ปี ประจวบเหมาะกับที่ทิศทางความนิยมทางด้านดนตรีของผู้คนได้เปลี่ยนไปพอดี แม้มันจะเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยม (ในสายตาเรา) มีการผสมผสานทั้งบลูส์ร็อกและฟังก์ร็อกเข้ามา แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น

ในปี 1996 The Stone Roses ตัดสินใจประกาศยุบวง ก่อนจะกลับมารวมตัวกันเพื่อออกทัวร์อีกครั้งในปี 2011 ต่อมาราว ๆ ปี 2017 ก็มีข่าวลือว่าวงกำลังรวมตัวกันเพื่อกลับมาทำเพลงอีกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ล่าสุด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา John Squire ได้ออกมาประกาศผ่านสื่อด้วยตัวเองว่า The Stone Roses ได้ตัดสินใจแยกวงกันอีกครั้ง และคงจะไม่มีการทำเพลงร่วมกันอีกต่อไป

ถึงกระนั้นสมาชิกบางคนในวงก็ยังมีผลงานเดี่ยวของตัวเองให้ติดตามอยู่ ฟรอนต์แมนอย่าง Ian Brown เพิ่งจะปล่อยอัลบั้มใหม่ที่ชื่อ Ripples ออกมาให้เราฟังกันในปี 2019 ถ้ารักกันจริงก็ขอให้ติดตามกันต่อไปครับ

เชื่อเถอะครับว่าโลกที่หมุนไป วงการดนตรีก็ต้องหมุนตาม ไม่มีอะไรที่จะคงอยู่ตลอดไป แต่อย่างน้อยสิ่งที่พวกเขาสร้างไว้ก็กลายเป็นมรดกล้ำค่าของคนรุ่นหลังให้ศิลปินหน้าใหม่ ๆ ได้นำไปพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ กันต่อไป ในครั้งหน้า UNLOCKMEN จะพูดถึงประวัติศาสตร์หน้าไหนในโลกดนตรีอีก ขอให้ติดตามกันต่อไปนะครับ

 

Source: 1 / 2 / 3

Synthkid
WRITER: Synthkid
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line