World

NIHON STORIES: จากผู้ปราบกบฏสู่กบฏ “ไซโง ทากาโมริ” ชายที่โลกขนานนามว่าซามูไรคนสุดท้าย

By: TOIISAN January 7, 2019

ก่อนหน้านี้ UNLOCKMEN นำเสนอเรื่องราวของชาย(อีกคน)ที่ถูกขนานนามว่าซามูไรคนสุดท้ายไว้ที่ วิถีซามูไร ฮาราคีรี และมิชิมะ ยูกิโอะ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าซามูไรคนสุดท้าย ในนั้น เรากล่าวถึง “ไซโง ทากาโมริ” ไปแล้วเล็กน้อย ใครหลายคนที่กระหายจะเสพเรื่องราวของเขา วันนี้ไม่ต้องรออีกต่อไป เราพร้อมตีแผ่ชีวิตของเขาเพื่อค้นหาคำตอบว่าเพราะเหตุใดไซโงถึงได้เป็นซามูไรที่ครองใจชาวญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบัน

ไซโง ทากาโมริ คือหนึ่งในซามูไรผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เหล่านักประวัติศาสตร์และนักวิชาการต่างก็ยอมรับ และเรียกเขาว่าเป็น The Last True Samurai หรือ ซามูไรที่แท้จริงคนสุดท้าย เขามีจุดเริ่มต้นธรรมดาทั่วไปจากการเป็นซามูไรระดับล่างที่ผลักดันตัวเองขึ้นมาเป็นหนึ่งในซามูไรผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุค

stmed.net

บุคลิกเข้มแข็ง ความตรงไปตรงมา ความเป็นผู้นำ และเอาจริงเอาจังกับงานของตัวเองเสมอ ไซโง ทากาโมริจึงได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาอยู่บ่อยครั้ง ในช่วงที่ญี่ปุ่นแบ่งออกเป็นฝักเป็นฝ่าย ต่อสู้ฟาดฟันกันเองและเกิดกบฏอยู่บ่อยครั้ง ไซโง ทากาโมริตั้งกลุ่มพันธมิตรซามูไรเพื่อสร้างความแน่นแฟ้นในหมู่พรรคพวกของตัวเอง

สิ่งที่ไซโงต้องการคือการตั้งกลุ่มยอดฝีมือเพื่อป้องกันซามูไรกลุ่มอื่นที่จะบุกโจมตีพระราชวังหลวงในกรุงเกียวโต เขาได้รับการแต่งตั้งจากโชกุนให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพเพื่อปราบกบฏตามเมืองต่าง ๆ เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างชื่อเสียงให้กับไซโงเป็นอย่างมาก เพราะกลุ่มกองกำลังฝ่ายกบฏถูกตีแตกพ่ายภายในเวลาไม่กี่วัน

แต่เพราะความรอบคอบและเฉลียวฉลาดของเขา ในศึกบางครั้งแทนที่จะใช้กำลังเข้าห้ำหั่นปราบปราบเพียงอย่างเดียว เขาเลือกเจรจาลับกับกลุ่มซามูไรที่เป็นกบฏนับเป็นกลยุทธ์ที่ลดความสูญเสียได้มาก

ต่อมาเมื่อโชกุนโทกุงาวะประกาศสละอำนาจและคืนสิทธิทุกอย่างให้กับสมเด็จพระจักรพรรดิเพื่อเป็นการรวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่นและเปิดประเทศและถือเป็นการสิ้นสุดระบอบโชกุน เข้าสู่การฟื้นฟูประเทศในสมัยเมจิ ไซโง มากาโมริ มีท่าทีไม่เห็นด้วยเพราะเขาไม่ต้องการให้ชาติตะวันตกเข้ามามีอิทธิพลในญี่ปุ่น รวมไปถึงหากเกิดการปฏิรูปประเทศ บทบาทของซามูไรจะต้องลดน้อยลง

เขาจึงจัดเตรียมทัพเพื่อบุกเข้าปราสาทเอโดะ แต่รัฐบาลได้ส่งคนมาขอทำเรื่องสงบศึกโดยการเจรจาเป็นการส่วนตัว ผลคือไซโงยอมจำนนต่อเหตุผลของรัฐบาลอย่างไม่เต็มใจนัก แต่ผลที่ดีที่สุดจากการเจรจาในครั้งนี้คือการทำให้บ้านเมืองรอดพ้นจากสงครามครั้งใหญ่ไปอีกครั้ง

The Mad Monarchist

เมื่อญี่ปุ่นเริ่มดำเนินนโยบายทำประเทศให้ทันสมัย ไซโง ทากาโมริ ถือว่าเป็นซามูไรที่มีบทบาทสำคัญต่อรัฐบาลอยู่โดยเขาเป็นผู้ควบคุมและจัดระเบียบการเกณฑ์ทหารตามแบบชาติตะวันตก อีกทั้งยังได้รับมอบหมายให้ดูแลคณะรัฐบาลรักษาการแทนเหล่าเสนาบดีที่ออกเดินทางไปกับคณะทูต

แต่ด้วยความเป็นซามูไรที่มีความเป็นญี่ปุ่นในตัวสูงมาก ไซโง ทากาโมริ จึงไม่เห็นด้วยที่จะทำประเทศญี่ปุ่นให้ทันสมัยตามแบบชาติตะวันตก ทั้งการเปิดการค้าเสรีกับต่างชาติ และลดบทบาทซามูไร เขารู้สึกเห็นใจกลุ่มซามูไรที่โดนลดบทบาททางสังคมจากการปฏิรูปประเทศ

ซามูไรบางคนที่ปรับตัวได้ก็เข้ามาเป็นทหารหรือคนของรัฐบาลเหมือนอย่างเขา แต่ซามูไรบางคนก็ไม่สามารถปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ จากซามูไรผู้มียศศักดิ์และมีหน้ามีตาในสังคม บางคนกลายมาเป็นคนตกงาน ไร้เงิน และมาขอความช่วยเหลือจากเขา จึงทำให้ไซโงพยายามยื่นเรื่องต่อรัฐบาลหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ

นอกจากเรื่องบทบาทของซามูไรที่ลดลงแล้ว ความไม่พอใจจนถึงจุดแตกหักนั้นมาจากข้อเสนอของเขาที่ต้องการให้ญี่ปุ่นเปิดฉากทำสงครามกับเกาหลี ด้วยเหตุผลเพราะเกาหลีไม่ยอมรับว่าจักรพรรดิเมจิคนปัจจุบันเป็นประมุขโดยชอบธรรม ทั้งยังดูหมิ่นองค์จักรพรรดิซึ่งในสมัยนั้นการออกท่าทีแบบนี้จะถูกมองว่าเป็นไม่ให้เกียรติต่อญี่ปุ่น

ไซโงจึงเสนออุบายว่าจะเดินทางไปยังเกาหลีและยั่วยุให้เกิดการทำร้ายร่างการเพื่อจะได้เป็นสาเหตุทำให้เกิดสงครามแม้ตัวจะตายก็ไม่เป็นไร แต่โชคดีที่ความคิดแบบสุดโต่งของไซโงได้รับการต่อต้านจากคนอื่น ๆ เพราะการทำสงครามในแต่ละครั้งจะต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งความสามารถในการป้องกันตัวเองจากชาติตะวันตกจะลดลงเพราะต้องไปทำสงครามกับเกาหลี

เมื่อรัฐบาลปฏิเสธข้อเสนอครั้งนี้จึงทำให้ไซโง ทากาโมริ ตัดสินใจลาออกจากทุกตำแหน่งที่เขาได้รับและเดินทางกลับบ้านเกิดที่เมืองคาโงชิมะ ซึ่งใครจะคิดว่าท่าทีที่ไม่เห็นด้วยของซามูไรเพียงคนเดียวจะเป็นหนึ่งในสาเหตุของสงครามครั้งใหญ่ในช่วงเวลาต่อมา

O Salsichão do Amor

หลังจากที่ไซโง ทากาโมริ ลาออกจากการทำงานให้กับรัฐบาล เมืองคาโงชิมะซึ่งเป็นบ้านเกิดได้มีการจัดตั้งโรงฝึกสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ยังมีความศรัทธาในวิถีซามูไร (หนังสือบางเล่มก็บอกว่านี่คือโรงฝึกที่ไซโงเป็นคนเปิดขึ้นมาเอง แต่บ้างก็ยังไม่ยืนยันว่าเขาคือผู้ริเริ่มจริงหรือไม่)

จุดประสงค์ที่ชัดเจนของโรงฝึกนี้คือมีไว้เพื่อเรียนรู้วิถีบูชิโด ฝึกสอนศาสตร์โบราณตามแบบซามูไร รวมไปถึงเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรม แต่การเปิดสถานศึกษาแบบนี้สร้างความกังวลให้กับรัฐบาลเป็นอย่างมาก และมองว่าเหล่าซามูไรที่เมืองคาโงชิมะมีความกระด้างกระเดื่องและเป็นอันตราย

รัฐบาลจึงได้ยกเลิกเบี้ยหวัดซามูไรในปี ค.ศ. 1877 ทั้งยังถอนกำลังทหารและอาวุธปืนออกจากเมืองคาโงชิมะ รวมไปถึงเรื่องเล่าที่ว่ารัฐบาลพยายามส่งคนไปลอบสังหารไซโง ด้วยเหตุผลหลายอย่างจึงทำให้เขาต้องจับพลัดจับพลูมาขึ้นมาเป็นหัวหน้ากลุ่มกบฏซามูไรและต่อสู้กับรัฐบาล

กลุ่มกบฏซามูไร

กลุ่มกบฏนี้คือเหล่าซามูไรที่มากไปด้วยฝีมือ รัฐบาลจึงต้องทุ่มกำลังในการปราบปราบกลุ่มกบฏซามูไรโดยจัดตั้งกองทัพใหญ่กว่า 3 แสนคน ที่เป็นทั้งอดีตซามูไรและทหารเกณฑ์ จัดเต็มเรื่องอาวุธปืนทั้งปืนใหญ่ ปืนกลไฟ ปืนกลแกงลิงที่ได้มาจากชาติตะวันตก เพื่อปราบกลุ่มกบฏซามูไรที่มีจำนวนเพียง 40,000 คน

ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่ารวมถึงจำนวนคนที่เป็นต่อของรัฐบาล ทำให้ในเวลาไม่นานซามูไรจำนวนกว่า 40,000 คน ก็ลดลงเหลือเพียงแค่ 400 คนเท่านั้น ทางกองทัพของรัฐบาลพยายามที่จะเจรจาครั้งสุดท้ายแต่ไซโง ทากาโมริ ก็ได้ปฏิเสธอย่างหนักแน่น ถึงจะรู้ว่าอย่างไรก็ตามเหล่าซามูไรที่มีจำนวนแค่หยิบมือต้องพ่ายแพ้ แต่พวกเขาก็จะขอสู้อย่างถึงที่สุด

Gypzyworld

ในช่วงการต่อสู้ไซโง ทากาโมริได้รับบาดเจ็บสาหัสที่สะโพกข้างซ้าย และไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัดเรื่องการเสียชีวิตของเขาเลย แต่จากคำบอกเล่าของซามูไรคนสนิทอ้างว่าหลังจากที่ไซโงได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาได้ทำการเซ็ปปุกุหรือที่เรียกกันว่าการทำฮาราคีรีด้วยตัวเอง แต่บ้างก็ว่าไซโงได้ขอให้สหายของเขาเป็นผู้ลงมือทำอัตวินิบาตกรรมให้กับเขา

อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์กลับไม่ค่อยเห็นด้วยกันแนวคิดดังกล่าวเพราะจากบาดแผลที่สาหัสขนาดนั้นไซโงอาจขยับตัวหรือพูดไม่ได้ด้วยซ้ำ และมีความเป็นไปได้สูงว่ากลุ่มผู้ภักดีเป็นคนตัดศีรษะของเขาเพื่อให้เป็นการตายอย่างมีศักดิ์ศรีและสมกับฐานะของเขา ซึ่งการเสียชีวิตของไซโง ทากาโมริ ทำให้การต่อสู้ที่ดุเดือดได้จบลงพร้อมชัยชนะของรัฐบาล

The Last Samurai

ถึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นกบฏแต่ไซโง ทากาโมริ นั้นเป็นที่นับถือของชาวญี่ปุ่นเป็นอย่างมากเพราะความเป็นคนมีวินัย ยึดมั่นในอุดมการณ์ และเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้ที่ทำตามแบบวิถีซามูไรอย่างเคร่งครัด เป็นบุคคลที่ชาวญี่ปุ่นมองว่าถึงจะหัวรุนแรงไปบ้างในบางครั้ง แต่เขาคือคนที่มองประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนเสมอ ไม่ยึดติดกับอำนาจ และยอมตายเพื่ออุดมการณ์ของตัวเอง จึงเกิดการเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้รัฐบาลญี่ปุ่นอภัยโทษย้อนหลัง ถึงแม้รัฐบาลจะไม่เต็มใจนักแต่ก็ไม่อาจต่อต้านกระแสของประชาชนได้ ทำให้ในปี ค.ศ. 1889 รัฐบาลประกาศอภัยโทษย้อนหลังให้กับไซโง ทากาโมริ

หลังจากไซโงจบชีวิตลงในสนามรบ เรื่องราวชีวิตของเขาถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง และไม่ใช่แค่ในวงการหนังของญี่ปุ่นเท่านั้น วงการฮอลลีวูดก็เคยนำเรื่องราวของไซโงมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Last Samurai ที่มีตัวละครชื่อว่า ไซโง คัตสึโมโตะ นำแสดงโดย เคน วาตานาเบะ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กระพือชื่อเสียงของไซโง ทากาโมริ ให้คนทั่วโลกได้รู้จักถึงวิถีซามูไรและตัวของเขามากขึ้นในฐานะที่เป็นซามูไรคนสุดท้าย และมีอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ในสวนสาธารณะอูเอโนะ ณ กรุงโตเกียว

จากผู้ที่เคยเป็นแม่ทัพในการไล่ปราบกบฏ จนกลายมาเป็นกบฏเสียเอง แต่ไซโง ทากาโมริคือบุคลที่มีเจตนาดีต่อบ้านเมืองที่เขารัก และพร้อมที่จะทำสิ่งที่เห็นว่าถูกต้องตามอุดมการณ์ของเขา ถึงแม้วิถีซามูไรที่เจนจัดจะจบลงไปพร้อมกับไซโง ทากาโมริ ที่โลกขนานนามว่าเป็นซามูไรคนสุดท้าย แต่แนวคิดแบบวิถีซามูไรก็ยังคงมีให้เห็นได้ในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบัน เพราะนี่คือความเท่ที่น่าภาคภูมิของวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ต่อให้จะผ่านไปนานแค่ไหนก็ไม่อาจลบล้างได้

 

เรื่องราวโคตรเท่เกี่ยวกับซามูไรที่ UNLOCKMEN ได้รวบรวมเอาไว้:

NIHON STORIES: วิถีซามูไร ฮาราคีรี และ “มิชิมะ ยูกิโอะ” ผู้เรียกตัวเองว่าซามูไรคนสุดท้าย

NIHON STORIES: YASUKE ซามูไรผิวสีเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์กำลังจะมีหนังเป็นของตัวเอง

NIHON STORIES: “ตำนานดาบคุซานางิ” เปรียบดาบศักดิ์สิทธิ์เป็นตัวแทนความกล้าของชาวญี่ปุ่น

NIHON STORIES: DATE MASAMUNE เจ้าของฉายา “มังกรตาเดียว” ผู้เป็นตำนานเล่าขานของชาวญี่ปุ่น

NIHON STORIES: TOMOE GOZEN ซามูไรหญิงคนแรกและกลุ่มนักรบที่หลบมุมในหน้าประวัติศาสตร์

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

 

SOURCE1 / 2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line