

Entertainment
ดนตรีกับประสิทธิภาพการทำงาน ทำไมบางครั้งฟังแล้วงานดี แต่บางทีฟังแล้วงานพัง
By: Chaipohn May 8, 2017 60411
ชีวิตที่ไม่มีเสียงดนตรีคงเป็นอะไรที่น่าเบื่อมาก เราสามารถทดสอบได้โดยไม่ต้องใช้การทดลองทางวิทยาศาสตร์อะไรให้ยากเย็น แค่ลองเปิดหนังที่คิดว่ามันส์ที่สุด แล้วปิดเสียงดนตรีทั้งหมดออกไป แม้ภาพเคลื่อนไหวจะมาจากหนังแอคชั่นสุดอลังการแค่ไหนก็ตาม อารมณ์ร่วมและความตื่นเต้นที่ควรจะได้รับจากมันนั้นกลับหายไปแทบจะหมดสิ้น เปรียบเทียบคงไม่ต่างจากการเริ่มวันทำงานแบบไร้อารมณ์ ผลที่ได้คงจะออกมาไม่ดีเป็นแน่
เพราะไม่ใช่แค่ด้านความบันเทิง หรือใช้เสริมสร้างอารมณ์ร่วมเท่านั้น ดนตรียังได้รับการยอมรับจากทุกผลงานวิจัยว่ามีส่วนช่วยกระชากให้เราหลุดพ้นจากอารมณ์หน่วง ๆ อึน ๆ ในได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้กาแฟดำเลยทีเดียว แถมยังช่วยให้การทำงานของเราดีขึ้น เร็วขึ้น จากความคิดสร้างสรรค์ สมาธิ และอารมณ์ที่ช่วยให้การทำงานกลายเป็นความเพลิดเพลิน หรือแม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงดังรบกวน การใช้เสียงดนตรีที่เล่นผ่าน headphone ก็ช่วยลดการเสียสมาธิจากเสียงรบกวนเหล่านั้นให้น้อยลงไปได้เยอะเลยทีเดียว แถมยังทำให้เราปลอดภัยจากการถูกเพื่อนร่วมงานสะกิดคุยในเรื่องไม่จำเป็นอีกด้วย เป็นการสร้าง Private Zone ที่ง่ายและได้ผล
มีการทดลองชิ้นนึงเปรียบเทียบคนทำงานสองกลุ่ม กลุ่มแรกทำงานพร้อมฟังเพลงไปด้วย อีกกลุ่มทำงานแบบไม่มีเพลงฟัง ผลที่ได้ค่อนข้างชัดเจนว่า กลุ่มที่ทำไปด้วย ฟังเพลงไปด้วย สามารถทำงานเสร็จก่อน แถมยังได้ปริมาณงานมากกว่าอีกกลุ่ม แม้จะฟังดูเหมือนยาวิเศษ แต่ประโยชน์จากการใช้ดนตรีก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน
จากการเจาะลึกลงไปในผลวิจัยต่าง ๆ ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของการฟังเพลงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอยู่เช่นกัน โดยมีการระบุในงานวิจัยบางชิ้นว่าการฟังเพลงขณะทำงาน จะได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับงานประเภท Routine ที่ไม่ต้องแยกสมองมากนัก เช่นการวาดรูป ชงกาแฟ หรือการเช็ค การตอบ e-mail เพื่อเคลียร์ให้หมดไปจาก inbox ของคุณ
แต่ในขณะเดียวกัน เสียงเพลงก็สามารถรบกวน ถึงขั้นเป็นอุปสรรคการทำงานได้ ถ้าเป็นงานที่ต้องการสมาธิจากสมองมาก หรือการคิดวิเคราะห์หนัก ๆ อย่างเช่น การอ่านข้อมูลเชิงลึกที่ต้องการความแม่นยำ การคิดไอเดียเพื่อเขียนบทความยาก ๆ หรือการรับ brief งานจากลูกค้า ในกรณีเหล่านี้ เสียงเพลงที่ฉูดฉาด จังหวะดนตรีที่ไม่นิ่ง หรือมีเนื้อร้องมากเกินไป อย่างเช่นเพลง Hip Hop, Rock หรือ EDM อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม เช่นทำให้เราไม่สามารถจดจำข้อมูลได้ครบถ้วน หรือเผลอสมาธิหลุด ไปหมกมุ่นอยู่กับเนื้อร้องแทนเป็นต้น
ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการฟังเพลง และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดีที่สุด เราควรจะรู้จักเลือกสถานการณ์และโอกาสที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพราะแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะมี Preference เดียวกัน บางคนอาจจะฟังเพลงไม่ได้เลยขณะทำงาน อีกคนอาจจะขาดเพลงไม่ได้เลยก็เป็นได้ อย่างเช่นนักเขียนที่เรารู้จักหลายคนก็ชื่นชอบไม่เหมือนกัน ลองค้นหาวิธีที่ดีที่สุดสำหรับตัวเองน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดครับ
อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ชอบฟังเพลงขณะทำงาน หรือคนที่กำลังต้องการ Playlist จังหวะมันส์ ๆ เพื่อเคลียร์งาน Routine ให้หมดไป พร้อมกระตุ้นอารมณ์สำหรับการเริ่มวันทำงานใหม่ เรามีเพลงที่คัด tempo จังหวะกำลังดีมาให้แล้วเป็นอย่างดีว่ายิ่งฟังยิ่งทำงานเพลิดเพลินมาฝาก