Life

NIHON STORIES: เมื่อการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เพราะโควิด-19

By: TOIISAN December 30, 2020

‘ญี่ปุ่น’ ถือเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องอัตราการฆ่าตัวตายสูงติดอันดับโลกเสมอ จนถูกนับเป็นเมืองที่มีความเครียดสูงที่สุดเมืองหนึ่งของโลกไปแล้ว ด้วยเหตุผลหลายอย่างทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ การแข่งขันทางธุรกิจ การทำงาน รวมถึงพื้นที่ที่จำกัด และค่านิยมหลายอย่างที่อาจส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่เกิดความเครียด เมื่อเครียดจนไม่รู้จะทำอย่างไร คนบางส่วนจึงเลือกที่จะจบชีวิตตัวเองเพื่อปิดกั้นการรับรู้ถึงปัญหาต่าง ๆ ไปตลอดกาล

การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกก็แวะเวียนไปยังญี่ปุ่นเช่นกัน ในตอนนี้ญี่ปุ่นกำลังเผชิญหน้ากับการระบาดระลอกสองที่ยากจะควบคุม แม้ตอนแรกจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจะยังไม่สูง ซ้ำผลสำรวจของสื่อแทบทุกสำนักยังระบุตรงกันว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในญี่ปุ่นช่วงแรกที่รัฐบาลต้องสั่งล็อกดาวน์ สามารถลดความเครียดของชาวญี่ปุ่นได้อย่างน่าตกใจ แต่ตอนนี้ความเครียดที่หายไปได้กลับมาอีกครั้ง พร้อมอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงขึ้นจนน่าใจหาย

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นช่วงเดือนเมษายนว่าลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ เมษายนคือช่วงเวลาเดียวกับที่โควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่แต่ในบ้านและอย่าออกจากเคหสถานหากไม่มีความจำเป็นจริง ๆ รวมถึงการปิดเทอมของเหล่านักเรียน ส่งผลให้ทุกคนได้อยู่บ้าน และมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น

ประชาชนญี่ปุ่นถูกสั่งให้อยู่แต่บ้าน เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่เดิมทีต้องตื่นแต่เช้าแต่งตัวออกไปทำงาน ยืนเบียดเสียดบนรถไฟ แล้วค่อยเดินกลับบ้านแบบหมดเรี่ยวหมดแรง แปรเปลี่ยนเป็นนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน หักเวลาเดินทางไป-กลับ มาเป็นเวลาที่จะได้นอนมากขึ้นกว่าเดิมสักนิดหน่อย บางคนมีครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา แม่บ้านได้นั่งคุยกับสามีและลูกที่อยู่ในช่วงปิดเทอม ส่วนเด็ก ๆ ก็ไม่ต้องออกไปเผชิญกับไวรัสที่กระจายอยู่ทั่ว สมาชิกในครอบครัวร่วมชายคาเดียวกันมีโอกาสพูดคุยมากขึ้น ทั้งหมดส่งผลให้มวลความเครียดของชาวญี่ปุ่นลดลง แต่ข่าวน่ายินดีนี้เป็นเพียงแค่ช่วงแรกของการระบาดเท่านั้น

ภาพในระดับครอบครัวชนชั้นกลางจนถึงสูงทั้งในเมืองและต่างจังหวัดเป็นเพียงส่วนเล็กของสังคมใหญ่ ภาพรวมในระดับประเทศช่วงการระบาดของไวรัสไม่น่าดูเท่าไหร่นัก เมื่อการล็อกดาวน์ผ่านไประยะหนึ่ง ประชาชนยังไม่สามารถทำงานของตัวเองได้เต็มที่ กิจการบางประเภทถูกสั่งปิด ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก พนักงานบางคนถูกลดเงินเดือนต่อเนื่องหลายเดือน บางคนถูกบังคับให้ออกจากงานเพราะบริษัทขาดทุนจนไม่สามารถจ่ายเงินเดือนได้ พอรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ก็ดูท่าว่าประชาชนบางส่วนไม่สามารถฟื้นฟูจิตใจของตัวเองได้อีกแล้ว

ทางด้านแม่บ้านที่ไม่ได้ทำงานต้องอยู่กับสามีหรือลูก ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง จากเดิมที่มีโอกาสได้อยู่กับตัวเองหรือมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ตอนนี้พื้นที่นั้นไม่มีอีกต่อไป การแจ้งความเรื่องการทำร้ายร่างกายในครอบครัวเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนเด็กนักเรียนก็ต้องกลับไปเรียนอีกครั้งเมื่อโรงเรียนเปิดภาคการเรียนการสอนตามปกติ และหลายคนต้องเผชิญหน้ากับการถูกรังแกจากเพื่อนร่วมชั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูล ‘จำนวนคนที่ทำอัตวินิบาตกรรมช่วงเดือนตุลาคม’ มีทั้งหมด 2,153 ราย จำนวนดังกล่าวเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ มาเป็นเวลาสี่เดือนแล้ว หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 ในปีนี้การฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นพุ่งขึ้นกว่า 39.9 เปอร์เซ็นต์ โดยทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุเหตุผลที่ทำให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่สะเทือนไปถึงภาคเศรษฐกิจ

ข้อมูลดังกล่าวยังระบุลึกลงไปว่าเพศหญิงคือเพศที่ฆ่าตัวตายมากกว่าเพศชาย และเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ ถึง 82.6 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นตัวเลขที่มากจนน่าสลดใจ ส่วนเพศชายมีการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 21.3 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งหมดทำให้ในปีนี้ยอดการฆ่าตัวตายของชาวญี่ปุ่นมีจำนวนมากที่สุดในรอบ 5 ปี

นักวิเคราะห์และนักวิชาการชาวญี่ปุ่นจากหลากหลายวงการ พยายามหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดปีนี้ถึงมีผู้หญิงตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมมากที่สุด และพบคำตอบที่ค่อนข้างสมเหตุสมผล ผู้หญิงจำนวนมากที่ยังไม่ได้แต่งงานและทำงานกินเงินเดือน ส่วนใหญ่เป็นแอร์โฮสเตส พนักงานโรงแรม พนักงานในร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และพนักงานขาย พวกเธอมักถูกบริษัทเลิกจ้างก่อนพนักงานชาย การว่างงานและต้องอยู่แต่ในบ้านหรือห้องขนาดเล็กสามารถสร้างความเครียดมหาศาล ลุกลามไปถึงการเลือกจบชีวิตตัวเอง ส่วนแม่บ้านที่มีปัญหากับสามีหรือถูกทำร้ายร่างกาย ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีที่ก่อให้เกิดความเครียดเช่นกัน

นอกจากผู้หญิงและมนุษย์เงินเดือนช่วงวัยกลางคนที่อยู่ในเกณฑ์น่าเป็นห่วง เด็ก ๆ จำนวนมากก็อยู่ในระดับที่รัฐบาลและคนใกล้ชิดควรจับตามอง รายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นและคำให้การของของคุณครูประจำชั้นในโรงเรียนต่างกล่าวตรงกันว่า พบการรังแกกันในโรงเรียนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็มีมากอยู่แล้ว

แต่เมื่อกลับมาเรียนหลังจากปิดเทอมช่วงโควิด-19 คล้ายกับว่าพวกเขาแบกความเครียดมาจากบ้านและหาทางระบายด้วยการทำร้ายคนอื่น ส่งให้เด็ก ๆ ที่ถูกรังแกมีสภาพจิตใจไม่สู้ดี ภาวะทางอารมณ์เกิดการผันผวน รวมถึงเด็กมัธยมปลายที่กำลังเคร่งเครียดจากการเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็อยู่ในความเสี่ยงเมื่อมีคนผิดหวังจากผลสอบ ประกอบกับข้อมูลของสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เคยกล่าวว่า ช่วงเปิดเรียนคือช่วงเวลาความเสี่ยงสูงที่เด็ก ๆ จะฆ่าตัวตายมากที่สุด

เมื่อเกิดความเครียด คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่ไปพบจิตแพทย์เหมือนกับคนทางฝั่งยุโรป หรือคนไทยที่ตอนนี้เริ่มปรับมุมมองใหม่ทำความเข้าใจมากขึ้นว่าการไปพบจิตแพทย์ ไม่ได้แปลว่าเราเป็นบ้าหรือมีอาการทางจิตร้ายแรง แต่ความเครียดก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรับมืออย่างถูกต้อง ก่อนจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าจนทำให้เกิดการฆ่าตัวตาย เมื่อคนญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกไม่ไปพบแพทย์ ประกอบกับค่านิยมไม่ค่อยเล่าปัญหาที่เผชิญอยู่ให้เพื่อนหรือครอบครัวฟัง คนบางส่วนที่เจอปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หนี้สิน การทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิต เริ่มปลีกตัวออกจากสังคม บางคนกลายเป็น ‘ฮิคิโคโมริ ซินโดรม’ เก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า และเลือกจบชีวิตตัวเอง

หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นออกมาแจ้งตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์แจ้งประชาชนทุกคนให้หมั่นสังเกตสภาพจิตใจของตัวเองบ่อยขึ้น หากพบกับปัญหาที่ทำให้ความเครียดพุ่งสูง โปรดอย่าเก็บความคิดเหล่านั้นไว้เพียงลำพัง และรีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือคนใกล้ตัว รวมถึงประกาศเพิ่มงบประมาณศูนย์บำบัดและโรงพยาบาลทั่วญี่ปุ่น ป้องกันไม่ให้ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้


 

Source : 1 / 2 / 3 / 4 / 5
Source Photo: 1 / 2 / 3 / 4 /5

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line