World

NIHON STORIES: “มิคาสึกิ มุเนะจิกะ” คาตานะพันปีหนึ่งใน 5 ดาบใต้หล้า ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ผู้ครอบครอง

By: unlockmen April 15, 2020

หากพูดถึง ‘คาตานะ’ บางคนอาจยังไม่รู้จักและไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่ถ้าเอ่ยถึงดาบของซามูไรคนส่วนใหญ่มักรู้ถึงความแข็งแกร่ง ความคม กับจิตวิญญาณของนักรบผู้ถือดาบที่เชื่อมกับคาตานะในมือ ซึ่งชาวญี่ปุ่นต่างยกย่องว่าดาบคาตานะเป็นอาวุธร้ายกาจที่สร้างสรรค์จากเหล็กกล้าเนื้อดีและคมกริบจนน่าตกใจ

เวลานี้มีดาบญี่ปุ่น 5 เล่ม ถูกเรียกว่า “ห้าดาบใต้หล้า” หรือ “ห้าดาบสวรรค์” (Tenka-Goken) ทั้งหมดล้วนเป็นดาบที่แข็งแกร่ง สวยงาม ผ่านกาลเวลามาอย่างโชกโชนแต่ยังคงความสมบูรณ์แบบ พร้อมถ่ายทอดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของนักรบญี่ปุ่น โดยดาบนามว่า มิคาสึกิ มุเนะจิกะ (Mikazuki Munechika) หนึ่งใน 5 ดาบชั้นยอด ถูกเก็บไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว แถมยังสร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้มาเยือน เพราะเวลาผ่านมากว่าพันปีแต่ดาบยังคงเงางามเหมือนเพิ่งตีเสร็จใหม่ ๆ

Katana

การตีดาบคาตานะถูกทำต่อเนื่องมากว่าพันปี ช่างตีดาบชาวญี่ปุ่นสามารถตีดาบด้านคมตัดได้แม้กระดาษหรือเส้นผมหนึ่งเส้นทั้งที่ยุคนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยหรือเครื่องจักรคุณภาพสูง จึงทำให้คาตานะกลายเป็นผลงานศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวญี่ปุ่น

ยุคแรกเริ่มที่ญี่ปุ่นเริ่มตีดาบอย่างจริงจัง ว่ากันว่ามีช่างตีดาบคนหนึ่งจากยุคโบราณ (นักประวัติศาสตร์คาดเดาว่าเขาน่าจะอยู่ในยุคนารา (ค.ศ. 710194) หรือยุคเฮอัง (ค.ศ. 794-1185)) นามว่า “อามากุนิ” (Amakuni) รู้สึกหงุดหงิดเมื่อรู้ข่าวว่าลูกค้านำผลงานของเขาไปใช้แล้วดาบหักออกเป็นสองท่อน จึงเริ่มต้นค้นคว้าหาว่าพอจะมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้ดาบแข็งแกร่งขึ้น

ในที่สุดเขารู้เคล็ดลับการตีดาบว่าสิ่งสำคัญไม่ใช่การเลือกเนื้อเหล็กราคาแพงสุดหรือใช้วัตถุดิบหายากจากต่างแดน แต่เป็นเรื่องของการควบคุมความเย็น ปริมาณคาร์บอนที่เหมาะสมเพราะถ้ามีคาร์บอนมากเกินไปดาบจะเปราะแต่หากคาร์บอนน้อยเกินไปดาบจะอ่อน ตีดาบซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้เนื้อเหล็กทับซ้อนเข้าด้วยกัน และแยกสารปะปนในเหล็กออกมาทำให้ดาบไม่หักง่ายอีกต่อไป

Rurouni Kenshin

แม้วิธีของอามากุนิจะแก้ปัญหาดาบหักเป็นสองท่อนแต่ถือว่ายังไม่ดีพอ เหล่านักรบต้องการมากกว่าดาบที่ไม่หัก พวกเขาต้องการดาบที่สามารถบั่นคอคนกระเด็นด้วยการฟันแค่ครั้งเดียว คมกริบ เงางาม บิ่นยาก ไม่หัก และไม่เป็นสนิม ถือว่าเป็นความต้องการยากจะตอบสนองแต่เหล่าช่างตีดาบญี่ปุ่นมองว่าความต้องการของนักรบคือเรื่องท้าทายที่อยากพิชิตให้ได้

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันได้ถือกำเนิด มิคาสึกิ มุเนะจิกะ (Mikazuki Munechika) ดาบคาตานะอันสมบูรณ์แบบถูกตีขึ้นโดย ซันโจ มุเนะจิกะ (Sanjo Munechika) ชายผู้ถูกยกย่องว่าเป็นยอดนักตีดาบฝีมือดีจากยุคเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ว่ากันว่าเขาเป็นช่างตีดาบคนโปรดของตระกูลซามูไรเก่าแก่ “อะชิคางะ” นักประวัติศาสตร์สามารถรู้ว่ามุเนะจิกะเป็นผู้ตีดาบนี้เพราะเขาชื่นชอบสลักชื่อไว้บนผลงานของตัวเองคู่กับคำว่า “มิคาสึกิ” ที่มีความหมายว่าพระจันทร์เสี้ยว

Ashikaga Yoshiteru

ช่างตีดาบสลักข้อความว่าพระจันทร์เสี้ยวเพราะลวดลายบนดาบมีหน้าตาคล้ายพระจันทร์เสี้ยว เกิดขึ้นจากการใช้ความร้อนหล่อดาบจากนั้นรีบนำไปแช่ในน้ำเย็น การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันนี้ส่งให้ดาบมีลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่มาพร้อมกับความแข็งแกร่ง ซึ่งดาบพระจันทร์เสี้ยวถือเป็นดาบอีกหนึ่งเล่มที่ทำให้ชื่อเสียงของซันโจ มุเนะจิกะ โด่งดังไปทั่วแคว้น แถมยังลือกันมาจนถึงคนรุ่นหลังว่า อะชิคางะ โยชิเทรุ (Ashikaga Yoshiteru) โชกุนนักดาบผู้ยิ่งใหญ่ก็เคยครอบครองดาบเล่มนี้และสู้จนตัวตายพร้อมกับดาบมิคาสึกิ

Mikazuki Munechika

ต่อมาช่างตีดาบยุคกลางช่วงต้นหรือยุคคามาคูระ (ค.ศ. 1185-1333) เริ่มนำเหล็กสองชนิดมาผสมกันก่อนจะตีดาบ หลอมด้วยความร้อนสลับกับแช่น้ำเย็นจัด การหดตัวของเนื้อเหล็กเมื่อเจอความเย็นจัดส่งให้เนื้อเหล็กโค้งสวยงาม มีช่างตีดาบนามว่า มาซามูเน่ (Masamune) ต่อยอดการตีดาบเมื่อหลายร้อยปีก่อนของอามากุนิและซันโจเพื่อให้คาตะนะพัฒนาไปอีกขั้น

มาซามูเน่ ตัดสินใจเพิ่มเหล็กเป็นสามชนิดเข้ากับเทคนิคการตีเหล็กเฉพาะตัว เขาเลือกใช้เหล็กคาร์บอนต่ำเป็นเนื้อดาบด้านใน ส่วนด้านข้างกับคมดาบใช้เหล็กกล้าที่มีคาร์บอนปริมาณมาก ตีซ้ำแล้วซ้ำอีกผ่านความร้อนและเย็นจนเนื้อเหล็กซ้อนกันมากกว่าสามหมื่นชั้น ส่งให้ผลงานของเขาแข็งแกร่ง ทนทาน เป็นดาบที่เกิดจากการผสานของเนื้อเหล็กที่มีคาร์บอนน้อยและมาก จนวิธีการตีดาบของมาซามูเน่แพร่หลายและเป็นต้นแบบมาถึงปัจจุบัน

Toyotomi Hideyoshi

แม้วิธีการตีดาบของมาซามูเน่จะยอดเยี่ยมน่าสนใจ แต่ดาบพระจันทร์เสี้ยวที่ถูกตีด้วยช่างตีดาบซันโจจากยุคสมัยเก่ากว่ายังคงถูกพูดถึงแม้ผ่านมาหลายร้อยปี ดาบคาตานะเล่มนี้ถูกเปลี่ยนมือมาหลายครั้ง จนกระทั่งถูกมอบให้แก่เจ้าของใหม่ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น โทโยโตมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi) ชายที่มีชีวิตโชกโชนในช่วง ค.ศ.1536-1598 เขามีตำแหน่งเป็นไดเมียวแต่เติบโตมาจากครอบครัวชาวนา และสามารถตีเมืองที่กระจายเป็นก๊กเป็นเหล่าอยู่ทั่วเพื่อรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นได้

Mikazuki Munechika

มีเหตุผลหลายอย่างทำให้ดาบมิคาสึกิสูงค่า มีราคา ยิ่งใหญ่ เป็นที่ต้องการของเหล่านักรบผู้องอาจ แม้คาตานะมีหลายหมื่นเล่มแต่ทว่าราคานั้นไม่เท่ากัน บางเล่มมีราคาเท่ากับผลไม้หนึ่งหาบ บางเล่มมีราคามากกว่าที่ดินหนึ่งผืน หรือมากกว่าเงินหนึ่งกระสอบ คุณค่าของดาบอยู่ที่ชื่อเสียงของช่างตีดาบ ความงามอันเป็นเอกลักษณ์ ความแข็งแกร่งและซามูไรเจ้าของเก่าที่มีเรื่องราวสุดยิ่งใหญ่ ซึ่งมิคาสึกิมีคุณสมบัติทุกอย่างที่กล่าวมา

สมัยก่อนคาตานะนามว่ามิคาสึกิ มุเนะจิกะ เคยถูกค่อนแคะหลายครั้ง เพราะดาบเล่มนี้มาจากยุคโบราณที่ยังไม่เกิดยุคทองของดาบซามูไร ผ่านวิธีการตีไม่ได้มาตรฐานในสายตาของใครหลายคน ดาบเก่าเก็บจากหลายร้อยปีก่อนจะมาสู้ดาบทันสมัยที่ช่างตีดาบค้นพบวิธีการนำเหล็กสามชนิดมารวมกันได้อย่างไร แต่กลายเป็นว่าเมื่อเวลาผ่านไปจากร้อยปีเข้าสู่พันปีก็พิสูจน์ความยิ่งใหญ่และความทรงพลังของคาตานะเล่มนี้ได้ไม่ยาก แม้ถูกเปลี่ยนมือมามากและใช้งานอย่างโชกโชน แต่คาตานะนามว่าพระจันทร์เสี้ยวยังคงเงางามแทบไร้ที่ติ

Mikazuki Munechika

มิคาสึกิ มุเนะจิกะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติในปี 1951 แถมตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินค่าได้แล้ว ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโตเกียว และทางพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้ผู้ชมทั่วไปยลโฉมความยิ่งใหญ่ของคาตานะเล่มนี้อยู่บ่อยครั้ง โดยจะให้ผู้ชมแถวเข้าชมผ่านกระจกกั้น ถ่ายภาพได้เพียงหนึ่งรูปต่อรอบซึ่งหากใครอยากถ่ายรูปมากกว่านี้ต้องเดินกลับไปต่อแถวใหม่ สำหรับใครที่สนใจอยากดูดาบที่มีเรื่องราวกว่าพันปีสามารถดูข้อมูลว่าเมื่อไหร่พิพิธภัณฑ์จะนำดาบออกมาจัดแสดงอีกได้ที่ Tokyonational Museum (http://www.tnm.jp/ )

 

SOURCE 1/2/3/4/5

unlockmen
WRITER: unlockmen
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line