DESIGN

‘MODEL-C’ อพาร์ตเมนต์โครงสร้างไม้ลามิเนต สถาปัตยกรรมปลอดคาร์บอนแห่งแรกของสหรัฐฯ

By: unlockmen February 24, 2020

แม้จะไม่เป็นที่พูดถึงมากเท่าโคโรนาไวรัสหรือโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้ แต่ผู้ชายหลายคนคงยังไม่ลืมว่าภาวะโลกร้อนนั้นเป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เราเผชิญอยู่เช่นกัน อากาศร้อนอบอ้าวในช่วง 10 ปีให้หลัง ไม่เพียงสร้างความหงุดหงิดรำคาญใจ หากยังก่อให้เกิดน้ำท่วม หิมะตกช้ากว่าฤดูกาล รวมทั้งเหตุการณ์ที่น้ำแข็งขั้วโลกหลอมเหลวอย่างรวดเร็ว

ในยุคที่ธรรมชาติและสภาพแวดล้อมรอบตัวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด วงการสถาปัตยกรรมเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด ต่างคิดหาสารพัดวิธีออกแบบเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอีกเทรนด์สถาปัตยกรรมที่กำลังมาแรงในตอนนี้ คือการเลือกใช้วัสดุหรือกระบวนการก่อสร้างที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน

dezeen.com

Generate สตูดิโอออกแบบได้เผยแผนการสร้าง ‘Model-C’ อพาร์ตเมนต์ปลอดคาร์บอน ในย่าน Lower Roxbury ของเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

อพาร์ตเมนต์แห่งนี้ถอดแบบการพัฒนาอาคารสไตล์ Passive House ของโลกอนาคตมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ สร้างอาคารที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เพื่อทุเลาผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์ต้องเผชิญ

dezeen.com

Passive House เป็นแนวคิดที่มีมาตั้งแต่ปี 1988 เน้นหนักเรื่องการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยมลพิษไปทำลายสิ่งแวดล้อม ทีมสถาปนิกของ Generate คาดว่าเมื่อสร้างอพาร์ตเมนต์จนเสร็จสมบูรณ์ ที่นี่จะกลายเป็น Passive House บนพื้นไม้ลามิเนตเต็มรูปแบบแห่งแรกและเป็นหนึ่งในอาคารที่ยั่งยืนที่สุดของสหรัฐฯ

dezeen.com

นอกจากการใช้ไม้ลามิเนตแปรรูป Cross-laminated Timber (CLT) แทนคอนกรีตหรือเหล็กจะช่วยสร้างเอกลักษณ์งานดีไซน์ให้กับอพาร์ตเมนต์แห่งนี้แล้ว ไม้ CLT ยังเป็นวัสดุที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าคอนกรีตและเหล็กอีกด้วย

แม้ไม้ CLT จะมีน้ำหนักน้อยกว่าคอนกรีตและเหล็ก แต่ก็แข็งแรงทนทานมากพอจะนำไปเป็นโครงสร้างของอาคารที่ต้องรองรับน้ำหนักมากได้สบาย ๆ ตัวเส้นใยขนาดใหญ่ของไม้ CLT ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ ต่างจากเหล็กหรือคอนกรีตที่มักจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยตรง

พื้นที่ 836 ตารางเมตรถูกจัดให้เป็นห้องพัก 14 ห้องใหญ่ และมี co-working space ที่ชั้นล่าง บล็อกของอาคารทั้งห้าชั้นสร้างขึ้นด้วยระบบ Kit-of-parts โดยนำชิ้นส่วนไม้สำเร็จรูปแบบแยกส่วนได้มาเชื่อมประกอบกัน ทำให้สามารถถอดชิ้นส่วนและนำชิ้นส่วนนั้น ๆ กลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยืดหยุ่น

บริเวณหลังคาจะมีพื้นที่ว่างสำหรับติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขณะเดียวกันผนังของอาคารก็สร้างขึ้นจากไม้ CLT และวัสดุฉนวนใยหินที่มีคุณสมบัติกันความร้อน ดูดซับเสียง และทนไฟ ทำให้การอยู่อาศัยภายในอาคารนี้เย็นสบายยิ่งขึ้น

dezeen.com

แม้ในอดีตการใช้ไม้ในงานสถาปัตยกรรมจะมีข้อจัดมากมาย ทั้งติดไฟง่าย เก็บความชื้น หรือรูปลักษณ์ที่ดูไม่ทันสมัย แต่ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน เทรนด์สถาปัตยกรรมโน้มเอียงมาใช้ไม้มากขึ้น ทำให้ไม้พัฒนาและข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ จนกลายมาเป็นวัสดุสุดชาญฉลาดที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสุนทรียภาพให้ที่พักอาศัยได้ในเวลาเดียวกัน

 

Renderings are by Forbes Massie Studio.

 

COVER SOURCE SOURCE

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line