World

MOTIVATHLETE: ‘ELIUD KIPCHOGE’ผู้คนที่รายล้อมคือสิ่งที่ทำให้ผมเชื่อว่ามนุษย์ไร้ขีดจำกัด

By: SPLESS October 17, 2019

ครั้งหนึ่งเคยมีนักวิ่งระยะไกลผู้หนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า “ผมไม่รู้ว่าขีดจำกัดนั้นตรงอยู่ไหน แต่ผมก็อยากลองไปให้ถึงจุดนั้นดู” เวลานั้นหลายคนต่างมองว่านั่นประโยคและเรื่องราวเพ้อฝัน มนุษย์หนึ่งคนจะตามหาขีดจำกัดของตัวเองไปเพื่ออะไร? หรือทำไปแล้วจะได้อะไรกลับมา?

แต่ชายผู้เป็นเจ้าของประโยคดังกล่าวที่ชื่อ เอเลียด คิปโชเก (Eliud Kipchoge) กลับไม่คิดแบบนั้น เขามองว่ามันคือเป้าหมายสำคัญในการเอาชนะตัวเอง ก่อนจะพิสูจน์ให้คนทั้งโลกได้เห็นด้วยการทำลายกำแพงที่เคย “ขีดเส้น” ความสามารถของนักวิ่งระยะไกลทุกคนบนโลกไว้ว่ามนุษย์นั้นไม่สามารถทำลาย “ขีดจำกัด” หรือกำแพงเวลา 2 ชั่วโมงของการวิ่งฟูลมาราธอนลงได้

hearstapps

ทันทีที่ร่างกายของเอเลียด คิปโชเกทะยานผ่านเส้นชัยในอีเวนต์ INEOS 1:59 Challenge ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40 วินาที ประวัติศาสตร์ของโลกและขีดจำกัดของมนุษย์ก็ถูกมองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ในเวลาเดียวกัน ตัวเขาก็ได้มอบอีกหนึ่งคำพูดสำคัญเพื่อตอกย้ำความคิดที่มีอีกครั้งว่า “มนุษย์เรานั้นไร้ซึ่งขีดจำกัด”

ท่ามกลางความสำเร็จท่ีเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก หลายคนทราบกันดีว่าเอเลียด คิปโชเก คือคนที่วิ่งเข้าเส้นชัย แต่เบื้องหลังความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิตของเขากว่าจะมาถึงวันนี้ ใครจะรู้ว่านักวิ่งวัย 34 ปีชาวเคนย่าผู้นี้ต้องผ่านการฝึกฝนทางร่างกายและผ่านการขัดเกลาในด้านจิตใจมาอย่างไรบ้าง วันนี้ UNLOCKMEN และคอลัมน์ MotivAthlete จะพาทุกคนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

EPA

ร่างกายเหนือมนุษย์ ที่มาจากการฝึกซ้อมและเฝ้าจดบันทึก

หลายคนทราบกันดีว่าปัจจัยพื้นฐานของการเล่นกีฬาแต่ละประเภทมีสิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างก็คือ “ร่างกายและพละกำลัง” ร่างกายที่ดีและมัดกล้ามเนื้อสมส่วนที่เหมาะสมกับกีฬาชนิดนั้น ๆ จะช่วยกรุยทางสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้นและคิปโชเกเองก็รู้ดี แถมยังรู้อย่างลึกซึ้งยิ่งกว่าใคร แม้จะรู้ได้โดยบังเอิญก็ตาม

เพราะความยากในครอบครัวบีบให้เขาต้องวิ่งไปโรงเรียนเป็นระยะทาง 3.2 กิโลเมตร ทุก ๆ วันมาตั้งแต่ยังเด็ก แม้ในเวลาตัวเขาจะไม่เคยคิดว่าทั้งหมดจะกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเขาก้าวขึ้นมาเป็นสุดยอดนักวิ่งระยะไกลของโลกก็ตาม แต่ช่วงเวลานั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คิปโชเกมีโอกาสได้พบกับโค้ชอย่าง Patrick Sang ผู้ที่ทำให้เขาหลงใหลการออกวิ่ง

Olympic

ในเวลาต่อมาเอเลียด คิปโชเกไต่เต้าขึ้นมาจนได้เป็นนักวิ่งมาราธอนตัวแทนประเทศเคนย่า เพื่อลงแข่งขันในรายการสุดยิ่งใหญ่อย่างโอลิมปิก ซึ่งทำให้เราได้เห็นพัฒนาการที่ไม่หยุดนิ่งของชายคนนี้ โดยเริ่มฉายแววจากการคว้าเหรียญทองแดงในรายการวิ่ง 5000 เมตรที่เอเธนส์ ก่อนจะคว้าเหรียญเงินในรายการเดียวกันที่กรุงปักกิ่งใน 4 ปีต่อมา และสุดท้ายก็ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในการแข่งขันวิ่งมาราธอนด้วยการคว้าเหรียญทองที่รีโอ เดจาเนโรในปี 2016

เรื่องราวทั้งหมดอาจฟังดูง่าย หากเรามองผ่าน ๆ สถิติ แต่สำหรับคิปโชเก มันคือช่วงเวลา 12 ปีที่ต้องตรากตรำฝึกซ้อมตามตารางในทุก ๆ วัน เป็นกิจวัตรประจำวันที่มีแต่การฝึกซ้อม การฟื้นฟูร่างกายและฝึกกลับมาซ้อมอีกครั้งในเช้าของวันถัดไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยระเบียบวินัยในตัวเองสูงมาก

Twitter : Eliud Kipchoge

แต่คิปโชเกยังมีกิจกรรมอีกหนึ่งอย่างที่ช่วยให้การฝึกซ้อมของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นคือ การจดบันทึก โดยตัวเขามักจดรายละเอียดการฝึกซ้อมทุกวัน หรือเคล็ดลับต่าง ๆ เพื่อกลับมาทบทวนอีกครั้งในช่วงเวลาว่าง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนาตารางฝึกในวันหรือสัปดาห์ถัดไปให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

หนึ่งในพลังของการจดบันทึก แสดงให้เห็นที่  Berlin Marathon ในปี 2018 เมื่อตัวเขาสามารถสร้างสถิติโลกครั้งใหม่ (ในเวลานั้น) ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 11 วินาที หลังการแข่งขันจบลง บันทึกการฝึกซ้อมของเอเลียด คิปโชเกก็ถูกเผยแพร่ออกมา โดยในบันทึกแสดงให้เห็นว่าระยะเวลาเพียง 5 สัปดาห์ก่อนการแข่งขันที่เบอร์ลิน คิปโชเกซ้อมวิ่ง คิดเป็นระยะทางกว่า 916 กิโลเมตร พร้อมปรับปรุงรูปแบบการฝึกของตัวเองอยู่เสมอ

อย่างไรก็ตามโปรแกรมฝึกซ้อมทุกวันก็ไม่อาจการันตีความสำเร็จได้ แต่สิ่งที่ช่วยให้คิปโชเกต่อสู้กับความจำเจและความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นได้ คือการดูแลสภาพจิตใจให้แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

Twitter : Eliud Kipchoge

ให้ความสำคัญต่อสภาพจิตใจ อ่านหนังสือเพื่อพัฒนามุมมองของตัวเอง

“Nothing Is Stronger Than a peaceful mind” คิปโชเกเชื่อว่าไม่มีอะไรจะทำให้เราแข็งแกร่งไปกว่าจิตใจที่สงบ โดยเฉพาะกับกีฬาอย่างการวิ่งระยะไกลที่หลายครั้งจิตใจของผู้เข้าแข่งขันมักจะพ่ายแพ้ไปก่อนร่างกายเสียอีก คิปโชเกเล่าว่า “สำหรับตัวเขาแล้ว การวิ่ง Half Marathon ระยะทาง 10-20 กิโลเมตรยังไม่ส่งผลต่อสภาพจิตใจมากนัก แต่จุดเริ่มต้นจริง ๆ ของการวิ่งระยะไกลคือความท้าทายในการวิ่งตั้งแต่กิโลเมตรที่ 30 ขึ้นไป เมื่อร่างกายเริ่มรู้สึกถึงการเกร็งของกล้ามเนื้อ เริ่มสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดในทุกครั้งที่ลงน้ำหนักเท้า นักวิ่งทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงอาการนี้ได้ มีเพียงนักวิ่งที่เตรียมตัวมาอย่างดีทั้งร่างกายและจิตใจเท่านั้นที่จะฝ่าฟันต่อไปได้”

scmp

คิปโชเกย้ำว่าร่างกายคือส่วนรอง แต่จิตใจต่างหากที่จะช่วยให้สามารถวิ่งเข้าสู่เส้นชัยได้อย่างที่ต้องการ มีหลายครั้งที่ตัวเขาต้องต่อสู้กับการเจ็บปวดด้านร่างกายระหว่างการแข่ง แต่ทุก ๆ ครั้งเขายังบังคับให้จิตใจไม่คิดถึงมันและวิ่งต่อไปได้

ดังนั้นความสุขสงบทางด้านจิตใจคือหนึ่งในพื้นฐานสำคัญที่คิปโชเกยึดถือ ถึงขนาดเคยพูดไว้ว่า “เมื่อเรายิ้มหรือมีความสุข มันสามารถกระตุ้นให้จิตใจเราไม่รู้สึกถึงขาที่หนักอึ้งได้เลย” ขณะเดียวกันตัวเขายังเรียนรู้มุมมองต่าง ๆ ผ่านการอ่านหนังสือหลายเล่มที่เกี่ยวกับปรัชญาหรือวิธีคิดและนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเองอีกด้วย

Twitter : Eliud Kipchoge

เคารพการทำงานเป็นทีมและคนที่อยู่เบื้องหลัง

แม้หลายคนจะเข้าใจว่าการวิ่งคือกีฬาประเภทเดี่ยว แต่สำหรับเอเลียด คิปโชเกแล้ว การวิ่งคือกีฬาประเภททีม ถึงแม้เบื้องหน้าของความสำเร็จ สายตาของผู้คนและกล้องทุกตัวจะโฟกัสไปที่ใบหน้าของคนที่เข้าสู่เส้นชัยเท่านั้น แต่สำหรับคิปโชเกตัวเขามีมุมมองในเรื่องนี้ที่ต่างออกไป

คิปโชเกกล่าวว่า“การที่คนเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งในการแข่งขันและชีวิตจริง ๆ คุณจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของทีม คุณไม่สามารถฝึกฝนคนเดียวได้ ถ้าต้องการทำอะไรให้ออกมาดี การฝึกฝนเต็มที่แบบ 100 % เพียงคนเดียว สำหรับผมแล้วมันเทียบไม่ได้เลยกับ 1 % ของการทำงานเป็นทีม ผมให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมที่สุด”

highsnobiety

แนวความคิดดังกล่าว ตอกย้ำด้วยการวิ่งในรายการ INEOS 1:59 Challenge ที่เพิ่งผ่านไป โดยเราจะเห็นว่าคิปโชเกมีนักวิ่งเพซเมกเกอร์ถึง 41 คน ซึ่งล้วนเป็นนักวิ่งฝีเท้าดีที่แบ่งหน้าที่วิ่งประคองตัวเขาตลอดระยะทาง 42 กิโลเมตร และนักวิ่งเพซเมกเกอร์แต่ละชุดก็ทำตามหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มกำลัง จนกระทั่งเขาพุ่งทะยานผ่านเส้นชัย

Twitter : Eliud Kipchoge

ไม่เพียงแค่นั้น หลังจากทำลายสถิติดังกล่าวได้ หนึ่งในคนที่คิปโชเกต้องการมอบเครดิตให้มากที่สุดก็คือชายที่ชื่อ Sandy Bodeker พนักงานอาวุโสผู้ล่วงลับของ Nike ที่หลงใหลในการวิ่งมาราธอนและวาดฝันไว้ว่าสักวันหนึ่งมนุษย์จะสามารถทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงในการวิ่งมาราธอนได้ ถึงขนาดไปสักตัวเลข 1:59:59 ไว้ที่ข้อมือเพื่อย้ำเตือนความตั้งใจของตัวเอง

Sandy Bodeker ภาพจาก Getty Image

โดย Nike ได้ต่อยอดแนวคิดของเขาจนพัฒนามาเป็นโครงการที่ชื่อ Breaking2 ที่การท้าทายสถิติในครั้งแรกที่ล้มเหลว เพราะครั้งนั้นคิปโชเกวิ่งเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2:00:25 ช้าไปเพียง 25 วินาที อย่างไรก็ตามสถิติในครั้งนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการทำลายกำแพงชั่วโมงในเวลาต่อมา แต่ Sandy Bodeker กลับเสียชีวิตไปก่อนจะได้เห็นการทำลายสถิติ

คิปโชเกจึงตั้งใจให้เกียรติ Sandy Bodeker ด้วยการสวมใส่สร้อยข้อมือที่สลักชื่อของ “Sandy” เอาไว้ ระหว่างการทำลายสถิติครั้งล่าสุด ก่อนจะโพสต์รูปสร้อยข้อมือดังกล่าวพร้อมแคปชันว่า “Sandy We Did it.” เพื่อเป็นเกียรติกับแรงบันดาลใจและเพื่อนผู้ล่วงลับของเขา

Twitter : Eliud Kipchoge

แน่นอนว่าคนที่ควรได้รับเครดิตและการยกย่องมากที่สุดในการทำลายสถิติครั้งนี้ก็คือตัวของเอเลียต คิปโชเก เพราะความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากร่างกาย จิตใจและทัศนคติทั้งหมดของ King Of Marathon ชาวเคนย่าคนนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนไม่ควรมองข้ามไปก็คือ คนที่อยู่เคียงข้างและอยู่เบื้องหลังความสำเร็จผู้ควรได้รับการชื่นชมไปพร้อมกัน

“No Human is Limited” นี่คือประโยคล่าสุดที่เกิดขึ้นจากความพยายามของมนุษย์ในปี 2019 และอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ต่างจากเดิมในหลาย ๆ ด้าน คอลัมน์ MotivAthlete ขอยกย่อง เอเลียด คิปโชเก และบุคคลที่มีส่วนกับความสำเร็จในครั้งนี้ทุกคน ที่ช่วยย้ำเตือนให้เรารู้ว่า มนุษย์สามารถเอาชนะ ขีดจำกัดของตัวเองได้ ถ้ามีความตั้งใจและหมั่นฝึกฝน โดยไม่คิดที่จะยอมแพ้

Twitter : Eliud Kipchoge

 

SOURCE : 1/2/3/4/5/6

SPLESS
WRITER: SPLESS
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line