DESIGN

MASTERPIECE: “บุญเสริม เปรมธาดา” แค่ฟังก์ชันหรือความงามไม่ใช่นิยามของสถาปัตยกรรม

By: unlockmen February 21, 2020

เนื่องด้วยเรากำลังใช้ชีวิตท่ามกลางป่าคอนกรีตที่มีสิ่งปลูกสร้างหลากระดับ ตั้งแต่บ้านแนวราบ อาคารแนวตั้ง ไปจนถึงตึกระฟ้าสูงลิบลิ่ว จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีสถาปัตยกรรมสอดแทรกอยู่ในแทบทุกรายละเอียดยิบย่อยของชีวิตเสมอ

ไม่เพียงนิยามถึงสิ่งปลูกสร้างอย่างบ้าน อาคาร หรือคอนโดมิเนียมที่มนุษย์อาศัยอยู่ หากสถาปัตยกรรมกว้างขวางจนครอบคลุมไปถึงเจดีย์ สถูป และอนุสาวรีย์ที่ปราศจากผู้อยู่อาศัย

ในยุคกระแสนิยมที่ทุกอย่างมาเร็วไปเร็วเฉกเช่นตอนนี้ ต้องยอมรับว่าแนวคิดการสร้างสถาปัตยกรรมแบบเดิมถูกปรับแต่งและโละทิ้งไป แทนที่ด้วยแนวคิดสมัยใหม่ จนบางครั้งค่านิยมของสถาปัตยกรรมปัจจุบันโน้มเอียงไปทางสุนทรียศาสตร์ซึ่งกระทบต่อความรู้สึกและรสนิยม มากกว่าความหมายดั้งเดิมทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ชั่งตวงระหว่างเทคนิควิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมอย่างละเท่า ๆ กัน

แต่น่าแปลกที่การตอกเสาเข็มสร้างสถาปัตยกรรมของ ‘บุญเสริม เปรมธาดา’ กลับต่างออกไป เขาไม่ได้ใช้สถาปัตยกรรมเพื่อขับเน้นความงามให้ตกกระทบต่อสายตาผู้ชมเท่านั้น ทว่ายึดมั่นการขับเคลื่อนบริบทแวดล้อมและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเวลาเดียวกัน

วิธีการทางสถาปัตยกรรมที่ปลีกออกไปของ ‘บุญเสริม เปรมธาดา’

ความสงสัยใคร่รู้เรื่องมุมมองการสร้างสถาปัตยกรรมพาเราเดินดุ่มเข้ามาคุยกับ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา สถาปนิกเจ้าของรางวัลศิลปาธร สาขาออกแบบเชิงสร้างสรรค์ (สถาปัตยกรรม) ในปีล่าสุด ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของสตูดิโอออกแบบเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘Bangkok Project Studio’ และสอนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาร่วม 20 ปี

“หลังเรียนจบผมก็เหมือนคนทั่ว ๆ ไปที่ทำงานในสตูดิโอออกแบบและสร้างงานตามคำสั่งลูกค้า แต่พอทำมาได้สักพักมันก็เบื่อ และรู้สึกว่าสถาปัตยกรรมมันไม่ได้ส่งผลอะไรต่อคุณภาพชีวิตคนเลย ตั้งแต่นั้นผมจึงตัดสินใจออกมาเปิดสตูดิโอของตัวเอง เพื่อให้เป็นอีกทางเลือกในการออกแบบ แต่เผอิญมันดันเป็นวิธีการทางสถาปัตยกรรมที่โลกกำลังสนใจตอนนี้”

“ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมคือความจริงใจ”

ไม่แปลกถ้าคุณไม่เคยเห็นผลงานของสถาปนิกคนนี้ในกรุงเทพฯ เพราะงานที่ Bangkok Project Studio ได้รับมักเชื่อมโยงกับพื้นที่สาธารณะ อาคารตามต่างจังหวัด หรือพื้นที่ทุรกันดารที่แทบไม่มีใครรู้จักและจำเป็นต้องใช้สถาปัตยกรรมเข้าไปช่วยขับเคลื่อน โปรเจกต์ส่วนใหญ่จึงเป็นของรัฐบาลที่อยากช่วยรักษาวัฒนธรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนในพื้นที่นั้น ๆ ตลอดจนทำให้เมืองอื่น ๆ เติบโตไปควบคู่กัน

“ผมเชื่อว่าถ้าเรามีเจตนารมณ์และมีทัศนคติที่ดี เราใส่ทัศนคติลงไปในพื้นที่ตรงนั้น รูปแบบของสถาปัตยกรรมก็จะแสดงออกมาให้เห็น ผมคิดว่าสถาปัตยกรรมที่ผมทำคือความจริงใจ มองว่าพื้นที่ตรงนั้นต้องการอะไร แล้วสติปัญญาของผมสามารถเข้าไปช่วยเหลือหรือเพิ่มคุณค่าให้พื้นที่ตรงนั้นได้อย่างไร

Bangkok Project Studio

‘Kantana Institute’ อิฐมอญปั้นมือและความคุ้มค่าที่เทียบมูลค่าไม่ได้

“สตูดิโอของผมเปิดมาตั้งแต่ปี 2003 หลาย ๆ คนถามว่าระหว่างปี 2003 ถึง 2011 ผมไปทำอะไรอยู่ แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานสถาปัตยกรรมอยู่บ้าง แต่มันไม่ได้สร้างเสียส่วนใหญ่ มีเพียงงานต่อเติมอาคารเก่างานเดียวเท่านั้นที่ทำและพับลิช กันตนาจึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานสถาปัตยกรรมของผม และเป็นงานที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมของผมใช้อิฐ”

แม้อิฐจะเป็นวัสดุที่สะสมความร้อน แทบไม่ได้รับความนิยมในตอนนั้น แถมการนำอิฐมาก่อร่างสร้างสถาปัตยกรรมยังทำให้อาคารดูล้าสมัย เชย และโบราณเสียยิ่งกว่าอะไร แต่ชายผู้นี้กลับแน่วแน่ที่จะใช้อิฐสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนประวัติศาสตร์และเป็นประวัติศาสตร์ที่ใครหลายคนอาจหลงลืมมันไป

“เคยมีคนถามผมว่าทำไมต้องใช้อิฐเยอะขนาดนี้ มันไปเพิ่มคอสต์ให้กับเจ้าของโครงการ ทั้งค่าแรง การผลิต การก่อสร้าง รวมถึงระยะเวลาที่ใช้ ผมตอบเขาไปว่าประเทศเรามีประวัติศาสตร์ แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีเรื่องราวที่สั่งสมกันมาช้านาน จริงอยู่ที่อิฐมอญปั้นมือมีราคาสูงกว่า น้ำหนักมากกว่า และเสียหายได้ง่ายกว่า ไม่รู้หรอกว่าระหว่างคุณค่ากับมูลค่าอะไรจะมาก่อนกัน แต่ถ้าผมอยากรักษามรดกหรือภูมิปัญญาไทยเอาไว้ ผมคิดว่าวิธีการลงทุนแบบนี้คุ้มค่า”

อิฐมอญปั้นมือคือรายจ่ายเกินจำเป็นและวัสดุเก่าคร่ำครึที่ยากจะสร้างสรรค์ให้ทันสมัยสำหรับบางคน แต่ บุญเสริม เปรมธาดา มองว่าการใช้อิฐนอกจากจะสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ไทยที่มีมาช้านานแล้ว ยังช่วยเหลือปากท้องของคนในชุมชนและชุบชีวิตช่างฝีมือที่ทยอยสูญหายไป

การประเมินค่าผลงานศิลปะสักชิ้นอาจวัดกันที่มูลค่าหรือคุณค่า ทว่าชายผู้นี้ใช้สถาปัตยกรรมสื่อความหมายบางอย่าง สร้างความยั่งยืนให้กับบริบทแวดล้อม และเชื่อเสมอว่าสักวันคนที่มองสถาปัตยกรรมของเขา จะรู้ว่าทำไมต้องสร้างและต้องลงทุนมากขนาดนี้

Bangkok Project Studio

‘Elephant World’ เมื่อภาษาที่เชื่อมระหว่างคนกับช้างคืองานสถาปัตยกรรม

“ปัญหาใหญ่ที่คนในชุมชนต้องเจอคือพวกเขาไม่มีงานทำ พืชผลต่าง ๆ ขายไม่ได้ ลำบาก และเศรษฐกิจไม่ดี จนควาญช้างต้องพาพวกมันมาเดินเร่ร่อนตามหัวเมืองใหญ่ ซึ่งรัฐบาลก็มองเห็นปัญหาและอยากพาช้างกลับบ้าน จึงเกิดเป็นโปรเจกต์นำช้างคืนถิ่น, ศูนย์คชศึกษา, โลกของช้าง (Elephant World) และอีกหลาย ๆ โปรเจกต์ตามมา”

Bangkok Project Studio

“Elephant World ถูกสร้างขึ้นที่หมู่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ ช้างของที่นี่เป็นช้างเลี้ยง ไม่ใช่ช้างป่าและไม่ได้จับช้างมา คนในชุมชนเลี้ยงช้างเหมือนเป็นคนในครอบครัว พวกเขาจะสร้างบ้านเล็ก ๆ ที่มีหลังคาให้ช้าง นั่นทำให้ผมนึกถึงภาพคนรักหมารักแมวที่อยากเอาพวกมันมานอนด้วย”

สถาปัตยกรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นภาษาเชื่อมระหว่างคนกับช้างเข้าด้วยกัน แม้คนจะใช้ประโยชน์จากช้างเพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่หน้าที่ที่พ่วงมาด้วยคือต้องดูแลช้างให้ดี

นอกจากโปรเจกต์นี้จะช่วยพาช้างที่เดินห้อยซีดีตามทางเท้ากลับบ้านแล้ว ยังเป็นอีกกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าแท้จริงมนุษย์สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับช้างได้หรือไม่ ช้างที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมายาวนานและเป็นสัตว์ประจำชาติที่นับวันเริ่มหมดความสำคัญลง

Bangkok Project Studio

‘The Wine Ayudhya’ สเปซร่วมสมัยที่อยากให้คนใช้เวลาในอยุธยานานกว่าเดิม

“ตอนนั้นอยุธยาไม่ได้เป็นเมืองที่น่าสนใจ คำว่าน่าสนใจในฐานะที่มีสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น จริงอยู่ที่อยุธยาเป็นเมืองเก่าและเมืองมรดกโลก เราจึงต้องเก็บรักษาของเก่าไว้ แล้วของใหม่ล่ะ? เราจะกลับไปลอกของเก่าหรือจะทำขึ้นมาใหม่โดยที่ไม่ไปรบกวนของเก่า The Wine Ayudhya เป็นโจทย์ที่ทำให้ผมต้องคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ที่อยุธยาได้นานที่สุด เวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นข้อท้าทายสำหรับผม”

แม้อยุธยาจะเป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญและมีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายช่วงอายุคน แต่ในสายตาคนส่วนใหญ่ จังหวัดเก่าแก่แห่งนี้เป็นเพียงทางผ่านก่อนขึ้นภาคเหนือเท่านั้น บุญเสริม เปรมธาดา จึงได้โจทย์ให้สร้างสถาปัตยกรรมในพื้นที่ 11 x 11 เมตร เพื่อดึงรั้งนักท่องเที่ยวให้ใช้เวลาอยู่ที่อยุธยามากกว่าแค่ครึ่งวัน

เขาศึกษาประวัติศาสตร์ เรื่องราวท้องถิ่น รวมถึงจดหมายเหตุลาลูแบร์ (La Loubère) ที่เคยบันทึกไว้ว่าไวน์ถูกส่งมาจากบอร์กโดซ์ (Bordeaux) และนำเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นั่นจึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีชื่อว่า “The Wine Ayudhya”

“ชีวิตของสถาปนิกเราใช้เวลาเพื่อศึกษา ออกแบบ และทำงานค่อนข้างนาน บางโครงการใช้ 6-7 ปี ตั้งแต่ออกแบบยันก่อสร้าง สถาปัตยกรรมที่สร้างเสร็จจึงเป็นความสำเร็จส่วนหนึ่ง เมื่อมีคนเข้ามาใช้และสามารถหาประโยชน์จากมันได้คือความสำเร็จขั้นต่อมา แล้วมันจะสำเร็จยิ่งขึ้นถ้าสถาปัตยกรรมนั้นเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนไปในทิศทางที่ดี”

แม้ บุญเสริม เปรมธาดา จะเป็นหนึ่งในสถาปนิกหาตัวจับยากที่ไม่มีลวดลายการออกแบบตายตัว เปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้จนเดาทางไม่ถูก และทำให้เราประหลาดใจได้เสมอ แต่หนึ่งเอกลักษณ์ที่เราพอสัมผัสได้ คือการใช้งานสถาปัตยกรรมเพื่อสื่อสารนัยสำคัญบางอย่าง

ขับเคลื่อนบริบทแวดล้อมไปพร้อมคนที่ใช้พื้นที่ และเน้นหนักแน่วแน่ที่จะสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตคน คือนิยามที่มากกว่าการคำนึงถึงฟังก์ชันและรูปทรงที่สวยงามเพียงอย่างเดียว

 

PHOTOGRAPHER: Warynthorn Buratachwatanasiri

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line