DESIGN

MASTERPIECE: “อะตอม EYEDROPPER FILL” ว่าด้วยการเล่นสนุกและเสียงสื่อสารผ่านงานดีไซน์แบบไทย

By: unlockmen April 2, 2020

แม้คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้คุ้นชินกับการออกแบบเชิงตอบโต้ หรือ Interactive Design มากเท่าไรนัก แต่งานประเภทที่ผสานความคิดสร้างสรรค์เข้ากับประสิทธิภาพทางเทคโนโลยี เพื่อรังสรรค์ประสบการณ์ตื่นเต้นตระการตาให้กับผู้ชมเช่นนี้ อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร แถมงานสไตล์นี้ยังแทรกตัวอยู่ทั่วทุกมุมโลกด้วยซ้ำ

แต่ในช่วงไม่กี่ปีให้หลังชื่อเสียงด้านงาน Interactive Design ของคนไทยก็เริ่มกลายเป็นที่โจษขานมากยิ่งขึ้น งานดีไซน์ที่ว่านี้ไม่ได้มีดีแค่ขับเน้นความงามให้กระทบต่อสายตาผู้ชม หากมอบความบันเทิง ขับเคลื่อนบริบทแวดล้อม และช่วยสร้างแรงบันดาลให้กับคนในเวลาเดียวกัน แล้ว “อะตอม-ติณห์นวัช จันทร์คล้อย” Creative Director ของบริษัท Eyedropper Fill คือหนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบเชิงตอบโต้สุดสร้างสรรค์ที่เราหมายถึง

งานออกแบบประสบการณ์ของอะตอม Eyedropper Fill 

“ถ้าจะให้อธิบายถึงสิ่งที่เราทำคร่าว ๆ น่าจะอยู่ในสามประโยคคือ เราสร้างพื้นที่ เราชวนคนมาเจอกัน และเราสร้างประสบการณ์ที่น่าจดให้กับพวกเขา Eyedropper Fill เริ่มต้นจากงานที่เป็นภาพเคลื่อนไหวซะส่วนใหญ่ แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนจากภาพเคลื่อนไหวไปสู่งานบนพื้นที่จริง”

ปัจจุบัน Eyedropper Fill เป็นสตูดิโอผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างภาพเคลื่อนไหว ศิลปะติดตั้ง และการออกแบบเชิงตอบโต้ พวกเขานิยามตัวเองว่าเป็น ‘สตูดิโอนักออกแบบประสบการณ์’ ขยันครีเอตผลงานดีไซน์เจ๋ง ๆ ที่สอดรับกับความต้องการพวกเขา คล้องกับความต้องการของลูกค้า ตลอดจนขับเคลื่อนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนที่มาชมงาน

“การเล่นสนุกคือน้ำเสียงในแบบคนไทยที่เราใช้สื่อสาร”

เชื่อว่าทุกสตูดิโอออกแบบต่างมีลายเส้นและสไตล์การทำงานเฉพาะตัว ไม่ต่างจากอะตอมและทีม Eyedropper Fill ทว่าเอกลักษณ์ในงานของพวกเขาไม่ใช่รูปแบบ รูปทรง การจัดวาง หรือเทคนิคแสงสีที่เป็นรูปธรรม หากเป็นคำนามนามธรรมที่ดูจะจับต้องได้ยากอย่าง ‘ความสนุก’ แต่พวกเขาใช้มันเป็นเบ้าหลอมและเนรมิตงานดีไซน์เชิงตอบโต้ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสนุกสนานขึ้นมาได้

“สิ่งที่ท้าทายที่สุดสำหรับการทำงานคือเราต้องหาน้ำเสียงในแบบที่สื่อสารกับคนไทยแล้วพวกเขารู้สึกสนุกให้เจอ คนไทยโตมากับการละเล่น งานวัด หรือสีสันความบันเทิงอีกมากมาย ‘ความสนุก’ จึงเป็นเหมือนวัฒนธรรมย่อยของคนไทยไปโดยปริยาย”

Eyedropper Fill

“งานช่วงหลัง ๆ ที่เราทำจึงดึงความสนุกนี้เข้ามาเป็นแก่นหลัก แม้จะดูเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่พอเริ่มเจอเส้นตรงกลางระหว่างงานออกแบบเชิงตอบโต้ เทคโนโลยี และความสนุก เราก็รู้สึกได้ว่าถ้าใช้น้ำเสียงแบบนี้สื่อสารออกไป มันไม่น่าจะยาก คนน่าจะเข้าใจ และสนุกไปกับมันได้”

แทบทุกงานของอะตอมในบทบาท Creative Director ของ Eyedropper Fill ล้วนซ่อนน้ำเสียงแห่งความสนุกเอาไว้อย่างครบเครื่อง อาจเป็นศิลปะติดตั้งที่มีกลิ่นการเล่นหอม ๆ น่ารับประทาน หรืองานมัลติมีเดียรสอร่อยที่อยากชวนใครสักคนเข้ามาชิม

พวกเขาเชื่อว่าทันทีที่คนรู้สึกสนุกเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่คนจะพร้อมเปิดรับ และความสนุกก็ทรานส์ฟอร์มมาเป็นค้อนทำลายกำแพงชั้นดี ที่ทำให้คนได้ใช้เวลากับตัวเองหรือสร้างความทรงจำดี ๆ ร่วมกับคนอื่น

ทำงานสร้างสรรค์อย่างไรไม่ให้ไอเดียเพ้อ ฟุ้งกระจาย ไร้ขอบเขต?

“ผมว่าการทำงานสร้างสรรค์มันมีกราฟของมันอยู่ ทั้งบริษัทเรา บริษัทลูกค้า หรือคนที่มาชมงานต่างมีความต้องการในตัวเอง บริษัทอยากให้งานเดินไปทางนี้ ลูกค้าอยากได้ผลลัพธ์แบบนั้น ส่วนคนที่มาเล่นก็อาจอยากได้ประสบการณ์อีกแบบ เราจึงต้องแบกรับความต้องการให้ได้มากที่สุดและนำทุกความต้องการมาคลี่เพื่อหาสิ่งที่เชื่อมโยงกันได้ มันจะมีไม่กี่เส้นที่ร้อยเรียงความต้องการของทุกคนเอาไว้ ยิ่งหาเส้น ๆ นั้นเจอมากเท่าไหร่ งานที่ออกมาก็น่าจะดีมากเท่านั้น”

Eyedropper Fill

“ความเป็นไปไม่ได้ช่วยสร้างนวัตกรรมมากมายให้งานเรา”

บางครั้งหลากไอเดียของนักคิดนักทำที่พรั่งพรูมากมายในหัวถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีและวลี “เป็นไปไม่ได้” จนทำให้บรรดานักสร้างสรรค์รู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังไปตาม ๆ กัน แต่อะตอมกลับมองว่าไอ้ความเป็นไปไม่ได้ที่หลายคนเกลียดกลัว แท้ที่จริงคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเจออะไรที่เป็นไปได้และกลับไปค้นหาว่าแก่นสำคัญของสิ่งที่ทำคืออะไร

“เทคโนโลยี การก่อสร้าง ระยะเวลา และงบประมาณการผลิตที่จำกัด ยิ่งทำให้เราต้องกลับไปคิดและค้น ว่าสุดท้ายถ้าเหลืออุปกรณ์เพียงอย่างเดียวในงานชิ้นนี้ อะไรคือสิ่งที่จำเป็นที่สุดซึ่งตอนนั้นเราจะเจออะไรที่มันเป็นไปได้จริง ผมว่าแบบนี้มันดีกว่าการที่เราคิดอะไรแล้วเป็นไปตามที่เราคิดทุกอย่าง”

Eyedropper Fill

***LnWปs:nาuIwaJ*** งานดีไซน์ที่ให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่ก่อนใคร

หลังจากอะตอมและ Eyedropper Fill สั่งสมประสบการณ์ด้านการสร้างภาพเคลื่อนไหว ศิลปะติดตั้ง และการออกแบบเชิงตอบโต้มาหลายปี บวกกับเคยสร้างงาน ‘RUAM-JAI-OKE (ร่วมใจโอเกะ)’ ใน Bangkok Design Week 2019

ปีนี้พวกเขาจึงได้รับโจทย์จาก TCDC (Thailand Creative & Design Center) ให้สร้างศิลปะที่มีส่วนร่วมกับชุมชน ใน Bangkok Design Week 2020 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผลงาน ***LnWปs:nาuIwaJ*** ชิ้นนี้

“โจทย์ของเราคือทำยังไงก็ได้ให้คนที่มางาน Bangkok Design Week ได้ชมผลงานศิลปะและเข้าไปรู้จักชุมชนในเวลาเดียวกัน เราเริ่มจากการลงพื้นที่ในย่านตลาดน้อย-เจริญกรุง เข้าไปพูดคุยและถามความพึงพอใจของคนในชุมชน เพราะพวกเขาต้องอยู่กับไอเดียที่เราคิดมากกว่าใคร งานสร้างสรรค์ชิ้นนี้จึงต้องมีประโยชน์และคุณค่าต่อพวกเขาด้วยเช่นกัน”

“ตอนกลางวันย่านตลาดน้อย-เจริญกรุงมีเซียงกง ร้านอาหาร และอู่ซ่อมรถต่าง ๆ เรียงรายตลอดสองข้างทาง แต่วิถีชีวิตของผู้คนในย่านนี้จะเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงเย็น เพราะมีชาวบ้านออกมานั่งก๊งเหล้าและร้องคาราโอเกะด้วยกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเรามองว่าพื้นที่คาราโอเกะตรงนี้น่าจะดึงดูดผู้คนได้เป็นอย่างมาก”

เมื่อปิ๊งไอเดียได้แล้วว่าจะสร้างงานดีไซน์เป็นลานคาราโอเกะ ก็ต้องคิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ลานคาราโอเกะแห่งนี้มีศักยภาพมากพอที่ดึงดูดผู้คนในย่านตลาดน้อย-เจริญกรุงให้เข้ามาร่วมสนุกกันได้ และงานดีไซน์กับคาราโอเกะจะผสานเป็นเนื้อเดียวกันได้อย่างไร

อะตอม และ Eyedropper Fill จึงเนรมิตพื้นที่หน้าศาลเจ้าฮ้อนหว่องกุง หรือ ศาลเจ้าโรงเกือก ให้กลายเป็นลานคาราโอเกะ สร้างฟังก์ชันใหม่ให้กับพื้นที่ทางศาสนาและแหล่งรวมจิตวิญญาณ นำมาซึ่งพื้นที่สาธารณะสุดสร้างสรรค์ที่ช่วยขับเคลื่อนวิถีชีวิตของคนในชุมชน

Eyedropper Fill

“เราสร้างเรื่องเล่าว่าลานคาราโอเกะแห่งนี้เป็นลานที่เทพจะมาประทานเพลงให้ร้อง ขณะที่คนเข้าไปเล่นและหยอดเหรียญเลือกเพลง พวกเขาก็จะได้ทำบุญให้กับศาลเจ้าโดยไม่รู้ตัว เพราะเงินทั้งหมดจะหมุนเวียนกลับไปที่ศาลเจ้า

ผู้ที่มาชมงาน Bangkok Design Week 2020 ยังได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่จากการร้องคาราโอเกะที่ศาลเจ้า เออว่ะ มันก็เป็นไปได้ที่คนได้ทำกิจกรรมสนุก ๆ ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งรวมจิตใจของพวกเขา การค้าขายที่เคยซบเซาก็ฟื้นตัวขึ้น แถมยังช่วยให้คนที่ไม่เคยเจอหน้าคร่าตากันมานานได้พบกันด้วย”

“พื้นที่การแสดงออกเป็นพื้นที่ที่หาได้ยากและยิ่งหาได้ยากมันเลยยิ่งสำคัญ”

งานของ Eyedropper Fill จะเริ่มต้นที่มนุษย์และพยายามทำความเข้าใจมนุษย์ผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับงานเป็นอันดับแรก ตั้งแต่ลูกค้าไปจนถึงคนที่จะเข้ามาชมผลงานสุดสร้างสรรค์นี้ แต่นอกจากความสนุกสนานและประสบการณ์น่าจดจำที่จะได้รับ คุณอาจได้ใช้พื้นที่งานของ Eyedropper Fill ครีเอตอะไรบางอย่างที่แตกต่างและเป็นตัวเอง

“ไม่ใช่แค่มอบความสนุกหรือประสบการณ์เพียงอย่างเดียว หลาย ๆ ครั้งงานของเราก็เป็นพื้นที่การแสดงออก เพราะผู้ชมมีส่วนสร้างสรรค์งานชิ้นนั้นในแบบของพวกเขา ช่วยให้พวกเขาได้อยู่กับตัวเองและเข้าใจตัวเอง ว่าตอนนี้ฉันรู้สึกแบบนี้ก็เลยเล่น ทำท่าทาง และแสดงออกไปแบบนี้ ผมคิดว่าพื้นที่การแสดงออกแบบนี้เป็นพื้นที่ที่หาได้ยากและยิ่งหาได้ยากมันเลยยิ่งสำคัญ”

คิดว่างานดีไซน์แบบไหนที่ตอบโจทย์คนเบื่อบ้าน
รำคาญ COVID และหงุดหงิด Work from Home ?

“ผมนึกถึงงานดีไซน์แบบ Contactless ที่ไม่ต้องสัมผัสกันและไม่ต้องเจอหน้ากันจัง ๆ โดยพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบหลักอย่างเช่น Skype, Zoom หรือ Google Hangouts อาจเป็น Virtual Event ให้ทุกคนสนุกเหมือนได้ไปงานจริง หรือเทศกาลดนตรีที่จัดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ แต่เราสามารถตะโกนโต้ตอบกับนักดนตรีที่อยู่บนเวทีได้”

“รู้สึกว่าอินเทอร์เน็ตทำให้เรามีส่วนร่วมต่อกันเยอะมาก แต่บางครั้งที่เราพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากเกินไป อาจทำให้ขาดการปฏิสัมพันธ์แบบที่มนุษย์เขาทำกันได้ เหมือนตอนที่มาออฟฟิศแล้วตบไหล่เพื่อน โผเข้ากอด จับมือ หรือจิ้มพุงเล่นกัน คงจะดีถ้าเราใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตเพิ่มการสัมผัสร่างกายกันและกันได้ สร้างชุดที่เชื่อมโยงประสาทสัมผัสไปยังอีกคนนึง หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้แม่ที่อยู่ต่างจังหวัดเล่นกับแมวที่หอเราได้ มันจะทำให้คนรู้สึกราวกับพวกเขาได้ปฏิสัมพันธ์กันแบบวันที่ไม่มี COVID-19 แพร่ระบาด”

การได้พูดคุยกับอะตอม-ติณห์นวัช Creative Director ของ Eyedropper Fill ผู้นี้ เหมือนเป็นการตอกย้ำถึงวัฒนธรรมการเล่นสนุกของคนไทย ที่เราเองก็รู้สึกได้มาตั้งนานแต่เพิ่งสังเกตเห็นอย่างจริงจัง แม้แต่โจทย์งานดีไซน์ที่เราตั้งให้อะตอม ก็ยังไม่ทิ้งลายความสนุกสนาน อันเป็นน้ำเสียงเฉพาะตัวที่เขาใช้สร้างสรรค์ผลงานเจ๋ง ๆ นับไม่ถ้วน

สิ่งที่สนุก เพลิดเพลิน หรือสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนไทยได้ คงเป็นน้ำเสียงที่เหมาะที่สุดที่จะใช้สื่อสาร และอะตอมก็ใช้น้ำเสียงนั้นสื่อสารผ่านงาน Interactive Design เพื่อให้คนไทยเข้าถึง บทสนทนาของเราจบลงพร้อมกับความหวังที่จะได้เห็นงานดีไซน์ไทยก้าวไกลและเติบโตไปยิ่งกว่าเดิมที่เริ่มขึ้น

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line