FASHION

NIHON STORIES: จุดเริ่มต้นของ YANKEE และแฟชั่นจัดจ้านเหนือจินตนาการของเหล่าวัยรุ่นชายขอบ

By: TOIISAN June 1, 2019

วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งการต่อต้าน เต็มไปด้วยความคิดนอกกรอบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง รวมถึงการแสดงออกเพื่อให้สังคมยอมรับ ในประเทศญี่ปุ่นก็มีกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีความคิดเป็นของตัวเอง รวมถึงแฟชั่นที่จัดจ้านโดดเด่น ที่คนทั่วไปเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “แยงกี้”

UNLOCKMEN สนใจเรื่องราวของกลุ่มแยงกี้และจะพาไปทำความรู้จักกับแก๊งเด็กวัยรุ่นญี่ปุ่นให้มากขึ้นว่าพวกเขาเป็นใคร มีแฟชั่นแบบไหน คิดอะไรอยู่ และทำไมถึงกลายเป็นคนชายขอบของสังคมญี่ปุ่น 

 

แท้จริงแล้ว “แยงกี้” คืออะไร ?

milb

แยงกี้เป็นคำที่เกิดขึ้นช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐอเมริกา สำหรับคนทั่วโลกเวลาเรียกแยงกี้จะหมายถึงคนอเมริกันแบบรวม คล้ายกับคำเหยียดดูหมิ่นกลาย ๆ แต่สำหรับคนอเมริกันเองจะมองว่าแยงกี้คือคำที่ใช้เรียกคนทางภาคเหนือของประเทศ แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แยงกี้กลายเป็นคำเรียกของทีมเบสบอลชื่อดังของนิวยอร์ก แต่สำหรับแยงกี้ในญี่ปุ่นจะเป็นคำเรียกของนักเลง เด็กเกเรที่ต่อต้านสังคม 

 

แยงกี้สไตล์ญี่ปุ่น

Crows Zero

ความเข้าใจร่วมกันของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อคำว่า “แยงกี้” คือกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีวัฒนธรรมและความคิดเฉพาะตัว มีมุมมองหลายเรื่องแตกต่างกับคนอื่น ๆ ในสังคม เช่น แฟชั่น เสื้อผ้า ความชื่นชอบการ์ตูนต่อสู้ อาวุธ การแต่งรถ และค่านิยมแบบลูกผู้ชายญี่ปุ่น 

ตามคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของคนญี่ปุ่น จุดเริ่มต้นของแยงกี้เกิดขึ้นในย่านอเมริกามูระ เมืองโอซาก้าปี 1960-1970 ช่วงเวลาแห่งความสูญเสียจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นบอบช้ำอย่างหนักจากการแพ้สงคราม สภาวะบ้านเมืองย่ำแย่ ผู้คนอยู่ในความสับสน ทำให้กลุ่มเด็กวัยรุ่นหัวรั้นจำนวนมากไม่พอใจกับการกระทำของผู้ใหญ่ พวกเขาคิดว่าผู้ใหญ่พาบ้านเมืองไปสู่จุดตกต่ำ เด็ก ๆ เรียกร้องเสรีภาพและต่อต้านผู้ใหญ่เพราะไม่อยากโตมาเป็นเหมือนคนที่พวกเขาเกลียดชัง

Majisuka Gakuen 4

แรกเริ่มเหมือนจะเป็นแค่กลุ่มเด็ก ๆ ที่มีความคิดนอกกรอบและสร้างวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม มีแนวแฟชั่นต่างจากคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่สำหรับรสนิยมของแยงกี้ญี่ปุ่นมักจะสร้างผลกระทบด้านลบให้กับคนทั่วไป นานวันเข้าคำว่าแยงกี้ก็เริ่มเปลี่ยนไป กลุ่มวัยรุ่นหัวรั้นเริ่มผันตัวเป็นอัธพาล จับกลุ่มกันหาเรื่องผู้คนที่เดินผ่านไปมา รวมถึงรวมกลุ่มกันไปตีแก๊งแยงกี้คู่อริ ทำให้ความหมายของคำว่า “แยงกี้” กลายเป็นคนชายขอบ และเป็นคำเหมารวมที่หมายถึงวัยรุ่นนิสัยเสีย 

บางคนอาจคิดว่าแยงกี้คือกลุ่มเดียวกับโบโซโซกุ แต่ความจริงแล้วทั้งสองกลุ่มมีจุดต่างกันอยู่ไม่น้อย โดยกลุ่มโบโซโซกุคือเด็กวัยรุ่นที่มักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนมอเตอร์ไซค์ ซิ่งป่วนเมืองและวัดความเร็วกันบนท้องถนน แต่แยงกี้จะเน้นการต่อสู้ด้วยหมัดและกำปั้นแบบลูกผู้ชายมากกว่า ซึ่งถ้าเปรียบกับบ้านเราก็คงจะเป็นขาโจ๋กับเด็กแว้นก็คงไม่ต่างกันมากนัก 

gentlemanspride

คนส่วนใหญ่มักมองว่าเด็กพวกนี้ไม่ทำประโยชน์ให้สังคม อยู่อย่างไร้กฎเกณฑ์ แม้พวกเขาอาจไม่เคารพกฎในสังคมจริง แต่แยงกี้กลับให้ความเคารพกฎเกณฑ์ของกลุ่ม โดยเฉพาะกับระบบอาวุโสในกลุ่มที่ถือว่าเข้มข้นเป็นอย่างมาก รุ่นน้องจะต้องเคารพรุ่นพี่ มีการแบ่งหัวหน้าใหญ่หัวหน้ากลุ่มย่อย เพื่อสร้างระบบดูแลกันอย่างทั่วถึง และจะมีธงประจำกลุ่มเพื่อพร้อมโบกสะบัดประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ คล้ายกับสร้างสังคมของตัวเองขึ้นมาใหม่ภาพใต้กรอบของคำว่ากฎหมาย 

 

การก้าวผ่านแต่ละยุคของกลุ่มแยงกี้

crow-9

แม้ยุคเริ่มต้นมีกลุ่มแยงกี้โด่งดังมากมาย แต่กลุ่มแยงกี้ก็เริ่มเสื่อมความนิยมตามกาลเวลา ประเทศญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวหลังจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเริ่มเปลี่ยนความคิดและมองโลกตามแบบทุนนิยม พวกเขามองว่าเงินเป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาชีวิตและสร้างความสุขได้ ทำให้หลายคนหันมาตั้งใจเรียนเพื่อให้มีงานการที่มั่นคง กลุ่มแยงกี้ที่ยิ่งใหญ่เริ่มกลายเป็นค่านิยมเก่า การต่อสู้ต่อยตีแบบลูกผู้ชายกลายเป็นเรื่องโง่เขลา 

อย่างไรก็ตามแยงกี้ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในสังคมเสมอ หลังจากยุคที่แยงกี้เริ่มบางตาลง ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่อีกครั้งกับเหตุการณ์เศรษฐกิจฟองสบู่แตกช่วงปี 1980 ทำให้กลุ่มแยงกี้กลับมาโลดแล่นและโดดเด่นในสังคมอีกครั้ง

 

แฟชั่นสุดโดดเด่นของแยงกี้

Timeline

แฟชั่นแยงกี้ช่วงยุคบุกเบิกจะเน้นเสื้อผ้าสีจัดจ้าน เสื้อฮาวายสีสด กางเกงขาโตทรงโพรก มาพร้อมกับเสื้อคลุมปักสโลแกนเท่ ๆ ไว้กลางหลัง (แทนการสักจริงแบบยากูซ่า) ด้วยคำที่ให้ความรู้สึกทรงพลัง เช่น ความตาย ความทรมาน ความยิ่งใหญ่ เป็นหนึ่ง ฯลฯ ที่เมื่อดูรวม ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้ายังไงก็เป็นแฟชั่นที่เข้ากันไม่ได้เลยจริง ๆ แต่แน่ล่ะ แยงกี้ไม่แคร์อยู่แล้ว 

นอกจากนี้ยังหยิบสีสันมาเป็นตัวแทนการแบ่งลำดับชั้นโดยเฉพาะกับสีม่วง เพราะสีม่วงในญี่ปุ่นถือเป็นสีที่ย้อมยาก ชาวบ้านที่ฐานะยากจนจะไม่ได้ใส่เสื้อผ้าสีม่วง เพราะเป็นสีที่มีราคาแพงและเป็นไอเทมเด็ดของเหล่าราชวงศ์ชนชั้นสูง ทำให้สีม่วงกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่และอำนาจอย่างง่ายดาย

Timeline

หลังจากยุคแยงกี้เต็มเมืองและซาลงไปในช่วงที่ประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า แต่พอเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปี 1980 กลุ่มแยงกี้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งพร้อมกับมีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยเฉพาะเรื่องของแฟชั่น จากเน้นเสื้อผ้าสีสันจัดจ้าน กางเกงขาก๊วยและการประโคมแต่งตัวให้แปลกสะดุดตาก็เปลี่ยนมาเป็นแต่งตัวตามนักร้องชื่อดังของยุคแทน 

เมื่อยุคสมัยเริ่มเปลี่ยนแฟชั่นเดิม ๆ เริ่มตกยุคและเชย เหล่าแยงกี้ก็หันมาใส่กางเกงยีนทรงกระบอกตามนักร้องชื่อดัง โอซากิ ยูทากะ เริ่มสวมแจ็กเก็ตหนังแบบนักแข่งรถ ปักลายมังกรไว้หลังเสื้อ เปลี่ยนจะเสื้อฮาวายเป็นเสื้อเชิ้ตและปลดกระดุมบนสองเม็ดแบบการ์ตูนเรื่อง Crows หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ เรียกเขาว่าอีกา ผลงานของฮิโรชิ ทาคาฮาชิ ที่เน้นเรื่องราวของแยงกี้และการต่อสู้ของลูกผู้ชาย และแฟชั่นเสื้อคลุมเบสบอลที่จะเอามาตกแต่งใหม่ตามแบบแก๊งที่ตัวเองสังกัดอยู่ 

Jalopnik

กลุ่มแยงกี้รุ่นใหม่ ๆ ในโตเกียวจะไม่ชื่นชอบการถูกเรียกว่าแยงกี้ และพยายามเรียกกลุ่มของตัวเองว่า “ทีมเมอร์” แทน เพราะคำว่าแยงกี้สำหรับเด็กเมืองหลวงช่วงเวลานั้นเป็นอะไรที่ล้าสมัยและบ้านนอกเกินไป “ทีมเมอร์” หลายกลุ่มในโตเกียวนอกจากจะเปลี่ยนชื่อแล้วยังเปลี่ยนสไตล์แฟชั่นที่จัดจ้านมาเป็นสไตล์ฮิปฮอปแทนอีกด้วย 

The Japan Times

นอกจากเสื้อผ้า ทรงผมก็เป็นสิ่งที่มาแล้วไปเหมือนกับแฟชั่นด้วยเช่นกัน ยุคแรกเริ่มทรงผมรีเจนต์ตามแบบนักร้องชื่อดังนาม เอลวิส เพรสลีย์ เป็นอะไรที่เท่เอามาก ๆ แต่หลังจากกระแสของเอลวิสเริ่มจางลงเด็กวัยรุ่นก็หันมาทำทรงอื่นแทนอย่าง เช่น กันดัดผมให้หยิกจนติดหนังศีรษะ ซอยผมให้ฟูและเซ็ตตั้งตรง รวมถึงการทำสีผมแปลก ๆ อย่างสีทองหรือสีชมพู พร้อมกับรองเท้าแตะมีส้นและรองเท้าแบบนินจาสมัยโบราณ

การแต่งตัวจัดจ้านและทรงผมถือเป็นอีกหนึ่งสไตล์ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถแยกแยงกี้กับเด็กวัยรุ่นธรรมดาออกได้

 

แยงกี้ญี่ปุ่นกับกระแส Pop Culture 

Crows Zero

คนทั่วไปที่ไม่ได้รู้จักหรือใกล้ชิดกับกลุ่มแยงกี้มากนัก แต่สามารถทำความรู้จักเรื่องราวของพวกเขาได้ผ่านภาพยนตร์และการ์ตูนมากมาย เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Crows Zero (2007) ที่ถูกสร้างเป็นหนังถึง 3 ภาค บอกเล่าเรื่องราวของเด็กผู้ชายมาใหม่และต้องการเป็นหนึ่งในโรงเรียน

กลุ่มแยงกี้ญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่เด็กผู้ชายเท่านั้น ยังมีเด็กผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ตั้งกลุ่มแก๊งของตัวเองด้วยเช่นกัน อย่างภาพยนตร์เรื่อง Kamikaze Girls (2004) ในชื่อไทยว่า สาวเฮี้ยวเฟี้ยวแสบ ก็จะเห็นแยงกี้หญิงปรากฎตัวอยู่ในเรื่อง สำหรับแฟชั่นของแยงกี้หญิงจะมักสวมกระโปรงนักเรียนยาวถึงข้อเท้า ย้อมผมสีทอง บางคนไถผมข้างเดียวเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่น่าเกรงขาม ทำให้ผู้ชายเห็นว่าพวกเธอไม่ใช่สาวหวานที่จะให้ใครมารังแกได้ง่าย ๆ 

Majisuka Gakuen

หากยังนึกภาพแยงกี้สาวไม่ออกและอยากรู้แนวชีวิตการต่อสู้ของเด็กสาวสามารถดูหนังเรื่อง Majisuka Gakuen ของกลุ่มไอดอลหญิงชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง AKB48 ที่หยิบเรื่องราวของแยงกี้มาเล่าเป็นซีรีส์ถึง 6 ภาค แสดงให้เห็นว่าแก๊งแยงกี้ยังมีอยู่ในสังคมญี่ปุ่น

นอกจากนี้เรื่องราวของกลุ่มแยงกี้ที่โด่งดังยุคแรก ๆ ก็ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง God Speed You! Black Emperors (1976) เพื่อตีแผ่ชีวิตของกลุ่มเด็กชายขอบด้วยเช่นกัน

Majisuka Gakuen 5

สุดท้ายนี้ UNLOCKMEN จึงได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแก๊งแยงกี้ว่าเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มีค่านิยมเหมือนกัน รสนิยมคล้ายกันทั้งการแต่งตัว แนวคิด ความชอบ และต้องการการยอมรับจากผู้ใหญ่ในสังคมที่กำลังค้นหาตัวตนและพยายามพิสูจน์อะไรบางอย่าง และหากใครมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องราวของกลุ่มเด็กแสบของญี่ปุ่นก็สามารถนำมาแชร์แลกเปลี่ยนกันได้นะครับ 

 

SOURCE:  12 / 3 / 4

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line