DESIGN

NIHON STORIES: “BLACKMEANS”แบรนด์แฟชั่นที่สืบทอดวัฒนธรรมพังก์ด้วยเครื่องหนัง

By: TOIISAN April 2, 2020

กลุ่มคาราวานขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามที่ต่าง ๆ หรือนักดนตรีพังก์ที่ออกจากบ้านมาร้องเพลงในบาร์เล็ก ๆ ทุกคืนวันเสาร์ แก๊งยากูซ่าผู้ถูกเกลียดชัง ทั้งหมดคือกลุ่ม Subcultute หรือวัฒนธรรมย่อยที่ซ่อนตัวอยู่ในสังคม เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มผู้คนความชอบเดียวกัน แถมการรวมกลุ่มพวกเขามักโดดเด่นและมีเอกลักษณ์จนคนจำได้ 

เหตุผลที่ UNLOCKMEN พูดถึงชาวพังก์ แก๊งบิ๊กไบค์ และกลุ่มแยงกี้กับยากูซ่า ที่ดูแล้วไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องใด ๆ กันมากนักเป็นเพราะพวกเราได้เจอกับแบรนด์เครื่องหนังสัญชาติญี่ปุ่นชื่อว่า “Blackmeans” ที่ร่วมสืบทอดวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ให้ได้ไปต่อในกระแสสังคม ผ่านการออกแบบเครื่องหนังที่ถือเป็นไอเทมยอดฮิตสำหรับชาวแก๊งทั้งสาม 

stylebubble

แจ็กเกตหนังคือไอเทมประจำตัวของหนุ่ม ๆ ผู้ชื่นชอบการขี่มอเตอร์ไซค์ระยะไกล อาจเป็นเพราะแจ็กเกตหนังแขนยาวสามารถกันแดด ป้องกันผิวหนังเวลาเกิดอุบัติเหตุได้มากกว่าผ้าชนิดอื่น ๆ แถมยังสามารถสลักรูปประจำกลุ่มไว้กลางหลังได้เหมือนอย่างแก๊ง Hell Angels อันโด่งดัง

ส่วนชาวพังก์ก็มักสวมเสื้อกั๊กหนัง ปลอกคอหนัง และกำไลข้อมือหนังออกไปพบปะกับคนคอเดียวกันในบาร์เหล้า ส่วนยากูซ่ากับแก๊งแยงกี้ก็มักมีเสื้อหนังประจำกลุ่มแบบเดียวกับกลุ่มบิ๊กไบค์

เครื่องแต่งกายคือสิ่งเติมเต็มความพึงพอใจทำให้ผู้คนจดจำพวกเขาได้ การให้ความสำคัญกับแฟชั่นจึงเป็นเรื่องสำคัญทำให้คนทั่วไปเข้าใจสิ่งที่พวกเขาพยายามจะสื่อ Yujiro Komatsu (ยูจิโร่ โคมัตสึ) เป็นชายที่ชื่นชอบเครื่องหนังมาก เขาไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นชาวพังก์ เป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่า หรือว่าขี่บิ๊กไบค์แต่เขาเป็นแค่คนหลงรักเครื่องหนังและเห็นชาวพังก์มาตั้งแต่ 10 ขวบ แถมยังรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรให้ความชอบของตัวเองตอบโจทย์ของคนหลายกลุ่มได้ในเวลาเดียวกัน

Yosuke Demuka

นอกจากความชอบส่วนตัวยูจิโร่ยังได้แรงบันดาลใจที่ทำให้ก้าวสู่โลกแฟชั่นจากการเห็น John Lennon สวมเสื้อ “Sukajan” ในปี 1970 เสื้อดังกล่าวคือแจ็กเกตเบสบอลปักลายผลงานของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นท่านหนึ่งที่ดึง Prajna-Paramita จากศาสนาพุทธมาผสานกับแฟชั่น การที่ Lennon หยิบสวมใส่เสื้อแจ็กเกตตัวนี้ออกสู่สายตาสาธารณชน ก็ทำให้วัฒนธรรมและศิลปะญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักไปด้วย ซึ่งตัวเขาอยากเป็นอีกคนที่นำเสนอเรื่องราวของญี่ปุ่นให้โลกได้เห็น 

Yosuke Demuka

หลังจากซุ่มวางแผนออกแบบผลงานอยู่นานใน ยูจิโร่เจอคนที่มีความชอบเดียวกันอีก 3-4 คน รวมแก๊งตัดสินใจทำแบรนด์ สลับไปเข้าร่วมชมแฟชั่นหลายงานทั้ง Paris Fashion Week, New York Fashion Week และ Tokyo Fashion Week ไปเรียนรู้ในโรงฟอกหนังใน Himeji และ Sumada-ku 

ยูริโร่เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโรงงานเครื่องหนังอยู่นานกว่าจะออกมาทำแบรนด์เครื่องหนังเป็นของตัวเอง ในที่สุดเขาเปิดตัวคอลเลกชันแรกของแบรนด์ Blackmenas อย่างเป็นทางการในปี 2008 ซึ่งผลงานของเขามีเอกลักษณ์จนถูกตาต้องใจเหล่าดีไซเนอร์และคนในวงการแฟชั่นจำนวนมาก 

Yosuke Demuka

Yosuke Demuka

Blackmeans ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์แฟชั่นที่ใคร ๆ ต่างลงความเห็นเกี่ยวกับแบรนด์นี้ว่าเหมาะสมกับวลี “Japan Made” อย่างแท้จริง มีส่วนทำให้แฟชั่นที่ถูกหลงลืมได้มีคนมองเห็นอีกครั้ง 

ยูจิโร่เคยให้สัมภาษณ์ว่ารู้สึกหงุดหงิดเวลาเจอไอเทมเครื่องหนังแบรนด์ญี่ปุ่นเขียนว่า “หนังอิตาเลียนแท้” เพื่อให้ผู้ซื้อเกิดความมั่นใจว่าหนังที่ใช้มีคุณภาพ พาลให้คิดว่าแล้วทำไมเราถึงใช้คำว่า “หนังญี่ปุ่น” แล้วทำให้ผู้ซื้อมั่นใจในผลิตภัณฑ์บ้างไม่ได้ ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าความคิดสไตล์ชาตินิยมของเขาสร้างแรงกระตุ้นดีเยี่ยมให้กับงานดีไซน์และการทำผลงานให้มีคุณภาพ

Yosuke Demuka

“พวกเราอยากแสดงตัวตนและความเป็นญี่ปุ่นผ่านเครื่องหนัง”

แม้ว่า Blackmeans ไม่ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากกลุ่มพังก์หรือไบค์เกอร์ แต่เขาก็ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้ แถมลูกค้ากลุ่มแรก ๆ ของยูจิโร่คือชาวพังก์ แก๊งมอเตอร์ไซค์ และกลุ่มแยงกี้ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรทำให้คนเหล่านี้สนใจเครื่องแต่งกายที่เขาออกแบบ แต่ลูกค้าเหล่านี้เป็นลูกค้าที่ใช้บริการของ Blackmeans อย่างเหนียวแน่น 

stylebubble

tokyofashion

stylebubble

ชาวพังก์มักมาถามไถ่ว่าแบรนด์จะสามารถสร้างสรรค์ไอเทมที่บ่งบอกเรื่องราวของผู้สวมใส่ได้มากแค่ไหน หรือแก๊งไบค์เกอร์กับแยงกี้เอาโลโก้กลุ่มมาถามความเห็น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้พวกเขาไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ 

สิ่งที่ทำให้คนจากกลุ่มวัฒนธรรมย่อยสนใจ Blackmeans อาจเป็นเพราะโลโก้ของแบรนด์ วงกลมสองวงถูกพันด้วยลวดหนามแสดงให้เห็นถึงการถูกกดขี่ ส่วนนกพิราบที่อยู่ตรงกลางเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและแรงบันดาลใจ ปีกของนกพิราบยูจิโร่ไหว้วานให้ศิลปินญี่ปุ่นที่มีฝีมือสร้างสรรค์ปีกให้สวยงาม 

tokyofashion

เขาเชื่อว่าศิลปะญี่ปุ่นคือรากฐานที่บอกเล่าเรื่องราวของศักดินาและประวัติศาสตร์อันแสนโหดร้ายของประเทศได้ชัดเจนที่สุด การรวมกันของการกดขี่กับสันติภาพอาจเข้าตาชาวพังก์กับกลุ่มไบค์เกอร์ที่จะไม่ยอมอยู่ในกรอบที่สังคมขีดไว้ก็เป็นได้ แถมคนในกลุ่มวัฒนธรรมย่อยเป็นคนที่มองหาความชอบของตัวเองพบแล้ว หมั่นอัปเดตเทรนด์การแต่งตัวในแบบของตัวเอง เลยทำให้พวกเขาโดดเด่นและแตกต่างจากแฟชั่นกระแสหลัก

Yosuke Demuka

“การมุ่งไปยังกระแสแฟชั่นอย่างเดียว หรือมองหาแต่ความเท่มากเกินไปจะทำให้เราหลงลืมความรักที่มีให้กับความตั้งใจครั้งแรกเริ่ม”

การทำสิ่งต่าง ๆ ที่รักได้อย่างอิสระโดยไม่มีกรอบมาจำกัดคือความสุขที่ยากเกินอธิบาย ระหว่างการทำงานมีทั้งเสียงหัวเราะ อารมณ์ขัน สลับกับความจริงจังอยากสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาดีที่สุด

ปัจจุบันสไตล์ของ Blackmeans ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เครื่องหนังแต่พวกเขายังดีไซน์งานหลายอย่างด้วยกัน เช่น กางเกงยีนส์ เครื่องประดับ และรองเท้าเกี๊ยะญี่ปุ่น แถมยังดึงเอกลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วมุมโลกมาอยู่บนเครื่องแต่งกาย แม้เวลานี้ Blackmeans จะเติบโตขึ้นและมีไอเทมที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ยังคงเดิมเหมือนตอนก่อตั้งแบรนด์คืองานทำมือที่เปี่ยมด้วยความตั้งใจ 

 

SOURCE 1 / 2 / 3 / 4 / 5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line