MUSIC

Next Cover, Same Mood 07 : อ่านหนังสือเล่มไหนต่อดี เมื่ออินกับเพลงในอัลบั้ม ‘The Greng Jai Piece’ ของ Phum Viphurit

By: GEESUCH February 6, 2023

Phum Viphurit เริ่มต้นด้วยการเป็น New Blood ในยุคที่ Rats Record กำลังจะเปลี่ยนกระแสดนตรีไทยให้รุ่งเรืองด้วยภาษาสากล จากเพลงกลิ่นอายโฟล์คในอัลบั้มเต็ม Manchild (2017) เดินทางสู่เพลงเจือส่วนผสมของ Funky Soul ในอีพี Bangkok Balter Club (2019) ที่ Lover Boy เปลี่ยนให้เขากลายเป็นหนุ่มที่ทั่วโลกต่างรักเขาอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง  

อัลบั้มล่าสุด The Greng Jai Peice ปี 2023 คือการเติบโตที่เอาทุกอย่างที่พูดถึงในบรรทัดก่อน โยนส่วนผสมใส่ครกตำจนละเอียด จนเกิดเป็นเครื่องเทศเจือกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างพอเหมาะ ในแบบแนวดนตรีและวิธีการเล่าเรื่องของ Phum Viphurit อย่างเต็มเปี่ยม อัลบั้มที่พาร์ท Music เล่าถึงความหลงใหลในดนตรียุค 70s-80s ผ่านเมโลดี้ ซาวด์กีตาร์ ซาวด์เบสและการดีไซน์เสียงสังเคราะต่าง ๆ ผ่านเรื่องเล่าของเสียงซึ่งสะท้อนอยู่ในหัวของตัวเอง ที่เขาให้สัมภาษณ์กับ NME เอาไว้เมื่อปีที่แล้ว 

“เพลงในอัลบั้มนี้คือเรื่องราวต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากชีวิตของผม ผสมกับความคิดถึงที่มีให้กับอดีต (nostalgia) และการแสดงควาคิดเห็นถึงประเด็นต่าง ๆ เหล่านั้น”

The Greng Jai Peice (2023)

เราเคยเจอ Phum Viphurit ด้วยหน้าที่การงานที่ต้องสัมภาษณ์เขาเมื่อหลายปีก่อน (ช่วงเวลาเดียวกับตอนที่ Lover Boy เปลี่ยนชีวิตของเขา) ภูมินิยามแนวดนตีที่ตัวเองทำด้วยคำที่ตอนนั้นเราไม่เข้าใจนัก Avangard Music แต่ในวันนี้ ภาพนั้นมันชัดเจนมากเหลือเกิน แล้วบังเอิญอยู่เหมือนกันที่ตอนนั้นเราก็คุยถึงหนังสือที่ภูมิชอบอ่านด้วย ถึงจะไม่แน่ใจแล้วว่าเขาในวันนี้ยังชอบอ่านนิยายวายเอ (Young Adult) ของ John Green อย่างที่เราคุยกันวันนั้นมั้ย แต่เรายังเห็นเขาเป็นเหมือนกับตัวละครในนิยายแบบนั้น นักดนตรีหนุ่มที่ Express สิ่งที่อยู่ในหัวตัวเองออกมาเป็นเมโลดี้ กลั่นเป็นทำนอง อย่างจริงใจที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้

เปิดอ่าน Next Cover, Same Mood ตอนที่ 7 กับหนังสือและภาพยนตร์ที่เราลองแล้ว ว่าอ่านคู่กับเพลงในอัลบั้ม The Greng Jai Piece ได้ดีเหลือเกิน  


เพลง : Temple Fair
หนังสือ : The Catcher In The Rye / J.D.Salinger  

“This fall I think you’re riding for – it’s a special kind of fall, a horrible kind. The man falling isn’t permitted to feel or hear himself hit bottom. He just keeps falling and falling.”

ข้อความข้างบนไม่ได้มาจากเนื้อเพลงนี้ของภูมิหรอก แต่เราหยิบมาจากวรรณกรรมเล่ม The Catcher In The Rye หนังสือที่ตอบทุกความรู้สึกที่เรามีต่อเพลง Temple Fair ได้อย่างไม่มีตกหล่น แล้วพอยิ่งอ่านทั้งเล่ม ตัวอักษรก็ยิ่งดึงให้เพลงถลำลึกซึมเข้าไปในจิตใจของเราไปเรื่อย ๆ ‘แสงไฟของงานวัด’ ในเพลงนี้ ไม่ต่างอะไรกันเลยกับช่วงเวลาในการตามหาอะไรบางอย่างท่ามกลางแสงไฟอันริบหรี่ของ Holden Caulfield วัยรุ่นที่เกลียดทุกสิ่งอย่างบนโลก โดยที่ตัวเองก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะอะไร แต่การเขียนถึงสิ่งที่เกลียดไม่ว่าจะผู้คนหรือสถานที่ ก็ทำให้เขาคิดถึงช่วงเวลาเหล่านั้นขึ้นมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ …  

“So this is how it feels to be alive”

ประโยคนี้มาจากเพลง Temple Fair สิ่งที่น่ามหัศจรรย์ใจ (โดยส่วนตัว) ของเรา คือการที่ตัวเพลงและหนังสือมี ‘คำตอบ’ ให้กับชีวิตของผู้เล่าในแบบที่เหมือนกันเลย ซึ่งก็คือการตระหนักรู้ว่าตัวเองยังมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าจะต้องเจอกับความกดดันทางสังคมที่เราต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างไม่เต็มใจ หรือ ความเหนื่อยล้าจากการไขว่คว้าบางอย่างตลอดชีวิต จะแสงไฟจากงานวัด (ที่ได้ภูมิได้แรงบันดาลใจจาก ‘มนต์รักทรานซิสเตอร์’) หรือแสงไฟจากม้าหมุนในสวนสาธารณะ (ในตอนจบของ The Catcher In The Rye) การพูดถึงสิ่งเหล่านี้คือการปักหมุดว่าชีวิตของเรายังคงเดินต่อไป   

ชื่นชมมาก ๆ ที่เลือกเพลงแรกให้สอดคล้องกับ Art Work บนปกอัลบั้มที่เป็นภาพจิตกรรมฝาผนังของวัด เพราะมันทำให้เรายิ่งอินกับตัวอัลบั้มจริง แต่สำคัญสุดเลยคือการทำให้รู้ตั้งแต่ต้นไปเลยว่าอัลบั้มนี้ถูกเรียงเพลงมาอย่างดี เพราะใน Temple Fair เราจะได้ยินเสียงของ Conga ผสานไปกับ ฉิ่ง ในเพลงของภูมิ ! แล้วคืออะเรนจ์เครื่องให้จังหวะทั้ง 2 สิ่งได้อย่างลงตัวในเพลงแบบของ Phum Viphurit เราเห็นภาพความเป็นไทยของอัลบั้ม The Greng Jai Peice ในแบบที่ขี้เล่นในการแสดงออกผ่านดนตรี แต่พูดถึงประเด็นของวัฒนธรรมไทยในแบบเข้มข้นไม่น้อยเลย        


เพลง : Lady Papaya 
หนังสือ : Very Thai: Everyday Popular Culture / Philip Cornwel-Smith   

โอยยย เก่งเว้ย ! ตะโกนกันให้ชัด ๆ ไปเลย ว่าเพลงแบบ Funkadelic Style ที่มีความเมาจากซาวด์หลอน ๆ เข้ากันกับ Thai Culture อย่างส้มตำขนาดไหน เหมือนเอาข้าวเหนียวมาจิ้มมะละกอที่มีน้ำปลาร้าแซ่บ ๆ เข้าปาก ขอสรุปคำเดียวขณะกำลังเคี้ยวอย่างออกรสว่า “ม่วน !!!”

เออเอาจริง ๆ ภาพแม่ค้าตำครกส้มตำนี่ก็ดูเหมือนะเป็น ‘เทพีเสรีภาพ’ ของประเทศเราได้เหมือนกันนะ ไม่แน่ใจว่า Lady Papaya ของภูมิหมายถึงสิ่งนี้รึเปล่า เพราะฉะนั้นเราขอแนะนำหนังสือบันทึกวัฒนธรรมเล่มสำคัญของประเทศไทยอย่าง Very Thai ให้ทุกคนไปทำความรู้จักป๊อปคัลเจอร์เพิ่มความอินให้มากขึ้นกันอีกหน่อย 


เพลง : Healing House
หนังสือ : The Spectacular Now (2013) James Ponsoldt   

ชอบ Mood & Tone ของเพลงนี้ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งไปหมด เริ่มแรกมันคือเพลงอารมณ์เศร้าสุดขีด แต่จังหวะกลับชวนโยกแบบออกรส และเมื่อหลับตาฟังอย่างตั้งใจ Healing House ก็คือบ้านที่ให้เราวิ่งเข้าไปหลบพร้อมกับน้ำตาทุกหยดที่ใบหน้าของเราโอบอุ้มมาด้วยกัน

“You are everything to someone / Head on down to the Healing House, Lay to rest your fear and doubts”

ตัวละคร Sutter Keely คือหนึ่งในตัวละครวัยรุ่นที่พังที่สุดในโลกภาพยนตร์มาเสมอ-และเป็นความพังแบบที่โหดร้ายที่สุด เพราะนอกจากจะไม่สามารถคุยกับใครได้แล้ว เขายังต้องคอยประครองความเป็น ‘High School King’ หนุ่มหล่อ เพื่อนรัก สาว ๆ กรี๊ดในโรงเรียนอีกต่างหาก แต่การมีชื่อเสียงในโรงเรียนเป็นสิ่งชั่วคราว ความแหลกสลายจากชีวิตเบื้องหลังที่ไม่มีใครรู้ต่างหากที่ถาวร ยังดีที่ตัวละครนี้มี Healing House เป็นของตัวเอง (ถึงตอนแรกเขาจะไม่รู้ก็ตามที) 

เราขอนิยามเพลง Healing House ว่าเป็นหน่วยกู้ระเบิดที่ทุกคนซึ่งมีระเบิดเวลาในใจต้องการมากที่สุด ระหว่างทางของเพลงนี้ถูกวางไว้ด้วยคำแห่งความจริงมากมาย การกู้ระเบิดโดย Phum Viphurit คือการตัดเส้นสีแดงให้มันระเบิดคนฟังไปเลย ตูม! เพราะการประกอบร่างที่พังไปแล้วของตัวเองขึ้นมาใหม่ด้วยการเผชิญความจริงคือวิธีที่จะช่วยให้รอยต่อของแผลได้สนิทที่สุด ร้องไห้ออกมาเถอะ แต่อย่าพูดคำว่า “ลาก่อน” ออกมาเลยนะ


เพลง : Tail End
หนังสือ : Bojack Horseman (2014-2020) Raphael Bob-Waksberg  

นอกจากจะเก่งอะเรนจ์เพลงเพื่อไป featuring กับศิลปินในเพลงของคนอื่นแล้ว การ Selected คนที่ใช่ของ Phum Viphurit ในเพลงของตัวเองคือเก่งกาจไม่แพ้กัน ใครจะนึกว่าคุณ Hugo ก็สามารถอยู่ในเพลงที่ไม่ได้เป็นสีดำขนาดนี้ได้    

อยากพูดถึง Tail End ในแง่ของการอะเรนจ์ดนตรีก่อน เพราะรู้สึกว่าเป็นเพลงในปี 2023 ที่พาเราย้อนกลับไปในซาวด์จุดเริ่มต้นของภูมิในอัลบั้มแรก Manchild ปี 2017 ได้ดีที่สุดละ ตัวเพลงตอกย้ำความเป็น Folk โดยมีกีตาร์อคูสติกซาวด์นุ่ม ๆ นิ้วกดเส้นกีตาร์ลงไปบนเฟรตชัด ๆ แบบนี้ล่ะ คือแก่นแท้ความไพเราะของ Phum Viphurit 

มาพูดถึง Tail End ในแง่ของเนื้อหาบ้าง โอ้โห มันคือเพลงของผู้คนใน ‘Empthy Mode’ ที่ตื่นขึ้นมาทุกวันด้วยคำถามสำคัญว่า “ชีวิตที่เรากำลังใช้อยู่ทุกวันไม่ใช้ชีวิตที่เปล่าประโยชน์และเสียเวลาใช่มั้ย ?” นอกจากภูมิจะตั้งคำถามถึงสิ่งนี้ เขาก็พยายามปลอบประโลมคนฟังด้วยการให้ทุกคนคิดถึงคำตอบที่ไม่เหมือนกันของตัวเองอย่างสบาย ๆ โดยส่วนตัวนั้น สิ่งที่เราได้จากเพลงนี้ มันคือการกลับไปคอนเฟิร์มกับตัวเอง ว่าสิ่งที่ตื่นขึ้นมาทำในชีวิตใช่สิ่งที่เราอยากทำจริง ๆ รึเปล่า ?  ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม

ถึงใครก็ตามที่ยังไม่รู้จัก Bojack Horseman เขาคือนักแสดงที่เคยดังสุดขีดจากซิทคอมเรื่อง Horsin’ Around ในช่วงปี 80s-90s ที่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของคนที่เต็มไปด้วยความแหลกสลายของชีวิต และทำให้เศษที่แตกเหล่านั้นยิ่งแตกละเอียดหนักขึ้นอีกด้วยมือของตัวเองในทุกวัน และเป็นคนที่เราอยากส่ง Tail End ให้ฟังพร้อมคุยด้วยเหลือเกิน 


เพลง : Greng Jai Please 
หนังสือ : The Subtle Art of Not Giving a F*ck / Mark Manson 

5555 สนุกมากจนต้องพิมพ์หัวเราะในแบบสไตล์ไทยเราออกมา อย่างที่ทุกคนอ่านสัมภาษณ์จาก NME กันมา การตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมที่ประเทศไทยเรียกกันว่า ‘เกรงใจ’ คือหัวใจของอัลบั้มนี้ และเพลงที่มีชื่อล้อกับชื่ออัลบั้มอย่าง Greng Jai Please ก็ตั้งคำถามต่อคำว่า ‘เกรงใจ’ นั้นแบบเต็ม ๆ   

ความเกรงใจนี่คือสิ่งที่ซับซ้อน ต้องมีมั้ยนะ แล้วมีแค่ไหน จริง ๆ คือต้องมีแหละ แต่มีเท่าไหร่ล่ะถึงจะให้ดูพอดีและไม่ถูกมองว่าหน้าหมั่นไส้จนเกินไป อะ ๆ เอาเป็นว่าเราพูดเรื่องนี้แทนกันไม่ได้หรอก แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นวิธีการอยู่ร่วมกับคนเฮงซวยที่ขอใช้ความเกรงใจมาเป็นเครื่องมือน่ะได้อยู่ แล้วหนังสือของ Mark Manson เล่ม The Subtle Art of Not Giving a F*ck ก็เป็นไบเบิ้ลที่ทุกคนควรมีตัดเอาไว้ตรงหัวนอน เพราะ ‘ช่างแม่ง’ เป็นแนวคิดที่วิเศษจริง ๆ ถ้าเราใช้ได้อย่างถูกต้อง

แวะชมสักนิด ในความขี้เล่นของเพลง Greng Jai Please ดนตรีอะเรนจ์ได้ดีมาก คือเป็น Pop Song ที่ดนตรีกลมกล่อม เมโลดี้ร้องสวยงาม และดีไซน์ท่อนกับลูกเล่นต่าง ๆ ได้อย่างลงตัว    


เพลง : Kiko’s Letter 
หนังสือ : Lettre à D. / André Gorz

ฮือออ ทำไม Vibe ของเพลงถึงเศร้าได้ขนาดนี้นะ ความเมโลดี้บวกกับคอร์ดหวาน ๆ ของ Phum Viphurit เจอกับบีท Hip-Hop ของคุณ STUTS ได้เข้ากันมาก ๆ เพลงนี้คือการท่องลูปวนของบทกวีความไม่ยาวมาก-ซึ่งเป็นเนื้อความในจดหมายบอกเลิกของใครบางคน เราไม่แน่ใจเหมือนกันว่า “Kiko” คนนั้นจะเป็นใคร แต่เธอคงเป็นคนที่สำคัญมากต่อชีวิตของใครบางคนที่เราพูดถึง เพราะไม่มีทางเลยที่จดหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ใช่รักที่ลงลึกซึ้งไปถึงก้นบึ้งหัวใจ

Lettre à D คือจดหมายรักของ André Gorz นักปรัชญาชื่อดังชาวฝรั่งเศส ที่เขียนถึง Dorine ผู้เป็นภรรยาในวันที่เธอเริ่มป่วยหนักและชีวิตอีกฝั่งดูจะคอยท่าอยู่ไม่ไกล และเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2007 เขาตัดสินใจจบชีวิตไปพร้อมกับเธอบนเตียงนอนอย่างสงบข้างกัน หลังจากที่ใช้ชีวิตคู่มายาวนานถึง 58 ปี .. หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนจดหมายรักฉบับสุดท้ายที่เขามีต่อ Dorine และเป็นเหมือนคำอ้อนวอนต่อพระเจ้าหรือสิ่งใดก็ตาม ให้พวกเขาได้กลับมารักกันอีกครั้งในภพภูมิต่อไป 

“With You I Understood that pleasure is not something you give or take. It’s a way of giving yourself and calling forth the gift of self from another person.”

– André Gorz


เพลง : Loving And Letting Go
หนังสือ : My Broken Mariko / Waka Hirako  

“ถ้าเรารักใครสักคนจริง เราควรปล่อยให้เขาได้เป็นตัวเองเว้ย” นี่คือเพลงรักจาก Quotes สุดคลิเช่ในแบบของภูมิ ซึ่งใช้คำได้แบบพลิกจากเจ้าหนุ่ม Lover Boy ให้กลายเป็น Loser Boy ผู้น่าเอาใจช่วยสุด ๆ เออแล้วจริง ๆ เพลงเขามีความเป็น Beach Vibe แบบเพลงนั้นเหมือนกันนะ ไม่แน่ว่าอาจจะเป็นภาคต่อของหนุ่ม Lover Boy ก็ได้ 

“Light of my life, fire at night, I am Sorry if I held too tightly With you around it’s love I found”

ตอนฟังเพลงนี้จบเราคิดถึงซีรีส์ที่ทำจากหนังสือเรื่อง 13 Reason Why (Season 2) กับกราฟิกโนเวล My Broken Mariko เพราะสองเรื่องนี้มีฉากจบที่คล้ายกันมาก ซึ่งพูดถึงการปล่อยมือคนที่เรารักไป ถึงแม้ว่านั่นจะหมายถึงการทำให้ใจของเราต้องแหลกสลายในแบบที่แย่ที่สุดก็ตาม แต่ไหน ๆ ก็หยิบหนังสือเรื่องนี้ขึ้นมาอ่านต่อจากเพลง Loving And Letting Go แล้ว ก็จะขอเล่าเรื่องย่อเล็กน้อย 

กราฟิกโนเวลเรื่อง My Broken Mariko พูดถึง Tomoyo Shiino ที่จู่ ๆ ก็ได้ยินข่าวทางทีวีว่า Mariko เพื่อนรักในชีวิตคนเดียวของเธอได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง และ Tomoyo Shiino รู้ดีว่าสาเหตุนั้นคืออะไร เพื่อเป็นการบอกลาครั้งสุดท้ายในแบบของตัวเอง เธอจึงไปโขมยโกศที่ใส่เถ้าของ Mariko แล้วออกเดินทางไปด้วยกัน   


เพลง : Welcome Change 
หนังสือ : The Royal Tenenbaums (2001) Wes Anderson  

ปิดอัลบั้มได้งดงามมาก ชอบจังที่เลือกเพลงซึ่ง Slow Tempo แบบช้าสุดขีด อะเรนจ์แบบ Minimal ไว้ปิดตอนจบ ก่อนที่จะหลอกคนฟังว่าเพลงเดียวกันนั้นจริง ๆ มีการเร่ง Tempo ในตอนท้าย มันเหมือนเราได้ดูตอนจบของคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้ม ‘The Greng Jai Piece’ ของ Phum Viphurit แบบที่สมบูรณ์ที่สุดแล้ว 

เห้ยแปลกดีนะ เพลงนี้ทำให้เรานึกถึงหนังของ Wes Anderson โดยที่ภูมิไม่ต้องตั้งชื่อเพลงด้วยหนังของเขาอีกแล้ว (จากอัลบั้มแรกชื่อเพลง Moonrise Kingdom ยังไงล่ะ) แล้วเพลงนี้หน้าของตัวละคร Royal Tenenbaums ที่มาพร้อมกับการกระทำสุดวายป่วงของลุงก็ลอยขึ้นมาเลย  

สิ่งที่หนังเรื่อง The Royal Tenenbaums ของผู้กำกับงานศิลป์สุดจี๊ด Wes Anderson เชื่อมโยงกับเพลง Welcome Change คือการตั้งคำถามผ่านการขอโอกาสแก้ตัวที่จะเป็นคนที่ดีกว่านี้ ได้โปรดกล้าหาญเพื่อยอมรับความเปลี่ยนแปลงจากคน ๆ เดิม หนังเล่าเรื่องของตระกูล Tenenbaums ที่ลูก ๆ สามคนเป็นเด็กอัจฉริยะสุดในทางที่ตัวเองสนใจ และพวกเขาถูกเลี้ยงดูโดย Royal Tenenbaums ผู้เป็นพ่อซึ่งให้ความรักแบบแปลก ๆ และก็ทำตัวแปลก ๆ กับลูกมาเสมอ จนทำให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัวเป็นปมในวัยเด็กกันไป แต่แล้ววันหนึ่ง Royal ก็มีความคิดว่าเขาอยากชดเชยให้กับวัยเด็กของเหล่าลูก ๆ อีกครั้ง … สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากหนังเรื่อง The Royal Tenenbaums ก็คือ ‘บางอย่างที่เสียไปแล้วต่อให้พยายามแค่ไหนก็อาจจะซ่อมได้ไม่เหมือนเดิมหรอก’

GEESUCH
WRITER: GEESUCH
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line